โทษของการห้ามลูกทำบุญ


[ 21 ธ.ค. 2554 ] - [ 18288 ] LINE it!

โทษของการห้ามลูกทำบุญ
 
 
 
     การเดินทางไกลในวัฏสังสาร เราจำเป็นจะต้องมีเสบียงติดตัวไป เพื่อใช้ในระหว่างการเดินทาง เสบียงนั้นก็คือบุญ บุญจะส่งผลให้เราก้าวไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ที่มีความสุขยิ่งกว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะการสร้างบารมีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่อายตนนิพพาน เราจำเป็นจะต้องมีบุญพิเศษที่จะช่วยย่นย่อหนทางอันยาวไกลให้สั้นลง บุญที่เราได้สั่งสมเอาไว้จะเป็นที่พึ่งของเรา ดวงบุญนี้จะติดแน่นอยู่ในศูนย์กลางกายของเราทุกคน คอยส่งผลให้เราเป็นผู้ถึงพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ เราจะสร้างบารมีได้สะดวกสบายยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นการสั่งสมบุญจึงเป็นหน้าที่หลักของนักสร้างบารมีผู้มีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสโทษของความตระหนี่เอาไว้ใน มัจฉริสูตร ว่า
 
     “คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการขัดขวางผู้อื่นที่ให้ทาน คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานหรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ จะเกิดในสกุลคนยากจน หาเสื้อผ้า อาหาร ความสนุกสนานได้โดยยาก คนตระหนี่ปรารถนาสิ่งใดจากผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นตามความปรารถนา นั่นเป็นเพราะผลกรรมในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย”
 
     * ในสมัยหนึ่ง หลังจากที่พระบรมศาสดาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว อุตตรมาณพพาเพื่อนเข้าไปหาไม้ในป่าเพื่อเอามาซ่อมแซมพระนคร เผอิญได้เข้าไปถึงที่อยู่ของพระมหากัจจายนะ ซึ่งท่านกำลังบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ตามลำพัง เมื่อเห็นท่านแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงเข้าไปกราบนมัสการท่านด้วยความเคารพ พระเถระก็เมตตาแสดงธรรมให้ท่านฟัง จนมาณพหนุ่มเกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงนิมนต์พระเถระพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน
 
     อุตตรมาณพเมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว ก็ชักชวนหมู่ญาติและพวกพ้องให้มาช่วยกันถวายทานแด่พระเถระและหมู่ภิกษุสงฆ์ที่บ้านของตนเอง เช้าตรู่ก็ได้ช่วยกันจัดภัตตาหารหวานคาวอันประณีต รอคอยพระเถระและภิกษุสงฆ์ด้วยความเบิกบานใจ เมื่อท่านมาถึงก็ต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดีแล้วช่วยกันถวายภัตตาหารแด่พระเถระและภิกษุสงฆ์ให้อิ่มหนำสำราญ
 
     หลังจากที่คณะสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระเถระได้แสดงอนุโมทนากถาและแสดงธรรมเป็นเครื่องประดับสติปัญญา อุตตรมาณพได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาของพระเถระจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ส่วนหมู่ญาติก็เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ช่วยกันสร้างมหาวิหารถวายภิกษุสงฆ์ เพื่อให้ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างสะดวกสบาย
 
     มีเพียงมารดาของอุตตรมาณพเท่านั้นที่ไม่ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพราะว่าเป็นคนตระหนี่ ถูกมลทินคือความตระหนี่ครอบงำจิตใจ เมื่อเห็นลูกชายทำบุญมากอย่างนั้น ก็ห้ามปรามต่อว่าลูกว่า "อะไรที่ให้สมณะไปขอให้สิ่งนั้นจงกลายเป็นเลือดในปรโลก" แต่ลูกชายไม่ได้โกรธตอบเพราะท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว นึกสงสารแต่มารดาที่ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย
 
     ครั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว อุตตรมาณพได้ไปเสวยทิพยสมบัติมากมายในเทวโลก แต่แม่ของอุตตรมาณพได้ไปเกิดเป็นเปรต ด้วยผลกรรมที่มีความตระหนี่ และด่าบริภาษลูกชายที่เป็นพระโสดาบัน เมื่อตายไปจึงต้องไปเสวยทุกข์ทรมาน มีความหิวกระหาย อยากจะทานอะไรก็ทานไม่ได้สักอย่าง เวลาที่นางลงไปในแม่น้ำคงคา เมื่อคิดว่าจะดื่มน้ำ แม่น้ำคงคาก็กลายเป็นเลือดแดงฉานไปหมด ทำให้นางดื่มไม่ได้ ต้องถูกความหิวกระหายครอบงำนานถึง ๕๕ ปี
 
     วันหนึ่ง พระเรวตเถระกำลังนั่งพักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา นางเปรตผู้มีหน้าตาผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว มีผมยาวสยายลงมาจรดพื้นดิน ก็เข้าไปหาพระเรวตะ แล้วได้กล่าวอ้อนวอนขอน้ำกับพระเถระว่า "ตั้งแต่ที่ตนตายจากโลกมนุษย์ไป ยังไม่เคยได้ข้าวหรือดื่มน้ำเลย ขอให้พระเถระจงให้น้ำดื่มด้วยเถิด"
 
     พระเถระรู้ว่าสตรีผู้นี้เป็นเปรต ท่านจึงถามว่า “แม่น้ำคงคานี้กว้างใหญ่  มีน้ำเย็นใสสะอาด ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ ท่านจงตักดื่มเอาเองเถิด จะมาขอน้ำดื่มจากเราทำไม” นางเปรตอ้อนวอนว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคาขึ้นมาดื่มเอง น้ำก็จะกลายเป็นโลหิตแดงฉาน ทำให้ไม่สามารถดื่มกินได้ ขอท่านได้โปรดอนุเคราะห์ด้วยเถิด”
 
     พระเถระถามต่อว่า "เธอไปทำกรรมอะไรเอาไว้หรือ ทำไมน้ำในแม่น้ำคงคาจึงได้กลายเป็นโลหิต" นางตอบว่า “ดิฉันมีลูกชายคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เขาได้ถวายจีวรบิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ด้วยความเลื่อมใส แต่ดิฉันไม่พอใจในการให้ทานของเขา เพราะถูกความตระหนี่ครอบงำ จึงได้ด่าลูกชายไปว่า "ขอให้ไทยธรรมทั้งหมดที่ได้ทำบุญไป จงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในสัมปรายภพ เพราะวิบากกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิตทุกครั้งที่จะดื่มกิน”
      พระเถระหวังจะอนุเคราะห์นาง จึงได้ถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุสงฆ์เวลาออกบิณฑบาต เมื่อท่านได้รับภัตตาหารแล้วท่านก็จะถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วก็ไปเอาผ้าบังสุกุลจากกองหยากเยื่อมาตัดเย็บเป็นอาสนะ และผ้าปูที่นอนถวายให้กับสงฆ์ พร้อมกับอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้นางเปรต ทันทีที่พระเถระอุทิศส่วนบุญไปให้ นางได้กลายร่างจากเปรตเป็นเทพธิดาผู้มีทิพยสมบัติบังเกิดขึ้นทันที
 
     เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ไม่ดีเลย คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ ถ้าหากว่านางเปรตไม่ได้พระเถระช่วยอนุเคราะห์ จะต้องรับทุกข์ทรมานอีกยาวนาน ความตระหนี่เป็นภัยตัวฉกาจในการสร้างบารมีของเราทีเดียว เราจะต้องเอาชนะความตระหนี่ในใจให้ได้ เพราะการเดินทางไกลไปสู่ที่สุดแห่งธรรมนั้น ยากกว่าความยากทั้งหมดในโลกนี้มารวมกัน คือความยากที่มีมาแล้วในอดีตมากมายเท่าไร การที่จะไปถึงที่สุดแห่งธรรมนั้นยากกว่านั้นเข้าไปอีก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบารมีมากๆ บารมีจะมีมากต้องสั่งสมบุญ ถ้าสั่งสมเพียงชาติสองชาติก็ไม่ได้ จะเป็นร้อยเป็นพันชาติก็ไม่ได้ แต่ต้องสั่งสมกันชนิดนับชาติไม่ถ้วนทีเดียว บารมีถึงจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์
 
     เพราะฉะนั้น เสบียงบุญที่จะมาหล่อเลี้ยงให้เราได้สร้างบารมีไปถึงที่สุดนั้น ก็ต้องเป็นบุญใหญ่ที่พิเศษ ต้องได้เสบียงในระดับที่เป็นสมบัติจักพรรดิตักไม่พร่องนั่นแหละ เป็นเสบียงหล่อเลี้ยง จึงจะทำให้การสร้างบารมีอย่างอื่นเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จนกระทั่งพญามารบังคับบัญชาไม่ได้ เราก็จะพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของเขา แล้วจึงจะไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้
 
     หลวงพ่อมีความปรารถนาอยากให้ทุกคนมีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ทุกคนต้องเอาชนะความตระหนี่ในใจของตนเองให้ได้เสียก่อน ต้องตัดความตระหนี่โดยไม่ปรานีปราศรัย ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความตระหนี่ ไม่มีเชื้อเป็นอาหารให้ความตระหนี่งอกงาม ไม่มีเชื้อแห่งปุ๋ยให้ความตระหนี่ติดข้องอยู่ในใจ เราต้องเอาชนะความตระหนี่ตรงนี้ให้ได้  ความปรารถนานั้นก็จะสมหวัง

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๒๙๓
  


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
กรรมของคนฆ่าพระกรรมของคนฆ่าพระ

โทษของความประมาทโทษของความประมาท

กรรมของคนเจ้าชู้กรรมของคนเจ้าชู้



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน