กรณีที่พระยืนรอรับบิณฑบาตนั้นผิดหรือสมควรหรือไม่


[ 20 ส.ค. 2554 ] - [ 18293 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 

คำถาม: กรณีที่พระถือบาตรมายืนหน้าร้านขายอาหาร รอผู้ที่จะมาใส่บาตร ถามว่าผิดหรือสมควรหรือไม่คะ ?

 
คำตอบ:  ตอบว่า ไม่ผิด แต่ถามว่าสมควรหรือไม่?  ก็ไม่ค่อยสมควรนะ คืออาจจะยืนรอได้ แต่พอรายแรกหรือคนกลุ่มแรกเขาใส่บาตรให้แล้วควรเดินต่อไปเลย แต่ถ้า ๒ รายก็แล้ว ๓ รายก็แล้ว ๖-๗ รายแล้วก็ยังยืนปักหลักรออยู่อีก อย่างนี้ก็ไม่สมควร
 
พระถือบาตรมายืนรอรับบิณฑบาต
พระถือบาตรมายืนรอรับบิณฑบาต
 
        แต่ถ้าจะเอาผิดเอาถูกกัน ก็ตอบว่าไม่ผิด จะผิดก็ต่อเมื่อได้อาหารมาหลายชุดจนล้นบาตร กลับไปถึงวัด แล้วยังกลับมารับอีกอย่างนี้ผิดแน่นอน
 
        พระท่านเดินรับบิณฑบาตจากหลายบ้าน จนของล้นบาตร ก็เพื่อรักษาศรัทธาญาติโยม ส่วนพวกญาติโยมก็ควรเอ็นดูพระบ้าง อย่าเคี่ยวเข็ญ ยัดเยียดให้ท่านหอบหิ้วจนทุลักทุเลนักเลย
 
        สำหรับเรื่องนี้ต้องค่อย ๆ พิจารณาให้ดี อย่าเอาแค่ผิดแค่ถูก ต้องเอาความควรหรือไม่ควรด้วย
 

คำถาม: การที่พระภิกษุไม่ถือบาตร แต่ถือภาชนะอย่างอื่น เช่น ถังพลาสติกไปบิณฑบาต จะผิดวินัยสงฆ์หรือไม่คะ ?

 
ใช้ภาชนะอย่างอื่นรับบาตร
ใช้ภาชนะอย่างอื่นรับบาตร
 
คำตอบ: ถ้าถามว่าผิดวินัยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ผิด แต่ถ้าถามว่าเป็นการสมควรหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่สมควร พวกเราที่อยู่ทางโลกมองการกระทำของคนอื่นแล้ว มักจะตัดสินกันเพียงแค่ผิดหรือถูก เรื่องบางเรื่องเพียงแค่นี้ยังไม่พอ ผิดกับถูกเป็นการตัดสินเรื่องระดับเด็ก ๆ
 
        ถ้าตัดสินเรื่องของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นต้นแบบทางความประพฤติแก่ผู้อื่น นอกจากผิดกับถูกแล้ว ยังต้องมองออกไปว่ามันสมควร หรือไม่สมควรอีกด้วย เช่น ในการบิณฑบาต ถ้าพระไม่ถือบาตรไป อาจจะเอาถุงพลาสติกหรือถังอะไรไปรับของถวายก็ตามถามว่าจะผิดไหม? ก็ไม่ผิด แต่ถ้าถามว่าสมควรไหม? ต้องดูจากสถานการณ์ ในบางสถานการณ์สมควร แต่ในบางสถานการณ์ไม่สมควร เช่น บาตรมีอยู่แล้ว ก็น่าจะใช้บาตร ทำไมไปใช้ถังพลาสติก ไม่สมควรเลย
 
        แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าบาตรเกิดแตก จะเอาบาตรแตก ๆ ไป บิณฑบาตได้อย่างไร ก็ต้องใช้ถังใช้ถึงพลางก่อน แต่ไม่ใช้อ้างบาตรแตกทุกวัน แล้วเอาถังพลาสติกไปบิณฑบาตเป็นเดือน ๆ หรือตลอดทั้งปี อย่างนี้ก็ไม่สมควร ขอให้ไปพิจารณากันเอง
 
พระพายเรือบิณฑบาต
พระพายเรือบิณฑบาต
 
        อีกกรณีหนึ่ง มีคนถามมาบ่อย ๆ ว่าพระพายเรือบิณฑบาตนี่ผิดวินัยสงฆ์ไหม? ก็ไม่ผิด สมควร ไม่เสียหายตรงไหน ท่านก็พายเรือของท่านไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่จ้ำพรวดๆ ถ้าใช้เรือหางยาวล่ะผิดไหม ไม่ผิดหรอก เพราะเรือหางยาวใครก็มีใช้กันทั้งนั้น แต่ถามว่าสมควรไหม มันก็ไม่สมควรนะ สังคมชาวบ้านไทยๆ ยังไม่อยากให้พระขับเรือหางยาวปรู๊ดปร๊าดไปรับบาตรหรอกนะ
 
        แล้วพระภิกษุซ้อนรถจักรยานล่ะผิดไหม? ไม่ผิด สมควรไหม? ถ้าไปทางไกลๆ ซ้อนจักรยานเขานาน ๆ ก็ไม่ไหว ไม่สมควร ถ้าขี่จักรยานเสียเองล่ะผิดไหม? จะถือว่าผิดทางวินัย ก็ไม่ผิด ถ้าขี่ม้าผิดไหม? ผิดในฐานะทรมานสัตว์ แต่ขี่จักรยานนี่เราทรมานจักรยานหรือ เปล่าก็เปล่า แต่ถามว่าสมควรไหม ก็เกิดปัญหา เราต้องพิจารณาให้ดี
 
        เรื่องพระขี่จักรยานนี่ได้เข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อประมาณ ๔-๕ ปีมาแล้ว ถามกันว่าสมควรไหม? ในที่สุดก็สรุปว่าอย่างนี้ ถ้าพระขี่จักรยานออกนอกวัด ถึงไม่ผิด แต่ก็ไม่สมควร ถ้าขี่ในวัดโดยเฉพาะวัดที่มีบริเวณกว้างและขี่อยู่ในรั้วของวัดเอง ไม่ได้ออกไปนอกวัดก็ไม่ผิดและกระทำได้ แต่อย่าขี่เร็วปรู๊ดปร๊าดนัก
 
        เรื่องนี้ต้องแยกเป็นประเด็น ๆ ให้ดี อย่าเอาแค่ผิดถูก มันต้องมีควรและไม่ควรด้วย
 
คำถาม: หลวงพ่อครับ การสวดพระปาฏิโมกข์คืออะไร พระภิกษุต้องสวดได้ทุกรูปหรือไม่ พระบวชใหม่บางรูปบอกว่าสวดได้ไม่จบ สวดได้เพียงครึ่งเดียว ก็เวียนศีรษะแล้ว อย่างนี้จะเป็นอะไรไหมครับ?
 
คำตอบ: การสวดปาฏิโมกข์ คือการสวดทบทวนศีลและวินัยของพระภิกษุซึ่งมี ๒๒๗ ข้อ โดยสวดเป็นภาษาบาลี และสวดภายในโบสถ์เท่านั้น จัดเป็นสังฆกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของพระภิกษุ
 
การสวดปาฏิโมกข์
การสวดปาฏิโมกข์
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ว่า พระภิกษุจะต้องฟังสวดปาฏิโมกข์ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ ถึงตัวเองสวดไม่ได้ แต่ว่าในวัดมีผู้สวดได้ก็ต้องไปฟังท่านสวด
 
        สาเหตุที่ต้องลงไปฟังก็คือจะได้ทบทวนและจดจำพระวินัยได้แม่นยำ ถ้าตนมีสิ่งใดผิดพลาดจะได้แก้ไข ปรับปรุงตนเองเสียใหม่นั่นเอง
 
        ศีล ๒๒๗ ข้อ ต้องบอกว่าจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ผู้ที่มีความจำไม่ดี สวดได้ไม่หมดหรอก แต่ถ้าคนที่มีความจำดีๆ ท่องเที่ยวเดียว ๒ เที่ยวก็จำได้ เพราะบางรูปท่องเป็นเดือนๆ ยังจำไม่ได้ แต่ก็พอรู้ว่ามีอะไรบ้าง รู้แค่นี้ก็เป็นประโยชน์แก่ชีวิตการเป็นพระมากมายแล้ว


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุณีกับแม่ชีมีความแตกต่างกันอย่างไรภิกษุณีกับแม่ชีมีความแตกต่างกันอย่างไร

อาชีพเพชฌฆาตที่ประหารชีวิตนักโทษบาปหรือไม่อาชีพเพชฌฆาตที่ประหารชีวิตนักโทษบาปหรือไม่

ศีลคืออะไร รักษาแล้วดีอย่างไร ไม่ต้องปฏิบัติมงคล ๓๘ ได้หรือไม่ศีลคืออะไร รักษาแล้วดีอย่างไร ไม่ต้องปฏิบัติมงคล ๓๘ ได้หรือไม่



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา