ความเกียจคร้านมีแต่โทษ


[ 21 มิ.ย. 2556 ] - [ 18289 ] LINE it!

ความเกียจคร้านมีแต่โทษ
 

 
     มนุษย์ต่างมีเรื่องราวที่ต้องทำในชีวิตมาก หลายเรื่องมีความสำคัญ ดูเหมือนชีวิตของคนเรามีเรื่องสำคัญที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมาพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว เรื่องใด ๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับการทำความดี คนที่ชอบอ้างว่า ยังไม่พร้อมที่จะทำความดี ถือว่าพลาดเรื่องที่สำคัญไป บางครั้งที่เรารู้สึกว่า อยากย้อนเวลากลับไปเพื่อใช้ชีวิตให้ดีกว่าวันที่ผ่านมา ให้คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป แต่เราก็ไม่อาจทำได้ เพราะเวลาเป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด เป็นสิ่งเดียวที่ทุกคนในโลกมีเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ สุดแต่ใครจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และมีคุณค่ามากกว่ากัน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อุฏฐานสูตร ความว่า
 
     “เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ เพราะความหลับจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลายผู้เร่าร้อนเพราะโรค คือกิเลสมีประการต่างๆ ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นแทงแล้ว ย่อยยับอยู่
 
     มัจจุราชอย่ารู้ว่าเธอทั้งหลายประมาทแล้ว อย่ายังเธอทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ขณะอย่าได้ล่วงเธอทั้งหลายไปเสีย เพราะว่าผู้ล่วงขณะเสียแล้ว เป็นผู้ยัดเยียดกันในนรก ย่อมเศร้าโศกอยู่”
 
     นี่เป็นคำพร่ำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตักเตือนสาวกของพระองค์ ให้ขยันในการทำความเพียร เอาชนะอาสวกิเลสในตัวให้ได้ พระองค์ทรงเห็นโทษของความหลับและความเกียจคร้าน ว่าเป็นเหตุให้ประสบทุกข์และต้องไปแออัดยัดเยียดกันอยู่ในมหานรกเป็นเวลายาวนาน
 
     ความหลับและความเกียจคร้าน เป็นสิ่งที่ทำให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของกิเลสอาสวะ ทำให้ใจของเราตกต่ำ ชีวิตหลังความตายของผู้หลับและเกียจคร้านก็ไปสู่อบาย แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ไม่ว่าจะโงกง่วงอ่อนเปลี้ยเพลียแรงแค่ไหน ถึงเวลาก็สลัดความง่วงเหงาหาวนอน สลัดความเกียจคร้านออกไป ลุกขึ้นมานั่งสมาธิเจริญภาวนา ทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้ใสสว่างพ้นจากความมืด เช่นนี้แสดงว่าเรากำลังดำเนินตามปฏิปทาของผู้ตื่นอยู่ ชีวิตของผู้มีความเพียรอย่างนี้ เป็นชีวิตที่ไม่เปล่าประโยชน์
 
     * เรื่องความเป็นผู้เกียจคร้านนี้ พระบรมศาสดาปรารภถึงพระติสสะที่เกียจคร้านในการทำความเพียร จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีบริวารเป็นมาณพหนุ่ม ๕๐๐ คน  วันหนึ่งอาจารย์ได้ให้ศิษย์ทั้ง ๕๐๐ ออกไปหาฟืน แต่มีมาณพคนหนึ่งเป็นคนเกียจคร้าน ขณะที่เพื่อนมาณพกำลังหาฟืนด้วยกัน มาณพนี้กลับไปนอนพักใต้ต้นไม้ เมื่อตื่นขึ้น เกรงว่าจะหากิ่งไม้ไม่ทัน จึงปีนขึ้นไปหักกิ่งสดบนต้นไม้ ด้วยความร้อนรน ทำให้กิ่งไม้สดนั้นดีดตาจนตาบอด ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงนำมาตรัสเป็นอุทาหรณ์ให้ภิกษุทั้งหลายได้รับฟังกัน
 
     ความเกียจคร้านมีแต่โทษ ควรที่เราจะขยัน และอย่าประมาทมัวเมาในชีวิต เพราะความจริงตัวเราแก่ลงไปทุกวัน อย่านึกว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ให้นึกถึงความแปรเปลี่ยนที่เสื่อมไปตลอดเวลา ถ้ายังทะนงตนว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ย่อมมีโอกาสพลาดพลั้งตกนรกได้ง่ายๆ ต้องคิดว่าเราเริ่มแก่ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว จะได้เร่งสร้างบารมี เอาบุญละเอียดไปมากๆ ให้มากกว่าบุญหยาบ บุญละเอียดคือบุญที่เกิดจากการฝึกฝนสมาธิให้ใจบริสุทธิ์หยุดนิ่ง ซึ่งจะทำให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้
 
     วันคืนล่วงไป ล่วงไป สรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลายเปลี่ยนแปลงเสื่อมไปตามกาลเวลา ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดสลาย ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา แปรเปลี่ยนไปสู่ความเสื่อมชราทุกอนุวินาที ความแข็งแรงที่มีอยู่ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ ชีวิตใกล้เข้าไปสู่ความตาย ส่วนตายแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ ต้องอาศัยญาณทัสสนะของผู้รู้เท่านั้น จึงจะรู้เห็นปรโลกของสัตว์ทั้งหลาย
 
     ชีวิตของเราแบ่งเวลาออกเป็นช่วงกว้างๆได้ ๓ ช่วง ช่วงที่ ๑ ปฐมวัย นับตั้งแต่แรกเกิดจนอายุประมาณ ๒๕ ปี ช่วงนี้เป็นวัยที่แข็งแรง ความสนุกสนานร่าเริง มีแต่ความเพลิดเพลินในชีวิต ดูสิ่งใดสวยงามไปหมด  ผ่านมาช่วงที่ ๒ มัชฌิมวัย อายุตั้งแต่ ๒๖ ปี ถึง ๕๐ ปีโดยประมาณ ช่วงนี้กำลังสติปัญญาสมบูรณ์ที่สุด จะรวยหรือไม่ จะสร้างฐานะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ระหว่างช่วงนี้ ช่วงสุดท้าย คือช่วงปัจฉิมวัย ตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี จนถึง ๗๕ ปีโดยประมาณ หรือนับไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ช่วงเวลานี้ ต้องเร่งทำความเพียรแล้ว เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที
 
     อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครบอกได้ว่า บุคคลใดจะอยู่ได้ครบทั้ง ๓ ช่วงอายุขัย จะหมดลมล้มตายลงวันไหนก็ไม่อาจรู้ได้ ทันทีที่ลืมตาขึ้นมาดูโลก  ดวงชวาลาแห่งชีวิตก็เริ่มนับถอยหลังไปสู่ความตายทุกขณะแล้ว อีกทั้งระเบิดเวลาของชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากกรรมในอดีตที่ทำไว้ ก็ไม่มีผู้ใดรู้ว่าจะระเบิดขึ้นเมื่อไร ระเบิดเวลาที่เราทำกรรมเอาไว้ข้ามภพข้ามชาติ ทำไว้นานจนตนเองลืมไปแล้ว แต่ผลแห่งการกระทำนั้นยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน รอคอยเวลาและจังหวะที่จะให้ผล ทุกวันนี้เราจึงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางมรสุมร้าย ที่พร้อมจะพัดเทียนชีวิตให้ดับลงไปได้ทุกขณะ และระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดขึ้นมา ทำให้โอกาสแห่งการสร้างบารมีในอัตภาพนี้ไม่เต็มที่นัก
 
     พูดถึงความตายแล้ว หลายท่านอาจรู้สึกว่าไม่อยากจะได้ยินได้ฟังคำนี้  ฟังแล้วไม่เป็นมงคล อยากจะได้ยินคำอื่นมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมรวมกัน ตรงที่สอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คนไหนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายจากคุณงามความดี ชีวิตหลังความตาย น่าสะพรึงกลัวมาก  เพราะฉะนั้น ความตายจึงเป็นสิ่งที่ต้องพูดถึงบ่อยๆ เพื่อจะได้เจริญมรณานุสติ ไม่ประมาทในชีวิต และขยันทำความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ชีวิตจะได้ปลอดภัยและมีชัยชนะทั้งในโลกนี้และในปรโลก
 
     ชีวิตของเรามีเวลาเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว โดยเฉพาะน้อยต่อการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในใจเรา คนส่วนใหญ่ใช้เวลายังไม่คุ้ม เอาเวลาการทำมาหากิน ไปใช้กับการกินการดื่มบ้าง เที่ยวเล่นสนุกสนานเพลิดเพลินบ้าง หมดเวลาไปวันๆ ที่จะเจียดเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังน้อยเหลือเกิน บางทีแม้รู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่เพราะความประมาทและเกียจคร้าน ทำให้ยังไม่สมปรารถนาในการเข้าถึงธรรมกัน
 
     เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงอยากตอกย้ำพร่ำเตือนทุกท่านให้พิจารณาถึงความเป็นจริงของชีวิตอย่าได้ประมาท ควรมองให้เห็นถึงมรณภัย ที่กำลังย่างกรายเข้ามา เมื่อความตายมาถึง รูปกายของเราต้องแตกดับ แต่คุณธรรมความดีในตัวนั้นไม่ดับสูญ มีแต่จะเจริญงอกงาม เป็นบุญบารมี เป็นความบริสุทธิ์ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     เราเป็นนักสร้างบารมี ต้องไม่ปล่อยเวลาในชีวิตให้ผ่านไปเปล่า เวลาของเรามีไม่มาก สิ่งที่ต้องทำกลับมีอีกมาก เราจึงไม่ควรประมาทในวัยของชีวิต ต้องหมั่นสร้างความดี สร้างบารมีให้เต็มที่ ให้ขจัดอุปสรรคข้อแม้ข้ออ้างหรือเงื่อนไขต่างๆ ในการทำใจหยุดใจนิ่งให้หมดสิ้นไปจากใจ จะได้ดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสมปรารถนา เราจะได้มีที่พึ่งที่ระลึกภายในคือพระรัตนตรัยกันทุกคน
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๖ หน้า ๑๗๕
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อาศัยมานะเพื่อละมานะอาศัยมานะเพื่อละมานะ

ตัณหาไม่สิ้นสุดตัณหาไม่สิ้นสุด

แสดงตนเมื่อถึงกาลอันควรแสดงตนเมื่อถึงกาลอันควร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน