วิธีการดำเนินชีวิตแบบอริยะ


[ 9 ม.ค. 2556 ] - [ 18289 ] LINE it!

วิธีการดำเนินชีวิตแบบอริยะ
 
 
 
     การสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกำลังบุญบารมีที่มากเป็นพิเศษ และต้องปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน ทำกันไปเป็นทีม โดยไม่มีใครน้อยหน้า ไม่มีใครล้ำหน้า แต่ว่าไปกันพร้อมหน้าเท่าเทียมทันกันทั้งหมด ทุกคนต้องสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ มุ่งสร้างบารมี อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา ทำหน้าที่ของยอดนักสร้างบารมีอย่างเต็มที่ เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของตนเอง และเป็นแสงสว่างส่องประทีปแห่งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ดวงใจของมวลมนุษยชาติ  
 
     การฝึกฝนอบรมตนให้สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน เพื่อเป็นต้นบุญต้นแบบให้กับชาวโลก เป็นสิ่งสำคัญของการดำรงตนเป็นผู้นำแห่งสันติภาพ โดยเฉพาะการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย จะเป็นนิมิตหมายว่า สันติสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
 
มีวาระพระบาลีอยู่ใน อาทิยสูตร ความว่า
 
     “นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลอันเลิศแล้ว ได้ทำพลีกรรม ๕ ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยเจ้า”
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ไว้ เพื่อเป็นหลักในการครองเรือนของฆราวาส ผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอนาคามี หากยังจำเป็นต้องอยู่ครองเรือน จะต้องประพฤติตนอย่างไร จึงจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างถูกต้อง ถูกธรรมเนียมของพระอริยเจ้า  เพราะบางท่านยังไม่สามารถออกบวชเป็นบรรพชิตได้ ยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ เช่น ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน หรือแต่งงานมีครอบครัวแล้ว มีพันธนาการของชีวิตที่ทำให้ออกบวชไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีหลักในการใช้ชีวิตทางโลก จะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมโลก ซึ่งมีความคิดและการกระทำที่หลากหลาย อีกทั้งธรรมะภายในก็ไม่ทอดทิ้ง ยังหนักแน่นมั่นคง บนเส้นทางพระอริยเจ้าไม่เปลี่ยนแปลง
 
     ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นตัวอย่างหนึ่งของพระอริยสาวก ผู้มีดวงตาเห็นธรรม ท่านเป็นพระโสดาบันที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างไม่คลอนแคลน ละสังโยชน์ทั้งสามได้แล้ว คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แต่ก็ยังไม่สามารถออกบวชได้ เพราะมีภารกิจทางโลกมากมายที่ต้องทำ จึงตั้งใจทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก อย่างเต็มกำลังของตนจนตลอดชีวิต
 
     วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดความสงสัยขึ้นมาในใจ จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกราบถวายบังคมแล้ว ได้ทูลถามถึงวิธีการที่จะดำรงชีวิตในเพศฆราวาสของอริยสาวกว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสม และทำตนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จะได้เป็นทิฏฐานุคติของอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนท่านเศรษฐีว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ต้องขยันทำมาหากินในอาชีพที่สุจริต ไม่เกียจคร้าน เลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ประกอบอาชีพทุจริต ได้แก่ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้าของเมา และค้าขายสัตว์ที่นำไปฆ่า
 
     เมื่อได้สมบัติมาโดยชอบธรรมแล้ว ให้รู้จักรักษาโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ ไม่ให้โจรขโมยไปได้ ไฟก็ไม่ให้ไหม้หรือน้ำก็พัดพาเอาไปไม่ได้ ไม่นำทรัพย์สมบัติไปใช้ในทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อม คือ ติดในอบายมุข เช่น เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติดให้โทษต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นทางนำความวิบัติมาให้ ต้องคบหากัลยาณมิตรผู้มีศีล มีศรัทธา มีจาคะ และมีปัญญา สามารถชี้เส้นทางสวรรค์และนิพพาน แนะนำให้เราดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องได้ ตัวเราจะได้ไม่ไปสู่ความเสื่อม คุณธรรมภายในจะได้เพิ่มพูนมากขึ้น
 
     เมื่อหาทรัพย์มาได้ด้วยกำลังสติปัญญาแล้ว ต้องเลี้ยงชีพให้พอเหมาะ ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย แต่ก็ไม่ถึงกับฝืดเคือง มีความมัธยัสถ์แต่ไม่ใช่ตระหนี่ รายได้จะต้องสัมพันธ์กับรายจ่าย ไม่ใช่รายจ่ายมากกว่ารายรับ หากทำได้เช่นนี้ จะทำให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย และต้องรู้จักเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภรรยา และหมู่ญาติ ให้ได้รับความสุขตามอัตภาพ และต้องรู้จักเผื่อแผ่มิตรสหายพวกพ้องบริวารอีกด้วย
 
     ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ยังทรงสอนอีกว่า อริยสาวกเมื่อขยันทำมาหากิน มีสมบัติมากมายแล้ว ให้หาทางป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ ข้าราชการ โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก อาจจะมาลักขโมย จี้ ปล้นเอาไป ต้องรู้จักทำตนให้ได้รับความปลอดภัยจากภัยเหล่านั้น ด้วยการทำพลีกรรม ๕ อย่าง ซึ่งเป็นการประกันชีวิตอย่างนักปราชญ์บัณฑิตในทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
 
     พลีกรรม ๕ ประการ ที่พุทธศาสนิกชนจำเป็นต้องทำ เพื่อประโยชน์สุขของตน ของชาวโลก และของสัตว์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องคำนึงถึง อย่าได้มองข้าม เพื่อความปลอดภัยในชีวิต ท่านเรียกว่าทำพลีกรรม มีอะไรบ้าง ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร สิ่งที่ต้องทำประการแรกได้แก่
 
๑.ญาติพลี คือ สงเคราะห์ญาติ ใครตกทุกข์ได้ยาก เข้ามาขอความช่วยเหลือก็ไม่ดูดาย รีบหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป ทำแล้วเป็นที่รักของหมู่ญาติ
 
๒.อติถิพลี ต้องรู้จักการต้อนรับแขก เป็นมนุษยสัมพันธ์ที่สำคัญ ต้องฝึกตนเองให้เข้าสังคมได้อย่างเหมาะสม เมื่อแขกมาเยี่ยมต้องทำให้แขกรู้สึกสบายใจอบอุ่นใจเหมือนอยู่ที่บ้าน ยามแขกกลับไปจะได้คิดถึง มิตรภาพอันดีงามก็จะกลายเป็นเกลียวสัมพันธ์ที่กระชับแน่นมั่นคงตลอดไป เราจะเป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ทุกๆ คน ความเคารพในการต้อนรับปฏิสันถารนี้ เป็นหนึ่งในคารวะ ๖ อย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นเส้นทางสู่ความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
 
๓.ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศกุศลให้กับผู้วายชนม์ เพราะในสังสารวัฏอันยาวไกลนี้ ผู้ที่ไม่เคยเกิดเป็นญาติกันนั้นไม่มี ญาติของเราที่ตายไปแล้ว ไม่รู้ว่าไปเกิดที่ไหนกันบ้าง เมื่อเราพอมีทรัพย์สมบัติ ต้องรู้จักนำออกมาทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้หมู่ญาติเหล่านั้น ตั้งแต่ทำบุญอุทิศให้บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ทวด และบรรพบุรุษทั้งหลาย หากญาติเหล่าใดที่ประมาทไม่ได้สั่งสมบุญไว้ ต้องตกไปในอบายภูมิ ถ้าอยู่ในสถานะที่พอจะรับบุญได้ เขาจะได้พ้นจากอัตภาพของความทุกข์ทรมานนั้น หรือที่มีความสุขอยู่แล้วก็จะได้รับความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป และถึงแม้ยังตกอยู่ในนรก ไม่สามารถมารับส่วนบุญส่วนกุศลของเราได้ เมื่อพ้นภาวะของสัตว์นรกไปแล้ว ก็สามารถที่จะมารับบุญที่เราทำไว้ให้ได้
 
๔.ราชพลี คือ การบริจาคทรัพย์ช่วยประเทศชาติ เช่น การเสียภาษีอากร เป็นต้น ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า เมื่ออาศัยร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ในทำนองเดียวกัน เราอาศัยแผ่นดินใด ต้องรู้จักคุณของแผ่นดินนั้น เมื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานแล้ว ต้องเสียสละช่วยเหลือชาติบ้านเมืองบ้าง
 
๕.เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้กับทวยเทพทั้งหลาย ที่คอยปกปักรักษาตัวเรา หรืออุทิศให้กับเทวดาประจำเมืองที่คอยดูแลรักษา ไม่ให้ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้น แล้วผลแห่งทักษิณาทานจะมากได้นั้น พระพุทธองค์ยังทรงสอนว่า ต้องทำบุญกับสมณพราหมณ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้เว้นจากความประมาทมัวเมา มุ่งฝึกฝนตนจนสงบระงับดับกิเลสได้ หากทำได้เช่นนี้ แม้ทรัพย์นั้นจะหมดไป แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ทั้งต่อตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่า ดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
 
     แม้ว่าพวกเรายังไม่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้า แต่เราก็ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่รักในการสั่งสมบุญบารมี เพราะเราเกิดมาก็เพื่อสร้างบารมีเท่านั้น จึงควรนำหลักการอยู่ครองเรือนแบบพระอริยเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้ให้เป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าไปปฏิบัติกันให้ได้ ให้รู้จักใช้ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ไม่ว่าจะมีน้อยหรือมากก็ตาม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ นำออกทำทานตามหลักพลีกรรม ๕ ประการ จะได้เป็นต้นบุญและต้นแบบของอนุชนรุ่นหลังสืบไป ให้ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำกันไปทุกวันอย่าได้ขาด สักวันหนึ่งเราจะสมปรารถนา ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๓๖ หน้

 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วิธีเริ่มต้นปีใหม่ตามหลักพุทธวิธีวิธีเริ่มต้นปีใหม่ตามหลักพุทธวิธี

วิธีตอบแทนคุณของญาติโยมอย่างอริยะวิธีตอบแทนคุณของญาติโยมอย่างอริยะ

วิธีทำบุญให้ถูกหลักวิชชาวิธีทำบุญให้ถูกหลักวิชชา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน