ผู้นำต้องรอบคอบ


[ 29 ก.ค. 2556 ] - [ 18296 ] LINE it!

ผู้นำต้องรอบคอบ
 
 
     การทำงานทุกอย่างไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ จะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ต่างต้องการความสำเร็จด้วยกันทั้งนั้น การประสบความสำเร็จนำมาซึ่งความปลื้มปีติยินดี ทำให้องค์กรเจริญรุ่งเรือง และทำให้หน้าที่การงานของบุคคลเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าจึงควรทำหน้าที่ดูแลหมู่คณะโดยรอบคอบ บุคคลผู้มีปัญญาพึงพิจารณาหาเหตุผลก่อนตัดสินใจ ยิ่งกว่านั้นหัวหน้ายังต้องเป็นผู้ที่รอบรู้และละเอียดถี่ถ้วนในทุกขั้นตอน ถ้าหน่วยงานใดได้บุคคลเช่นนี้เป็นหัวหน้า ย่อมมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ผู้ร่วมงานก็จะมีกำลังใจ สบายใจ และภาคภูมิใจ แต่หากได้หัวหน้าที่หย่อนประสิทธิภาพ โอกาสที่องค์กรจะประสบความสำเร็จนั้นก็ย่อมมีน้อย ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีสติปัญญาก็ไม่ปรารถนาจะทำงานด้วย องค์กรก็ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน คาถาธรรมบท ว่า
 
“อุฏฺฐานวโต สตีมโต
สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน
อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ
 
     ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท”
 
     ยศถาบรรดาศักดิ์ ความมีโภคทรัพย์สมบัติ การยอมรับนับถือ เกียรติยศ ชื่อเสียง และการสรรเสริญ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกคน อีกทั้งอิสริยยศ คือ ความเป็นใหญ่ด้วยยศศักดิ์อันสูงส่ง เกียรติยศ คือชื่อเสียง ความยกย่องนับถือ ความมีหน้ามีตา และบริวารยศ คือพวกพ้องบริวารที่แวดล้อมคอยช่วยเหลือ ยศทั้ง ๓ ประการนี้เป็นที่ต้องการของบุคคลทั่วไป เพราะเมื่อมียศย่อมได้รับความสะดวกสบาย และสมปรารถนามากกว่าผู้อื่น แต่การที่จะได้มาซึ่งยศศักดิ์ การรักษายศ หรือทำให้มียศเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย พระบรมศาสดาให้หลักในการที่จะทำให้ยศนั้นเจริญยิ่งขึ้นไป คือต้องมีคุณธรรม ๗ ประการด้วยกัน
 
ประการที่ ๑ ต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้านในหน้าที่การงาน
 
ประการที่ ต้องมีสติ ระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ควบคุมสติอารมณ์ไว้ได้ ไม่ฟุ้งซ่าน
 
ประการที่ ต้องมีการงานสะอาด คืองานที่ทำต้องเป็นงานสุจริต ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
 
ประการที่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนทำกิจการงานต่างๆ
 
ประการที่ ต้องสำรวมระวัง มีศีล มีกิริยามารยาทสงบเสงี่ยมเรียบร้อย
 
ประการที่ ต้องเป็นอยู่โดยธรรม คือเป็นคนมั่นคงอยู่ในศีลในธรรม ยึดธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และ
 
ประการที่ ๗ ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการทำงาน อย่าให้ผิดพลาดหรือเสียหาย
 
     หากต้องการมียศบริวารเป็นที่ยกย่องนับถือ ต้องหมั่นปฏิบัติตนตามหลักธรรมข้างต้นให้ได้ เมื่อทำได้เช่นนี้ ยศที่ยังไม่มีก็จะมี เมื่อมีแล้วจะรักษาไว้ได้ และจะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป และเมื่อได้ยศมาโดยชอบธรรมแล้ว ยศจะตั้งอยู่ได้นาน ทั้งเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั้งหลาย ส่วนยศที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามหลักธรรม ย่อมไม่ยั่งยืนถาวร และไม่เป็นที่ยอมรับของบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อหมดยศลงเมื่อไร ย่อมตกอับทันที ถึงตอนนั้นจะรู้ว่ายศที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมนั้นก่อทุกข์ให้อย่างไร เพราะยศไม่เข้าใครออกใคร อยู่กับคนดี ก็มีแต่ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้น อยู่กับคนพาล ก็ทำให้เสื่อมลง และยังนำความหายนะมาให้ จึงไม่ควรประมาทมัวเมาชะล่าใจในคราวที่มียศมีตำแหน่ง ดังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตกาล เรื่องมีอยู่ว่า
 
     * ในสมัยพระราชาพระนามว่าเรณุราช ครองราชสมบัติอยู่ในอุตตรปัญจาลนคร วันหนึ่ง พระดาบสชื่อมหารักขิตมีบริวาร ๕๐๐ ออกจากป่าหิมพานต์ และเที่ยวจาริกมาจนถึงอุตตรปัญจาลนคร ได้พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นต่างพากันออกภิกขาจารจนถึงประตูพระราชวัง พระเจ้าเรณุราชเห็นหมู่ดาบสเดินด้วยความสงบเรียบร้อยก็ทรงมีจิตเลื่อมใส ได้เชิญมาที่ท้องพระโรงอันประดับตกแต่งอย่างดีเลิศ จากนั้นทรงนิมนต์ให้พระดาบสทั้งหลายอยู่จำพรรษาในพระราชอุทยาน เมื่อหมู่ดาบสรับนิมนต์แล้ว จึงทรงรับสั่งให้ราชบุรุษสร้างที่พักอาศัยถวาย พร้อมทั้งทรงถวายสมณบริขารอีกด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฤๅษีทั้งหลายก็ไปฉันที่พระราชนิเวศน์ทุกวัน
 
     พระราชาไม่มีพระราชโอรสแม้แต่พระองค์เดียว ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะได้พระโอรส แต่ก็หามีพระโอรสมาอุบัติไม่  จนฤดูฝนผ่านไป มหารักขิตดาบสจึงมาทูลลาพระราชากลับป่าหิมพานต์ ขณะที่ดาบสทั้งหลายกำลังนั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้ในระหว่างเดินทางนั้นได้พูดคุยกันว่า “พระราชาไม่มีพระราชโอรสสืบราชสกุลเลย หากพระราชาได้พระโอรสก็คงจะดีไม่น้อย” มหารักขิตดาบสได้ยินดังนั้น จึงตรวจดูว่าพระราชาจะได้พระโอรสหรือไม่ เมื่อรู้ว่าจะได้ จึงพูดขึ้นว่า “ท่านทั้งหลายอย่าวิตกไปเลย วันนี้เทพบุตรองค์หนึ่งจะจุติถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของอัครมเหสี” ดาบสโกงคนหนึ่งได้ยินเข้า จึงคิดจะเป็นดาบสประจำตระกูลของพระราชา  ดังนั้นเมื่อดาบสทั้งหลายจะเดินทางต่อไป เขาแสร้งทำเป็นไข้ นอนพักอยู่ ไม่ยอมร่วมเดินทางไปด้วย
 
     มหารักขิตดาบสรู้เหตุการณ์ทุกอย่าง ได้แต่เตือนดาบสโกงโดยพูดว่า  “เมื่อใดที่มีกำลังวังชาแล้ว ขอให้รีบตามมา” จากนั้น หมู่ดาบสพากันออกเดินทางกลับป่าหิมพานต์ ส่วนดาบสโกงรีบย้อนกลับพระราชวัง บอกราชบุรุษให้ไปกราบทูลพระราชาว่า “ดาบสอุปัฏฐากของมหารักขิตดาบสมาเฝ้า” ครั้นพระราชาทูลนิมนต์แล้ว จึงไปเข้าเฝ้า  พระราชาตรัสถามว่า “พระคุณเจ้ารีบด่วนมามีธุระอันใดหรือ”
 
     ดาบสโกงรีบตอบว่า “อาตมาได้ฟังคำสนทนาของดาบสทั้งหลายถึงเรื่องที่พระองค์ไม่มีพระโอรส จึงได้ตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ก็รู้ว่าเทวดาผู้มีฤทธิ์มากจะมาบังเกิดในพระครรภ์ของพระมเหสี ที่มานี่เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับพระครรภ์ จึงรีบมากราบทูลพระองค์” จากนั้นก็ทำทีขอลากลับป่าหิมพานต์ พระเจ้าเรณุราชทรงปีติโสมนัส เลื่อมใสในดาบสนั้น ได้ทูลทัดทานและให้ดาบสนั้นพักอยู่ในอุทยาน ดาบสก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยในราชสกุลดังใจปรารถนา
 
     ต่อมาพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุธรรมาราชเทวี  เมื่อประสูติออกมาแล้วได้พระนามว่าโสมทัตกุมาร ฝ่ายดาบสโกงได้ปลูกผักสวนครัว ส่วนหนึ่งปรุงเป็นอาหาร อีกส่วนหนึ่งได้จำหน่ายแก่ประชาชนชาวเมือง ครั้นพระโพธิสัตว์มีอายุครบ ๗ ชันษา ทางชายแดนเกิดกระด้างกระเดื่องก่อจลาจลขึ้น พระเจ้าเรณุราชจึงยกทัพไปปราบ ก่อนไปได้สั่งพระกุมารให้ปรนนิบัติดาบสให้ดี
 
     วันหนึ่ง พระกุมารเดินทางไปเยี่ยมดาบส เห็นดาบสกำลังถกเขมรถือหม้อน้ำข้างละหม้อ รดน้ำพืชผักอยู่ ทรงดำริว่า “ดาบสโกงนี่ไม่บำเพ็ญสมณธรรม มัวแต่ปลูกผักสวนครัว” เพื่อจะให้ดาบสสำนึก จึงทักว่า “ท่านพ่อค้าขายผัก ทำอะไรอยู่หรือ” และมิได้ทรงกราบไหว้ดาบสแต่อย่างใด ฝ่ายดาบสโกงคิดว่าหากเรื่องนี้แพร่ออกไป ตัวเองจะเสื่อมจากลาภที่เคยได้ จึงคิดจะกำจัดพระกุมารทันที
 
     ครั้นพระราชาเสด็จกลับจากปราบชายแดนแล้ว ดาบสได้โยนแผ่นหินไปรวมกันไว้ ทุบหม้อให้แตกกระจาย เกลี่ยหญ้าทำให้เรี่ยราดบนบรรณศาลา เอาน้ำมันทาตัว นอนคลุมโปงอยู่บนเตียง เมื่อพระราชาเสด็จมาถึง ทรงทำประทักษิณพระนครและยังไม่ได้เสด็จกลับพระราชนิเวศน์ พระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมดาบสก่อนด้วยความเป็นห่วง เมื่อเห็นอาการของดาบสได้ตรัสถามว่า “ทำไมท่านเป็นเช่นนี้ ใครมาทำให้ท่านเดือดร้อน” ดาบสตอบว่า “ช่วงที่พระองค์ไม่อยู่ อาตมาถูกพระราชโอรสทำร้าย” พระราชายังไม่ทันพิจารณาใคร่ครวญ ทรงหลงเชื่อ และกริ้วพระโอรสมาก จึงทรงให้สำเร็จโทษพระกุมารทันที
 
     เมื่อราชบุรุษไปจับพระโอรสเพื่อจะนำไปประหาร พระโอรสได้ขอร้องว่า “ให้พาไปเข้าเฝ้าพระบิดาก่อน” พระโอรสได้ตรัสถามถึงความผิดของตน  พระราชาจึงได้เล่าเรื่องความผิดที่พระโอรสได้กระทำ พระโอรสเล่าเรื่องที่ตนเห็นดาบสโกงรดน้ำปลูกผักสวนครัวให้พระราชาฟังเช่นกัน และทูลว่า “ถ้าพระองค์ไม่เชื่อก็ให้ไปถามพวกพ่อค้าแม่ค้าในตลาดดูเถิด” พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษไปสอบถามชาวตลาดดู และให้ไปค้นบรรณศาลาก็เห็นห่อกหาปณะ 
 
     เมื่อความจริงปรากฏ พระราชกุมารคิดว่า การที่เราอาศัยอยู่ในสำนักของพระราชาที่โง่เขลา ตัดสินโดยไม่รู้จักพิจารณา คงจะต้องมีโทษสักวันหนึ่ง จึงทูลลาออกบวชเป็นดาบส บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมพานต์ตามลำพัง ได้ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ส่วนดาบสโกงถูกมหาชนโบยตีจนสิ้นชีวิต
 
     เราจะเห็นว่า การจะตั้งใครให้มียศมีตำแหน่ง หรือให้เป็นใหญ่ จะนับถือยกย่องใคร จะต้องเลือกให้ดี ใคร่ครวญให้รอบคอบก่อน จะได้ไม่ผิดหวังในภายหลัง และถ้าได้ยศมาแล้ว อย่ามัวเมาในยศ และไม่พึงแสวงหายศโดยไม่ถูกทาง เพราะยศเช่นนั้นทำให้ตนต้องเดือดร้อนในภายหลัง
 
     เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น ก่อนตัดสินใจ ควรไตร่ตรองให้ดีก่อน อย่าเพียงได้ยินข่าวลือที่เขาพูดกัน แล้วด่วนตัดสินใจ เราเป็นชาวพุทธต้องหนักแน่น พยายามทบทวนดูเหตุและผลให้ดี และวิธีการที่ดีที่สุด คือ ต้องรู้จักไตร่ตรองด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนานั่นเอง

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๖๑ หน้า๖๘
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้รักในการทำความดีผู้รักในการทำความดี

ขอจงเป็นอยู่เถิดขอจงเป็นอยู่เถิด

ตอบแทนด้วยความรักตอบแทนด้วยความรัก



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน