พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๒)


[ 22 ต.ค. 2556 ] - [ 18308 ] LINE it!

พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๒)

     สรรพสิ่งในโลก เป็นเพียงเครื่องอาศัยสำหรับใช้สร้างบารมี ไม่ใช่มีไว้สำหรับให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะเราเกิดมาในโลก เพียงอาศัยสิ่งเหล่านี้สร้างบารมี อย่าไปคิดว่ามันเป็นจริงเป็นจัง สมบัติทั้งหลายเป็นของกลางของโลก ที่จะช่วยให้เราสร้างบารมีได้สะดวกสบาย เราจะได้มุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต เป็นความจริงอันประเสริฐที่เรียกว่า อริยสัจ มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ชีวิตเราจะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

     พระวังคีสเถระได้สรรเสริญพระอัญญาโกณฑัญญะต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

     * “พระอัญญาโกณฑัญญะเถระนี้ เป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ก่อนใคร เป็นผู้มีความเพียรเครื่องก้าวหน้าอย่างแรงกล้า เป็นผู้ได้ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข อันเกิดแต่วิเวกเนืองนิตย์ คุณอันใดที่พระสาวกผู้ทำตามคำสอนของพระศาสดาพึงบรรลุ คุณอันนั้นทุกอย่าง พระอัญญาโกณฑัญญะเถระผู้ไม่ประมาท ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ เป็นผู้มีอานุภาพมาก เป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นผู้ฉลาดในเจโตปริยญาณ เป็นธรรมทายาทของพระพุทธองค์ มีปกติกราบไหว้ซึ่งพระบาททั้งสองของพระศาสดา”

     ในวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน เป็นตอนที่น่าสนใจมาก เพราะจะได้รู้ว่า เมื่อท่านปรินิพพานแล้ว มีการจัดพิธีการเกี่ยวกับเรื่องสรีระร่างของท่านอย่างไร ต้องถือว่าเป็นงานประชุมเพลิงที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะมีช้างและเทวดาเป็นแม่งาน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏที่ไหนมาก่อน

     เรื่องก็มีอยู่ว่า เมื่อพระเถระแม้จะหลีกเร้นเพื่อปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าหิมพานต์นานถึง ๑๒ ปี แต่ในระหว่างนั้น ท่านก็ได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตร บำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยได้เทศน์สอนเทวดา นาค ยักษ์ ครุฑ คนธรรพ์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน

     พระเถระรู้ว่าอายุสังขารใกล้จะหมดลง ก็นึกถึงบุญคุณของช้างทั้งหลาย จึงอยากจะอนุเคราะห์ช้างเหล่านั้นให้ได้บุญใหญ่ โดยท่านได้เหาะกลับไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ เพื่อขออนุญาตการปรินิพพาน เมื่อไปถึงได้หมอบลงกราบแทบพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า ประกาศชื่อของท่านว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ชื่อว่าโกณฑัญญะ ผู้เป็นธรรมทายาทคนแรกของพระองค์ พระเจ้าข้า”

     พวกเราอาจจะสงสัยว่า ทำไมพระเถระจึงต้องแจ้งชื่อของตัวให้พระพุทธองค์ทราบ ทั้งๆ ที่ท่านเองก็เป็นพระสาวกที่พระพุทธเจ้าต้องรู้จักท่าน และจำได้แม่นยำอยู่แล้ว เหตุผลก็มีอยู่ว่า เพราะท่านเกรงว่าภิกษุสงฆ์ที่บวชเข้ามาภายหลังไม่รู้จักท่าน จะคิดล่วงเกินด้วยจิตที่เป็นอกุศลต่อท่านผู้บริสุทธิ์ จะทำให้ตกไปในอบายภูมิได้ แต่คนที่รู้จักท่าน เห็นและจักเลื่อมใสว่า เป็นทัสสนานุตตริยะของเราหนอ ที่ได้เห็นมหาสาวกองค์ปฐมปรากฏในหมื่นจักรวาล ใครได้เห็นแล้วจักเกิดความเลื่อมใส และก็จักเข้าถึงสวรรค์ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านหวังประโยชน์เกื้อกูลคิดจะปิดทางอบาย เปิดทางสวรรค์สำหรับผู้ไม่รู้ จึงประกาศชื่อของท่านต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า นี่ก็คือความละเอียดรอบคอบ และมหากรุณาของพระเถระ

     ท่านพระวังคีสะมีความคิดว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนี้ นานนักที่จะมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำให้ภิกษุใหม่หรือพุทธบริษัทจำนวนมาก อาจไม่รู้จักท่าน จึงลุกขึ้นจากอาสนะ ประณมอัญชลีทูลขออนุญาตกล่าวคาถาสรรเสริญพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว ท่านก็กล่าวชมเชยพระเถระ ดังที่ได้กล่าวไว้ ณ เบื้องต้น

     จากนั้นพระเถระก็ทูลขออนุญาตการปรินิพพานว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อายุสังขารของข้าพระองค์สิ้นแล้ว ข้าพระองค์จักทูลลาปรินิพพาน” พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า “โกณฑัญญะ เธอจักปรินิพานที่ไหน” ท่านทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างทั้งหลายที่เป็นอุปัฏฐากของข้าพระองค์ได้กระทำกิจที่ทำได้ยาก ข้าพระองค์ จักปรินิพพานในที่ใกล้กับช้างเหล่านั้น พระเจ้าข้า” พระศาสดาก็ทรงอนุญาตตามนั้น

     จากนั้นพระเถระก็ได้ทำประทักษิณพระทศพล แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเห็นครั้งนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย” เมื่อมหาชนทราบว่า ท่านทูลลาปรินิพพาน ผู้ที่ยังไม่หมดกิเลสก็โศกเศร้าด้วยความอาลัยรักในตัวท่าน ส่วนพระอริยเจ้าก็เกิดธรรมสังเวช ท่านได้สั่งสอนมหาชนว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าเศร้าโศกคร่ำครวญไปเลย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามในโลกนี้ เมื่อสังขารเกิดขึ้นแล้ว ย่อมแตกทำลายไปเป็นธรรมดา” ว่าแล้วท่านก็เหาะขึ้นสู่อากาศ มุ่งหน้าไปที่ริมสระโบกขรณีมันทากินี สรงน้ำนุ่งสบงห่มจีวรเรียบร้อย ก็เข้านิโรธสมาบัติ พอล่วงยามสามก็ปรินิพพาน

     ต้นไม้ทุกต้นในหิมวันตประเทศได้โน้มน้อมออกดอกออกผลบูชา ในเวลาที่พระเถระปรินิพพาน ฝ่ายช้างเชือกที่รับบุญอุปัฏฐากพระเถระ ไม่รู้ว่าพระเถระปรินิพพานแล้ว ก็จัดน้ำบ้วนปากและไม้ชำระฟันทำวัตรปฏิบัติตามปกติ ได้นำของควรเคี้ยวและผลไม้มายืนรออยู่ที่ท้ายที่จงกรมตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อไม่เห็นพระเถระออกมาจนพระอาทิตย์ขึ้น ก็คิดว่า ปกติพระเถระเป็นผู้ที่ตรงต่อเวลา แต่วันนี้ทำไมท่านยังไม่ออกจากบรรณศาลา จึงเคาะประตูกุฏิเบาๆ พระเถระก็ยังไม่ออกมา

     เจ้าช้างแสนรู้จึงเอางวงเปิดหน้าต่าง มองเข้าข้างในเห็นพระเถระกำลังนั่งสมาธิ จึงเหยียดงวงสำรวจลมหายใจเข้าออก จึงรู้ว่าพระเถระปรินิพพานแล้ว ก็ตกใจร้องเสียงดังปานว่าฟ้าผ่า ข่าวการปรินิพพานของพระเถระได้นำความเศร้าสลดมาให้ช้างทั้ง ๘,๐๐๐ เชือก ซึ่งได้พากันร้องลั่นเสียงดังไปทั่วทั้งป่าหิมพานต์ รวมทั้งหมู่สัตว์เหล่าอื่นด้วย เมื่อช้างทั้งหมดมาประชุมกันแล้ว ก็ยกพระเถระขึ้นบนกระพองของหัวหน้าโขลง ถือกิ่งไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง ยืนบูชานิ่งๆ ไม่ไหวติง

     ฝ่ายท้าวสักกเทวราชก็รับสั่งให้วิษณุกรรมเทพบุตรไปเนรมิตเรือนยอดที่ประดิษฐานพระเถระที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกชนิด ให้พระเถระอยู่ในเรือนยอดมอบให้หัวหน้าช้างต่อไป ช้างอัญเชิญเรือนยอดที่บรรจุสรีระของพระเถระเวียนเขาหิมวันต์ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ หลายรอบ จากนั้นพวกอากาสเทวาก็รับเรือนยอดจากงวงช้างมาบูชา ต่อมาวัสสพลาหกเทวดา, สีตพลาหกเทวดา, วาตพลาหกเทวดา และทวยเทพชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัสตี ก็รับกันขึ้นไปเป็นทอดๆ เรือนยอดได้ถูกส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงพรหมโลก  เมื่อบูชาแล้ว พวกพรหมได้ให้เรือนยอดแก่พวกเทวดา แล้วส่งกลับลงมามอบกลับคืนให้ช้างตามเดิม เทวดาแต่ละองค์ได้นำท่อนจันทน์ประมาณ ๔ องคุลี มากองรวมเป็นจิตกาธาน สูง ๙ โยชน์ พวกเทวดายกเรือนยอดขึ้นสู่จิตกาธาน เพื่อถวายพระเพลิง

     ฝ่ายภิกษุขีณาสพประมาณ ๕๐๐ รูปก็เหาะมาร่วมพิธี มีการสาธยายธรรมตลอดทั้งคืน พระอนุรุทธเถระเหาะมาแสดงธรรม ทำให้เหล่าเทวดาเป็นอันมากได้ตรัสรู้ธรรม พอเวลาได้อรุณ เทวดาให้ดับจิตกาธาน เอาพระธาตุที่มีสีเหมือนดอกมะลิตูม น้อมเข้าไปวางไว้ในพระหัตถ์ของพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงเหยียดพระหัตถ์ไปที่แผ่นดิน พระเจดีย์ที่มีสีเงินยวงก็ชำแรกแผ่นดินขึ้นมาทันที แล้วพระองค์ก็ทรงบรรจุพระธาตุไว้ในพระเจดีย์เพื่อให้มนุษย์และเทวาได้กราบไหว้บูชา

     งานประชุมถวายพระเพลิงของท่าน ช่างแปลกและยิ่งใหญ่อลังการไม่มีใครเหมือน ก็เป็นความรู้ที่ควรจะได้ศึกษาไว้ เราศึกษาชีวประวัติของท่านก็เพื่อที่จะได้ยกท่านเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี และเราจะได้มีกำลังใจในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะได้บรรลุธรรมเหมือนกับท่าน มีสวรรค์และพระนิพพานเป็นที่ไปกันทุกๆ คน


 

พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๕ หน้า ๓๓๘
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อัครสาวก ซ้าย-ขวาอัครสาวก ซ้าย-ขวา

พระมหากัสสปเถระ (๑)พระมหากัสสปเถระ (๑)

พระมหากัสสปเถระ (๒)พระมหากัสสปเถระ (๒)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน