กฐินธรรมชัย ทำก่อน รวยก่อน บรรลุก่อน


[ 12 ก.ย. 2557 ] - [ 18276 ] LINE it!

ทำบุญ
 
กฐินธรรมชัย ทำก่อน รวยก่อน บรรลุก่อน

บทความโดย พระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร

 
 
 

     ช่วงนี้ก็ใกล้ถึงบุญใหญ่อีกบุญ คือบุญกฐินธรรมชัย วันนี้พระอาจารย์ก็จะมีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการสร้างบุญกฐินมาให้ทุกท่านได้รับฟังกัน

ความหมายและความเป็นมาของ "กฐิน"

     กฐิน ก็คือ กรอบไม้ที่ใช้เย็บผ้า เนื่องจากในสมัยพุทธกาลการตัดเย็บผ้าจีวรนั้นจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย จึงจำเป็นต้องมีกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่ง หรือผ้าห่ม ที่เรียกว่า ไตรจีวร

   ในสมัยพุทธกาลในกฐินขันธกะ พระวินัยปิฏกว่า มีพระภิกษุจากเมืองปาฐารัฐ  จำนวน 30 รูป ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์ที่จะเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังวัดพระเชตวันนั้น แต่ในระหว่างที่เดินทางไปถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุทั้ง 30 รูปนั้นก็เดินทางต่อไปมิได้ จำเป็นต้องอยู่จำพรรษาที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ  พอออกพรรษาปวารณาแล้วทั้ง 30 รูปนั้นก็รีบเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี  ซึ่งต้องเดินทางด้วยเท้าไม่มีพาหนะอื่นใด ต้องเดินเท้าถึง 6 โยชน์ หรือประมาณ 96 กิโลเมตร และช่วงเดือนนั้น ก็มีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยกรำฝนทนแดดไปตลอดทาง ทำให้สบง จีวร ของพระภิกษุเหล่านั้นต่างก็เปียกชุ่ม บางรูปก็จีวรขาดทะลุและเปรอะเปื้อน จนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าสมความปรารถนา

      เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของพระภิกษุเหล่านั้น ต่อมาจึงเรียกประชุมสงฆ์  แล้วจึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาตตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาว่า ให้พระภิกษุที่จำพรรษาครบไตรมาส (3 เดือน) ให้รับผ้ากฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะว่าแม้ออกพรรษาแล้วก็ตามฝนก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว ถ้าไม่มีความจำเป็นมากก็ให้อยู่รับผ้ากฐินเสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปยังที่อื่น แล้วทรงกำหนดเวลาอันเป็นเขตของกฐิน ไว้ว่าสามารถรับผ้ากฐินได้ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 1 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 12 หรือประมาณไม่เกิน 1 เดือน หลังจากออกพรรษา


ความพิเศษของบุญกฐิน

     จากเรื่องราวของกฐินที่ได้ฟังมานี้ พอจะสรุปความพิเศษและข้อจำกัดของบุญกฐินที่มีความแตกต่างจากการสร้างทานกุศลอย่างอื่น พอสรุปได้ 7 ประการ คือ

     1. บุญกฐิน จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และในวัดนั้นมีพระภิกษุที่จำพรรษาไม่น้อยกว่า 5 รูป

     2. บุญกฐิน จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

     3. บุญกฐิน จำกัดด้วยเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป นั่นคือถ้าไม่ใช่ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนหลังออกพรรษา เราก็ไม่สามารถทำบุญกฐินได้เลย แม้จะถึงพร้อมด้วยศรัทธา ไทยธรรม และเนื้อนาบุญแล้วก็ตาม แต่ไม่ถูกกาล ไม่ถูกเวลาก็ไม่จัดว่าเป็นบุญกฐิน บุญกฐินนี้จึงชื่อว่า เป็นกาลทาน

     4. บุญกฐิน จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น นั่นคือถ้าวัดใดรับกฐินไปแล้ว แม้เราจะมีศรัทธาเราก็ไม่สามารถทำบุญกฐินกับวัดนั้นได้อีก

    5. บุญกฐิน จำกัดสถานที่ คือ เมื่อเวลาพระสงฆ์จะสวดทำสังฆกรรมว่าด้วยเรื่องกฐิน จะต้องทำในเขตสีมา คือในเขตพระอุโบสถเท่านั้นจะทำที่ศาลาวัดหรือที่อื่นไม่ได้ และบุญกฐินนี้ต้องทำที่อุโบสถของวัดนั้นๆ คือโบสถ์วัดไหนวัดนั้น วัดอยู่ปทุมธานี ก็ต้องทอดกฐินที่ปทุมธานี

     6. บุญกฐิน จำกัดไทยธรรม คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน และผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้ ซึ่งในสมัยพุทธกาลการทำผ้ากฐินนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเลยทีเดียว ในระดับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงลงมาช่วยคณะสงฆ์ทำผ้าจีวรด้วยพระองค์เอง

     ในคราวที่พระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ที่เวฬุวัน พระอนุรุทธะก็ได้แสวงหาผ้าบังสุกุล เมื่อได้ผ้ามาผืนหนึ่งแล้ว ในวันที่ทำจีวรนั้นเอง พระศาสดาพระด้วยภิกษุ 500 รูป และพระอสิติมหาสาวก 80 รูป ก็มาช่วยกันทำผ้าจีวร โดยพระมหากัสสปะนั่งตอนต้น พระสารีบุตรนั่งตอนกลาง พระอานนท์นั่งท้ายสุด เพื่อช่วยกันเย็บจีวร พระภิกษุสงฆ์ที่เหลือนั่งกรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายใส่ในรูเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระคอยจัดแจงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ท้าวสักกะก็คอยประพรมสักกระพระบรมศาสดาด้วยของหอมทั้งหลาย แม้แต่ชาวเมืองก็พากันนำข้าวยาคู ของควรเคี้ยวและภัตตาหารมาถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก

     นี้จะเห็นว่าการทำผ้าจีวรผืนหนึ่งที่จะนำมาทำเป็นผ้ากฐินนั้นมีความสำคัญมาก ผ้าที่ได้มาและการตัดเย็บนั้นต้องถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย แม้พระบรมศาสดาเองยังทรงมาช่วยพระภิกษุสงฆ์ทำผ้าจีวรด้วยพระองค์เอง นี้จึงเป็นความพิเศษอีกประการหนึ่ง

     7. บุญกฐินนี้เป็นบุญที่เกิดจากพุทธานุญาต คือเป็นดำริของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ทายกทายิกาได้ถวายผ้ากฐินแด่คณะสงฆ์ที่จำพรรษา ณ อาวาสแห่งนั้น ซึ่งต่างกับบุญอื่นๆที่มีผู้มาทูลขออนุญาตกับพระพุทธเจ้า เช่น ผ้าอาบน้ำฝน ที่มหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นผู้ทูลขออนุญาตถวาย

     นี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บุญกฐินมีความพิเศษแตกต่างจากบุญถวายทานโดยทั่วๆ ไป บุญกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ และมีอานิสงส์มาก

     บุญกฐินนี้เป็นบุญใหญ่ สามารถปิดอบาย เปิดหนทางสวรรค์ได้ หากชีวิตที่ผิดพลาดทำบาปกรรมมา บุญกฐินนี้ก็จะสามารถช่วยตัดรอนวิบากกรรมที่เคยผิดพลาดทำมา จากหนักให้เป็นเบา จากเบาเป็นหายไ
ด้
 
กฐิน ทำก่อน รวยก่อน บรรลุธรรมก่อน

     สาธุ...เมื่อเราทราบความพิเศษของบุญกฐินและทราบแล้วว่ากฐินเป็นบุญใหญ่เช่นนี้แล้ว ตามหลักพุทธศาสนานั้น การจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ต้องสั่งสมบุญ เพราะบุญเป็นชื่อของความสุข บุญเป็นคุณเครื่องแห่งความสำเร็จทั้งปวง เราจึงต้องรีบทำบุญกฐินแบบอย่ารอช้า คือ ตุริตะตุริตัง เร็วๆ ไวๆ เรารีบทำก่อนสมบัติก็เกิดก่อน แม้ยามเข้าถึงธรรมก็จะ เข้าถึงธรรมก่อน แต่ถ้าเรารอช้า ทำบุญช้า เมื่อบุญส่งผลเวลาสมบัติเกิดก็จะเกิดช้า และทำให้เข้าถึงธรรมได้ช้าด้วย  ดั่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจในสมัยพุทธกาล คือเรื่องของพระอัญญาโกณฑัญญะ เรื่องราวก็มีอยู่ว่า

 


     ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี มีกุลบุตรสองพี่น้อง พี่ชายชื่อมหากาล น้องชายชื่อจุลกาล ทั้งสองมีที่นาได้ปลูกข้าวสาลีไว้มากมาย มหากาลพี่ชายเมื่อทราบข่าวว่าจะมีการถวายมหาสังฆทานแด่คณะ สงฆ์ 6,800,000 รูป เขาอยากหาอาหารพิเศษไปถวายพระ พอไปตรวจดูไร่นาจึงเห็นข้าวกำลังตั้งท้อง จึงคิดว่าอยากนำข้าวที่กำลังตั้งท้องนี้ไปถวายภิกษุสงฆ์ จึงปรึกษากับน้องชายว่า "เราจะได้โอกาสเลี้ยงพระกันแล้ว เรามาช่วยกันแกะเมล็ดข้าวกล้าทำเป็นน้ำนมข้าวถวายภิกษุสงฆ์กันเถิด"

     แต่ฝ่ายจุลกาลไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าจะทำให้เสียข้าวในนาได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกน้อย จึงไม่ยอมทำตามที่พี่ชายเสนอ ฝ่ายพี่ชายรู้ว่าน้องไม่ยินยอมจึงกล่าวว่า "เรามาแบ่งที่นากันคนละครึ่ง เจ้าอย่าได้แตะต้องส่วนของพี่ พี่ก็จะไม่แตะต้องส่วนของเจ้า" ว่าแล้วก็แบ่งส่วนพื้นที่นาแยกกันดูแล

    ฝ่ายมหากาลพี่ชายได้ระดมคนมากมายมาช่วยเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีที่กำลังตั้งท้อง สกัดเป็นน้ำข้าว แล้วนำมาเคี่ยวกับน้ำนม ผสม เข้ากับเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด กลายมาเป็น "เครื่องดื่มน้ำนมข้าว" ที่เข้มข้นหวานหอมหวนอบอวลยิ่งนัก
 

    เมื่อทำเสร็จก็นำไปถวายแด่ภิกษุสงฆ์พร้อมกับมหาชน มหากาลได้ทูลขอพรจากพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานอันเลิศของข้าพระองค์นี้ ขอจงเป็นไปเพื่อการบรรลุธรรมก่อนกว่าสาวกทั้งปวงด้วยเถิด" พระพุทธองค์ก็ตรัสอนุโมทนา เมื่อมหากาลได้รับพรจากบุคคลผู้ประเสริฐเช่นนี้ เขามีความปีติยินดียิ่งนัก

    เมื่อกลับจากการถวายทานก็ไปตรวจดูที่นาของตนตามปกติ จึงเห็นเหตุมหัศจรรย์ ว่า รวงข้าว สาลีที่เก็บเกี่ยวไปแล้วกลับงอกงามขึ้นเต็มหนาแน่นทุกตารางเมตร ยิ่งทำให้มหากาลเกิดปีติอย่างแรงกล้า

     และต่อมาเมื่อมหากาลทำนาเสร็จในแต่ละขั้นตอน  คือ เมื่อไถนาหว่านข้าว ข้าวแข็งตัวเป็นข้าวเม่า ก็ทำข้าวเม่าถวาย เมื่อข้าวตั้งท้องเป็นน้ำเหลว ก็ถวายเป็นน้ำนมข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวก็แบ่งข้าวไปถวาย เมื่อมัดกำข้าว  เมื่อนวดข้าว เมื่อขนข้าวขึ้นฉางก็แบ่งข้าวไปถวาย มหากาลปรารภเหตุทำบุญก่อนเสมอโดยทำการคัดผลิตผลที่ดีที่สุดเพื่อไปทำบุญกับพระสงฆ์ก่อน สรุปคือ ในฤดูข้าวครั้งหนึ่งมหากาลได้ทำบุญถึง 9 ครั้ง
 
       ส่วนน้องชายจุลกาล ทำบุญเพียงครั้งเดียว คือ รอให้ข้าวโตเป็นข้าวเปลือกเสียก่อนค่อยนำไปถวายพระพุทธเจ้า 
 

     มาถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เรา พระนามว่าสิทธัตถะ ในวันที่พระพุทธองค์ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร วันอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ก็บังเกิดความอัศจรรย์คือ เกิดแผ่นดินไหวตลอดหมื่นโลกธาตุ แสงสว่างอันไม่มีประมาณสว่างกว่ารัศมีของเทวดาทั้งปวงเกิดขึ้นตลอดหมื่นโลกธาตุนั้น และผู้ที่ได้บรรลุธรรมเป็นคนแรกก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งก็คือมหากาลในครั้งอดีต ที่ทำบุญก่อนไม่ประมาทไม่รีรอ
 
ทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร ผู้ที่บรรลุธรรมคนแรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ

     ส่วนผู้ที่ทำบุญช้า คือรอให้พร้อมเสียก่อนจึงค่อยทำบุญ คือน้องชาย จุลกาล  ก็บังเกิดเป็นนักบวชนอกศาสนาเป็นปริพพาชกชื่อว่า "สุภัททะ" ในขณะที่พระพุทธองค์กำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททะปริพพาชกก็ได้คลานเข้าไปเพื่อจะสอบถามคำถามจากพระพุทธองค์ แต่กลับถูกพระอานนท์ห้ามไว้ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้เข้ามาสอบถามปัญหาได้ เมื่อสุภัททะได้ฟังคำตอบแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัธา ขอบวชเป็นพระภิกษุกับพระบรมศาสดา ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพานนั้นเอง พระสุภัททะก็หลีกออกไปทำความเพียรในที่ไม่ไกล เพียงไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ องค์สุดท้ายก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน

     ท่านสาธุชนทั้งหลาย...เพียงเหตุจากการที่ คิดทำบุญก่อน ส่งผลให้บรรลุธรรมคนแรก  กับคิดทำบุญทีหลัง ส่งผลให้บรรลุธรรมคนสุดท้าย เราเองก็เช่นเดียวกันในการทำบุญกฐินธรรมชัยนี้ อย่าใช้โอกาสให้เป็นวิกฤต แต่จงใช้โอกาสให้เป็นโอกาส ในการคิดทำก่อนโดยไม่ต้องรอ

     บัณฑิตผู้ฉลาดในการดำเนินชีวิตจะสอนตนเองเสมอว่า แม้จะตกระกำลำบากเพียงใด ก็จะไม่ยอมตกบุญ ด้วยตระหนักดีว่าเหตุที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นก็เพราะบุญน้อย ดังนั้นผู้ฉลาดจึงต้องเร่งสั่งสมบุญ


     พระอาจารย์จึงเชิญชวนทุกท่านนะ ให้รีบมาปิดกองกฐินธรรมชัย โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันกฐิน มีก่อนทำก่อนไม่ต้องรีรอ สมบัติจะได้เกิดก่อน แต่ถ้าเรายังไม่มีสมบัติจะทำบุญ ณ เวลานี้ เราก็ใช้ปากอันเป็นมงคล ใช้มืออันเป็นมงคล ใช้ร่างกายอันเป็นมงคลของเรานี้ ออกไปชักชวนญาติพี่น้องบุคคลที่เป็นที่รักของเรา ให้มาทำบุญกฐินธรรมชัยกัน เชื่อแน่ว่าถ้าทุกๆท่าน สวมหัวใจยอดกัลยาณมิตรออกไปทำหน้าที่ผู้นำบุญกันทุกๆคนเช่นนี้แล้ว ก็สามารถเป็นประธานกองกฐินธรรมชัยนี้ได้สำเร็จทุกๆท่านอย่างแน่นอน

     สำหรับวันนี้พระอาจารย์ก็ขอให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปฏิบัติธรรมะได้เข้าถึงพระธรรมกายได้โดยง่ายโดยเร็วพลัน ทุกท่าน เทอญฯ

ขอให้เจริญในธรรม
พระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เทศกาลลอยกระทงมีที่มาที่ไปอย่างไรเทศกาลลอยกระทงมีที่มาที่ไปอย่างไร

กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์

ธัมมัสสวนมัย ฟังธรรมเป็นนิจจิตแจ่มใสธัมมัสสวนมัย ฟังธรรมเป็นนิจจิตแจ่มใส



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ