AEC คืออะไร


[ 21 ม.ค. 2558 ] - [ 18281 ] LINE it!

AEC

ประวัติความเป็นมาของ AEC

AEC คืออะไร
 
 
     AEC หรือ Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า (เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว)

    Asean จะรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและมีผลเป็นรูปธรรม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ณ วันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมากอย่างที่คุณคิดไม่ถึงทีเดียว

     AEC Blueprint (แบบพิมพ์เขียว) หรือแนวทางที่จะให้ AEC เป็นไปคือ


     1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
     2.การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
     3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
     4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

     โดยให้แต่ละประเทศใน AEC ให้มีจุดเด่นต่างๆ ดังนี้


     พม่า : สาขาเกษตรและประมง
     มาเลเซีย : สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
     อินโดนีเซีย : สาขาภาพยนต์และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
     ฟิลิปปินส์ : สาขาอิเล็กทรอนิกส์
     สิงคโปร์ : สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
     ไทย : สาขาการท่องเที่ยว และสาขาการบิน (ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ASEAN)

     การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดๆใน AEC โดยอธิบายให้เห็นภาพเข้าใจง่ายๆ เช่น

     - การลงทุนจะเสรีมากๆ คือ ใครจะลงทุนที่ไหนก็ได้ ประเทศที่การศึกษาระบบดีๆ ก็จะมาเปิดโรงเรียนในบ้านเรา อาจทำให้โรงเรียนแพงๆแต่คุณภาพไม่ดีต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นอาจจะสู้ไม่ได้

     - ไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการบินอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะว่าอยู่กลาง Asean และไทยอาจจะเด่นในเรื่อง การจัดการประชุมต่างๆ, การแสดงนิทรรศการ, ศูนย์กระจายสินค้า และยังเด่นเรื่องการคมนาคมอีกด้วยเนื่องจากอยู่ตรงกลางอาเซียน และการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพจะเติบโตอย่างมากเช่นกันเพราะ จะผสมผสานส่งเสริมกันกับอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยว (ค่าบริการทางการแพทย์ของประเทศต่างชาติจะมีราคาสูงมากหากเทียบแกับประเทศไทย)

     - การค้าขายจะขยายตัวอย่างน้อย 25% ในส่วนของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น รถยนต์, การท่องเที่ยว, การคมนาคม, แต่อุตสาหกรรมที่น่าห่วงของไทยคือ ที่ใช้แรงงานเป็นหลักเช่น ภาคการเกษตร, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรรมสิ่งทอจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากฐานการผลิตอาจย้ายไปประเทศที่ผลิตสินค้าทดแทนได้เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยผู้ลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เนื่องด้วยบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากนัก ค่าแรงจึงถูก ( ณ วันที่ 15 ก.ย. 56 ค่าแรงหนุ่มสาวโรงงาน ณ ประเทศลาว อยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทไทย)

      - เรื่องภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะมีคนอาเซียน เข้ามาอยู่ในไทยมากมายไปหมด และมักจะพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่จะใช้ภาษาอังกฤษ (AEC มีมาตรฐานว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางเพื่อสื่อสารใน AEC) บางทีเรานึกว่าคนไทยไปทักพูดคุยด้วย แต่เค้าพูดภาษาอังกฤษกลับมา เราอาจเสียความมั่นใจได้   ส่วนสิ่งแวดล้อมนั้น ป้ายต่างๆ หนังสือพิมพ์, สื่อต่างๆ จะมีภาษาอังกฤษมากขึ้น (ให้ดูป้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่าง) และจะมีโรงเรียนสอนภาษามากมาย หลากหลายหลักสูตร

     - การค้าขายบริเวณชายแดนจะคึกคักอย่างมากมาย เนื่องจาก ด่านศุลกากรชายแดนอาจมีบทบาทน้อยลงมาก แต่จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด และปัญหาสังคมตามมาด้วย

    - เมืองไทยจะไม่ขาดแรงงานที่ไร้ฝีมืออีกต่อไปเพราะแรงงานจะเคลื่อนย้ายเสรี จะมี ชาวพม่า, ลาว, กัมพูชา เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แต่คนเหล่านี้ก็จะมาแย่งงานคนไทยบางส่วนด้วยเช่นกัน  และยังมีปัญหาสังคม, อาชญากรรม จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย อันนี้รัฐบาลควรต้องวางแผนรับมือ

     - คนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ บางส่วนจะสมองไหลไปทำงานเมืองนอก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์ (ที่จะให้สิงคโปร์เป็นหัวหอกหลัก) เพราะชาวไทยเก่ง แต่ปัจจุบันได้ค่าแรงถูกมาก อันนี้สมองจะไหลไปสิงคโปร์เยอะมาก แต่พวกชาวต่างชาติก็จะมาทำงานในไทยมากขึ้นเช่นกัน อาจมีชาว พม่า, กัมพูชา เก่งๆ มาทำงานกับเราก็ได้ โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง  บริษัท software ในไทยอาจต้องปรับค่าจ้างให้สู้กับ บริษัทต่างชาติให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะสมองไหล

     - อุตสาหกรรมโรงแรม, การท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, รถเช่า บริเวณชายแดนจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีการสัญจรมากขึ้น และเมืองตามชายแดนจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นจุดขนส่ง

     - สาธารณูปโภคในประเทศไทย หากเตรียมพร้อมไม่ดีอาจขาดแคลนได้ เช่น ชาวพม่า มาคลอดลูกในไทย ก็ต้องใช้โรงพยาบาลในไทยเป็นต้น

     - กรุงเทพฯ จะแออัดอย่างหนัก เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นตรงกลางของอาเซียนและเป็นเมืองหลวงของไทย โดยเมืองหลวงอาจมีสำนักงานของต่างชาติมาตั้งมากขึ้น รถจะติดอย่างมาก สนามบินสุวรรณภูมิจะแออัดมากขึ้น (ปัจจุบันมีโครงการที่จะขยายสนามบินแล้ว)

     - ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลกในการผลิตอาหาร เพราะ knowhow ในไทยมีเยอะประสบการณ์สูง และบริษัทอาหารในไทยก็แข็งแกร่ง ประกอบทำเลที่ตั้งเหมาะสมอย่างมาก แม้จะให้พม่าเน้นการเกษตร แต่ทางประเทศไทยเองคงไปลงทุนในพม่าเรื่องการเกษตรแล้วส่งออก ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจของคนไทยที่ชำนาญอยู่แล้ว

     - ไทยจะเป็นศูนย์การการท่องเที่ยว และคมนาคมอย่างไม่ต้องสงสัย หากผู้ประกอบธุรกิจในไทยที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจนี้ปรับตัวและเตรียมพร้อมดีก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและคมนาคม

     - ปัญหาสังคมจะรุนแรงถ้าไม่ได้รับการวางแผนที่ดี เนื่องจาก จะมีขยะจำนวนมากมากขึ้น, ปัญหาการแบ่งชนชั้น ถ้าคนไทยทำงานกับคนต่างชาติที่ด้อยกว่า อาจมีการแบ่งชนชั้นกันได้, จะมีชุมชนสลัมเกิดขึ้น และอาจมี พม่าทาวน์, ลาวทาวน์, กัมพูชาทาวน์, ปัญหาอาจญากรรมจะรุนแรง สถิติการก่ออาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากชนนั้นที่มีปัญหา, คนจะทำผิดกฎหมายมากขึ้นเนื่องจากไม่รู้กฎหมาย

   การขนส่งที่จะเปลี่ยนแปลง  East-West Economic Corridor (EWEC)หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ชื่อไทยว่า เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก

    จะมีการขนส่งจากท่าเทียบเรือทางทะเลฝั่งขวาไปยังฝั่งซ้าย เวียดนาม-ไทย-พม่า มีระยะทางติดต่อกันโดยประมาณ 1,300 กม.อยู่ในเขตประเทศไทยถึง 950 กม. ลาว 250 กม. เวียนดนาม 84 กม.เส้นทางเริ่มที่ เมืองท่าดานัง ประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว ผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตในประเทศลาว และมาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ข้ามแม่น้ำโขงสู่ไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก สุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นเข้าไปยังประเทศพม่าไปเรื่อยๆ ถึงอ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง เป็นการเชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่อินเดีย

    เส้นทาง R9 นี้จะทำให้การขนส่งรวมถึง logistic ใน AEC จะพัฒนาอีกมาก และจากาการที่ไทยอยู่ตรงกลางภูมิภาค ทำให้เราขายสินค้าได้มากขึ้นเพราะเราจะส่งของไปท่าเรือทางฝั่งซ้ายของไทยก็ได้ ทางฝั่งขวาก็ได้ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในไทยบริเวณดังกล่าวก็น่าจะมีราคาสูงขึ้นด้วย

    และที่พม่ายังมี โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือโครงการ “ทวาย” (ศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่,ท่าเรือขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบัน Italian-Thai Development PLC ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันได้หยุดการพัฒนาชั่วคราวเพื่อรอผู้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการ ข้อมูล ณ 27 เม.ย.2557) โครงการทวายมีเป้าหมายที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร ในภาคใต้ของพม่า ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมัน ในระยะถัดไปอีกด้วย

    ซึ่งโครงการทวาย มีที่เส้นทางสอดคล้องกับ East-West Economic Corridor จะกลายเป็นทางออกสู่ทะเลจุดใหม่ที่สำคัญมากต่ออาเซียน เพราะในอดีตทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียจำเป็นต้องใช้ท่าเรือของสิงคโปร์เท่านั้น ขณะเดียวกันโปรเจกต์ทวายนี้ยังเป็นต้นทางรับสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียหรือสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรปและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ซึ่งจะถูกนำเข้าและแปรรูปในโรงงานปิโตรเคมีภายในพื้นที่โปรเจกต์ทวาย เพื่อส่งผ่านไทยเข้าไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีนเช่น ลาว กัมพูชา และไปสิ้นสุดปลายทางยังท่าเรือดานังประเทศเวียดนาม และจะถูกส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและจีน

    ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เราควรจะเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญตอนนี้คือ ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยๆเราก็จะได้สื่อสารกันกับ Asean ได้ เพราะหากสื่อสารไม่ได้ เรื่องอื่นก็คงยากที่จะทำ และกาคิดจะหาลูกค้าแค่ในประเทศไทยก็อาจไม่เพียงพอแล้ว เพราะธุรกิจต่างชาติก็จะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของเราแน่นอน เรื่อง AEC จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ธุรกิจ และคนไทยต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมให้ดี / บทความโดย www.thai-aec.com
 
อาเซียน

AEC ประวัติความเป็นมาพอสังเขป


     ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เนื่องจากสมาชิกอาเซียนเห็นว่า ปัจจุบันอาเซียนมีจำนวนประเทศ 10 ประเทศ ประชากรเกือบ 500 ล้านคน ดังนั้นถือว่าเป็นเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ จึงควรร่วมมือกัน เพื่อทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เหตุนี้เอง อาเซียนจึงกลายสภาพเป็น AEC ในที่สุด โดยจะก่อตั้ง AEC อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2558 เลื่อนเข้ามาจากเดิมคือ พ.ศ. 2563

     อย่างไรก็ตาม อนาคตข้างหน้า AEC มีแนวโน้มขยายเป็น อาเซียน +3 คือ เพิ่ม จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก่อนที่จะเป็น อาเซียน +6 โดยเพิ่ม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN  Economic  Community : AEC)

     AEC หรือ ASEAN  Economic  Community ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี

     โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน  ASEAN  Summit ครั้งที่  8  เมื่อ  4  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2545  ณ  กรุงพนมเปญ  ประเทศกัมพูชา ที่ได้เห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทาง ได้มีการดำเนินงานที่แน่ชัดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน  ได้แก่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  โดยจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  เงินทุน  และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีสำหรับการตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้กำหนดให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558  ( ค.ศ. 2015)

เป้าหมายสำคัญของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC  มี  4  ด้าน  คือ                                                                                                                        

          1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  (Single Market and Production Base)   

            เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  ลงทุน  แรงงานฝีมือ  เงินทุน  อย่างเสรี

            ส่วนนี้ จริงๆ เป็นการดำเนินตามพันธกรณีที่ได้ตกลงและดำเนินการมากันอยู่แล้ว ทั้ง

          * AFTA (ASEAN Free Trade Area)  เริ่มปี  2535 (1992)

          * AFAS (ASEAN Framework Agreement on  Services)  กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ลงนามปี  2538  (1995)  ได้เจรจาเปิดเสรีเป็นรอบๆ  เจรจาไปแล้ว  5  รอบ

          * AIA  (ASEAN Investment Area)  กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ  ลงนามและมีผลตั้งแต่ 2541  (1998)

          2. สร้างขีดความสามามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region)

            ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบาย ที่ช่วยการรวมกลุ่ม  เช่น นโยบายการแข่งขัน นโยบายภาษี , ทรัพย์สินทางปัญญา, พัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน

            ร่วมกันดำเนินการโดยแลกเปลี่ยนข้อมูล  ฝึกอบรมบุคคลากรร่วมกัน

          3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)

            สนับสนุนการพัฒนา SMES

            สร้างขีดความสามารถผ่านโครงการที่มีอยู่แล้ว

          4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully  Integrated  into  Global Economy)

            เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจอาเซียนกับนอกภูมิภาค เช่น  ทำ  FTA
 

การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง

    การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง ถือว่าเป็นการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานกันผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียนด้วยกัน โดยจะเน้นใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลัก ตามความถนัด เนื่องจากแต่ละประเทศมีวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผลิตทุกอย่าง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าแบบเสียเปล่า

สำหรับ 11 สาขานำร่องมีดังนี้

          1. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร
          2. สาขาประมง
          3. สาขาผลิตภัณฑ์ยาง
          4. สาขาสิ่งทอ
          5. สาขายานยนต์
          6. สาขาผลิตภัณฑ์ไม้
          7. สาขาอิเล็กทรอนิกส์
          8. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
          9. สาขาสุขภาพ
          10. สาขาท่องเที่ยว
          11. สาขาการบิน

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เพิ่มสาขาที่ 12 ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น

เมื่อแบ่งทั้ง 12 สาขา ตามประเทศที่รับผิดชอบ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

          1. พม่า สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร และสาขาประมง
          2. มาเลเซีย สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
          3. อินโดนีเซีย สาขายานยนต์ และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
          4. ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์
          5. สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
          6. ไทย สาขาการท่องเที่ยวและสาขาการบิน
          7. เวียดนาม สาขาโลจิสติกส์

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC


     1. ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า  จาการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษีจะเปิดโอกาสให้สินค้า  เคลื่อนย้ายเสรี

     2. คาดว่า  การส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18 - 20%  ต่อปี

     3. เปิดโอกาสการค้าบริการ  ในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง  เช่น  ท่องเที่ยว  โรงแรมและร้านอาหาร  สุขภาพ  ทำให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น

     4. สร้างเสริมโอกาสการลงทุน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น  อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียน จะลดลง  อาเซียนจะเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีนและอินเดีย

     5. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Comparative Advantage)  และลดต้นทุนการผลิต

     6. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก  สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก

     7. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ  ผลการศึกษา   แสดงว่า AEC  จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3  หรือคิดเป็นมูลค่า 69  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 ผลกระทบของประเทศไทยจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

          1. การเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ

          2. อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว

 ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวของไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

     แนวทางที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะกิจการ/อุตสาหกรรมที่ไม่มีความ  พร้อมในการแข่งขัน  โดยแผนงานรองรับผลกระทบที่ได้มีการดำเนินงานมาแล้ว  ได้แก่

     1. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ  ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2550)  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป  สินค้าอุตสาหกรรม  และบริการ  ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้

     2. มาตรการป้องกันผลกระทบ  ก่อนหน้านี้  กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาเป็น  พรบ.  มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard  Measure)  ซึ่งหากการดำเนินการตาม AEC  Blueprint  ก่อให้เกิดผลกระทบก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้

     3. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550  ลงวันที่  14  มิถุนายน  2550)  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
 

ขยายเวลาการเปิด AEC

     ประกาศเลื่อนเปิด AEC ออกไปอีก 12 เดือน เป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แทน เหตุข้อตกลงหลาย ๆ อย่างยังไม่สามารถตกลงกันได้
 
     เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีรายงานว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ทางผู้นำชาติอาเซียน มีการตัดสินใจประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) หรือ AEC ออกไปอีก 12 เดือน จากเดิมต้องเปิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นเปิดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แทน
 
    สำหรับสาเหตุที่ต้องเลื่อนเปิด AEC ออกไปนั้น เป็นเพราะข้อตกลงและขั้นตอนต่าง ๆ อีกหลายขั้นตอน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่น เรื่องการตรวจลงตรา ภาษีอาการสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น แม้ว่าการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ตามพิมพ์เขียว จะคืบหน้าไปพอสมควรแล้วก็ตาม
 
    นอกจากนี้ ผู้นำของบางประเทศ ก็ยังมีความกังวลอยู่ว่า หากเปิด AEC อาจจะทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาต่าง ๆ ที่มีลักษณะการข้ามชาติ (transnational problem) รวมถึงยังเหลือความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนเปิด AEC ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเลื่อนเปิด AEC ออกไปก่อนจะดีที่สุด
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566

รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

สวัสดีตอนเช้า ภาพสวัสดีตอนเช้าวันจันทร์ถึงอาทิตย์สวัสดีตอนเช้า ภาพสวัสดีตอนเช้าวันจันทร์ถึงอาทิตย์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว