วิธีตัดเหตุแห่งทุกข์


[ 29 พ.ค. 2556 ] - [ 18282 ] LINE it!

วิธีตัดเหตุแห่งทุกข์
 
 
 
     เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพื่อเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเองให้ได้มากที่สุด บริสุทธิ์จนกระทั่งไปพบกับตัวตนที่แท้จริง ที่มั่นคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความสุขอย่างแท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ท่านได้พบว่าพระรัตนตรัยเป็นสิ่งประเสริฐสุด และมีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน เป็นธรรมที่สงบ ละเอียด ประณีต ซึ่งจะนึกคิดหรือคาดคะเนเองไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติให้เข้าถึงด้วยตนเอง โดยปรับใจให้ละเอียด ให้หยุดนิ่งไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปถึงแหล่งแห่งความสุข ความบริสุทธิ์แหล่งของสติของปัญญา แล้วเราจะรู้เห็นทุกสิ่งไปตามความเป็นจริง
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า
 
                              “ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ     จิตฺตมสฺส วิธาวติ                           
                               สตฺโต สํสารมาปาทิ    ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ
 
     ตัณหาทำให้คนเกิดบ่อยๆ จิตของผู้มีตัณหาย่อมซัดส่ายไปมา เพราะหมู่สัตว์มัวท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ จึงประสบทุกข์มากมาย”
 
     ตัณหา คือความทะยานอยาก ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน ยินดีในอารมณ์ต่างๆ เป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในส่วนลึกของสรรพสัตว์ เป็นทุกข์สมุทัยสัจจ์ คือเหตุให้เกิดความทุกข์  การที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิด และมีความทุกข์กายทุกข์ใจอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะมีตัณหาเป็นต้นเหตุ ความทุกข์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทุกข์ประจำหรือทุกข์จร ตั้งแต่ทุกข์จากการเกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์เพราะการพลัดพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รัก ความเศร้าโศก พร่ำพิไรรำพันต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเกิดมาจากความทะยานอยากทั้งสิ้น
 
     เมื่อความทะยานอยากเกิดขึ้นก็ต้องมีการแสวงหา การแสวงหาทำให้เกิดการกระทำที่ภาษาพระท่านเรียกว่ากรรม เมื่อทำกรรมก็มีวิบากเป็นผล ความทะยานอยากเป็นเหตุนำให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ถ้ามีความทะยานอยากในกามภพ เรียกว่า กามตัณหา คือ ยังมีความยินดีในกามคุณทั้ง ๕ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเป็นเหยื่อล่อของพญามาร ให้เราหลงติดอยู่ในกามาวจรภูมิ แล้วยังมี ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็น ที่ทำให้ติดอยู่ในรูปภพ และ วิภวตัณหา คือความทะยานอยากที่ทำให้ติดข้องอยู่ในอรูปภพ ตัณหาทั้ง ๓ อย่างนี้แหละที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
 
     * พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงสมัยที่พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพญานกยูงทองว่า ครั้งนั้นท่านได้อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ทุกๆ เช้าก่อนที่จะออกไปหาอาหาร จะบินขึ้นไปเกาะที่ยอดเขา แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมื่อเห็นพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น ท่านจะแผ่เมตตา และสวดพระปริตร เพื่อขอให้พระรัตนตรัยคุ้มครองให้ปลอดภัย แล้วจึงร่อนลงไปหากิน ครั้นตกเย็นก็จะบินไปเกาะที่ยอดเขาอีก แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มองดูพระอาทิตย์อัสดง แผ่เมตตาสวดพระปริตร ให้พระรัตนตรัยคุ้มครองในเวลากลางคืน แล้วจึงบินกลับเข้าถ้ำ ท่านทำอย่างนี้อยู่เป็นเวลานาน ทำทุกวันไม่ได้ขาดแม้แต่วันเดียว จึงไม่เคยมีนายพรานหรือสัตว์ร้ายใดๆ มาทำอันตรายท่านได้
 
     อยู่มาวันหนึ่ง มเหสีของพระราชาทรงพระสุบินเห็นพญานกยูงทองมาแสดงธรรมให้ฟัง จึงกราบทูลพระราชาว่า อยากฟังธรรมจากพญานกยูงทองมาก พระราชาจึงให้นายพรานไปดักจับพญานกยูงทอง ซึ่งแม้นายพรานจะใช้ความพยายามเพียงไร ก็จับไม่ได้ จนนายพรานหมดอายุขัยสิ้นชีวิตลง เมื่อพระมเหสีไม่ได้ดังพระประสงค์ทำให้พระนางตรอมพระทัย และสวรรคตในที่สุด พระราชาทรงกริ้วมากถึงกับจารึกลงในแผ่นทองคำว่า “ถ้าหากใครได้กินเนื้อของนกยูงทองตัวนี้ ที่อาศัยอยู่ที่ทิวเขาในป่าหิมพานต์ จะมีชีวิตเป็นอมตะไม่แก่ไม่ตาย”
 
     เมื่อพระราชาองค์ใหม่มาสืบต่อราชวงศ์ ได้พบเห็นหลักฐานที่จารึกไว้ มีพระประสงค์จะได้ชีวิตเป็นอมตะ จึงส่งนายพรานไปคอยดักจับพญานกยูงทอง แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จ แม้เมื่อสิ้นราชวงศ์ มีพระราชามาครองราชย์ผ่านไปอีกถึง ๖ พระองค์ ก็ยังไม่มีใครสามารถจับพญานกยูงทองได้  
 
     วันหนึ่งนายพรานของพระราชาองค์ที่ ๗ สังเกตเห็นว่า ทุกเช้าและทุกเย็น นกยูงทองได้สวดมนต์แผ่เมตตา จึงรู้ว่าเป็นเพราะอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยคุ้มครอง ก็หาอุบายที่จะทำให้ใจของนกยูงทองโพธิสัตว์ซัดส่าย ไม่ตั้งมั่น และไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างที่เคยเป็นมา จึงได้นำนางนกยูงตัวหนึ่งมาเป็นเครื่องล่อพระโพธิสัตว์ เพื่อเพื่อให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้
 
     วันนั้นพญานกยูงทอง ได้ฟังเสียงของนางนกยูงที่ไพเราะจับใจ เกิดตัณหาครอบงำ กิเลสที่ตกตะกอนนอนเนื่องมายาวนานก็กำเริบขึ้นมา เกิดความกระวนกระวายใจ จนไม่สามารถเจริญพระปริตรได้ ได้บินไปหานางนกยูง แล้วถลาลงไปบนพื้นโดยไม่ได้ระมัดระวังตัว เท้าทั้งสองข้างจึงสอดเข้าไปในบ่วงที่นายพรานดักไว้ ไม่สามารถจะสลัดให้หลุดได้ ยิ่งดิ้นบ่วงก็ยิ่งรัดแน่นหนาขึ้น
 
     นายพรานเห็นดังนั้นดีใจยิ่งนัก คิดว่า พรานทั้ง ๖ คน ไม่สามารถดักพญานกยูงทองได้ ต่างสิ้นชีวิตกันไปหมด แม้เราต้องเพียรพยายามอยู่ถึง ๗ ปี ในที่สุดวันนี้เราก็จับได้ ในขณะเดียวกันก็นึกสลดใจว่า วันนี้พญานกยูงกระวนกระวายใจ เนื่องจากนางนกยูงเป็นเหตุ ไม่อาจแผ่เมตตาเจริญพระปริตรได้ จึงติดบ่วงของเราเพราะอำนาจกามตัณหาแท้ๆ ทำให้ต้องประสบทุกข์เช่นนี้ แต่ด้วยอานุภาพที่นกยูงทองแผ่เมตตาอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จึงทำให้นายพรานเกิดความสงสาร เกิดความรักความเมตตา อีกทั้งนายพรานก็ไม่ปรารถนาจะทำร้ายพญานกยูงอยู่แล้ว เพราะรู้ว่านกยูงตัวนี้ประพฤติธรรม จึงได้ปล่อยนกยูงไป
 
     พญานกยูงจึงได้เปล่งสำเนียงเป็นภาษามนุษย์ว่า “ท่านอุตส่าห์เพียรพยายามดักจับเรานานถึง ๗ ปี เมื่อจับได้แล้วกลับปล่อยเสีย ไม่กลัวอาชญาจากพระราชาหรือ หรือว่าวันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาต” นายพรานตอบว่า “เราไม่ได้กลัวอาชญาแผ่นดิน แต่เรากลัวผลของบาป จากการทำร้ายท่านผู้ประพฤติธรรม” นกยูงพระโพธิสัตว์จึงได้แสดงธรรมว่า “ผู้ไม่ทำปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน ละโลกไปแล้วจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ดูก่อนนายพราน สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข ดังนั้นผู้ปรารถนาความสุข จึงไม่ควรเบียดเบียนใครให้ได้รับทุกข์”
 
     นายพรานฟังดังนี้แล้ว ก็ตั้งสติพิจารณาธรรม ตามเห็นธรรมเข้าไป จนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ ที่นั้นเอง จากนั้นท่านอธิษฐานจิตทำสัจกิริยา กล่าวคำปล่อยสัตว์ ทำให้สัตว์ทั้งหลายที่ถูกกักขัง หลุดจากกรงได้เป็นอัศจรรย์ แล้วท่านเอามือลูบศีรษะ ความอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีก เพศคฤหัสถ์ได้หายไป เปลี่ยนเป็นเพศบรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยเครื่องอัฐบริขารพร้อมทุกอย่าง ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้ทำเอาไว้ในอดีตนั่นเอง ท่านได้อนุโมทนากับพญานกยูงทองที่แสดงธรรมให้ฟัง แล้วก็เหาะไปบำเพ็ญสมณธรรมตามอัธยาศัย
 
     ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อพ้นจากบ่วงแล้ว พิจารณาสอนตนเองว่า ที่ตัวเราต้องพลาดพลั้งติดบ่วง แทบเอาชีวิตไม่รอดนี้ เพราะอำนาจกิเลสตัณหา ไม่สำรวมอินทรีย์ จึงขาดสติในการระลึกถึงพระรัตนตรัย ทำให้เราต้องมาติดบ่วงของนายพราน บ่วงของพรานว่าร้ายแล้ว แต่ยังไม่เท่าบ่วงแห่งกาม ตั้งแต่นั้นมา ท่านตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ข่มอำนาจกิเลสกาม แล้วเริ่มเจริญเมตตาจิต สวดพระปริตร ตรึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัยตลอดอายุขัย  ละโลกไปแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก
 
     พระบรมศาสดา ได้ตรัสถึงกิเลสตัณหาที่ผูกมัดใจชาวโลกไว้ว่า “ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย เป็นธรรมชาติที่หยาบ ถ้าหากกิเลสเหล่านี้ สามารถก่อเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ แล้วมีผู้นำไปวางไว้ที่ใดก็ตาม ที่นั้นไม่สามารถรองรับกิเลสเหล่านั้นได้ เหมือนแม่น้ำสายเล็กๆ ไม่สามารถรองรับน้ำฝน ที่ตกลงมาทั่วท้องจักรวาลได้ เพราะกิเลสเหล่านั้นแทรกซึมอยู่เต็มไปหมด จนไม่มีที่ว่างให้บรรจุ กามทั้งหลายเป็นบ่วงแห่งมาร เป็นเหตุให้เกิดความประมาทจนแทบสิ้นชีวิต”
 
     เพราะฉะนั้น เราต้องมีสติเตือนตนเองให้ดี อย่าตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ใจต้องหยุดอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เหลือไว้แต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ที่เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม หมดความทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ใจหยุดเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านจึงกล่าวว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ถ้าไม่หยุดก็ไม่สำเร็จ  ดังนั้นให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอันใดก็ตาม อย่าให้อะไรมาเป็นอุปสรรคทำให้เราเกียจคร้านในการทำความเพียร  เราจะต้องตั้งใจมั่นว่าจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
 
* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๔๕๓
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สุกธรรมคุ้มครองโลกสุกธรรมคุ้มครองโลก

เส้นทางสู่สันติเส้นทางสู่สันติ

ผู้ตื่นที่แท้จริงผู้ตื่นที่แท้จริง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน