องค์อัมรินทราธิราช


[ 15 พ.ค. 2555 ] - [ 18296 ] LINE it!

องค์อัมรินทราธิราช
 
 
 
     การเจริญสมาธิภาวนาเป็นทางมาแห่งมหากุศล และเป็นทางลัดที่สุดของการสร้างบารมี เพื่อมุ่งตรงสู่เป้าหมายคือที่สุดแห่งธรรม ทุกครั้งที่เราได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา นำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ในตัวของเรา จะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์จะเป็นทางมาแห่งความสุข ซึ่งความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติต่างปรารถนา เพราะเป็นสุขที่แท้จริง สุขที่เสรี กว้างขวาง ไร้ขอบเขต และยังเป็นเหตุให้ขจัดกิเลสอาสวะ ชำระมลทินของใจได้อีกด้วย
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
 
                         “อปฺปมาเทน มฆวา   เทวานํ เสฏฺฐตฺตํ คโต
                          อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ   ปมาโท ครหิโต สทา
 
     ท้าวสักกเทวราช ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทไม่ว่าในกาลไหนๆ  บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนความประมาท"
 
     หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชเป็นใคร มีจริงไหม บางครั้งเราก็ได้ยินว่า พระอินทร์ลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้ฟังเรื่องกำเนิดของพระอินทร์กันเรียบร้อยแล้วว่า พระอินทร์เป็นใครมาก่อน และที่ได้เป็นจอมเทพในสวรรค์เพราะทรงสั่งสมบุญอะไรเอาไว้ และทรงอาศัยคุณธรรมอะไรจึงทำให้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ ดังนั้นเรื่องราวของพระอินทร์จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นมาหรือเป็นนิยายปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา หรือเป็นเพียงบุคคลาธิษฐานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจริงที่มีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎก
 
     ครั้งนี้ หลวงพ่อจะเล่าเส้นทางการไปเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของท่าน ว่าได้สั่งสมบุญอะไรเอาไว้ จึงได้เป็นจอมแห่งเทพ ให้พวกเราได้ทราบไว้ จะได้ยึดเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     ในสมัยที่ท่านเป็นมนุษย์ ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการทำความดี ได้ทำหนทางไปสู่สวรรค์ โดยประพฤติวัตตบท ๗ ประการอย่างสมํ่าเสมอ ซึ่งได้กล่าวเอาไว้แล้วว่า เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวคำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด  มีปกติขจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทั่วไปทำได้ยาก แต่ท่านก็ทำได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว
 
     * ในสมัยก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก  ได้มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อว่า มฆมาณพ เป็นคนมีอัธยาศัยดี มีความเสียสละ เวลาไปที่ไหน ก็จะทำสถานที่นั้นให้เป็นที่น่าอยู่น่ารื่นรมย์ เมื่อใครมาขออยู่อาศัยในที่แห่งนั้น ก็จะสละให้ด้วยความยินดี แล้วก็ไปทำสถานที่ใหม่ให้น่าอยู่อีก เมื่อทำเสร็จก็มักจะมีคนมาขออยู่อย่างนี้เรื่อยไป มาณพท่านนี้ก็ไม่ได้นึกโกรธ แต่กลับมองโลกในแง่ดีว่า “ช่างน่าปิติใจจริงๆ ที่คนเหล่านี้มาพักอาศัยอยู่ในที่ของเรา เราก็จะได้ความสุขไปด้วย”
 
     รุ่งขึ้น มาณพหนุ่มถือจอบไปดายหญ้าที่ลานหมู่บ้าน ปัดกวาดบริเวณนั้น ให้เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้คนที่สัญจรไปมาก็อยากจะมาพักผ่อนที่ตรงนั้น  ครั้นฤดูหนาวมาถึง ชายหนุ่มก็หาฟืนมาก่อไฟให้ชาวบ้านผิงกัน พอฤดูร้อนก็หาน้ำดื่มมาตั้งไว้ เพื่อให้ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาแถวนั้น ได้ดื่มนํ้าแก้กระหาย ต่อมาท่านคิดว่า “เราควรจะสร้างศาลาให้คนเดินทาง และทำหนทางให้ราบเรียบ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านจะออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ ถือจอบและมีดเที่ยวดายหญ้า ตัดกิ่งไม้ที่รกๆ เพื่อทำหนทางให้ราบเรียบ
 
     เมื่อเพื่อนเดินผ่านมาเห็นเข้าก็ถามว่า “สหายเอ๋ย มาเที่ยวทำอะไรอยู่แถวนี้” มฆมาณพตอบว่า “ฉันจะทำหนทางไปสวรรค์ของฉันนะ” เพื่อนได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมและเกิดความเลื่อมใสในเจตนาดีของท่าน เมื่อเห็นดีเห็นงามด้วยจึงลงมือช่วยกัน วันต่อมา ก็มีเพื่อนซึ่งมีความคิดตรงกันกับมฆมาณพมาช่วยงานเพิ่มมากขึ้น จากหนึ่งคน ก็เป็นสองคน สามคน เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนรวมเป็น ๓๓ คน ทุกวันท่านเหล่านี้จะพากันถือจอบ ถือมีด และอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากบ้านด้วยใจที่ร่าเริงเบิกบาน ต่างช่วยกันทำถนนหนทางให้ราบเรียบ และร่วมแรงร่วมใจกันทำงานสร้างบารมีอย่างสนุกสนานเบิกบาน จนสามารถทำถนนไปได้ไกลถึง ๒ โยชน์ หรือประมาณ ๓๒ กิโลเมตร
 
     ผู้ใหญ่บ้านเห็นชายหนุ่มเหล่านี้กำลังร่วมกันทำความดี แทนที่จะอนุโมทนากลับพาลคิดว่า “ถ้าหนุ่มๆ เหล่านี้ยิงนกตกปลา แล้วซื้อเหล้ามาดื่มกินกัน เราก็จะพลอยได้ไปร่วมด้วยบ้าง แต่นี่ทำอะไรก็ไม่รู้ เหนื่อยก็เหนื่อย เสียเวลาทั้งวัน” ด้วยนิสัยที่เป็นพาลจึงขัดขวางการทำความดีของชายหนุ่มเหล่านั้น เพราะระแวงว่าตนเองจะไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านอีก ชาวบ้านอาจจะให้ชายหนุ่มเหล่านี้มาเป็นผู้นำแทน ถึงแม้ผู้ใหญ่บ้านจะขัดขวางอย่างไรก็ตาม ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เขาเหล่านั้นยังคงทำความดีกันตามปกติ เพราะธรรมดาของบัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวในการสร้างความดี
 
     ครั้นห้ามไม่ได้ก็คิดกำจัด ผู้ใหญ่บ้านจึงไปเข้าเฝ้าพระราชา แล้วทูลเท็จว่า “ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นกลุ่มโจร กำลังทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ขอพระองค์ทรงส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุมด้วยเถิด พระเจ้าข้า” พระราชาสดับดังนั้น ทรงรับสั่งให้ทหารไปจับ และให้ประหารชีวิตทันทีโดยยังไม่ทันพิจารณา ด้วยการให้ช้างเหยียบ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ มฆมาณพก็บอกกับเพื่อนๆ ว่า “สหายทั้งหลาย เว้นเมตตาธรรมเสียแล้ว ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี ท่านทั้งหลายอย่าได้โกรธเคืองผู้ไม่หวังดีเลย จงมีเมตตาจิตต่อพระราชา และช้างที่กำลังจะทำร้ายเราเถิด”
 
     แม้ควาญช้างจะไสช้างเข้าไปหลายครั้งก็ตาม แต่ด้วยอานุภาพแห่งเมตตา ช้างจึงไม่กล้าเหยียบ พระราชาจึงสั่งให้เอาเสื่อลำแพนมาคลุมพวกเขาไว้ เพราะคิดว่าช้างเห็นคนมากจึงไม่กล้าเหยียบ แม้เอาเสื่อลำแพนมาคลุมไว้ ช้างนั้นก็ยังไม่กล้าเหยียบ กลับเดินถอยหลังออกไป พระราชาทรงเกิดความสงสัย จึงเรียกชายหนุ่มเหล่านั้นมาไต่ถามถึงความเป็นมาทั้งหมด
 
     เมื่อความจริงทั้งหมดถูกเปิดเผย พระราชาทรงรู้สึกซาบซึ้งในคุณธรรมของชายหนุ่มทั้งหลาย จึงทรงขอขมาที่ได้ล่วงเกิน และได้พระราชทานตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านให้มฆมาณพ ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนเดิมพร้อมทั้งบุตรและภรรยา ก็ให้เป็นคนรับใช้ของพวกเขา และทรงพระราชทานช้างเชือกนั้นให้เป็นรางวัล
 
     เมื่อได้รับการสนับสนุนจากพระราชา มฆมาณพและพวกก็ยิ่งสร้างความดีเพิ่มขึ้น ได้ช่วยกันสร้างศาลาขึ้นในหนทางใหญ่ ๔ แยก ให้เป็นที่พักอาศัยแก่พ่อค้าและคนเดินทาง ภรรยาท่านหนึ่งของมฆมาณพคือสุธรรมา ก็ได้ร่วมบุญด้วยการทำช่อฟ้าศาลา นางสุนันทาได้สร้างสระโบกขรณี เพื่อให้คนได้ลงอาบและดื่มนํ้าอย่างสบาย ส่วนนางสุจิตราได้สร้างสวนดอกไม้หอม เมื่อทั้งผู้นำประเทศคือพระราชา ผู้บริหารบ้านเมืองและหัวหน้าหมู่บ้าน ต่างขวนขวายในการทำความดี ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อละโลกไปแล้ว พวกเขาได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กันมากมาย
 
     เนื่องจากมฆมาณพเป็นผู้นำในการสร้างความดี อีกทั้งได้บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการได้อย่างบริบูรณ์ และเป็นผู้ไม่ประมาท สามารถตักเตือนตนเองได้ ทำให้ท่านได้เป็นท้าวสักกจอมเทพ ส่วนนางสุชาดาคิดว่าเราเป็นภรรยาของมฆมาณพ เมื่อเขาทำบุญอะไรเราก็คงได้บุญด้วย จึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำบุญ เมื่อละโลกไปแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นนกกระยาง  
 
     เพราะฉะนั้น ใครทำบุญ คนนั้นก็ได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เรื่องบุญบารมีนี้เราต้องสร้างเอาเอง ไม่มีใครทำแทนให้ใครได้ นี่ก็เป็นอีกตอนหนึ่ง เกี่ยวกับชีวประวัติการสร้างบารมีของพระอินทร์ว่า กว่าจะได้มาเป็นพระอินทร์นั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมายทีเดียว
 
     พวกเรานักสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน ยามที่เราเจออุปสรรค ควรเอาเยี่ยงอย่างบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ให้อดทนด้วยปัญญา และตั้งใจทำความดีของเราต่อไป โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น แม้ใครจะไม่เห็นด้วยกับเรา ขอจงอดทนสร้างบารมีต่อไป อย่าหวั่นไหว โดยเฉพาะเรามีเป้าหมายใหญ่ที่จะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม จึงจำเป็นต้องสร้างบารมีให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา แล้วเราจะสมปรารถนากันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๔๐ หน้า ๓๕๖
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ปาริฉัตรสวรรค์ปาริฉัตรสวรรค์

เทพจุติเทพจุติ

ทวยเทพสดับธรรมทวยเทพสดับธรรม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน