ดร.เอมเบดการ์ และ เหินฟ้าสู่แดนภารตะ


[ 6 มิ.ย. 2550 ] - [ 18276 ] LINE it!

ประวัติ ดร.เอมเบดการ์
 
 
    ดร.เอมเบดการ์ หรือชื่อเต็มของท่าน คือ บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ เอมเบดการ์ เกิดในวรรณะจัณฑาล ซึ่งยากจนที่สุดตระกูลหนึ่งของอินเดีย ในเมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฎร์
 
    ในวัยเด็กท่านมีชื่อเรียกสั้นๆว่า “เด็กชายพิม” แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่บิดาก็พยายามส่งเสียจนจบชั้นมัธยมได้สำเร็จ แต่ในระหว่างที่เรียนนั้น พิม ต้องเผชิญหน้ากับความดูหมิ่นเหยียดหยามของทั้งครู และนักเรียนซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่าเสมอ เช่น เมื่อเข้าไปในห้องเรียน ทั้งครูและเพื่อนๆ จะแสดงอาการขยะแขยง รังเกียจ ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปนั่งบนเก้าอี้ในห้องเรียน ต้องปูกระสอบแอบนั่งเรียนอยู่ที่มุมห้อง แม้เวลาจะดื่มน้ำ ก็ถูกห้ามอย่างเด็ดขาดที่จะไปจับต้องแท็งก์น้ำ หรือแก้วที่วางอยู่ (ต้องขอร้องเพื่อนๆที่พอจะมีความเมตตาอยู่บ้าง โดยจะคอยแหงนหน้า อ้าปาก รอให้เพื่อนเทน้ำลงใส่ปากให้) เพื่อป้องกันเสนียดจากคนต่างวรรณะ ซึ่งเป็นความน่าเจ็บช้ำใจยิ่งนัก
 
    จนกระทั่งมีครูคนหนึ่ง อยู่ในวรรณะพราหมณ์ แต่เป็นผู้มีความเมตตาผิดกับคนในวรรณะเดียวกัน เกิดจิตคิดสงสาร บางครั้งครูท่านนี้ก็จะแบ่งอาหารของตนให้กับพิม ครูท่านนี้คิดว่า เหตุที่พิมถูกรังเกียจ เพราะนามสกุลของเขา บ่งชี้ความเป็นจัณฑาล คือ "สักปาล" ครูท่านนี้จึงได้เอานามสกุลของตน เปลี่ยนให้กับพิม โดยแก้ที่ทะเบียนโรงเรียน ให้ได้ใช้นามสกุลว่า "เอมเบดการ์" พิมจึงได้นามสกุลใหม่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้หลายคนคิดว่าพิม เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ไปเลยก็มี
 
    ในขณะนั้น มหาราชาแห่งเมืองบาโรดา ปรารถนาจะยกระดับการศึกษาแม้คนระดับจัณฑาล จึงได้มีนักสังคมสงเคราะห์พาพิม เอมเบดการ์ เข้าเฝ้า พระองค์ทรงพระราชทานเงินทุนในการศึกษาต่อ ทำให้พิมสามารถเรียนจนจบปริญญาตรีได้ ต่อมาพระองค์ ยังทรงคัดเลือกนักศึกษาอินเดียซึ่งรวมถึงพิม ให้ไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
    ที่นี่ พิมได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า “อิสรภาพ และ ความเสมอภาค” ไม่มีคนแสดงอาการรังเกียจเขา พิมเรียนจนจบการศึกษาขั้นปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ได้เป็นเนติบัณฑิตแห่งอังกฤษ และได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ทางด้านกฎหมาย จนมีชื่อว่า “ดร.พิม เอมเบดการ์”
 
    หลังจาก ท่านเดินทางกลับมาอินเดีย ก็ได้พยายามต่อสู้เพื่อคนวรรณะเดียวกัน และกับความอยุติธรรม ที่สังคมฮินดู ยัดเยียดให้กับคนในวรรณะต่ำกว่า ท่านมีผลต่อความเคลื่อนไหวหลายๆอย่างในอินเดียขณะนั้น เช่น เป็นจัณฑาลคนแรก ที่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คอยช่วยคนวรรณะต่ำที่ถูกข่มเหงรังแก หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช ก็เป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียด้วย 
 
    ดร.เอมเบดการ์ ยังผูกพันต่อพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย โดยเริ่มเกิดความสนใจมาจากการอ่านพุทธประวัติ ท่านศึกษาแล้วพบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีข้อรังเกียจในเรื่องวรรณะ ไม่ปิดกั้นการศึกษาพระธรรม ให้ความเสมอภาค และภราดรภาพแก่คนทุกชั้น ทำให้ท่านเกิดแรงศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้กล่าวสดุดีพระพุทธศาสนา ไว้ในหนังสือของท่านหลายเล่ม เช่น "พุทธธรรม, ลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา” และคำปาฐกถาอื่นๆ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในภายหลัง เช่น "การที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดีย" เป็นต้น
 
    ในขณะนั้น อินเดียนับว่ามีชาวพุทธน้อยมาก แทบไม่มีเหลือ แต่ท่านได้กระทำคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ในการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือการเป็นผู้นำชาวพุทธวรรณะศูทรกว่า ห้าแสนคน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ในงานฉลองพุทธชยันตี
 
    ท่านได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน"
 
    ดร.เอมเบดการ์ แม้เกิดมาจากสังคมอันต่ำต้อย แต่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติส่วนรวม ตั้งแต่เกิดจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต บัดนี้ ท่านจากไปแล้ว แต่ชาวพุทธในอินเดียยังเชื่อว่า วิญญาณของท่านคงยังไม่ไปไหน เพราะเอมเบดการ์ไม่เคยทิ้งคนจน ไม่เคยลืมคนยาก จะคงอยู่กับพวกเขาตลอดไป
 
**********
 
บันทึก “เหินฟ้า สู่...แดนภารตะ”
 
 
    คุณนิชิกัน และ คุณกายวัน คณะกรรมการจัดงานพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ จากอินเดีย ได้มีโอกาสมาร่วมงานวันคุ้มครองโลก เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2550 และมีความประทับใจมาก จากภาพการรวมพุทธบริษัทสี่ ณ วัดพระธรรมกาย จึงเรียนเชิญมูลนิธิธรรมกายให้ไปร่วมงาน สัมมนานานาชาติและเป็นสักขีพยานในวาระโอกาสครบรอบ 50 ปี ที่ดร.เอมเบดก้าร์ กับชาวพุทธจำนวนมากมาย ที่ได้มาปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ  ณ  เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย
 
วันเสาร์ที่  26 พฤษภาคม พ.ศ.2550
 
    คณะสงฆ์ และอุบาสก-อุบาสิกา จากวัดพระธรรมกาย เดินทางไปร่วมงานสัมมนานานาชาติ ที่ประเทศอินเดีย ในหัวข้อ World Peace and Humanistic Buddhism (สันติภาพโลกและพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติ) ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีพระภิกษุประมาณ 300 รูป และญาติโยม จากต่างรัฐต่างเมืองมารวมกันมากมาย ณ เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฎร์
 
    พระอาจารย์ไพบูลย์ ธัมมวิปุโล และ พระอาจารย์นิโคลัส ฐานิสสโร เป็นตัวแทนของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ (พระราชภาวนาวิสุทธิ์) อ่านสาสน์ โดยท่อนหนึ่งของสาสน์กล่าวว่า “ในการมาสัมมนาครั้งนี้ เราไม่ได้มาแค่เพียงคุยกันเท่านั้น แต่ถึงเวลาแล้ว ที่จะลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริงจังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่อินเดียรวมคนได้เก่งมาก หลวงพ่อจึงอยากเห็นการจัดบวชสามเณร 1ล้านรูป” เมื่อพระอาจารย์นิโคลัสถามว่า มีใครเห็นด้วยกับเราบ้าง ก็ได้รับเสียงปรบมืออย่างเกรียวกราว
 
    หลังจากนั้น มีการเปิดสื่อ VDO พิธีถวายมหาสังฆทาน 20,000 วัดในงานวันที่ 22 เมษายน เป็นภาพสาธุชนที่มาร่วมงานมากมาย ได้หลับตาทำสมาธิอย่างพร้อมเพรียงกัน พอวกเขาได้เห็นภาพ ก็เกิดอาการตกตะลึงไปเลย เพราะที่อินเดีย พวกเขาไม่เคยเห็นภาพคนมหาศาล และอยู่อย่างเป็นระเบียบเช่นนี้มาก่อน
 
    พระอาจารย์นิโคลัสได้พูดปิดท้ายว่า “ภาพที่ได้ดูเมื่อสักครู่นี้ เราจัดกันมาทุกปี ปีละหลายครั้ง ที่พระทั่วประเทศไทย สามัคคีกัน มารับถวายมหาสังฆทาน ภาพอย่างนี้เกิดขึ้นได้ เพราะมี 1.ความสามัคคี และ 2.การปฏิบัติตามคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” และเมื่อถามความคิดเห็นว่า “ใครจะส่งลูกชายมาบวชบ้าง” ปรากฏว่า ญาติโยมยกมือขึ้นทั้งหอประชุมเลยทีเดียว จึงมีความมั่นใจว่า การจัดบวชครั้งนี้จะต้องสำเร็จอย่างแน่นอน ผู้เข้าร่วมประชุมประทับใจมาก ถามกันใหญ่เลยว่า “เราจะทำให้เกิดภาพดีๆอย่างนี้ที่อินเดียได้อย่างไร”
 
 
    หลังจากนั้น ก็ถึงพิธีมอบองค์พระแก้วใส ที่สุดแห่งธรรม  5 องค์ ให้กับองค์กรพุทธศาสนา รวมถึงผู้ว่าการรัฐเมืองต่าง เมื่อพระอาจารย์ลงจากเวที  ปรากฏว่ามีมหาชน ตรงเข้ามาห้อมล้อม ขอข้อมูล ขอสื่อ VDO หรือแม้แต่ขอลายเซ็นอย่างมากมาย
 
วันอาทิตย์ที่  27 พฤษภาคม พ.ศ.2550
 
    ช่วงเช้า พระอาจารย์ได้ไปเป็นเนื้อนาบุญให้แก่ ครอบครัวสาโรจน์  ซึ่งเป็นชาวอินเดีย และเป็นเศรษฐีที่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้
 
 
    ครอบครัวของท่านอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จะทำอะไรดี  จึงเสนอที่จะให้สถานที่ในการสร้างเป็นวัดที่อินเดีย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดี แต่เราก็บอกว่า “การมีเพียงสถานที่ มิได้เป็นหลักประกันว่า จะทำให้พระพุทธศาสนาอยู่มั่นคง แต่ยังต้องมีพุทธบุตรและบุคลากรที่มีหัวใจรักพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย”
 
    พระอาจารย์จึงแจ้งให้ ครอบครัวของท่านทราบว่า “ขอให้คัดเลือกบุคคล มาอบรมที่เมืองไทย  ประมาณ 20-25 คน จากนั้น จึงมาคุยเรื่องการสร้างวัดกัน” ซึ่งท่านก็ชื่นชมว่า เป็นความคิดที่ดี ตัวท่านเองไม่เคยคิดอย่างนี้มาก่อนเลย
 
    ตอนบ่าย ไปเป็นเกียรติในงานพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ได้มีการปฏิญาณตน 22 ข้อ และรับศีล 5 จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นชุดขาว
 
    การที่คนส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาพุทธเพราะเขารู้สึกว่า ไม่ได้รับคำสอนที่เป็นประโยชน์จากศาสนาเดิมที่เคยนับถือ เขาไม่มีคุณค่าเลย เป็นแค่เพียงฝุ่นธุลีเท่านั้น  แต่การที่เขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธทำให้เขาได้รับอิสรภาพ เป็นไทต่อตัวของตัวเอง ได้รับการศึกษาที่ดี ทั้งวิชาชีพและวิชชาชีวิต  ดังนั้นทุกคนจึงเข้าร่วมพิธีด้วยแรงศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม  ไม่มีการลุกไปไหนเลย   ดุจเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว
 
**********
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความประทับใจ ในวันเพ็ญ คืนวิสาขะ...ความประทับใจ ในวันเพ็ญ คืนวิสาขะ...

วันสว่างไสว ที่ประเทศสิงคโปร์วันสว่างไสว ที่ประเทศสิงคโปร์

เคปทาวน์ สวยนอก สว่างในเคปทาวน์ สวยนอก สว่างใน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน