ต่างกันไหม คนที่ให้ทานกับไม่ให้ทาน


[ 20 พ.ย. 2555 ] - [ 18269 ] LINE it!

แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก 

 
ต่างกันไหม คนที่ให้ทานกับไม่ให้ทาน

 

ต่างกันด้วยผลของบุญ ดังที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสุมนสูตร ดังนี้

สุมนสูตร
ว่าด้วยเทวดามีความพิเศษต่างกันด้วยเหตุ 5
 
     [31] ครั้งนั้นแล สุมนาราชกุมารี แวดล้อมด้วยรถ 500 คัน และราชกุมารี 500 คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

      ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า 2 คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่า ๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนที่สองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ
 
      พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ
 
      ผู้ให้เป็นเทวดาย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์

       ดูก่อนสุมนา ผู้ที่ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการนี้.
 
      สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
 
     พ. ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นมนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ได้ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นมนุษย์

      ดูก่อนสุมนา ผู้ให้เป็นมนุษย์ย่อมข่มคนผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการนี้.
 
      สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
 
     พ. ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ

       เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย
       เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย
       เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย
       เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขารคือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย
 
     และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย
 

      ดูก่อนสุมนา ผู้ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการนี้.
 
      ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัต แต่คนทั้งสองนั้นทั้งที่ได้บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.
 
      พ. ดูก่อนสุมนา เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใด ๆ ในวิมุตติ กับวิมุตติ ข้อนี้.
 
      สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
 
      พ. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
 
      พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

                ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไป
           ในอากาศย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงใน
           โลก ด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์
           ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์
           กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ. เมฆ
           ที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ
           มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและ
           ที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
           ผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะ เป็นบัณฑิต
           ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ 5
           ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และ
           เปี่ยมด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์
           ในปรโลก ดังนี้.
                      
จบสุมนสูตรที่ 1

จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย  พุทธศักราช 2525 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่มที่ 36 หน้าที่ 60

 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ใคร คือ เนื้อนาบุญ ?ใคร คือ เนื้อนาบุญ ?

ทำไมคนจึงต่างกัน ?ทำไมคนจึงต่างกัน ?

ทำทานอย่างไร จึงจะได้ บุญมาก ?ทำทานอย่างไร จึงจะได้ บุญมาก ?



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก