ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 5


[ 3 พ.ค. 2550 ] - [ 18282 ] LINE it!
View this page in: 中文

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  เนมิราช   ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี  ตอนที่ 5


        จากตอนที่แล้ว ท้าวสักกเทวราชทรงทราบความกังขาในพระหฤทัยของพระเจ้าเนมิราช จึงรีบเสด็จมายังห้องบรรทมของท้าวเธอ  ทรงแผ่พระรัศมีประทับยืนอยู่ท่ามกลางอากาศ  พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นท้าวสักกะก็ตกพระทัย   ได้ตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร มีประสงค์สิ่งใด

        ท้าวสักกะจึงทรงแนะนำให้รู้จักพระองค์และเปิดโอกาสให้ถามปัญหา พระเจ้าเนมิราชจึงได้ตรัสถามว่า หม่อมฉันมีความสงสัยว่า ระหว่างทานกับการรักษาศีลคือการประพฤติพรหมจรรย์  อย่างไหนจะมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่ากัน ขอพระองค์จงทรงชี้แจงให้กระจ่างด้วยเถิด

        ท้าวสักกจอมเทพจึงตรัสตอบว่า   บุคคลย่อมบังเกิดในตระกูลกษัตริย์  เพราะประพฤติพรหมจรรย์อย่างต่ำ  ย่อมบังเกิดในสวรรค์ เพราะพรหมจรรย์อย่างปานกลาง  ย่อมบริสุทธิ์หลุดพ้น  เพราะพรหมจรรย์อย่างสูงสุด   พรหมจรรย์นั้นมีอานิสงส์มากกว่าทานหลายแสนเท่า

        จากนั้นจึงได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตว่า   ครั้งหนึ่ง ได้มีฤษีจำนวนมากอาศัยอยู่ที่กาญจนบรรพต ในป่าหิมพานต์ คราวหนึ่งได้มีฤษีตนหนึ่งเหาะมาสู่กรุงพาราณสีเพื่อบิณฑบาต  ปุโรหิตได้เห็นท่านแล้วก็เลื่อมใส จึงนิมนต์ท่านให้เข้ามานั่งฉันในเรือน ได้ซักถามพระฤษีว่า  ท่านมาจากไหน มีความเป็นอยู่อย่างไร

        พระฤษีก็ตอบว่า เราอยู่ที่กาญจนบรรพต ที่นั่นมีฤษีอาศัยอยู่หลายหมื่นตน ล้วนทรงอภิญญา มีฤทธิ์มีเดช  ปุโรหิตได้ฟังแล้วก็ยิ่งเลื่อมใส อยากจะบวชเป็นฤษีบ้าง จึงได้เรียนให้ท่านทราบ พระฤษีจึงห้ามว่า ท่านเป็นบุรุษของพระราชา เราบวชให้ท่านไม่ได้หรอก

        ปุโรหิตไม่ละความพยายามได้กล่าวต่อไปว่า  “ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะทูลขออนุญาตพระราชาในวันนี้  ในวันพรุ่งนี้ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดมารับข้าพเจ้าในที่นี้เถิด”

        เมื่อพระฤษีนั้นรับคำของท่านปุโรหิตแล้ว ก็เหาะกลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิม

        ส่วนปุโรหิตเมื่อบริโภคอาหารเช้าแล้ว ก็รีบเข้าเฝ้าพระราชา  พร้อมทั้งทูลบอกถึงความประสงค์ในการเข้าเฝ้า  พระราชาจึงตรัสถามว่า  ท่านอาจารย์ เพราะเหตุอะไรเล่า ท่านจึงคิดจะบวช” 

        ปุโรหิตกราบทูลว่า  “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์เห็นโทษในกามทั้งหลาย และเห็นอานิสงส์แห่งเนกขัมมะ มองเห็นหนทางแห่งฆราวาสว่าเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลส ส่วนหนทางแห่งบรรพชานั้นปลอดโปร่งกว่า ด้วยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงประสงค์จะบวช พระเจ้าข้า” 

        พระราชาทรงเห็นความตั้งใจจริงของท่านปุโรหิต จึงทรงอนุญาต และตรัสอนุโมทนาว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านอาจารย์ก็จงบวชเถิด  และเมื่อท่านอาจารย์ได้บวชแล้ว ก็จงมาเยี่ยมเราบ้างนะ” 

        ปุโรหิตรับพระดำรัสแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือนของตน  สอนบุตรและภรรยาให้ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ให้ตั้งมั่นในกุศลความดี  จากนั้นก็ได้กล่าวมอบสมบัติทั้งหมดให้

        รุ่งขึ้นจึงได้ให้ภรรยาและบุตรจัดเตรียมภัตตาหารเอาไว้ต้อนรับพระฤษี ส่วนตนเองได้จัดเตรียมบริขารของบรรพชิต เสร็จแล้วก็ได้นั่งรอคอยการมาของพระฤษีอยู่ 

        เมื่อพระฤษีมาถึงเรือนแล้ว  ปุโรหิตได้ถวายภิกษาหารให้พระฤษีได้ขบฉันด้วยความเคารพเหมือนเช่นที่ผ่านมา    จากนั้น พระฤษีจึงนำทางท่านปุโรหิตเดินออกไปนอกเมือง เมื่อเห็นเป็นที่ปลอดจากผู้คนแล้ว จึงจับข้อมือของปุโรหิต พาเหาะไปป่าหิมพานต์ในทันที แล้วก็ได้จัดการบวชให้ปุโรหิตเป็นฤษีในวันนั้นนั่นเอง  

        ผ่านไป ๒ – ๓ วัน ฤษีใหม่ได้ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้น เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเหมือนพระฤษีตนอื่นๆ

        กาลต่อมา  พระฤษีอดีตปุโรหิตนึกถึงคำปฏิญญาที่ได้ถวายไว้แก่พระราชา  จึงตั้งใจจะไปโปรดพระราชา  เพื่อเปลื้องปฏิญญานั้น    วันหนึ่ง ท่านจึงได้เหาะเข้าไปในเมืองพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระฤษีเข้าก็ทรงจำได้ ทรงเกิดความปีติโสมนัส ตรัสนิมนต์ให้เข้าสู่พระราชนิเวศน์  

        ทรงกระทำปฏิสันถารด้วยความปีติยินดี และจัดแจงถวายอาหารอันประณีต  และทรงทำสักการะ  พร้อมทั้งตรัสถามความเป็นอยู่ของฤษีผู้เป็นอาจารย์ ทราบความทั้งหมดแล้วจึงตรัสบอกถึงความประสงค์ที่พระองค์เองทรงอยากจะถวายภิกษาหารแก่พระฤษีทั้งหมด

        จึงทรงโปรดให้พระฤษีปุโรหิตเป็นธุระในการนิมนต์ฤษีทั้ง ๑๐,๐๐๐ ตน พระฤษีปุโรหิตทูลตอบว่า “เจริญพร มหาบพิตร ฤษีเหล่านั้น ไม่ยินดีในรสอาหารที่รู้ได้ด้วยลิ้น อาตมภาพจึงไม่อาจนำท่านเหล่านั้นมาในที่นี้ได้” 

        พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงตรัสว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดบอกอุบาย เพื่อจะทำให้ฤษีทั้งหมดมาเป็นเนื้อนาบุญ บริโภคอาหารของโยมด้วยเถิด” 

        พระฤษีจึงทูลตอบว่า  “มหาบพิตร ถ้าพระองค์ต้องการจะถวายทานแก่ฤษีเหล่านั้น จงเสด็จออกจากเมืองไปประทับอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำสีทา  แล้วจงถวายทานแก่ท่านเหล่านั้น ณ ที่นั้นเถิด” 

        พระราชาทรงรับคำ แล้วจึงเสด็จนำไพร่พลไปตั้งค่ายหลวง ณ ริมฝั่งแม่น้ำสีทา
 
         ส่วนพระฤษีปุโรหิต ได้ทูลเตือนพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จากนั้นก็ได้เหาะไปยังที่อยู่ของตน แล้วแจ้งแก่ฤษีทั้งหมดว่า พระเจ้าพาราณสีต้องการจะถวายภิกษาแก่ท่านทั้งหลาย  จึงเสด็จมาพักอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำสีทา 

        พระองค์อาราธนาท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงไปยังค่ายหลวงรับภิกษาเพื่ออนุเคราะห์พระองค์เถิด   ฤษีเหล่านั้นรับคำแล้ว รุ่งขึ้นจึงเหาะมายังค่ายหลวง  พระราชาเสด็จต้อนรับฤษีเหล่านั้น ให้นั่ง ณ อาสนะที่ตกแต่งไว้อย่างดี แล้วก็ถวายภิกษาหารอันประณีต

        พระองค์ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถและคุณวิเศษของฤษีเหล่านั้น  จึงนิมนต์ให้ฉันในวันรุ่งขึ้นต่อๆไป  และได้ประทับพักแรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสีทานั้น ถวายภิกษาหารแด่พระฤษีทั้งหมดอยู่อย่างนี้ตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเวลาถึง ๑๐,๐๐๐ ปี ส่วนว่า ท้าวสักกะเทวราชเมื่อตรัสเรื่องอันเป็นอุทาหรณ์นี้จบลงแล้ว จะทรงสรุปว่าอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 6ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 6

ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 7ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 7

ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 8ทศชาติชาดก เรื่องเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ตอนที่ 8



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก