คุณธรรมของนักปกครอง


[ 19 ธ.ค. 2555 ] - [ 18276 ] LINE it!

คุณธรรมของนักปกครอง
 

 
     การศึกษาวิชชาความรู้ในทางธรรม เป็นกรณียกิจที่ควรทำควบคู่ไปกับการศึกษาในทางโลก เพราะคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความรู้อันบริสุทธิ์ที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง ไม่ใช่เกิดจากการนึกคิดด้นเดา แล้วนำมาสั่งสอน แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ควรศึกษา เพราะยิ่งศึกษาก็ยิ่งแตกฉาน ยิ่งรู้ก็ยิ่งอยากทำตนให้บริสุทธิ์ จะได้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ อย่างไรก็ดี การศึกษาธรรมะจะให้ซาบซึ้ง และเห็นถูกต้องร่องรอย ตรงไปตามความเป็นจริง ต้องอาศัยใจที่หยุดนิ่งเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญา จะทำให้ได้ทั้งความรู้ ความสุข และความบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน
 
มีวาระพระบาลีใน สุมังคลชาดก ความว่า
 
     “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดไม่ถูกอคติครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่นที่ควรแนะนำและไม่ควรแนะนำได้ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ชื่อว่าไม่เผาผู้อื่นและพระองค์เอง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในโลกนี้ ทรงลงอาชญาสมควรแก่โทษ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น อันคุณงามความดีคุ้มครองแล้ว ย่อมไม่เสื่อมจากสิริ”
 
     การจะพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ผู้นำต้องรู้จักนำธรรมะไปประยุกต์ใช้ ควบคู่กับการบริหารประเทศชาติ ถ้าหากผู้นำเป็นผู้มีสติปัญญา มีความสามารถและมีธรรมะอยู่ในใจ มุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุข โดยเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม มีใจประกอบด้วยมหากรุณาเช่นพระบรมโพธิสัตว์ ไม่มีความลำเอียงเข้ามาบดบังดวงปัญญา ย่อมสามารถที่จะนำประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความศิวิไลซ์ และเป็นปิ่นของนานาอารยประเทศได้
 
     คำว่า "อคติ" เราได้ยินได้ฟังกันมาบ่อย ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงอคติความลำเอียง ๔ ประการ คือ ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความพึงพอใจ โทสาคติ ลำเอียงเพราะความโกรธ โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง และ ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว ซึ่งความลำเอียงเป็นทางมา แห่งความหวาดระแวงและแตกแยก เมื่อไม่มีความยุติธรรม สังคมย่อมจะไม่สงบสุข
 
     บางคนอาจลำเอียงเพราะความรักใคร่ชอบพอกัน ทำให้ไปเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เรียกว่าเลือกที่รักผลักที่ชัง โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล เอาความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง เมื่อหลักประกันความเที่ยงตรงของชีวิตเอนเอียงแล้ว ก็เหมือนตราชั่งที่เสียดุล ทำให้ขาดความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำก็จะบังเกิดขึ้น ความรู้รักสามัคคีก็ลดลง  
 
     ถ้าหากมีความลำเอียงเพราะความโกรธ ความหลงหรือความกลัวซึ่งเนื่องมาจากทำถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ หรือเป็นเพราะความเกรงกลัวอำนาจของผู้ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า ก็ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ ระบบต่างๆ ก็จะรวน ยิ่งถ้าหากอคติเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอำนาจ มียศ มีตำแหน่งสูงมากเพียงไร ผลกระทบที่จะมีต่อส่วนรวม ผู้ใต้บังคับบัญชา และคนรอบข้าง รวมไปถึงประเทศชาติบ้านเมือง และคนทั้งโลกก็มีมากขึ้นเพียงนั้น
 
     เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ไม่มีความลำเอียง ไม่ประพฤติล่วงอคติทั้งสี่ จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งสำหรับนักปกครอง เพราะสามารถนำพาประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง และความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ดุจพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ฉะนั้น”
 
     * ดังเช่นในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ในนครพาราณสี สมัยนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ได้ออกจากเงื้อมภูเขานันทมูลกะ จาริกไปยังพระนครพาราณสี อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมือง พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ทรงเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นไปฉันภัตตาหารบนปราสาท ครั้นเห็นกิริยามารยาทอันงดงาม และทรงสดับอนุโมทนากถา ก็ยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น จึงอาราธนาให้ท่านพักอยู่ในพระราชอุทยานต่อไป
 
     พระปัจเจกพุทธเจ้าพักในพระราชอุทยาน บำเพ็ญภาวนา และเป็นเนื้อนาบุญให้กับพระราชาและเหล่าข้าราชบริพาร โดยมีคนเฝ้าสวนชื่อสุมังคละเป็นผู้คอยอุปัฏฐาก ด้วยความเคารพนอบน้อมเสมอมา
 
     วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเรียกนายสุมังคละมาบอกว่า จะไปโปรดผู้มีบุญที่อื่นสัก ๒-๓ วัน แล้วจะกลับมา หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้าพักอยู่ที่บ้านของผู้มีบุญนั้น ๒-๓ วัน ก็กลับสู่พระราชอุทยาน แล้วนั่งสมาธิอยู่บนแผ่นหินใต้พุ่มไม้ ในเวลาพระอาทิตย์อัสดงแล้ว
 
     นายสุมังคละไม่รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับมาแล้ว บังเอิญว่าวันนั้น เขาต้องการฆ่าเนื้อที่พระราชาไม่ทรงห้ามในพระราชอุทยาน เพื่อมาทำเป็นอาหารเลี้ยงแขก เขาจึงถือธนูสอดส่ายสายตาหาเนื้อ เมื่อมองเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เขาเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อใหญ่ จึงยิงลูกศรไปทันที เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าถูกยิงด้วยศร ท่านยังคงสงบนิ่งเฉยด้วยความอดทน กระทั่งบาดแผลกำเริบ ท่านจึงปรินิพพานที่ตรงนั้น
 
     ครั้นนายสุมังคละรู้ว่า ตนเองได้ทำความผิดใหญ่หลวง ด้วยความกลัวพระอาญา จึงรีบพาลูกเมียหลบหนีออกจากเมือง ทันใดนั้นเอง เทวดาได้บันดาลให้เกิดโกลาหลทั่วทั้งเมือง และประกาศให้รู้ว่า บัดนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระราชาพร้อมทั้งบริวาร ก็รีบเสด็จไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทันที ทรงบูชาพระสรีระพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอด ๗ วัน แล้วทรงให้ถวายพระเพลิงด้วยสักการะใหญ่ พร้อมก่อพระสถูปเจดีย์บรรจุพระธาตุเพื่อไว้สักการบูชา
 
     ล่วงไป ๑ ปี นายสุมังคละอยากรู้ว่า พระราชาทรงหายกริ้วหรือยัง จึงแอบไปถามอำมาตย์คนสนิทท่านหนึ่ง ฝ่ายอำมาตย์ไปกล่าวพรรณนาคุณของนายสุมังคละถวายพระราชา พระราชาทำเป็นไม่ได้ยิน อำมาตย์เห็นดังนั้น จึงกลับมาบอกนายสุมังคละว่า พระราชายังทรงไม่พอพระทัย เมื่อรู้เช่นนั้น นายสุมังคละก็หลบออกจากเมืองไป ล่วงไปปีที่สอง เขาย้อนกลับมาอีก พระราชาทรงนิ่งเฉยเช่นเดิม
 
     ครั้นเวลาผ่านไป ๓ ปี นายสุมังคละได้พาลูกเมียกลับเข้ามาในเมือง อำมาตย์รู้ว่า พระราชามีพระทัยอ่อนโยนลงแล้ว จึงพาไปเข้าเฝ้าพระราชา พระราชาทรงปฏิสันถารเป็นอย่างดีว่า “สุมังคละ เหตุไรท่านจึงประหารพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุญเขตของเรา” นายสุมังคละกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มิได้มีเจตนาจะประหารพระปัจเจกพุทธเจ้า ข้าพระองค์ทั้งเคารพและบูชาท่าน แต่เข้าใจผิด คิดว่าเป็นเนื้อจึงได้ยิงไป”
 
     พระราชาตรัสว่า ”ถ้าเช่นนั้น ท่านอย่ากลัวเราอีกต่อไปเลย” แล้วทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้เฝ้าพระราชอุทยานตามเดิม ในวันนั้น อำมาตย์ท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ทำไมพระองค์สดับคุณของนายสุมังคละถึง ๒ ครั้งก็ยังทรงนิ่งเฉย เหตุใดครั้งนี้ พระองค์จึงทรงอนุเคราะห์นายสุมังคละ” พระราชาตรัสว่า “ธรรมดาพระราชากำลังพิโรธ ทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลันย่อมไม่สมควร ฉะนั้นครั้งก่อนๆ เราจึงนิ่งเสีย ครั้งที่สามเรารู้ว่าใจของเราสงบแล้ว ความโกรธได้ลดลง จึงให้เรียกเขาเข้ามา”
 
     จากนั้นพระองค์แสดงราชวัตรให้ฟังว่า “เมื่อผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินรู้ว่า ตนกำลังกริ้วก็ไม่พึงลงอาชญาอันไม่สมควร เมื่อใดรู้ว่าจิตของตนผ่องใสแล้ว จึงใคร่ครวญความผิดที่ผู้อื่นทำไว้ พิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญาว่า ส่วนนี้เป็นประโยชน์ นี้เป็นโทษ เมื่อนั้น จึงปรับโทษตามสมควร บุคคลใดไม่ถูกอคติครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่นที่ควรแนะนำและไม่ควรแนะนำได้ บุคคลนั้นย่อมชื่อว่าไม่เผาผู้อื่นและตนเอง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในโลกนี้ ทรงลงอาชญาสมควรแก่โทษ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น มีคุณงามความดีคุ้มครองแล้ว ย่อมไม่เสื่อมจากสิริ
 
     พระราชาเหล่าใดถูกอคติครอบงำ ไม่ทรงพิจารณาให้รอบคอบก่อน ทรงลงอาชญาโดยผลุนผลัน พระราชาเหล่านั้นย่อมประกอบไปด้วยโทษ น่าติเตียน เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปสู่ทุคติ พระราชาเหล่าใดทรงยินดีแล้วในทศพิธราชธรรมอันพระอริยเจ้าประกาศไว้ พระราชาเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยกาย วาจา และใจ ทรงดำรงมั่นอยู่แล้วในขันติ โสรัจจะ และสมาธิ ย่อมถึงสุคติ”
 
     เมื่อพระเจ้าพรหมทัตตรัสแสดงธรรมของพระราชาด้วยคาถา ๖ คาถาเช่นนี้แล้ว มหาชนทั้งหมดต่างพากันชื่นชมโสมนัสยินดี กล่าวสรรเสริญคุณของพระราชา เพราะพระองค์มีศีลและอาจาระ ทรงเป็นใหญ่โดยธรรมอย่างแท้จริง ทรงเปี่ยมด้วยคุณธรรมของผู้นำที่ฉลาดในการปกครอง เมื่อทรงครองราชย์โดยตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมเช่นนี้ ไพร่ฟ้าประชาชนต่างอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ เหมือนมหาเมฆและสายฝนที่เย็นฉ่ำ ที่ตกลงมายังแผ่นดินให้ชุ่มชื่น ฉะนั้น
 
     จากเรื่องนี้จะเห็นว่า ถ้าได้ผู้ปกครองที่ดีมีคุณธรรม ชีวิตชาวประชาย่อมมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น เหมือนได้อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีเงาบังแดดเย็นสบาย ผู้นำที่ดีเป็นสัญญาณแห่งความเจริญรุ่งเรืองของแผ่นดิน ใครก็ตาม เมื่อได้ยินกิตติศัพท์อันดีงาม ย่อมจะสรรเสริญและเคารพนับถือ เพราะคุณธรรมเป็นเหมือนเกราะแก้วป้องกันภัยทั้งปวง เพราะฉะนั้น การเลือกผู้นำที่ดีนั้น มีผลต่อประโยชน์สุขส่วนรวมมาก เราต้องพิจารณาเลือกกันให้ดี โดยเลือกคนดีมีคุณธรรมเข้ามาบริหารประเทศ เราจะได้ไม่ผิดหวังกันทุกคน

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๔๙๘
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำความดี คือหน้าที่หลักของมนุษย์ทำความดี คือหน้าที่หลักของมนุษย์

ภัทรกัปภัทรกัป

คนเช่นอสูร คนเช่นเทวดาคนเช่นอสูร คนเช่นเทวดา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน