โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด


[ 12 มิ.ย. 2555 ] - [ 18296 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
การโกหก
 
        การโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นบาปและควรละเว้น แต่หลายคนอาจเคยมีความคิดว่า ถ้าพูดความจริงแล้วจะทำให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าพูดโกหกแล้วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แบบนี้จะผิดหรือไม่ และการพูดความจริงแต่พูดไม่หมดนั้นบาปหรือไม่ โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด
 

คำว่า โกหก มีคำจำกัดความว่าอย่างไร?

 
        โดยหลักก็คือว่า เป็นเรื่องไม่จริง ทั้งที่เรารู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง และเราก็มีเจตนาที่จะโกหก แล้วพูดไปคนฟังก็ฟังเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง นั่นคือโกหกโดยสมบูรณ์ ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงแต่เราไม่รู้นึกว่ามันเป็นเรื่องจริงคือเราเข้าใจผิดอย่างนี้ก็ยังพอรอดตัว
 
        ที่บรรจุไว้เป็น 1 ใน 5 ของศีล 5 ที่เราต้องถือปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น เราดูได้ 2 ระดับ คือเรื่องโกหก บางทีมันเป็นเรื่องที่ไม่หนักในระดับการฆ่าสัตว์ เพราะการทำลายชีวิตผู้อื่นดูมันหนักและใหญ่กว่า หรือไปขโมยของคนอื่นเขานี่ก็เรื่องใหญ่ แค่โกหกพูดไปหน่อยเดียวเพราะมันออกไปง่าย และมันก็ไม่เห็นจะมีผลกระทบอะไรมากมายไม่ถึงกับทำให้ใครตาย ทำไมมันต้องหนักหน่วงขนาดนั้นหรือ เราลองสังเกตดูว่าในสังคมนั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ศีลข้อ 4 มีความจำเป็นมากเลย ถ้าหากว่าเราอยู่กับคนรอบข้างแล้วเขาพูดอะไรมา แสดงอะไรมาเราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าเขาพูดจริงหรือไม่ ชีวิตก็จะมีแต่ความหวาดระแวงมีแต่ความเสี่ยงมาก อย่างถ้าในบางประเทศมีโอกาสในการทำธุรกิจดูดีมากแต่ว่าไม่มีความแน่นอน คือไปลงทุนแล้วพร้อมจะถูกยึดตลอด คือคำสัญญาของรัฐบาลและทุกอย่างไม่มีอะไรที่แน่นอน สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อ ทุกคนก็ไม่อยากเอาเพราะมีความเสี่ยงมาก เพราะมีความไม่แน่นอน
 
การพูดโกหก ทำให้เกิดบาปในใจ
การพูดโกหก ทำให้เกิดบาปในใจ
 
        จะเห็นว่ากิจกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ก็ตาม ระหว่างองค์กรกับองค์กรก็ตาม ระหว่าประเทศกับประเทศก็ตาม จะดำเนินไปได้ด้วยดีต่อเมื่อมีพื้นฐานคือ ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ได้พูดออกมา ได้สัญญาออกมาแล้วนั้นจะปฏิบัติตามนั้น ถ้าเมื่อใดก็ตามไม่มีการรักษาสัญญา ก็ไม่รู้จะไปทางไหนเลย นี่คือระดับหนึ่ง สังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้จำเป็นต้องมีศีลข้อ 4 เป็นพื้นฐาน เป็นศีลหลัก 1 ใน 5 ข้อของมนุษย์เลย นี่คือระดับที่เราเห็นได้ในภพปัจจุบันนี้เลย
 
        การพูดโกหก ทำให้เกิดบาปในใจ สิ่งที่เราพูดออกไปมันจะเกิดเป็นภาพในใจ ถ้าเราพูดเรื่องที่ไม่จริงภาพที่เกิดขึ้นในใจมันจะเป็นภาพบิดเบี้ยว เพราะมันเพี้ยนจากความเป็นจริง เรารู้อยู่ว่าความจริงเป็นยังไง ถ้าเราพูดอีกแบบ ภาพที่ซ้อนอยู่มันเกิดการสับสน หนักเข้าก็จะเป็น อัลไซเมอร์ ขี้หลงขี้ลืม เพราะมันสับสนว่าอันไหนจริงอันไหนโกหก คนที่พูดโกหกมากๆ เข้าสุดท้ายตัวเองก็สับสน เพราะต้องมานั่งจำว่าวันไหนพูดยังไง วันนี้พูดยังไง หนักเข้ามันจำไม่ไหว สุดท้ายก็ทำให้ตัวเองสับสน หนักๆ เข้าก็เป็น อัลไซเมอร์ ไปเลย พอเป็นอย่างนี้ก็ทำให้ใจหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป ก็ไปอบาย เพราะคุณภาพใจมันเสีย
 

บางทีไม่อยากโกหกเพราะพูดแล้วอาจเกิดผลเสีย อาจหลีกเลี่ยงโดยการไม่พูดหรือพูดไม่ครบอย่างนี้ถือว่าเป็นการโกหกหรือไม่?

 
        อยู่ที่เจตนา ถ้าเจตนาเราคือไม่ต้องการโกหก ต้องการรักษาวจีสุจริตคือพูดเรื่องจริง ฉะนั้นเรื่องนี้ถ้าเราไม่อยากพูดเราก็มีสิทธิที่จะไม่พูด เราอาจจะบอกเขาตรงๆ ว่าเรื่องนี้ไม่ขอพูด อย่างนี้ได้ ขอให้เช็คว่าเราไม่ได้พูดสิ่งที่ไม่จริงออกไปและไม่มีเจตนาจะไปหลอกลวงหรือโกหกใคร
 
การโกหกเพื่อให้คนฟังสบายใจเช่นหมอพูดกับคนไข้ว่าไม่เป็นไรแต่จริงๆ แล้วก็จะอยู่ได้อีกไม่นาน แบบนี้จะมีผลอย่างไร?
 
        ต้องแยกให้ดีระหว่างการให้กำลังใจกับการโกหก เช่นว่า เห็นคนไข้ก็ชมว่าวันนี้ดูสดใสขึ้นนะเป็นการให้กำลังใจ เพราะคนเรานั้นกำลังใจมีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต ในแต่ละวันก็หยิบยกข้อดีในตัวเขาขึ้นมาให้กำลังใจ แต่ถ้าสมมติว่าเขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย อีกไม่กี่วันก็ตายแน่นอน แล้วไปบอกเขาว่า ไม่เป็นไร ออกมาแล้วดีไม่มีอะไรเลยดีกว่าไม่เป็น อย่างนี้ก็ไม่ใช่ แล้วจะมีวิธีการบอกเขาอย่างไร จะบอกตรงๆ หรือโกหก ตรงนี้ได้มีการทำวิจัยและได้ข้อสรุปออกมาว่าจริงๆ แล้วบอกความจริงกับคนไข้ดีที่สุด แต่ต้องมีวิธีในการบอก บอกอย่างมีศิลปะ วันหนึ่งคืนหนึ่งของบุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิตของคนที่ปล่อยให้ผ่านไปวันๆ อย่างไร้สาระเป็นร้อยปี ฉะนั้นคนไข้ที่อาการหนักที่เหลือชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่วันนั้น ให้เขาตั้งหลักตั้งสติให้ดีว่าชีวิตของเขาที่ยังเหลืออยู่น้อยนิดนี้ยังมีค่ากว่าคนอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่แบบเรื่อยเปื่อยเป็นร้อยปีอีก และอาจจะดีกว่าตรงที่ว่าบางคนนั้นนึกว่าตัวเองยังแข็งแรงอยู่ ก็เลยประมาทไม่ทำความดีเอาไว้แก่เมื่อไหร่ค่อยทำ อยู่ดีๆ เกิดรถชนตายขึ้นมาก่อนยังไม่ได้ทำก็มี แต่ว่าคนที่ป่วยอยู่นั้นรู้ตัวก่อนว่าเวลาที่เหลืออยู่นั้นยังไม่มาก ฉะนั้นใช้เวลานี้ในการสร้างบุญสร้างกุศลดีกว่าอย่างนี้กลับเป็นประโยชน์มากกว่า เรียกว่าเปลี่ยนจากอกุศลให้เป็นกุศล เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสฉะนั้นจึงควรต้องบอกความจริงกับเขาแต่ต้องบอกอย่างมีศิลปะ พร้อมกับให้ทางออกและยกใจเขาให้สูงขึ้น เท่าที่เห็นมาคนไหนที่เป็นคนเข้าวัดเข้าวาประพฤติปฏิบัติธรรม แม้จะเจอมรณะภัยอยู่ข้างหน้า เขาจะไม่หวาดหวั่น เพราะรู้หลักปฏิบัติ แต่สำหรับคนที่ตรงข้ามก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็มีแต่กลัวกับกลัว ดังพุทธพจน์ที่ว่า คนทำดีย่อมบันเทิงในภพนี้และภพหน้า เมื่อนึกได้ว่าตนได้ทำแต่บุญกุศลย่อมบันเทิงในใจ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะบันเทิงใจยิ่งขึ้นในสุคติโลกสวรรค์ ดูตอนปกติระหว่างคนที่ชอบทำบุญกุศล กับคนที่ไม่ทำบุญก็ดูจะไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ แต่เมื่อมรณะภัยมาเยือน จะพบความแตกต่างอย่างชัดเจน พบความตายอย่างองอาจ ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น แล้วมีความสุขในภพนี้และภพหน้ามีความสุขในภพทั้งสอง
 
การพูดเพื่อให้เป็นไปตามมารยาทที่ดีทางสังคม ทั้งที่ไม่ได้พูดจากความจริงอันนี้จะเป็นอย่างไร?
 
        ตรงนี้ก็ต้องแยกให้ออก ในโลกนี้เขาถึงบอกว่ามีสายวิทย์กับสายศิลป์ อย่างสายวิทย์ถ้าถามว่า 1+1 เท่ากับเท่าไหร่ ก็ตอบกันได้ว่า เท่ากับสอง แล้วอย่างสายศิลป์ถ้าถามว่ากล้วยกับส้มนั้นอันไหนอร่อยกว่ากัน ก็ตอบยาก เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกของแต่ละคนซึ่งชอบไม่เหมือนกัน ฉะนั้นกรณีมารยาททางสังคมก็จะคล้ายๆ กัน เขาใส่ชุดอะไรจะสวยหรือไม่อยู่ที่คนมอง บางคนมองว่าผู้หญิงผิวดำสวย บางคนก็มองว่าผู้หญิงผิวขาวสวย บางคนก็มองว่าคนผอมดูดี ส่วนบางคนมองว่าท้วมๆ หน่อยจะดูดี
 
        มีเรื่องขำขันอยู่เรื่องหนึ่งคือ มีโยมคนไทยอยู่คนหนึ่งเป็นนักศึกษาไทยเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนท้วมๆ หน่อย ถ้าอยู่เมืองไทยอาจจะถูกเพื่อนล้อว่าตุ้ยนุ้ย ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ถ้าอยู่ในเมืองไทย แต่พอไปญี่ปุ่นปรากฏว่ามันไปเข้ากับลักษณะของนางในวรรณคดีของญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องเป็นคนท้วมนิดๆ หน้าเป็นรูปไข่ๆ หน่อย ตารีๆ ซึ่งเข้ากับสเป็คเขาที่นั่น นักศึกษาคนนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนที่นั่นมาก อันนี้ก็ นานาจิตตัง จึงไม่มีว่าอะไรถูกอะไรผิด ฉะนั้นการที่จะชื่นชมอะไรแบบนั้นจึงไม่มีว่าอะไรถูกอะไรผิด ในเรื่องมารยาททางสังคมเราก็ดูตามสมควรไป
 
ในทางพระพุทธศาสนาการโกหกนั้นเป็นบาปหรือไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง?
 
        การโกหกแบบไหนจะบาปมากหรือน้อยนั้นให้ดูอย่างนี้ ถ้าหากว่าเรามีเจตนาแรงกล้าในการโกหกคือตั้งใจหลอกเขาเลย ก็จะบาปมาก เช่น หมอเห็นคนไข้ป่วยมากไม่กล้าพูดความจริงกลัวเขาไม่สบายใจ กลัวตกใจและเศร้าก็เลยเลี่ยงๆ ที่จะไม่พูดหรือบอกไม่ตรง อย่างนี้เจตนาถือว่าไม่แรงกล้า มีความหวังดีแอบแฝงอยู่แม้จะไม่ถูกวิธีก็ตาม ก็บาปน้อย แล้วถ้าไปโกหกกับคนที่มีคุณสูงก็จะบาปมาก เช่น ไปโกหกหลอกลวงพระภิกษุผู้ทรงศีล หรือคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้มีคุณกับตัวเราสูงก็บาปมากกว่าผู้มีคุณต่ำ แล้วถ้ามีผลกระทบจากการโกหกนั้นมากมันก็บาปมาก ผลกระทบเบาก็บาปน้อยหน่อย
 
ในสมัยพุทธกาลเคยมีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องราวการโกหกให้ได้เรียนรู้กันบ้างไหม?
 
        พระพุทธองค์เน้นเรื่องนี้มาก อย่างขนาดเจ้าชายราหุลซึ่งเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัทถะ พออายุได้ 7 ขวบก็ได้มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนางพิมพาคือผู้เป็นแม่ให้มาขอสมบัติจากพ่อ เพราะตามหลักแล้วเจ้าชายสิทธัทถะแม้จะออกบวชแล้วแต่ก็ยังเป็นผู้ที่มีสิทธิในราชสมบัติส์บทอดจากพระเจ้าสุทโธทนะอยู่ ฉะนั้นพระนางพิมพาพระชายาของเจ้าชายสิทธัทถะ ก็เลยให้เจ้าชายราหุลมาขอสมบัติจากพ่อซึ่งตอนนั้นก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ให้เลยแต่ให้อริยะสมบัติคือให้บวชเป็นสามเณรเลย เพราะราชสมบัตินั้นถ้าให้ไปแล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรซึ่งเกิดอยู่แต่ในภพนี้เท่านั้นเอง และยังมีภาระอีกเยอะแยะยังมีโอกาสจะสร้างอกุศลกรรมอีกมาก ถ้าไปปกครองบ้านเมืองก็ยังมีโอกาสสั่งประหารโจรผู้ร้ายได้ก็มีบาปติดตัวไปอีก จึงให้อริยะสมบัติคือให้บวชเป็นสามเณรดีกว่า สุดท้ายก็เป็นสามเณรอรหันต์ด้วย และพระนางพิมพาสุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์เถรีเพราะบวชเหมือนกัน พระองค์สอนสามเณรราหุล ถึงขนาดบอกว่า “ราหุล เธอจงอย่าโกหกแม้เพียงล้อเล่น” พระองค์ย้ำถึงขนาดนี้ และสิ่งที่พระองค์สอนไว้ก็อยู่ใน จุลลราหุโลวาทสูตร ในพระไตรปิฎก
 
        พระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งปกครองอาณาจักรอินเดียที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นผู้ที่ส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิด้วยก็คือ พระโสณะ อุตตระ ทำให้พระพุทธศาสนามาเข้าในแดนสุวรรณภูมิ ท่านเห็นความสำคัญของพระสูตรนี้ถึงขนาดยกขึ้นมา 1 ใน 7 พระสูตร จารึกไว้ในพระบรมราชโองการ ส่งไปติดประกาศทั่วอาณาจักรเลย ว่าให้ประชาชนทุกคนตั้งใจศึกษาและถือปฏิบัติตามนี้ เพราะพระองค์ทราบว่า ถ้าหากประชาชนอยู่ในความสัตย์ ความจริงแล้วละก็จะมีผลต่อความสงบสุขของบ้านเมืองอย่างมากมาย ฉะนั้นเรื่องนี้อย่าดูเบาว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย อันนี้สำคัญมากๆ
 
ในเรื่องการให้คำสัญญาแล้วทำไม่ได้อย่างนี้ถือว่าเป็นการโกหกหรือไม่?
 
        สัญญามี 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นลักษณะของความตั้งใจ สัญญากับตัวเองว่าพรุ่งนี้จะอ่านหนังสือ จะทำงานอย่างขยันขันแข็ง เป็นความตั้งใจ ตั้งเป้าหมายให้สูงเข้าไว้ อย่างนี้ก็แบบหนึ่ง พยายามแล้วมันไม่ถึง แล้วพยายามใหม่ตั้งใจใหม่ อย่างนี้ก็อีกแบบหนึ่ง ถ้าทำได้ก็ถือว่าดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ก็เอาใหม่ สัญญาไปแล้วเขาก็ให้ผลประโยชน์เรามา เราก็มีหน้าที่ต้องงปฏิบัติตามสัญญา ถ้าเราเองไปละเมิดสัญญานี้ถือว่าไม่ตรง ก็ต้องปรับให้ถูกต้องเหมาะสม เช่นว่าถ้าไม่ได้ตามนั้นก็ต้องคืนเขา ต้องมีการชดใช้ชดเชยเป็นต้น ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ถ้าเราไม่ได้มีเจตนา มันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันทำให้ทำตามนั้นไม่ได้ เช่น เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาไปส่งของให้ไม่ได้เพราะผลิตไม่ทัน หรือว่าเกิดฝนตกหนักการก่อสร้างก็เลยทำให้ตามสัญญาไม่ทันอย่างนี้เป็นต้น ถามว่าโกหกไหม เราไม่ได้โกหกเพราะเราไม่ได้มีเจตนา ถึงแม้ไม่โกหกแต่ในเรื่องของสัญญาที่ไม่ได้ตามนั้นก็ต้องมีการชดเชยชดใช้ที่ถูกต้องเหมาะสม อันนี้ก็เป็นการรักษาสัญญาของเราเองอีกทางหนึ่ง
 
ในสังคมทุกวันนี้จะเห็นว่ามีการสร้างภาพเพื่อให้ตัวเองดูดีมีฐานะ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ถือว่าเป็นการโกหกหรือไม่?
 
        อันนี้เป็นเรื่องที่ว่า เราเองจะทำอย่างไร คนแต่ละคนทำอย่างไรเป็นสิทธิของเขา ส่วนคนอื่นจะเข้าใจยังไงก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ถ้ากรณีอย่างนี้ยังไม่ถึงขนาดเข้าข่ายการโกหกหลอกลวงอะไร ก็ถือว่าเป็นรสนิยมของแต่ละคนไป เป็นเรื่องสิทธิของแต่ละบุคคล ตัวเราเองก็ต้องรู้ประมาณในการใช้สอย เราเองในฐานะผู้รับสาร เราดูใครก็อย่าประเมินที่เปลือกนอก ต้องดูทุกอย่างให้ชัดๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไป ก็ต้องแยกให้ออก
 
ในทางพระพุทธศาสนาถ้าโกหกแล้วจะตกนรกหรือไม่และบาปมากน้อยแค่ไหน?
 
        ถ้าผิดศีลข้อ 4 ก็จะตกนรกขุมที่ 4 เป็นขุมของมุสาวาทะโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการทำผิดเกี่ยวกับเรื่องคำพูด การโกหกเป็นหนึ่งในนั้น ถัดมาคือพูดส่อเสียด ยุให้เขาแตกกัน เอาความข้างนี้ไปบอกข้างโน้นทำให้เขาทะเลาะกัน อย่างนี้บาป การพูดคำหยาบ ไปด่าว่า ไปกดใจคนอื่นให้ต่ำลงนี่ก็บาป การพูดเพ้อเจ้อ คืออวดอ้างตัวเองไปเรื่อยเปื่อยพูดอะไรเรื่อยเปื่อยเหลวไหลนี้ก็บาปเหมือนกัน แต่ว่าบาปเบาหน่อยถ้าเทียบกับอย่างอื่น ใครไปผิดอย่างนี้เข้าแล้วก็จะตกมหานรกขุมที่ 4 ซึ่งน่ากลัวมากเลย เพราะฉะนั้นอย่าดูเบาอย่าประมาทอย่าไปทำผิดเข้า โดยเฉพาะกับผู้ทรงศีล เราเข้าใจของเราไปอย่างนั้นแล้วไปพูดว่าท่านอะไรต่างๆ นานา แล้วถ้าท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น อันตรายมาก เหมือนจับงูพิษที่เขี้ยวเลย เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงเลยดีกว่า


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มนุษย์มีสิทธิพ้นจากความทุกข์ทรมานโดยวิธีการุณยฆาตได้หรือไม่มนุษย์มีสิทธิพ้นจากความทุกข์ทรมานโดยวิธีการุณยฆาตได้หรือไม่

วิชาโหงวเฮ้งทำให้รู้หน้ารู้ใจจริงหรือวิชาโหงวเฮ้งทำให้รู้หน้ารู้ใจจริงหรือ

จริงหรือไม่ที่ยาเสพติดช่วยให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานได้ดีจริงหรือไม่ที่ยาเสพติดช่วยให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานได้ดี



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว