มรณสติ นำชีวิตสู่หลักชัย


[ 21 ก.ค. 2555 ] - [ 18293 ] LINE it!

มรณสติ นำชีวิตสู่หลักชัย
 

 
     สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นของไม่เที่ยง ชีวิตเปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า ยามต้องแสงอาทิตย์อุทัย ย่อมพลันเหือดแห้งหายไป ทุกชีวิตล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลาย เรามีเวลาสร้างบารมีอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด จึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต บัณฑิตทั้งหลายพึงรีบสั่งสมบุญ เพื่อเป็นเหตุให้เข้าถึงความสุขภายในที่แท้จริง
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน จุลลสุตโสมชาดก ว่า
 
“อุปนิยฺยติทํ มญฺเญ
ปริตฺตํ อุทกํว ปงฺกวารมฺหิ
เอวํ สุปริตฺตเก ชีวิเต
น จ ปมชฺชิตุ ํ กาโล ฯ
 
     ชีวิตนี้ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย เป็นของน้อยนิด ดุจน้ำในโคลนฉะนั้น เมื่อชีวิตเป็นของน้อยเหลือเกินอย่างนี้ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมัวประมาทเลย”
 
     พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ทรงชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขารว่า มันสั้นน้อยนิด ไม่นานก็ต้องแตกสลายไปสู่ความตาย จึงสอนให้นึกถึงความตาย ด้วยการเจริญมรณสติบ่อยๆ เพราะถ้าหากไม่นึกถึงเป็นประจำ เมื่อความตายมาปรากฏต่อหน้า ก็จะเกิดความหวาดกลัว ตั้งสติไม่อยู่
 
     ผู้เจริญมรณสติเป็นนิตย์ จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ด้วยการเร่งรีบทำความดี หมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะมีสุคติเป็นที่ไป
 
     * สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับเหล่าภิกษุว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังเจริญมรณสติอยู่หรือ" พระภิกษุได้ตอบทีละรูปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอยู่พระเจ้าข้า แต่เจริญมรณสติเฉพาะในเวลากลางคืน” บางรูปตอบว่าเจริญมรณสติเฉพาะช่วงกลางวันบ้าง เจริญมรณสติทุกเวลาที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่งบ้าง นึกถึงความตายในขณะเคี้ยวข้าวสี่คำบ้าง นึกในขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนบ้าง
 
     มีรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์นึกถึงความตายว่า คนเรามีชีวิตอยู่แค่ลมหายใจเข้าแลออกเท่านั้น เราพึงพิจารณาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยแยบคาย พึงไม่ประมาท พระเจ้าข้า”
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญภิกษุรูปสุดท้ายว่า ได้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ส่วนภิกษุที่เหลือนั้น ยังชื่อว่าเป็นผู้ประมาท แล้วตรัสเล่าเรื่องของพระองค์ว่า แม้จะเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ก็ยังเจริญมรณสติ นึกถึงความตายเป็นประจำ
 
     * ในอดีตกาล เมื่อพระโพธิสัตว์เกิดเป็นชวนหงส์ ซึ่งเป็นหงส์ที่มีความเร็วมาก มีหงส์เก้าหมื่นเป็นบริวาร อาศัยอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ ทุกวันจะพาบริวารบินออกหากินเมล็ดข้าวที่เกิดเองตามธรรมชาติ วันหนึ่งลูกหงส์ทอง ๒ ตัว ซึ่งเป็นน้องเล็กของพระมหาสัตว์ ปรึกษากันว่า ทั้งสองจะทดสอบบินแข่งกับพระอาทิตย์ดูว่า ระหว่างดวงอาทิตย์กับหงส์ ใครจะเร็วกว่ากัน จึงได้ขออนุญาตพระมหาสัตว์
 
     พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “พ่อเอ๋ย ดวงอาทิตย์มีความเร็วมาก เธอทั้งสองไม่สามารถบินแข่งกับดวงอาทิตย์ได้หรอก มีแต่ต้องตายเสียก่อน อย่าพากันไปเลยนะ” แม้หงส์ทั้งสองจะพยายามอ้อนวอนเพียงไร พระโพธิสัตว์ก็ยังคงไม่อนุญาต น้องทั้งสองเห็นว่าพี่ชายคงไม่อนุญาตเป็นแน่แท้ ด้วยทิฐิมานะว่า ตนเองมีกำลังเร็วยิ่งนัก จึงฝืนคำห้ามของพี่ชาย ขณะที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ทันโผล่พ้นขอบฟ้า ทั้งสองรีบชวนกันบินไปจับอยู่ที่ยอดเขายุคนธร
 
     ฝ่ายพระมหาสัตว์ เมื่อไม่เห็นหงส์ทั้งสอง ก็รู้ว่าน้องทั้งสองกำลังไปบินแข่งกับดวงอาทิตย์ ด้วยความเป็นห่วงว่า หงส์สองตัวนี้จะต้องตายในระหว่างทางแน่นอน จึงรีบบินตามไปด้วยความเร็ว เพื่อช่วยเหลือน้องทั้งสอง
 
     ทันทีที่ดวงอาทิตย์ขึ้น หงส์ทั้งคู่พากันบินถลาขึ้นไปอย่างรวดเร็วเพื่อแข่งกับดวงอาทิตย์ แม้ทั้งสองบินไปได้ไกลมากแล้ว ก็ยังไม่มีท่าทีว่าฝ่ายไหนจะแพ้หรือชนะ ส่วนพระมหาสัตว์ได้บินติดตามไปอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย ครั้นเวลาสาย น้องเล็กเกิดความเมื่อยล้ามาก รู้สึกว่า ที่ข้อต่อกระดูกและปีกของตนเอง มีความเร่าร้อนมาก เหมือนจะลุกเป็นไฟ ซึ่งเป็นผลจากใช้ความเร็วในการบินเต็มที่นั่นเอง จึงให้สัญญาณแก่พระโพธิสัตว์ว่า บินต่อไปไม่ไหวแล้ว
 
     พระโพธิสัตว์ปลอบน้องว่า “อย่ากลัวเลย ฉันจักให้ชีวิตแก่เธอ” ว่าแล้วก็ประคองน้องเล็กไว้ด้วยอ้อมปีก พาบินกลับไปภูเขาจิตตกูฏ ให้หมู่หงส์ช่วยกันเยียวยารักษา แล้วตนเองรีบบินกลับไปอีกจนทันดวงอาทิตย์ จากนั้นก็บินชะลอไปกับน้องกลาง ถึงเวลาจวนเที่ยง น้องกลางก็อิดโรย หมดแรงลงอย่างรวดเร็ว ทั้งข้อต่อและปีกเป็นเหมือนว่าไฟลุกท่วมตลอดเวลา จึงให้สัญญาณแก่พี่ชายว่า ไม่ไหวแล้ว
 
     พระมหาสัตว์ปลอบโยนน้องให้เบาใจ แล้วเอาอ้อมปีกประคองน้องกลางไว้ บินนำกลับสู่เขาจิตตกูฏอีก หลังจากส่งน้องชายแล้ว พระมหาสัตว์เกิดความคิดว่า “วันนี้เราจะทดลองบินแข่งขันกับดวงอาทิตย์ ดูซิว่าใครจะมีความเร็วกว่ากัน”
 
     พญาหงส์ถลาขึ้นจากยอดเขา ใช้กำลังรวดเดียวเท่านั้น ก็สามารถไล่ตามทันดวงอาทิตย์ บางคราวก็บินแซงไปข้างหน้า บางคราวก็ไล่หลัง บินแข่งกันไปอย่างนี้ โดยที่พญาหงส์ไม่รู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยเลย ยิ่งบินก็ยิ่งเร็ว ยิ่งรู้สึกว่ามีพละกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
 
     เมื่อเห็นว่าแข่งทั้งวันแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าฝ่ายไหนจะแพ้หรือชนะ พญาหงส์จึงได้คิดว่า การบินแข่งกับดวงอาทิตย์ เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ไม่มีสาระ แข่งกันก็เพราะไม่ได้พิจารณาเสียก่อน แต่ความแก่ที่เกิดขึ้นต่อสังขารของเรานี้สิ เร็วยิ่งกว่าความเร็วของดวงอาทิตย์และความเร็วของเรามารวมกันเสียอีก
 
     คิดดังนั้นแล้ว จึงตั้งใจจะไปแสดงธรรมแก่พระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้เป็นสหาย พระราชาเมื่อรู้ว่าพญาหงส์ทองมาเยี่ยม ทรงจัดตั่งทองเพื่อให้พระโพธิสัตว์บินมาเกาะ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษเอาน้ำมันทาช่องปีกของพระมหาสัตว์ ทรงกระทำปฏิสันถารต้อนรับอย่างดี แล้วตรัสถามว่า “สหายเอ๋ย ท่านมาลำพังผู้เดียว ไปไหนมาเล่า”
 
     พระมหาสัตว์จึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดแด่พระราชา พระราชาเมื่อสดับดังนั้น ทรงอยากเห็นความเร็วของพญาหงส์บ้าง แต่พญาหงส์ทูลปฏิเสธว่า “ถ้าหากแสดงการแข่งความเร็วกับดวงอาทิตย์ พระองค์ก็จะไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะเร็วเกินกว่าที่พระองค์จะทอดพระเนตร”
 
     พญาหงส์ทูลว่า “ขอให้พระองค์ทรงคัดเลือกนายขมังธนู ๔ คนที่ยิงเร็วที่สุดในพระนคร ให้แต่ละคนยืนพิงเสาศิลา โดยหันหน้าไปคนละทิศ แล้วให้ทั้ง ๔ คนนี้ ยิงลูกศร ๔ ดอกตรงไปยังทิศทั้ง ๔ โดยพร้อมกัน หม่อมฉันจะเก็บลูกศรเหล่านั้นมามิให้ทันตกดินเลย แล้วทิ้งลงแทบเท้าของคนทั้ง ๔ พระองค์จะทรงทราบอาการที่หม่อมฉันไปเก็บลูกศรด้วยสัญญาณแห่งเสียงลูกศร แต่พระองค์จะไม่สามารถทอดพระเนตรเห็นตัวของหม่อมฉันได้เลย”
 
     เมื่อทุกอย่างพร้อม พญาหงส์ก็แสดงอานุภาพของตนเองให้พระราชา และเหล่ามหาอำมาตย์ได้ชมพร้อมๆ กัน ด้วยการบินตามไปเก็บลูกศรทั้ง ๔ ทิศ ด้วยความเร็วเพียงชั่วพริบตาเท่านั้น ทุกคนที่เห็นต่างแซ่ซ้องสาธุการในความเร็วที่ไม่มีใครเปรียบปานได้ พญาหงส์ทูลว่า “ข้าแต่มหาราช นี่มิใช่ความเร็วสูงสุดของข้าพระองค์ ไม่ใช่ความเร็วปานกลาง แต่เป็นความเร็วขั้นต่ำสุดเท่านั้น”
 
     พระราชาทรงถามว่า “สหายเอ๋ย แล้วความเร็วอย่างอื่น ที่เร็วกว่าความเร็วของท่าน ยังมีอยู่อีกหรือ”
 
     “พระเจ้าข้า พระมหาราชเจ้า อายุสังขารของสัตว์เหล่านี้ ย่อมสิ้นไป ย่อมเสื่อมสลายไปรวดเร็วกว่าความเร็วขนาดสูงสุดของหม่อมฉัน เป็นร้อยเท่าพันทวีแสนทวีทีเดียว”
 
     พระมหาสัตว์แสดงความเสื่อมสิ้นไปของสังขารว่ารวดเร็วมาก ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก แม้ขณะพูดอยู่นี้ ความตายก็ย่างกรายเข้ามาทุกขณะ พระราชาสดับเช่นนั้นเกิดความสลดพระทัย ถึงกับดำรงสติไว้ไม่ได้ เพราะความกลัวต่อมรณภัย ทรงสิ้นสติล้มลงทันที
 
     พระมหาสัตว์กราบทูลเตือนว่า “ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อย่าได้ทรงหวาดกลัวเลย ขอทรงเจริญมรณสติไว้เถิด ทรงประพฤติธรรมไว้เถิด และทรงหมั่นสั่งสมบุญบารมี อย่าได้ทรงประมาทอีกต่อไปเลย พระเจ้าข้า” แล้วพญาหงส์ทองก็บินกลับที่อาศัย ณ ภูเขาจิตตกูฏ
 
     แม้พวกเราเองจงอย่าได้ประมาท อย่าคิดว่าเรายังแข็งแรง ยังไม่เจ็บป่วยไข้ เราต้องหมั่นเจริญมรณสติ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จะได้เป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งทำภาวนาให้เข้าถึงที่พึ่งอันประเสริฐให้ได้ อย่าเกียจคร้าน อย่ามีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไขในการทำใจหยุดใจนิ่งกัน แล้วเราจะได้ชื่อว่า เป็นยอดนักสร้างบารมีที่แท้จริงกันทุกคน

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๓๖ หน้า ๕๗๐

* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๒๓๑
  


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
บุคคลผู้ทรงธรรมบุคคลผู้ทรงธรรม

การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยากการเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก

อยู่ไกลก็เหมือนใกล้อยู่ไกลก็เหมือนใกล้



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน