เชียงตุง ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา


[ 21 พ.ค. 2557 ] - [ 18285 ] LINE it!

เชียงตุง (Kyaing tong)

เชียงตุง ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา
 
 
รู้เรื่องเมืองเชียงตุง (Kyaing tong)

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล

 
พระมหามุนีจำลอง
พระมหามุนีจำลอง
 
     เมืองเชียงตุง ตั้งอยู่ในรัฐฉาน (Chan State ) ของประเทศพม่า เป็นเมืองของชาวไทเขิน และ ชาวไทใหญ่ ถือได้ว่า เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่า เมืองเชียงใหม่ แห่ง ล้านนาไทย และ เมืองเชียงรุ่ง แห่ง สิบสองปันนา เลยทีเดียว

ภูมิลักษณะของเมืองเชียงตุง
 
    เชียงตุง (Kyaing tong) เป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉาน (Chan State) ของพม่า ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ตั้งอยู่ละติจูดที่ 21 องศา 17 ลิปดา 48 ลิปดาเหนือ และ ลองติจูดที่ 99 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก (21.2967n , 99.667e) ความสูงประมาณ 2,700 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีรูปร่างเป็นแอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ มีที่ราบน้อยมาก จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ เวียงเชียงตุง แม้จะเป็นที่ราบ แต่ก็มีพื้นที่ตะปุ่มตะป่ำ

      เชียงตุงมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทขึนหรือไทเขิน มีไทใหญ่ และ พม่า ลองลงมา ยังมีชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาข่า ปะด่อง ว้า ลาฮู ลีซอ ลัวะ ฯลฯ

กำแพงเมืองเชียงตุง

      กำแพงเมืองเชียงตุงนั้นก็คือ กำแพงที่ล้อมรอบเวียงเชียงตุง พวกเขาก่อกำแพงเมืองโดยอาศัยภูมิประเทศ ใช้วิธีปรับแนวกำแพงเมืองไปตามธรรมชาติ ที่ที่สูงก็ไม่ต้องก่อเพิ่ม ที่ๆต่ำก็เสริมให้สูงขึ้น ทำอย่างนี้จนรอบเวียง ความยาวของกำแพงนั้นคาดว่ายาวพอๆกับกำแพงในเวียงเชียงใหม่ แต่กำแพงเชียงตุงนั้น สูงใหญ่กว่าของเวียงเชียงใหม่ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากำแพงเมืองเชียงตุงมีความยาวมาก ก็คือครั้งเมื่อกองทัพในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีกำลังพลนับหมื่นคน แต่ก็มิสามารถล้อมได้หมด เนื่องจากกำแพงนั้นใหญ่มาก โดยเฉพาะทางทิศเหนือ ซึ่งในสมัยนั้น ต้องตั้งค่ายทางทิศนี้ถึง 12 ค่าย

ประวัติการก่อตั้ง

      ประวัติเริ่มแรกของเมืองนั้นไม่ค่อยจะแน่ชัดมากเท่าไรนัก แต่มีตำนานเล่าขานกันว่า เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ท่วมเมือง ไม่มีที่จะไปเนื่องจากเป็นแอ่ง แต่ว่ามีฤๅษีนามว่า ตุงคฤๅษี แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำไหลออกไปอยู่ตรงกลางเมือง ทำให้เกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกกันว่า หนองตุง อันเป็นที่มาของชื่อ เชียงตุง เป็นแว่นแคว้นที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา และ วัฒนธรรม อุดมไปด้วยป่าไม้ และ มีเจ้าฟ้าที่เข้มแข็งปกครอง จึงเฉลิมนามให้ใหม่ว่า เขมรัฐตุงคบุรี

นครเชียงตุง

      พงศาวดารของเมืองได้กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช 791 (พ.ศ. 1772) พญามังรายได้เสด็จประพาสป่าและทรงไล่กวางทองมาจนถึงเมืองเชียงตุง พระองค์ทรงเล็งเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุง ก็พอพระทัย มาก จึงวินิจฉัยสั่งให้ข้าราชบริพารสลักรูปพรานจูงหมาพาไถ้แบกธนูไว้บนยอดดอยที่เห็นเมือง หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จกลับมาเมืองเชียงรายแล้วทรงส่งกองทัพ มีแม่ทัพนามว่าขุนคง และ ขุนคลัง ให้มาชิงเมืองเชียงตุง จากชาวลัวะแต่ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงส่ง มังคุม และ มังเคียน ซึ่งเป็นชาวลัวะที่อาศัยอยู่กับพระองค์มารบอีกครั้ง ปรากฏว่าได้ชัยชนะ พญามังรายจึงมอบให้ มังคุม และ มังเคียน ปกครองเมืองเชียงตุง

     ภายหลังเมื่อ มังคุม มังเคียน สิ้นชีวิต พญามังรายจึงส่ง เจ้าน้ำท่วม ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1786 เชียงตุงจึงเป็นเมือง "ลูกช้างหางเมือง" หรือ "เมืองลูกหลวง" ขึ้นกับอาณาจักรล้านนา
            
     ตามหลักฐานทั้งหลาย ได้ระบุไว้ว่ามีเจ้าฟ้าปกครองอยู่ 33 พระองค์ พระองค์สุดท้ายคือ "เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง" จากหนังสือ "ตำนานมังราย เชียงใหม่ เชียงตุง" ซึ่งจารึกอยู่ในหนังสือใบลานของวัดอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อความของเอกสารดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 ตอนใหญ่ ๆ
            
     ตอนแรกจากหน้าลานที่ 1 - 22  กล่าวถึงพญามังรายมหาราช จนกระทั่งถึงพระยาผายู ซึ่งอยู่เสวยราชย์ในเมืองนพบุรีศรี พิงไชย เชียงใหม่ (นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่) มีอายุยืนได้ 70 ปี ก็จุติตายไป พระยาผายูตาย ปีเปิกเล็ด ศักราชได้ 899
            
     ตอนที่ 2 เริ่มตั้งแต่หน้าลานที่ 22 - 46 เริ่มตั้งแต่ พระยาลัวะจักรราช จนถึงตอนที่เจ้าหม่อมมหาวัง (เจ้าเมืองเชียงรุ้ง) สิ้นพระชนม์ เป็นการเท้าเป็นการย้อนราชนิกูรของ พญามังราย ไปจนถึงเมืองในอาณาจักรล้านนา และ อาณาจักรรอบๆ
            
     สิ่งที่น่าสนใจตอนหนึ่งในหนังสือเรื่องนี้ คือการกล่าวถึงเมืองเชียงตุงในอดีต ซึ่งระบุว่า มังคุ่มครองเมืองได้ 17 ปี ก็สิ้นชีพ และ มังเคียนครองเมืองได้ 7 ปี ก็เสียชีวิต หลังจากนั้น เมืองเชียงตุงจึงเป็นเมืองร้าง เป็นเวลา 10 ปี พญามังรายจึงส่ง พระยานาถะมู ไปครองเชียงตุงในปี จ.ศ. 833 (พ.ศ. 1814) หลังจากนั้นพระยานาถะมูจึงโปรดให้สร้าง เวียงเชียงเหล็ก ในปีต่อมา
            
     ในปีต่อๆ มา ชาวลัวะ ได้ลุกลามเมือง และ ทดน้ำไปสู่เมือง เพื่อจะให้น้ำท่วมเมือง พระยานาถะมู เจ้าเมืองในขณะนั้น ได้สิ้นพระชนม์  ครองเมืองได้ 14 ปี  พระยาน้ำท่วมกินเมืองแทนพ่อในปี จ.ศ. 845
 
วัดพระเจ้าหลวง เชียงตุง
วัดพระเจ้าหลวง เชียงตุง

เชียงตุง ในช่วงที่เชียงใหม่มีอิทธิพล           

     ในปี จ.ศ. 891 พระยาผายู (พ.ศ. 1889-1898) กษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้ส่งพระโอรสไปครองเมืองเชียงตุง คือ พระยาเจ็ดพันตู โหรของพระองค์ได้ทำนายไว้ว่า "เมืองเชียงตุง เป็นเมืองนามจันทร์ น้ำไหลจากทางทิศใต้ไปทิศเหนือ ผู้หญิงกินเมืองดี ถ้าผู้ชายกินเมืองให้เลี้ยงเจนเมือง 500 นา และสร้างเจดีย์เป็นชื่อเมืองจึงจะดี" ในการเสด็จไปครองเมืองเชียงตุงในครานั้น พระยาเจ็ดพันตูจึงทรงได้นำเอาช้างม้า คนพลติดตามไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระไตรปิฎกและพระสงฆ์ 4 รูป คือ พระมหาธัมมไตร จากวัดพระแก้วเชียงราย พระธัมมลังกา วัดหัวข่วง พระทสปัญโญ วัดพระกลาง พระมหาหงสาวดี วัดจอมทอง เมืองเชียงใหม่
            
     การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเชียงตุงและเชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังราย จึงสามารถแบ่งได้ง่ายๆ ดังนี้ ในสมัยแรกเป็นแบบเครือญาติ และ ขุนนาง ในตอนกลาง ขุนนางปกครอง และ ยุคสุดท้ายราชวงศ์ก็ได้กลับมาปกครองอีกครั้ง
            
     ในสมัยพญากือนา ถึงสมัยพญาแก้ว (พ.ศ. 1898-2068) ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในอาณาจักรล้านนา เป็นช่วงที่ตั้งกรุงศรีอยุธยาใหม่ๆ ความสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นมากๆ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากเชียงใหม่สู่เชียงตุง ไปถึงเชียงรุ่ง จึงเป็นไปได้โดยง่าย แบ่งได้เป็น 2 ตอนใหญ่ๆ คือ ในสมัยพญากือนาพระสงฆ์นิกายรามัญวงศ์ (พม่า ผสม มอญ) จากวัดสวนดอก และ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช นิกายสิงหล (สุโขทัย อยุธยา) จากวัดป่าแดง ได้ออกเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ชาวเมืองได้รู้ ไม่ใช่แต่ศาสนาอย่างเดียว วัฒนธรรม ตัวอักษร และ ภาษา ก็ออกไปเผยแพร่ด้วย ดังนั้นตัวเมืองของล้านนา และ ตัวเขียนของไทเขินจึงใกล้เคียงกันมาก

เจ้าฟ้าอินแถลง เจ้าผู้ครองนครเชียงตุงองค์สุดท้าย           

     เชียงตุงในสมัยนี้ ทำให้เกิดเจ้าฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุง พระนามว่า เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลง ซึ่ง อยู่ร่วมสมัยกับ รัชกาลที่ 5 ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ จนกระทั่งในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหาร ภายใต้การนำของ พลตรีผิน ชุณหะวัณ (ต่อมาได้เลื่อนเป็น จอมพลผิน ชุณหะวัณ) เข้ายึดเมืองเชียงตุง และ เมืองพาน จากอังกฤษ ที่เคยเป็นของชาวสยาม โดยมีความช่วยเหลือ จากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2485 โดยอ้างว่ามีประวัติศาสตร์ และ เชื่อชาติที่เหมือนกัน นอกจากนั้น กองทัพไทยยังเข้าไปโจมตีและปกครอง เมืองตองยี และ สิบสองปันนาอีกด้วย โดยมี ประเทศญี่ปุ่นช่วยให้บริเวณเมืองเชียงตุง และ เมืองพานมาร่วมเข้ากับประเทศไทย รวมทั้งหมดนี้ทำให้จัดตั้งเป็น สหรัฐไทยเดิม ในเวลาต่อมา

เชียงตุงเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย

     เมื่อไทยสามารถยึดเมืองเชียงตุงได้แล้วก็จัดให้เป็นจังหวัดหนึ่งของไทย มีชื่อว่า จังหวัด สหรัฐไทยเดิม  และแต่งตั้งให้ พลตรีผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำจังหวัดสหรัฐไทยเดิม เพื่อควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองเชียงตุง  ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลไทยก็ได้ทูลเชิญเจ้าเมืองเหล็กพรมลือ โอรสองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง  พร้อมด้วยเจ้าแม่ปทุมเวที ที่ไปช่วยราชการและพำนักอยู่ที่เมือง โหม่วหยั่ว ชายแดนพม่าติดกับประเทศอินเดีย ตามคำสั่งรัฐบาลอังกฤษ พร้อมด้วยเจ้าหญิงทิพวรรณ (ณ ลำปาง) ณ เชียงตุง และราชธิดา ให้กลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงตุง โดยมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ เสนาอามาตย์ นายแคว้น นายแขวง และพ่อเมืองต่างๆ ในเขตเชียงตุงได้พร้อมใจกันจัดพิธีทำขวัญขึ้นที่ คุ้มหลวงแล้วสถาปนาพระองค์เป็น “เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสพรมหลือ” ปกครองเมืองเชียงตุงเป็นองค์ที่ 40

ไทยเสียเชียงตุง

     ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) สิ้นสุดลง รัฐบาลไทยต้องมอบเชียงตุงให้แก่ สหประชาชาติ (UN) อังกฤษได้เข้ามามีบทบาทต่อพม่าและเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้น เจ้าฟ้าพรหมลือ ตัดสินพระทัยเข้ามาพำนักที่เมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยครอบครัว โดยมี เจ้าฟ้าองค์สุดท้าย คือ เจ้าฟ้าชายโหล่ง ปกครองเมืองเชียงตุงสืบมาเป็นองค์ที่ 41 นับว่าไทยเราได้ปกครองเมืองเชียงตุงนานเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ก็ต้องสูญเสียเมืองเชียงตุงไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

สัญญาปางหลวง

      ประชาชนชาวพม่าชึ่งมีหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ ได้รวมตัวกันต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อขับไล่อังกฤษออกไปให้พ้นจากประเทศพม่า  โดยรัฐบาลพม่าในขณะนั้นได้เรียนเชิญผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆมาเช็นสัญญา มอบเมืองทุกเมือง ที่ตนปกครองอยู่ให้พม่า เมืองเชียงตุงโดย เจ้าฟ้าชายโหล่ง ได้เช็นมอบเมืองเชียงตุง ให้แก่พม่า เหมือนกับผู้นำชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยในสนธิสัญญาปางหลวงระบุว่า เมื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่าได้แล้ว จะแบ่งเขตปกครองเป็นรัฐๆ โดยให้ผู้นำชนเผ่าต่างๆ เป็นผู้นำรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งรัฐเชียงตุงด้วย แต่เมื่อภาระกิจการขับไล่ อังกฤษพ้นจากประเทศพม่าแล้ว รัฐบาลพม่า ไม่ได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา ที่ตกลงกันไว้ ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลพม่ายังพยายาม เข้าครอบงำชนกลุ่มน้อยต่างๆ หลากหลายวิธีแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงทำให้ชนเผ่าต่างๆ เรียกร้องหา สัญญาปางหลวงโดยการรวมตัวต่อต้านรัฐบาลพม่าจนถึงปัจจุบันนี้  เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐไทใหญ่ หรือรัฐฉาน รัฐว้า เป็นต้น เมืองเชียงตุงจึงสิ้นสุดราชวงศ์ปกครองนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

รัฐบาลพม่าเข้าปกครองเชียงตุงและปิดประเทศ           

     ประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2493 เชียงตุงก็ถูกผนวกเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 นายพลเนวิน ผู้นำของพม่าได้ทำการรัฐประหารและใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยมในการปกครองประเทศ เชียงตุงชึ่งเคยมีเจ้าฟ้าปกครองมาโดยตลอดก็ต้องสิ้นสุดลง และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เชียงตุงก็ถูกสั่งปิดประเทศไปพร้อมกับพม่า ซึ่งเกิดจากปัญหาการเมืองการปกครองภายในประเทศ

การข้ามแดนไทย – พม่า           

     จากปัญหาการเมืองการปกครองของประเทศพม่าทำให้การไปมาหาสู่ และค้าขายระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศไม่สะดวก แต่ในความเป็นจริงประชาชนทั้งสองประเทศก็ยังไปมาหาสู่กันเป็นประจำในลักษณะของการลักลอบ ซึ่งผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าได้ร่วมกันทำข้อตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง โดยตั้งด่านทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวเรียกว่า บอร์ดอร์พาส ( Temporary Border Pass ) ให้แก่ผู้ประสงค์จะเดินทางไปสู่เมืองเชียงตุง เมืองลา และเมืองที่อยู่ในกลุ่ม รัฐฉาน  มีกำหนดการเดินทางไปได้ไม่เกิน 7 วัน ไม่ต้องทำวีซ่า หรือ พาสปอร์ต หากเกินกว่านั้น จะต้องแจ้งเป็นกรณีพิเศษ  ปัจจุบันผ่อนผันมีกำหนด 15 วัน
 
*********************************************************

แนะนำ เมืองเชียงตุง (Chiang Tung)

      เมืองเชียงตุง ได้รับสมญานามว่า เมืองร้อยวัด เพราะเป็นเมืองที่มีวัดจำนวนมาก เฉพาะในตัวเมืองมีวัดถึง 44 วัด แยกเป็นวัดไทเขิน 33 วัด วัดไทใหญ่ 10 วัด และวัดพม่า 1 วัด นอกจากนั้นแต่ละเอิ่งแต่ละหมู่บ้านก็มีวัดประจำอยู่มากมาย วัดสำคัญในเขตกำแพงเมืองจะตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานใกล้หอคำอันเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าผู้ปกครองสูงสุด ซึ่งเจ้าฟ้ามักจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญ ๆ ของพุทธศาสนาและบ้านเมือง ประกอบด้วย วัดราชฐานหลวงหัวข่วง วัดราชฐานหลวงเชียงยืน วัดราชฐานหลวงพระแก้ว และวัดราชฐานหลวงป่าแดง ส่วนวัดพระเจ้าหลวงเป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงตุง ใกล้กับวัดพระแก้วและวัดหัวข่วง แต่ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเหมือนวัดอื่น วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อพระเจ้าหลวงระเฆ่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธา ของชาวเชียงตุง ในแต่ละวันจะมีชาวเชียงตุงและนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนชาวไทยไปกราบนมัสการอย่างไม่ขาดสาย
 
วัดพระเจ้าหลวง เชียงตุง
วัดพระเจ้าหลวง เชียงตุง / ภาพโดยคุณ goodsview จาก panoramio.com
 
     ปัจจุบันเมืองเชียงตุงได้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญเมืองหนึ่งของประเทศพม่า เนื่องจากภายในเมืองเชียงตุงนั้น มีวัดเก่าแก่ , โบราณสถาน , วิถีชีวิตชนเผ่าของพม่า และบ้านเรือนสไตล์อังกฤษ ที่ถือว่าเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนได้เป็นจำนวนมาก

    ในอดีตเมืองเชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างสิบสองปันนากับล้านนา โดยมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางไปมาค้าขายในเส้นทางนี้

    สำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองเชียงตุงนั้น ก็ไม่ยุ่งยากอะไรมากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สายเพื่อไปยังจังหวัดท่าขี้เหล็ก จากนั้นสามารถใช้บริการรถทัวร์ปรับอากาศของบริษัททัวร์ไทย หรือจะเลือกให้บริการรถแท็กซี่ของพม่า ซึ่งเริ่มต้นเส้นทางจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมง เท่านั้นเอง

    นอกจากยังมีบริการสายการบินภายในประเทศจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก-เชียงตุงอีกด้วย ** (หมายเหตุ รถแท็กซี่ เดินทางไป-กลับ 62,000 จ๊าด หรือ ประมาณ 2,000 บาทต่อวัน รถโดยสาร 5,000 จ๊าด หรือประมาณ 160 บาท และเครื่องบิน 75,000 จ๊าด หรือประมาณ 2,400 บาท )

วัดในเชียงตุง

    วัดพระเจ้าหลวงหรือวัดเจ้าหลวง วัดพระแก้ว วัดหัวโข่งหรือหัวข่วง วัดทั้งสามนี้ห่างกันเพียงแค่ถนนกั้นไว้ ใครมาเชียงตุงหากคิดจะเที่ยวชมวัดให้ครบเห็นจะต้องใช้เวลากันหลายวัน เพราะเชียงตุงมีวัดอยู่มากกว่า 30 วัดขึ้นไป ดังนั้นการมาเชียงตุงจึงเป็นเรื่องของการมาศึกษาเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและประติมากรรมตามวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามตอนปลาย ผสมกับศิลปะสมัยกรุงมัณฑเลย์ จนเรียกได้ว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองเชียงตุง

หนองตุง

    “ หนองตุง ” หนึ่งใน 9 หนองใหญ่ ที่คงเหลืออยู่เพียงหนองน้ำเดียว หล่อเลี้ยงให้ความอุดมสมบูรณ์แก่เมืองเชียงตุงแต่ครั้งกาลก่อนจนถึงปัจจุบันตามตำนานเก่าแก่กว่า 800 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำขึน มีพระดาบสรูปหนึ่งนาม “ ตุงคฤาษี ” ได้แสดงกฤดาภินิหารอธิษฐานให้น้ำไหลออกไป คงไว้แต่หนองน้ำใหญ่กลางใจเมือง จึงตั้งชื่อหนองตุงตามชื่อดาบสรูปนี้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ เชียงตุง ” หรือ “ เขมรัฐตุงคบุรี ” มีความหมายว่าเมืองแห่งตุงคฤาษีอาณาประชาราษฎร์มีแต่ความเกษมสำราญ

ตลาดเช้าเมืองเชียงตุง

    สำหรับการท่องเที่ยวในเมืองเชียงตุงนั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดโอกาสไปเยือนเมื่อมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองเชียงตุง โดยสถานที่ท่องเที่ยวแรก ที่อยากแนะนำก็คือ ตลาดเช้าเมืองเชียงตุง ตลาดที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของเมืองเชียงตุง ซึ่งในตลาดแห่งนี้จะมีผู้คนจากหลายเผ่าพันธุ์ จะแต่งกายตามลักษณะประจำเผ่าของตนเอง เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าแปลกที่หาดูได้ยาก
 
**********************************************


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566

รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

ทำเลที่ตั้ง  ของประเทศลาวทำเลที่ตั้ง ของประเทศลาว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว