โทษของการกักขังสัตว์


[ 15 ธ.ค. 2554 ] - [ 18315 ] LINE it!

โทษของการกักขังสัตว์
 
 
 
     วัตถุประสงค์ของชีวิตคือ เกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งที่ท่านยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่นั้น เกิดมาในโลกมนุษย์ท่านทำแต่ความดีเรื่อยไปจนกระทั่งหมดอายุขัย และตลอดระยะเวลานั้น  ท่านไม่เคยละเลยต่อการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ทรงทำอย่างนี้ทุกภพทุกชาติ  จนกระทั่งบารมีของท่านเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบรมครูสั่งสอนสัตว์โลกให้เข้าถึงธรรมตามพระองค์
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
 
     “บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ ถึงจะหนีไปทางอากาศ ก็พ้นจากกรรมชั่วไปไม่ได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็พ้นจากกรรมชั่วไปไม่ได้ หนีเข้าไปในซอกเขาก็ไม่พ้นจากกรรมชั่วได้ ไม่มีสถานที่ใด ที่จะพ้นจากการรับผลกรรมชั่วได้เลย”
 
     โลกมนุษย์ที่เราอาศัยอยู่นี้ เปรียบเสมือนตลาดกลางในการค้าบุญและบาป ใครทำความดีก็มีกำไรชีวิต จะมีความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต เกิดมาชาตินี้ก็คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาสั่งสมบุญบารมีล้วนๆ ส่วนผู้ที่ทำบาปอกุศลเอาไว้ จะได้รับผลกรรม เสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อน บุญกุศลที่ทำไว้ไม่หนีหายไปไหน จะติดตามเราไปเหมือนเงาตามตัว ส่วนบาปกรรมที่ทำไว้เปรียบเสมือนล้อเกวียนที่หมุนไปตามรอยเท้าโค ไม่สามารถจะหลีกหนีจากบาปกรรมที่ทำไว้
 
     พระพุทธองค์จึงสอนให้ละความชั่วทุกอย่าง ทั้งทางกาย วาจา และใจ เพราะเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ทรงสอนให้ทำแต่ความดีทุกรูปแบบ ไม่ให้ดูหมิ่นบุญว่ามีปริมาณเล็กน้อย แล้วไม่ยอมทำความดี มีความประมาทในการสั่งสมบุญ และยังสอนให้ทำจิตให้ผ่องใส ทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บาปอกุศลก็จะคอยติดตามเป็นอุปสรรคในการสร้างความดีเรื่อยไป  
 
     * ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุ ๗ รูป เดินทางจากวัดที่อยู่ในชนบท ตั้งใจจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางท่านได้ขอพักที่วัดแห่งหนึ่ง ภิกษุเจ้าถิ่นเห็นว่ามีภิกษุมากันเป็นจำนวนมาก จึงอาราธนาท่านให้เข้าไปพักอยู่ในถ้ำข้างวัด  
 
     เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาที่พักเรียบร้อยร้อยแล้ว ก็ร่วมกันบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถํ้า ตกกลางคืนก้อนหินขนาดมหึมากลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำไว้พอดี พวกภิกษุเจ้าถิ่นได้ยินเสียงก้อนหินใหญ่กลิ้งลงมา จึงชวนกันเอาไม้ไปงัดหินออกจากปากถํ้า แต่ไม่สามารถขยับเขยื้อนก้อนหินได้เลย จึงไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านถึง ๗ ตำบล ให้มาช่วยกันผลักหินออก แม้พยายามกันมากเพียงใด ก็ไม่มีใครสามารถเลื่อนหินให้ออกจากปากถํ้าได้
 
     ฝ่ายพวกภิกษุที่อยู่ด้านใน พยายามช่วยกันดิ้นรนหาทางออกจากถํ้าให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังหาทางออกไม่ได้ จึงถูกขังอยู่ในถํ้า อดอาหารนานถึง ๗ วัน แต่เรื่องอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๗ ก้อนหินกลับกลิ้งออกไปเอง  พระภิกษุพากันออกมาจากถํ้าด้วยความเหนื่อยอ่อน จึงคิดกันว่า “คงเป็นเพราะบาปอกุศลที่พวกเราได้เคยทำเอาไว้ในชาติก่อน และกรรมตามมาส่งผลในชาตินี้” จึงเดินทางต่อไปเพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
 
     เมื่อไปถึงวัดพระเชตวัน กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตของภิกษุทั้ง ๗ รูปให้ฟังว่า "ในภพชาติก่อน ภิกษุทั้ง ๗ รูป เกิดเป็นเด็กเลี้ยงโค เด็กทั้ง ๗ คนนั้นเป็นเพื่อนกัน และเที่ยวเลี้ยงโคอยู่ตามทุ่งหญ้า วันหนึ่งได้พบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่ง จึงพากันไล่จับ มันหนีเข้าไปซุกซ่อนในจอมปลวก เด็กๆ ไม่สามารถจับมันได้ จึงปรึกษากันว่า พรุ่งนี้จะกลับมาจับใหม่ ก่อนจากไปจึงช่วยกันหักกิ่งไม้มาปิดช่องทุกช่องอย่างมิดชิด
 
     วันรุ่งขึ้นพวกเด็กๆ ลืมสนิทว่าได้ขังเหี้ยไว้ในรู จึงต้อนโคไปเลี้ยงที่อื่น ในวันที่ ๗ ได้ต้อนโคกลับมาหากินที่เดิม แล้วมาพบจอมปลวกที่เคยขังมันเอาไว้ จึงช่วยกันเปิดช่องต่างๆ ที่เคยปิดไว้ เหี้ยได้ค่อยๆ คลานออกมาด้วยอาการที่อ่อนล้า หมดเรี่ยวหมดแรง เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก พวกเด็กๆ เห็นแล้ว เกิดความสงสารขึ้นมาอย่างจับจิต จึงพร้อมใจกันปล่อยมันไป ด้วยผลกรรมนั้น ทำให้ทั้ง ๗ คน ต้องถูกขังและอดข้าวร่วมกันนานถึง ๑๔ ชาติ ชาติละ ๗ วัน เมื่อกรรมยังไม่หมด จึงตามมาให้ผลในภพชาติปัจจุบันนี่แหละ”
 
     ส่วนภิกษุอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อเดินทางมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้เล่าเรื่องในระหว่างทางให้พระองค์ทรงทราบว่า ในขณะล่องเรือมากลางมหาสมุทรนั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือเรือได้หยุดอยู่กลางมหาสมุทรโดยไร้สาเหตุ ลูกเรือได้ลงความเห็นว่า บนเรือนี้ต้องมีคนกาลกิณีอยู่แน่ จึงได้ทำสลากขึ้นมาให้ทุกคนจับ ปรากฏว่าภรรยาสาวของนายเรือจับสลากได้ถึง ๓ ครั้ง นายเรือไม่อาจปล่อยให้ลูกเรือคนอื่นได้รับอันตราย โดยเห็นแก่ภรรยาของตนเพียงคนเดียว จึงตัดสินใจให้คนเอาถังที่บรรจุทรายจนเต็มผูกคอนางเอาไว้ แล้วจับโยนลงในมหาสมุทรต่อหน้าต่อตาลูกเรือทั้งหลาย ซึ่งต่างก็เกิดความสมเพชเวทนานางอย่างมาก เมื่อนางจมลงในมหาสมุทร เรือจึงแล่นต่อไปได้  
 
     พระบรมศาสดาสดับแล้ว ทรงเล่าเรื่องในอดีตของนางให้ฟังว่า "ในสมัยก่อน หญิงนั้นเป็นภรรยาของหนุ่มชาวนาคนหนึ่ง นางทำหน้าที่ของแม่บ้านเป็นอย่างดี นางมีสุนัขแสนรู้ตัวหนึ่งซึ่งเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ทำให้เจ้าสุนัขรักนายของมันมาก เวลานางไปที่ไหน เจ้าสุนัขแสนรู้ก็ตามไปทุกหนทุกแห่ง  พวกเด็กหนุ่มเห็นเช่นนั้น พากันเยาะเย้ยนางว่าเป็นพรานสุนัข นางรู้สึกเขินอายที่ถูกล้อเลียนอย่างนั้น จึงเอาก้อนดินก้อนหินไล่สุนัขไป ไม่ให้ตามมาอีก
 
     แต่เนื่องจากสุนัขตัวนี้เคยเป็นสามีของนางในอดีตชาติ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่อาจตัดความรักในหญิงสาวซึ่งเป็นเจ้านายของมันได้ นางโกรธสุนัขมากที่มันชอบติดตามไปทุกฝีก้าว เมื่อนำข้าวไปส่งสามีที่ทุ่งนาแล้ว จึงแสร้งทำเป็นเรียกสุนัขให้เข้ามาหา สุนัขเมื่อได้ยินเจ้านายร้องเรียกด้วยความรักเช่นนั้น ก็รีบวิ่งกระดิกหางตามไปโดยไม่ลังเล นางถือถังเปล่าไปท่าน้ำ แล้วเอาทรายบรรจุในถังจนเต็ม  
 
     เมื่อสุนัขวิ่งเข้ามาหา ก็จับคอสุนัขไว้มั่น แล้วเอาเชือกผูกคอสุนัข ส่วนปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกติดกับถังทราย จากนั้นก็จับโยนลงไปในน้ำ สุนัขจมน้ำตายอย่างน่าเวทนา เพราะผลกรรมนั้นทำให้นางต้องหมกไหม้ในนรกเป็นเวลายาวนาน เมื่อวิบากกรรมลดลง แม้จะเกิดเป็นอะไร นางจะต้องถูกถ่วงน้ำตายเหมือนที่ทำกับสุนัขเอาไว้นานถึง ๑๐๐ ชาติ เมื่อมาชาตินี้ ทำให้นางต้องถูกถ่วงน้ำตายอีก สมกับกรรมที่ทำไว้"
 
     ภิกษุรูปหนึ่งที่นั่งฟังอยู่ด้วยเกิดความสงสัยขึ้นมา จึงทูลถามพระองค์ว่า “แม้จะทำกรรมใดไว้ จะไม่มีทางหลีกหนีกรรมเหล่านั้นไปได้เลยหรือพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสบอกว่า “อย่างนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ไม่มีสถานที่ใดเลยที่จะหลีกพ้นจากกรรมชั่วซึ่งได้ทำเอาไว้ เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต”
 
     เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่า ใครทำกรรมใดไว้ ตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ก็ควรเว้นให้ห่างไกลจากบาปกรรม หมั่นสั่งสมแต่คุณงามความดีให้มากๆ เราจะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เกิดมาภพหนึ่งชาติหนึ่ง ควรเก็บเกี่ยวเอาแต่สิ่งที่ดี ให้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตที่งดงาม เมื่อใดที่เราสามารถระลึกชาติย้อนหลังไปดู เห็นแต่กุศลกรรมที่ได้ทำเอาไว้ ทำให้เกิดความปีติปราโมทย์ใจในความดีที่ทำผ่านมา และมีกำลังใจอยากสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     เราเกิดมาเพื่อสั่งสมบุญบารมีเท่านั้น ฉะนั้นอย่าได้พลั้งพลาดไปทำบาปอกุศลกัน สิ่งใดที่ทำแล้วไม่สบายกายไม่สบายใจควรงดเว้นเสีย อย่ามองว่าบาปกรรมเล็กๆ น้อยๆ จะไม่มีผลอะไรมากมาย แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น กรรมทุกอย่างที่เราทำไปไม่สูญหายไปไหน เมื่อได้ช่องก็จะส่งผลสักวันหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราปรารถนาชีวิตที่มีแต่ความสุขความปลอดภัย ก็ให้สั่งสมแต่ความดี สั่งสมบุญสั่งสมความบริสุทธิ์เอาไว้ตลอดเวลา ให้รักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกันทุกๆ วัน  

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๕๕
  


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
โทษของการเห็นผิดโทษของการเห็นผิด

ทำบาปเพราะนึกสนุกทำบาปเพราะนึกสนุก

โทษของการฉ้อราษฎร์บังหลวงโทษของการฉ้อราษฎร์บังหลวง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน