มองปมปัญหาขัดขาแอนิเมชั่นไทย แก้ไขได้หรือยังหลงทาง?


[ 16 พ.ค. 2550 ] - [ 18260 ] LINE it!

 

หลังจากได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชั่นและฝีมือการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกหรือ CG ฝีมือคนไทยผ่านทางจอเงินและจอแก้วเรื่องแล้วเรื่องเล่าไม่ว่าจะเป็น ก้านกล้วย ปังปอนด์ สุดสาคร ฯลฯ รวมถึงเกมออนไลน์สัญชาติไทยหลายต่อหลายเกม ไม่นับงานเอาท์ซอร์สจากต่างประเทศอีกมากมาย ประกอบกับผลงานในเวทีประชันฝีมือต่างๆ ที่งัดเอาความสามารถของคลื่นลูกใหม่ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและ
โรงเรียนมาแสดงให้เห็นแล้ว คงเป็นที่ยอมรับว่าแอนิเมชั่นไม่ใช่เรื่องไกลตัว และนับวันผลงานเหล่านี้จะยิ่งเปี่ยมด้วยคุณภาพมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิค
หรือความคิดสร้างสรรค์
หากหลายต่อหลายครั้งอีกเช่นกันที่คนในแวดวงแอนิเมชั่นรวมทั้ง
ผู้ติดตามสถานการณ์รอบนอกหาโอกาสมานั่งจับเข่าคุยกันว่า ทุกวันนี้สถานการณ์อุตสาหกรรมนี้ประสบปัญหาใด และอนาคตสดใสที่เคยวาดฝันกันว่าในอนาคตอันใกล้จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโต ทำเงิน และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาตินั้นใกล้เข้ามาหรือยัง

“คน” เป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่ทุกวงการให้ความสำคัญ ในส่วนนี้ อาจารย์ไมเคิล ปริพล ตั้งตรงจิต คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะเบ้าหลอมบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ให้มุมมองในภาพรวมว่า ปัจจุบันพัฒนาการแอนิเมชั่นของไทยดีขึ้นมาก เห็นได้ว่าฝีมือของคนไทยก้าวหน้าขึ้น พร้อมกับที่หลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มให้ความสำคัญกับแอนิเมชั่น โดยเปิดเป็นสาขาหรือวิชาเรียนเพิ่ม ตัวอาจารย์ผู้สอนก็มีความเชี่ยวชาญและมีการดึงบุคลากรจากต่างชาติเข้ามา ทำให้พัฒนาการในส่วนของบุคลากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่ลำบากก็คือ ในช่วงต้น ภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสื่อทั่วไปยังไม่คุ้นกับแอนิเมชั่น บุคลากรที่มีความสามารถจึงทำงานได้ยาก และไม่มีช่องทางในการนำเสนอ แต่ขณะนี้กลับตรงกันข้าม ทุกสื่อเปิดรับแอนิเมชั่นจึงกลายเป็นว่าสถานการณ์ตอนนี้คือขาดคน แต่ก็เชื่อว่าอีก 1-2 ปี จะมีทรัพยากรบุคคลเข้าไปในตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าแอนิเมชั่นไทยจะโกอินเตอร์ได้ในทันทีทันใด เพราะต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่ง” คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเสริม

จากความคิดเห็นของนักวิชาการประกอบกับ “ฝีมือ” ที่สัมผัสได้จากผลงานในปัจจุบันของแอนิเมเตอร์คนไทย คงพอจะสรุปได้ว่า น่าจะเบาใจในเรื่องของทรัพยากรบุคคลได้ในระดับหนึ่ง แต่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งระบบนั้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง
เพียงประการเดียว
นายธนพงษ์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะองค์กรเจ้าภาพจากทางภาครัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุน
อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยให้ข้อมูลว่า จุดอ่อนของแอนิเมชั่นไทยก็คือตลาดยังไม่ค่อยกว้าง รู้จักต่างประเทศน้อย ด้านบริษัทเล็กๆ ก็ขาดต้นทุนการผลิต

ดังนั้น ซิป้า จึงเข้ามาส่งเสริมด้านการตลาดและหาแหล่งงานป้อนเข้าอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น เช่น การหาเวทีหรือช่องทางจับมือกับต่างชาติที่เป็นผู้ซื้อ หรือ เป็นแหล่งผลิตงานแอนิเมชั่นให้คนไทยได้มีโอกาสแสดงผลงาน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตในไทยกับต่างประเทศ โดยขณะนี้ ซิป้ามีความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวในหลายประเทศ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และล่าสุด คือ ประเทศฝรั่งเศส

รอง ผอ.ซิป้า เชื่อว่า การส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจนี้จะทำให้หลายบริษัทได้รับประโยชน์ และสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ต่างประเทศเริ่มเห็นความสำคัญของแอนิเมชั่นไทย โดยเฉพาะในกลุ่มทวีปเอเชียที่ไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและกำลังขยายไปสู่นิวซีแลนด์และยุโรป ส่วนคู่แข่งในระดับเดียวกันกับประเทศไทยที่มีบทบาทขึ้นมาก็มีเช่นกัน อาทิ ฟิลิปปินส์และอินเดียที่เปิดรับงานเอาท์ซอร์สอยู่

สำหรับการสนับสนุนในด้านอื่นนั้น นายธนพงษ์ เปิดเผยว่า ในส่วนของเงินทุนที่เป็นปัญหาของบริษัทแอนิเมชั่นส่วนใหญ่ ซิป้าก็มีทุนส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนาผลงาน โดยพิจารณาจากบริษัทไหนที่มีโครงเรื่อง หรือ story ค่อนข้างดีก็จะให้เงินไปผลิตเป็นภาพยนตร์ตัวอย่าง รวมถึงการเปิดศูนย์ Bangkok Digital Content Center ที่ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพฯ มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้กับบริษัทแอนิเมชั่นไทยในส่วนของ
อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กล้องถ่ายภาพ เพื่อใช้ในงาน Motion Capture เป็นต้น

ย้อนกลับมาฟังเสียงของคนในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นกันบ้าง นายสุรเชษฐ เฑียรบุญเลิศรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู-แฟรี่ จำกัด และกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย หรือ แทคก้า (TACGA) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัญหาด้านเงินทุนนั้น เกิดจากนักลงทุนทั่วไปไม่ค่อยอยากเข้ามาเล่น ทุนในประเทศไม่ต้องการเอาเงินมาจมกับโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำนานๆ และไม่รู้ว่าอนาคตจะขายได้หรือไม่ ในขณะที่แอนิเมชั่นเป็นงานที่ต้องอาศัยระยะเวลา ดังนั้น ปัญหาเรื่องเงินทุนจึงเป็นความยากลำบากของคนทำแอนิเมชั่น มีแต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะอยู่ได้

ในส่วนของความช่วยเหลือจากทางภาครัฐนั้น กรรมการฝ่ายต่างประเทศ จากแทคก้า บอกว่า หากจะถามว่ารัฐให้การสนับสนุนถูกทางแล้วหรือไม่ ส่วนนี้จะโทษซิป้าเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เพราะซิป้าก็มีความพยายามในการให้ความสนับสนุนอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม มองว่าควรมีการหารือกับอุตสาหกรรมบ้างว่ามีความต้องการอะไร เพราะบางครั้งสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการไปโดยไม่ได้ตรวจสอบกับภาคธุรกิจ
ก็จะทำให้ผลที่ได้รับไม่เป็นไปอย่างที่คิด เช่น การดึงต่างประเทศเข้ามาหวังให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าดึงผู้ผลิตมาพบกับผู้ผลิต และไม่ก่อให้เกิดงานขึ้นจริง แต่ถ้าหากซิป้าจะส่งเสริมให้บริษัทไทยได้มีโอกาสไปเปิดบูธในเทศกาลหนังในต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ผู้ซื้อเข้ามามองหาผู้ขาย เป็นงานที่เปิดตลาดเซอร์วิสเอาท์ซอร์ส อย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์และตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด

ด้าน บริษัท อิมเมจิแม็กซ์ จำกัด ยักษ์ใหญ่ในวงการแอนิเมชั่นไทยที่นำร่องบุกเบิกอุตสาหกรรมเป็นรายแรกๆ นายศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ ซีอีโอของอิมเมจิแม็กซ์ ให้ความเห็นว่า การสนับสนุนของทางภาครัฐเกี่ยวกับความพยายามในการจับคู่ทางธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันในความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับการทำให้ทุกอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จะมาทำธุรกิจร่วมกัน หรือว่าเงินทุน ยกตัวอย่างเช่น ในการออกบูธตามงานแสดงต่างๆ ในต่างประเทศ แต่ละงานมีอยู่มากมายหลายบูธ เจอฝรั่งหลายคน แต่ก็ยากมากที่จะรู้ว่าฝรั่งคนนั้นเป็นใคร หรือยากมากที่จะมีคนเดินมาเจอผลงานแล้วถูกใจ เกิดการเจรจาธุรกิจกันเลย

ซีอีโอ บริษัท อิมเมจิแม็กซ์ เสริมเรื่องปัญหาเงินทุนด้วยว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ถ้าองค์ประกอบด้านเงินทุนไม่เอื้อก็เกิดผลงานได้ยาก และส่วนใหญ่แล้ว คนไทยยังไม่เข้าใจรูปแบบหรือกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น การขออนุมัติหรือการสนับสนุนด้านการเงินยังไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจเท่าใดนัก หรือแม้แต่การนำเสนอผลงานก็ต้องรอให้ผลิตงานไปให้เห็นก่อนจึงจะรับซื้อ ทำให้ไม่มีเงินไปลงทุนผลิตแอนิเมชั่นดีๆ ออกมา

ท้ายที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยก้าวไปอย่างถูกทิศทางมากขึ้น นายศักดิ์ศิริ ผู้คร่ำหวอดในวงการแอนิเมชั่น และเติบโตมาจากจุดเล็กๆ เช่นเดียวกับบริษัทแอนิเมชั่นอื่นๆ ให้มุมมองสำหรับผู้ผลิตผลงานคนไทยด้วยกันเกี่ยวกับปัญหาจุดเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่เป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานว่า ความเข้าใจในส่วนของการนำเสนอความเป็นไทยแล้วฝรั่งชอบนั้นไม่จริงเสมอไป แต่การสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะที่มีความเป็นสากลจึงสำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการสร้างงานที่มีความเป็นไทยไม่ใช่สิ่งที่ดี และควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้

ทั้งหมดเป็นภาพรวมเกี่ยวกับอุปสรรคของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยที่มีมา
และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของตลาดและเงินทุนที่แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองเห็น แต่ก็ยังไม่อาจพลิกสถานการณ์สร้างความเป็นต่อได้มากนัก แม้จะมีกำลังคนและกำลังฝีมือเป็นที่อุ่นใจแล้วก็ตาม
ดังนั้น หากจะสนับสนุนให้แอนิเมชั่นไทย “เกิด” ในระดับสากลอย่างจริงจังเทียบเท่ากระแสของเพื่อนบ้านในเอเชียแล้ว เสียงสะท้อนของคนในวงการคงจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดีว่า ควรจะเริ่มที่จุดใด เพราะอย่างน้อยๆ แม้ในระดับนโยบายของทางภาครัฐอาจยังไม่เห็นความชัดเจน
แต่ก็มีองค์กรเจ้าภาพที่พอจะมีความตั้งใจในการผลักดัน ภาคอุตสาหกรรมเองก็มีการรวมตัวที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีประสบการณ์มากพอ เหลือเพียงเรื่องพื้นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย นั่นก็คือ คุยกันมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้น และทำจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
แฉโฆษณาแฝงบุหรี่แนวใหม่ กับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแฉโฆษณาแฝงบุหรี่แนวใหม่ กับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

คนไทยกินเหล้าเบียร์ลด4พันล้านคนไทยกินเหล้าเบียร์ลด4พันล้าน

สิงห์พ่นควันแย่แน่ เวียดนามห้ามสูบ-ขายบุหรี่แล้วสิงห์พ่นควันแย่แน่ เวียดนามห้ามสูบ-ขายบุหรี่แล้ว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS