คาถาต่างๆ มีกำเนิดมาอย่างไรใครเป็นผู้แต่ง


[ 29 ธ.ค. 2554 ] - [ 18276 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 

คำถาม: อยากทราบว่าคาถาต่างๆ เช่นชัยมงคลคาถา คาถาชินบัญชร มีกำเนิดมาอย่างไร ใครเป็นผู้แต่งคาถาเหล่านี้เจ้าคะ?

 
คำตอบ: ชัยมงคลคาถา เป็นบทสวดที่กล่าวถึงชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื้อหาของคาถากล่าวถึง การเอาชนะผู้มารุกรานด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นการชนะที่ไม่ก่อเวรทั้งสิ้น กำเนิดของคาถาชุดนี้ ได้ทราบมาว่าโบราณาจารย์รุ่นหลังท่านช่วยกันรวบรวม และบันทึกเป็นข้อความไว้ในลักษณะบทร้อยกรอง
 
        ชัย แปลว่า ชนะ ชัยมงคล จึงแปลว่า การชนะแบบมีมงคล ไม่ใช่ชนะแบบจองเวร ยกตัวอย่างเช่น
 
        ชัยมงคลคาถาท่อนแรก พระพุทธองค์ทรงชนะมาร คือ “พาหุง สหัสสมภินิมมิตสาวุธันตัง ครีเมขลัง ฯลฯ” เป็นเหตุการณ์เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชนะพญามาร ที่เนรมิตร่างกายให้มีแขนตั้งพัน พร้อมอาวุธครบมือ การชนะพญามารครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
ชัยชนะครั้งที่ 1 เป็นชัยชนะที่พระองค์ทรงชนะพญามาร
ชัยชนะครั้งที่ 1 เป็นชัยชนะที่พระองค์ทรงชนะพญามาร
 
        ถามว่าพระองค์ทรงเอาหอกเอาดาบเอาง้าวไปไล่ฟันพญามารหรือ? เปล่านะ แต่ทรงตั้งใจระลึกถึงความดีอย่างยิ่งยวดของพระองค์ ที่ทรงทุ่มเททำมาตลอดทุกภพทุกชาติ คือบารมีทั้ง 10 ทัศ ที่ทรงสร้างมาอย่างดีนับแต่อดีต
เมื่อกำหนดนึกถึงความดีหนักเข้า ใจก็ไม่ฟุ้งซ่าน ในอิ่มเอิบ พอใจอิ่มเอิบหนักเข้าก็มีพลังมาก จนพญามารทำอะไรพระองค์ไม่ได้ ต้องล่าถอยไป นี่เป็นการชนะของพระองค์ซึ่งไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อไม่มีการจองเวร เรียกว่าเป็นชัยชนะที่มีมงคล
 
        ตอนที่ 2 ทรงชนะด้วยขันติบารมี เป็นเรื่องของการชนะ อาฬวกยักษ์ เจ้านี่เป็นยักษ์นักเลงโต ที่ครั้งหนึ่งเคยแกล้งให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเดินเข้าเดินออกในที่อยู่ของมัน ตามคำสั่งตั้งหลายเที่ยวแต่แรกพระพุทธองค์ทั้งๆ ที่ทรงรู้ว่ามันกลั่นแกลังแบบอันธพาล ก็ทรงใช้ขันติ คืออดทน  ยอมทำตาม เพื่อให้จิตใจของยักษ์อ่อนโยนลงและเป็นการแสดงให้เห็นว่าทรงเจตนามาดี นี่ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งสำหรับปราบคนพาล
 
ชัยชนะครั้งที่ 2 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่ออาฬวกยักษ์ ทรงชนะด้วยขันติบารมี
ชัยชนะครั้งที่ 2 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่ออาฬวกยักษ์ ทรงชนะด้วยขันติบารมี
 
        ครั้นพระองค์ทรงเห็นว่ายอมให้มากพอแล้ว จึงทรงเฉยๆ เสียจนเจ้ายักษ์ต้องใช้วิธีใหม่ โดยตั้งปัญหาธรรมะมาถามพระองค์ แล้วคาดโทษไว้ว่า ถ้าตอบไม่ได้ จะทำร้ายต่างๆ นานา แต่พระพุทธองค์ก็ทรงตอบปัญหาเหล่านั้นได้จนหมด ในที่สุดเจ้ายักษ์ก็ยอมแพ้ประกาศมอบตัวเป็นลูกศิษย์ นั่นก็เป็นการชนะแบบชัยมงคล คือไม่มีการจองเวรจองกรรมกันต่อไป
 
        ตอนที่ 3 ทรงชนะด้วยพระเมตตา คือชนะช้างตกมันชื่อ นาฬาคิรี ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
 
        ช้างตัวนี้นอกจากตกมันแล้ว ยังถูกพระเทวทัตมอมเหล้าอีกด้วย ที่เอาเหล้าให้ช้างกิน ก็เพราะต้องการให้ช้างคลั่งจัด กล้าเข้าไปเหยียบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียให้ตาย สาเหตุเพราะพระเทวทัต อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อปกครองสงฆ์เสียเอง ปรากฏว่าเจ้าช้างตกมัน ซ้ำยังเมาเหล้าด้วย ครั้งแรกก็วิ่งปร๊าดมาเชียว
 
ชัยชนะครั้งที่ 3 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่อช้างนาฬาคิรี ทรงชนะด้วยพระเมตตา
ชัยชนะครั้งที่ 3 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่อช้างนาฬาคิรี ทรงชนะด้วยพระเมตตา
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเสด็จออกบิณฑบาต ทรงเห็นช้างปรี่เข้ามาก็ทรงแผ่เมตตาให้ เจ้าช้างร้ายเลยสร่างเมา คุกเข่าลงหมอบกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพลางร้องไห้น้ำตาไหลพรากเลย นี่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่มีเวร เป็นชัยมงคลอีกครั้งหนึ่ง
 
        ตอนที่ 4 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่อโจรองคุลิมาล วันนั้นเจ้าโจรองคุลีมาลควงดาบวิ่งร่ามาทีเดียว หมายจะฆ่าพระพุทธองค์จะตัดนิ้วไปร้อยเป็นมาลัยคล้องคอให้ครบเป็นที่หนึ่งพัน เอาไปมอบให้อาจารย์เพื่อขอเรียนวิชาสุดยอดสำหรับครองโลก แต่พอมาถึงกลับถูกพระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ให้วิ่งตามไม่ทันสักที เป็นการแสดงให้เห็นว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า ใครๆ ก็ไม่สามารถเป็นเจ้าโลกได้จริง
 
ชัยชนะครั้งที่ 4 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่อโจรองคุลิมาล
ชัยชนะครั้งที่ 4 เป็นชัยชนะที่พระองค์มีต่อโจรองคุลิมาล
 
        พอองคุลีมาลร้องตะโกนไล่หลังมาว่า “สมณะหยุดก่อน” พระองค์ยังไม่หยุดเสด็จดำเนิน แต่ทรงกล่าวคำสั้นๆ เป็นเทศนาโวหารว่า “เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด” องคุลีมาลก็เลยได้คิดแล้ว ออกบวชตามพระองค์ไป นี่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่มีเวร
 
        ตอนที่ 5 เป็นชัยชนะด้วยความสงบ อันเนื่องจากการถูกใส่ร้ายป้ายสี คือมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนางจิญจมาณวิกา มาใส่ร้ายพระองค์ว่าทรงทำเขาท้อง
 
ชัยชนะครั้งที่ 5 ชนะการถูกกล่าวหาจากนางจิญจมาณวิกา
ชัยชนะครั้งที่ 5 ชนะการถูกกล่าวหาจากนางจิญจมาณวิกา
 
        ดูซิ..แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังถูกข้อหาแบบนี้เลย พวกเราอย่าทำเป็นเล่นไป ต้องหมั่นระมัดระวังตัวให้ดี ครั้งนั้นพระองค์ทรงใช้ความสงบเข้าสู้ ไม่ต่อล้อต่อเถียง ในที่สุดความจริงก็เผยออกมาว่าไม่ได้ท้องไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น แกเอาผ้าพันให้หน้าท้องนูนๆ เท่านั้นเอง แล้วมายืนร้องด่าพระพุทธองค์ เผอิญผ้าที่พันไว้เกิดหลุดลงมาความก็เลยแตก นี่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่มีเวร
 
        ตอนที่ 6 เป็นชัยชนะด้วยอำนาจสัจวาจา คือมีนักโต้วาทีฝีปากเอกในยุคนั้น ซึ่งตลอดชีวิตไปโต้วาทีที่ไหนไม่เคยแพ้ใครเลยเป็นนักโต้วาทีที่อาศัยความกลับกลอกต่างๆ นานา จนไม่มีใครหาญสู้ได้ มิหนำซ้ำยังชอบพูดจาดูถูกคนทั้งแผ่นดิน เป็นที่ยำเกรงของศาสดาเจ้าลัทธิทั้งหลายในยุคนั้น
 
ชัยชนะครั้งที่ 6 ชนะสัจจกนิครนถ์
ชัยชนะครั้งที่ 6 ชนะสัจจกนิครนถ์
 
        แต่พระองค์ก็ทรงอาศัยสัจวาจา จนกระทั่งสัจจกนิครนถ์ก็ยอมแพ้เป็นการแสดงให้เห็นว่า คำจริงย่อมชนะคำกลับกลอก ตลบตะแลงทั้งหลาย นี่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่ก่อเวร
 
        ตอนที่ 7 เป็นชัยชนะด้วยฤทธิ์ มีชัยต่อสัตว์ที่มีฤทธิ์ร้ายกาจ คือ พญานาค ซึ่งมีฤทธิ์ขนาดพ่นไปออกจากปากได้ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เช่นเดียวกับเทวดา
 
ชัยชนะครั้งที่ 7 ชนะนันโทปนันทนาคราช
ชัยชนะครั้งที่ 7 ชนะนันโทปนันทนาคราช
 
        ชัยชนะครั้งนี้พระองค์ทรงใช้ให้พระโมคคัลลานะไปแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า แต่ไม่ได้ทำร้ายให้พญานาคบาดเจ็บ เมื่อพญานาคสำนึกตัวว่า ฤทธิ์ของตนตนเมื่อเทียบกับพระอรหันต์แล้วก็น้อยนิด เหมือนเอาแสงหิ่งห้อยไปแข่งกับแสงอาทิตย์ในที่สุดพญานาคยอมละพยศกลับสงบเสงี่ยมเจียมตัวเสมือนไส้เดือนตัวหนึ่ง แล้วไม่ทำร้ายใครอีกต่อไป นี่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่ก่อเวร
 
        ตอนที่ 8 ทรงชัยชนะด้วยเทศนาญาณอันวิเศษ เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ประจำกัป คือชนะท้าวพกาพรหมผู้มีฤทธิ์ ซึ่งใครๆ ก็หลงเข้าใจผิดว่าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งหลาย แต่แล้วพระองค์ก็ทรงชัยชนะด้วยเทศนาญาณอันวิเศษ ทำให้ท้าวผกาพรหมสำนึกได้ เปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิมาเป็นสัมมาทิฎฐิได้ แม้ข้อนี้ก็เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่และไม่มีการก่อเวรกรรมใดๆ ทั้งสิ้น
 
ชัยชนะครั้งที่ 8 ชนะพกาพรหม
ชัยชนะครั้งที่ 8 ชนะพกาพรหม
 
        ชัยมงคลคาถานี้เป็นบทสวดสรรเสริญความชนะ ที่ไม่มีการก่อเวร ถามว่าทำไมถึงชอบสวดมาก ?
 
        ตอบว่าที่ชอบ ก็เพราะบทสวดนี้เตือนใจว่า คนเราพอมีเรื่องอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น ควรพยายามหาวิธีแก้ไขที่นุ่มนวลที่สุด ไม่พยายามต่อความยาวสาวความยืด รีบทำเรื่องให้มันสงบเรียบร้อย โดยเร็วที่สุด เหตุการณ์ชนิดเลือดล้างด้วยเลือด ฟันต่อฟัน ตาต่อตาในพระพุทธศาสนาไม่มี ในจิตใจของชาวพุทธไทยไม่มีเรื่องเหล่านี้ ใจจึงสงบเร็วและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาศัยอิทธิพลของชัยมงคลคาถา ที่อุตส่าห์สวดพร่ำกันมาแต่ปู่ย่าตาทวดนั่นแหละ โบราณาจารย์ท่านแต่งโดยเอาเนื้อความในพระไตรปิฎกมาประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง เป็นลักษณะที่เรียกว่าฉันท์ พวกเรียนอักษรศาสตร์จะเข้าใจฉันทลักษณ์แบบนี้ดี
 
        คาถาชัยมงคล เป็นคาถาสรรเสริญความสามารถพิเศษน่าอัศจรรย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการผจญมารประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้นพวกเราเวลาโกรธใครขึ้นมาก็สวดมนต์บทนี้เข้า นึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงผจญมาร นึกไปนึกมาเดี๋ยวก็ลืมโกรธ ไม่ไปทำร้ายเขา อย่างนี้เป็นอุบายอย่างหนึ่งที่ทำใจให้ผ่องใส เพราะฉะนั้นถ้าท่องได้ก็ดีท่องเถอะ ถ้าท่องไม่ได้ก็ไปเป็นไร ท่องบทสั้นๆ “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” ไปเรื่อยๆ อีกหน่อยใจก็สงบได้เหมือนกัน
 
        เท่าที่สืบค้นจากตำรับตำรา ชัยมงคลคาถาหรือพุทธชัยมังคลคาถา ผู้รู้ฝ่ายไทยบางท่านเล่าว่า แต่งขึ้นในเมืองไทย แต่พระธัมมานันทเถระ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่าแต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ในลังกา มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในพุทธโฆสนิทาน นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาท่านใดสนใจความเป็นมาที่แท้จริงโดยละเอียด ก็ลองไปค้นคว้าดูนะ
 
        ส่วนคาถาชินบัญชร ซึ่งเป็นที่นับถือสวดกันแพร่หลายในเมืองไทย กล่าวกันว่าเป็นของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ยิ่งกว่านั้นยังมีฉบับของลังกาและพม่าอีกด้วย พระธัมมานันทเถระได้เล่าถึงความเป็นมาของคาถาชินบัญชรว่า ในสมัยตองอู พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งพระราชโอรสนามว่าอโนรธามาเป็นเจ้านครเชียงใหม่ ทรงปรึกษากับพระเถระผู้ใหญ่ประพันธ์คาถาขึ้นสวดแทนนต์ในลัทธิมนตรยาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่หลงผิดในสมัยนั้น คาถาชินบัญชรจึงเกิดขึ้น แล้วแพร่หลายไปสู่ลังกาและพม่า จึงมีหลายฉบับซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกัน


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ขายลูกสาวเพื่อเอาเงินไปบวชลูกชายจะได้บุญหรือไม่ขายลูกสาวเพื่อเอาเงินไปบวชลูกชายจะได้บุญหรือไม่

ทำไมวัดพระธรรมกายจึงต้องโฆษณาว่าปีนี้จะมีผู้บวชไม่สึกทำไมวัดพระธรรมกายจึงต้องโฆษณาว่าปีนี้จะมีผู้บวชไม่สึก

การแสดงความเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทางนั้นสมควรหรือไม่การแสดงความเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทางนั้นสมควรหรือไม่



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา