ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 12


[ 31 ต.ค. 2549 ] - [ 18284 ] LINE it!

 
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 12
 

        จากตอนที่แล้ว พระโพธิสัตว์ทรงได้รับการอภิเษกให้เป็นพระราชา แล้วได้เสด็จเข้าสู่พระนคร  ด้วยสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่  ฝ่ายพระราชธิดาครั้นทราบว่า ผุสสรถได้นำพระราชาพระองค์ใหม่กลับสู่พระนครแล้ว  จึงตรัสสั่งราชบุรุษให้ไปอัญเชิญพระองค์มาเข้าเฝ้า ด้วยทรงประสงค์จะทดลองพระปัญญา เหมือนที่เคยทดลองกับเสนาบดี และคนอื่นๆ

        เนื่องจากพระโพธิสัตว์เป็นบัณฑิต จึงมิได้ใส่พระราชหฤทัยในคำเชื้อเชิญของพระราชธิดา ได้เสด็จเที่ยวชมปราสาทเรื่อยไป ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเข้ามาใกล้ พระนางก็มิอาจดำรงพระองค์อยู่ได้ จึงได้เข้าไปทรงยื่นพระกรให้พระโพธิสัตว์ทรงเกี่ยวพระกร
 

        เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นประทับ ณ ราชบัลลังก์ภายใต้มหาเศวตฉัตร พวกอำมาตย์ได้กราบทูลรับสั่งที่พระราชาพระองค์ก่อนทรงสั่งความเอาไว้   ๒ ข้อแรก คือ ต้องทำให้พระราชธิดาทรงโปรดปราน และสามารถบอกหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็สามารถผ่านบททดสอบทั้งสองข้อมาแล้ว
 

        มาถึงพระราชกำหนดข้อที่ ๓  พวกอำมาตย์ได้กราบทูลว่า ทรงให้มอบราชสมบัติแก่บุคคลที่สามารถยกสหัสสถามธนูที่มีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้
 

        พระโพธิสัตว์เมื่อได้สดับดังนั้น ก็รับสั่งให้นำธนูนั้นมา แล้วทรงยกสหัสสถามธนูนั้นขึ้นอย่างง่ายดายเป็นอัศจรรย์ด้วยบุญญานุภาพ เพราะพระองค์นั้นทรงมีพละกำลังมากกว่าสามัญชนทั่วไป ที่เป็นดังนี้ก็ด้วยอำนาจทานบารมีที่ได้สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วนนั่นเอง 
 
 
        ชาวพระนครได้เห็นอานุภาพของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็ได้แซ่ซ้องสาธุการกึกก้องไปทั่วราชนิเวศน์  ต่างก็มั่นใจว่า “พระราชาองค์นี้แหละคือผู้ที่จะมาเป็นจอมพสกนิกรผู้ทรงทศพิธราชธรรม”
 
 

        ต่อจากนั้น พระราชาก็โปรดให้เล่าพระราชกำหนดข้ออื่นต่อไป พวกอำมาตย์จึงกราบทูลพระราชกำหนดข้อ ๔ มีความว่า ให้มอบราชสมบัติแก่บุคคลที่สามารถไขปริศนาแห่งขุมทรัพย์ และนำขุมทรัพย์ทั้ง ๑๖ แห่งออกมาได้ 

        พระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า  “พระราชาของพวกท่านได้ตรัสบอกปัญหาซึ่งเป็นปริศนาธรรมที่จะนำไปสู่การค้นหาที่ซ่อนขุมทรัพย์ทั้ง ๑๖ แห่งนั้นว่าอย่างไรหรือ” 
 
        เมื่อพวกอำมาตย์กราบทูลปัญหาเกี่ยวกับขุมทรัพย์ ตามที่พวกตนได้จดจำมา  คำตอบทุกข้อก็ปรากฏชัดขึ้นมาในพระราชหฤทัยของพระโพธิสัตว์ เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้า
 
 
        ปริศนาธรรมข้อที่ ๑ คือ ขุมทรัพย์ที่พระอาทิตย์ขึ้น  พระโพธิสัตว์ได้ตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า  “พระราชาของพวกท่านทรงเคยนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้มาฉันในพระนครบ้างไหม
 

        ครั้นสดับว่าเคยนิมนต์มาบ้าง  ก็ทรงดำริว่า ดวงอาทิตย์ที่เป็นปริศนาธรรมนั้น  คงมิใช่ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นด้วยตาเนื้ออย่างแน่นอน แต่จะต้องเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้มีคุณดุจดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย  ขุมทรัพย์คงมีในสถานที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
 
 
 
       พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามต่อไปว่า  “เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จมา พระราชาเสด็จไปต้อนรับตรงไหน”
 
 
        ครั้นทราบสถานที่ต้อนรับแล้ว  ก็ตรัสสั่งให้ขุดที่บริเวณนั้น เมื่อพวกราชบุรุษได้นำอุปกรณ์ไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์อย่างน่าอัศจรรย์
 

        จากนั้นก็ตรัสถามต่อไปว่า  “เมื่อพระราชาเสด็จไปส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเวลากลับ เสด็จประทับยืนตรงไหน”  เมื่อทรงทราบว่าเป็นที่ใดแล้ว ก็โปรดให้ขุดที่นั้น  แล้วก็สามารถนำขุมทรัพย์ออกมาได้อีก
 

        มหาชนต่างโบกธงแซ่ซ้องสาธุการสนั่นหวั่นไหว พากันสรรเสริญพระปัญญาอันลึกซึ้งของพระโพธิสัตว์   เพราะพวกตนแม้จะเที่ยวขุดตรงทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และทิศที่ดวงอาทิตย์ตก  แม้ขุดหาอยู่ทั้งวัน  ก็หาไม่พบ  แต่พระโพธิสัตว์กลับสามารถชี้บอกที่ซ่อนขุมทรัพย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำเหมือนมองเห็นด้วยตาเนื้อ
 
 

        เมื่อเหล่าอำมาตย์ทูลปริศนาข้อที่ ๓ ว่า “ขุมทรัพย์ภายใน”  พระโพธิสัตว์ก็สั่งให้ขุดขุมทรัพย์ภายในธรณีพระทวารใหญ่ของพระราชฐาน 
 
 
 
 
 
 
 
        ปริศนาข้อ ๔ ขุมทรัพย์ภายนอก หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ภายนอกธรณีของพระทวารใหญ่ของพระราชฐาน
 
 
 
 
  
 
 
 
        ปริศนาข้อ ๕ ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์มาจากข้างล่างของพระธรณีของพระทวารใหญ่ของพระราชฐาน 
 
 
 
 
  
 
 
        ปริศนาข้อ ๖ ขุมทรัพย์ขาขึ้น หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ใต้บันไดทองในเวลาที่พระราชาเสด็จขึ้นประทับมงคลหัตถี
 
 
 
 
  
 
 
 
        ปริศนาข้อ ๗ ขุมทรัพย์ขาลง หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์บริเวณที่เสด็จลงจากช้างพระที่นั่ง  เมื่อพวกราชบุรุษไปขุด ก็พบขุมทรัพย์ตามที่พระโพธิสัตว์ทรงรับสั่งทุกประการ เสียงไชโยโห่ร้องด้วยความปีติยินดีได้สนั่นไปทั่วพระนคร
 
 
 
 
 
 
        ส่วนปริศนาข้อ ๘ ถึง ๑๑ คือ ขุมทรัพย์ที่ไม้รังทั้ง ๔ หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์จากบริเวณฐานพระแท่นบรรทมซึ่งทำจากไม้รังทั้ง ๔ แท่น
 
 
 
 
 
 
 
 
        ปริศนาข้อ ๑๒ ขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ในที่ประมาณชั่วแอกโดยรอบพระที่สิริไสยาสน์ โดยวิธีนับชั่วแอกรถประมาณโยชน์หนึ่ง 
 
 
 
 
 
 
 
        ปริศนาข้อ ๑๓ ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ทั้งสองในสถานที่พักของมงคลหัตถี ช้างมงคลมีปกติหันหน้าไปทางไหน ให้ขุดเอาขุมทรัพย์จากปลายงาทั้งสอง
 
 
 
 
 
 

        ปริศนาข้อ ๑๔ ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ในสถานที่พักของมงคลหัตถี เฉพาะตรงที่วางปลายหางของช้างเชือกนั้น
 
 
 
 
 
 
 

        ปริศนาข้อ ๑๕  ขุมทรัพย์ที่น้ำ หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ใต้สระมงคลโบกขรณี  ขุมทรัพย์นั้นอยู่ระหว่างกลางของสระ
 
 
 
 
 
 
 

        และปริศนาข้อสุดท้าย ได้แก่ ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ยอดไม้ หมายถึง ให้ขุดขุมทรัพย์ภายในเงาไม้รังต้นใหญ่ มีปริมณฑลเวลาเที่ยงวันตรง ภายในพระราชอุทยาน 
 
        เหล่าราชบุรุษได้ไปขุดขุมทรัพย์ตามคำเฉลยของพระราชา ก็พบขุมทรัพย์ตามที่ตรัสบอกทุกประการ จึงเป็นอันว่า พระมหาชนกโพธิสัตว์ได้ทรงผ่านบททดสอบ และสามารถใช้ปัญหาแห่งขุมทรัพย์ได้ครบทั้ง ๑๖ ข้อ ได้ครองราชสมบัติด้วยพระอัจฉริยภาพอย่างเต็มภาคภูมิ แต่พระองค์จะทรงบริหารพระราชทรัพย์อย่างไรต่อนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 13ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 13

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 14ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 14

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 15ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 15



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก