ความสุขของคนหนุ่มสาวกับคนสูงวัยแตกต่างกัน


[ 10 เม.ย. 2558 ] - [ 18268 ] LINE it!

ความสุขของผู้สูงอายุ

ความสุขของคนหนุ่มสาวกับคนสูงวัยแตกต่างกัน

วันผู้สูงอายุ 13 เมษายน

ความสุขของผู้สูงอายุ
ความสุขของผู้สูงอายุ

      เคยอ่านบทความเกี่ยวกับงานวิจัยเล็กๆทางจิตวิทยาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง จึงอยากนำมาเล่าให้ฟัง

     ท้าวความเดิม จากเนื้อหาที่ผมเขียนในหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม1 นะครับ ผมอธิบายในหนังสือว่า สมองของผู้ชาย ผู้หญิงและเพศตรงกลางทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เกย์ กระเทย ทอม ดี้ ฯลฯ นั้น อาจถือได้ว่าเป็นอวัยวะเพศอีกอวัยวะนึง

     หมายความว่า สมองของผู้ชาย ผู้หญิง นั้น ต่างกันพอๆกับที่ผู้ชายมีอวัยวะเพศชาย ผู้หญิงมีนม ผู้ชายกล้ามเนื้อใหญ่กว่า ผู้หญิงผิวเนียนกว่า สมองของเพศตรงกลางทั้งหลายก็แตกต่างกันไป เช่นเดียวกัน

     เมื่อสมองของ ผู้ชาย ผู้หญิงและเพศตรงกลางทั้งหลาย ต่างกัน แต่ละเพศจึงมีความคิด การรับรู้อารมณ์ การได้กลิ่น การมองโลกที่ไม่เหมือนกัน

     แต่ที่ผมไม่ได้เขียนคือ สมองของคนสูงอายุเองก็ต่างไปจากคนหนุ่มสาวด้วย

     ปกติเมื่อเราพูดถึงสมองของคนสูงอายุ เรามักจะนึกถึงสมองที่เสื่อมลง ด้อยลง คิดได้ช้าลง จำได้น้อยลง แต่จากงานวิจัยจริงๆแล้ว ไม่ได้พบเช่นนั้นเสมอไปครับ เพราะระยะหลังพบว่าเมื่อคนมีอายุมากขึ้น จริงอยู่ว่าหลายอย่างทำงานได้ลดลง แต่ก็มีหลายอย่างที่ทำงานได้ดีขึ้น หรือเราอาจพูดว่า สมองของคนสูงอายุ "ต่างไป" จากคนหนุ่มสาว

     และความต่างนี้ไม่ได้แปลว่าจะต้อง ด้อยกว่า หรือ เสื่อมลงเท่านั้น (แล้ววันหลังจะเล่าเกี่ยวกับความจำของคนสูงอายุที่ต่างไปนี้ให้ฟังครับ ผมยังเล่าเรื่องความจำไม่จบเลย)

ความสุขของผู้สูงอายุ
ความสุขของผู้สูงอายุ

มาถึงงานวิจัยที่อยากเล่าให้ฟัง

     เขาพบว่าในแง่ของความสุขนั้น คนสูงวัยก็มีมุมมองของความสุขที่ต่างไปจากคนหนุ่มสาว

     โดยคนหนุ่มสาว มักจะมีความสุขเมื่อได้พบประสบการณ์ชีวิตแบบใหม่ๆ เช่น เดินทางไปในที่ใหม่ๆ ได้ไปต่างประเทศ ได้ลองกินอาหารใหม่ๆ ได้สิ่งของใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ

     แต่สมองคนสูงอายุ มักจะหาความสุขกับสิ่งธรรมดาๆ ที่เห็นเป็นปกติในชีวิตประจำวันทั่วไปได้ดี เช่น การไปนั่งในสวนที่คุ้นเคย การได้ไปกินข้าวในร้านอาหารที่เคยกินตอนหนุ่มสาว การได้ทำอาหารให้ลูกหลานกินในบ้านตัวเอง

    ที่เป็นเช่นนั้น เพราะสมองของคนหนุ่มสาวยังไม่มีความทรงจำ ประสบการณ์หรือเรื่องราวดีๆ ใหม่ๆ สะสมไว้มากเพียงพอที่จะเรียกมาใช้เพื่อให้ระบบความสุขทำงาน
แต่คนสูงอายุ มีแนวโน้มที่จะความทรงจำดีๆ เก่าๆ มากมายให้นึกถึงกับเหตุการณ์ สถานที่หรือชีวิตประจำวันธรรมดาๆ

     อ่านเกี่ยวกับงานวิจัยทางจิตวิทยาเรื่องนี้ แล้วทำให้ผมนึกย้อนไปถึงเรื่องราวหลายสิบปีก่อน สมัยที่ผมเพิ่งจะจบหมอใหม่ๆ

     มีคุณยายท่านหนึ่งลูกสะใภ้พามาตรวจที่โรงพยาบาล หลังการตรวจเสร็จสิ้นก่อนที่จะคุณยายและลูกสะใภ้จะออกจากห้องตรวจ ลูกสะใภ้ก็หันมาพูดกับผมว่า

     คุณหมอ ช่วยเตือนคุณแม่ให้หน่อยสิคะ คุณแม่ชอบแอบขึ้นรถไปซื้อขนมที่ตลาดคนเดียวตลอดเลย ลูกหลานห้ามก็ไม่ฟัง คุณแม่เดินก็ไม่แข็งแรง หูก็ได้ยินไม่ชัด กลัวว่าจะเป็นอันตราย หนูบอกว่าจะไปซื้อให้ก็ไม่ยอม เผลอทีไรก็ออกไปเอง

ความสุขของผู้สูงอายุ
ความสุขของผู้สูงอายุ

     ก่อนที่ผมจะพูดอะไร คุณยายก็หันมาพูดกับผมว่า ยายแก่แล้ว ปวดนู่นนี่ไปหมด ร่างกายมันไม่ได้สุขสบายอะไร ให้อยู่นานไปมันก็ไม่ได้มีความสุขอะไร แต่ถ้าจะมีชีวิตอยู่ก็อยากดูแลลูกหลาน ขนมที่ไปซื้อ ก็ซื้อมาให้หลาน ตอนพ่อมันยังเด็กยายก็ทำขนมนี้ให้กินเหมือนกัน

     (ผมจำรายละเอียดคำพูดจริงๆไม่ได้เลยนะครับ แต่ใจความกับอารมณ์บทสนทนามันก็ออกประมาณนี้ครับ)

     ฟังแล้วเราก็เข้าใจทั้งคุณยายและลูกสะใภ้ ใช่ไหมครับ?

     ตัวลูกสะใภ้เองก็โดนญาติพี่น้องต่อว่า หาว่าไม่ยอมดูแล ปล่อยให้คุณแม่ต้องลำบากไปซื้อเอง แต่ตัวคุณยายเองกลับมองต่างไป ตอนลูกยังเด็กเคยทำขนมให้ลูกกิน ทุกวันนี้ทำไม่ไหวแล้ว ที่พอจะทำได้ก็คือการออกไปซื้อขนมให้หลาน

     คนอื่นไปซื้อมาให้มันก็ไม่เหมือนกับการไปเดินทางไปเลือกซื้อมาด้วยตัวเอง

     กิจกรรมเล็กน้อยที่สุดแสนจะธรรมดาในสายตาลูกหลานนี้ แต่สำหรับคุณยายแล้วมันคือความสุขของการมีชีวิตอยู่

     งานวิจัยเล็กๆ ธรรมดาเช่นนี้ บางครั้งมันก็ช่วยเตือนใจเราเหมือนกันใช่ไหมครับ หลายครั้ง เราลงทุนลงแรงพยายามที่จะทำอะไรที่มันพิเศษมากๆให้กับญาติผู้ใหญ่ เราลำบากเก็บเงินเพื่อพาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือพาไปกินอาหารแพงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆเหล่านั้น อาจไม่มีผลต่อความสุขที่เพิ่มขึ้นมากนัก

     ยิ่งถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราเองเสียอีกที่อาจจะผิดหวังว่า อุตสาห์พยายามตั้งมากมาย แต่ทำไมท่านกลับไม่ตื่นเต้นหรือสนุกกับมันเลย

     เพราะแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่สำคัญสำหรับคนสูงอายุ อาจเป็นแค่การได้ใช้เวลาร่วมกันทั้งครอบครัวเพื่อทำสิ่งธรรมดาๆทั่วไปเท่านั้นเอง ...



ที่มา :: https://th-th.facebook.com/ChatchapolBook/posts/927676647249681



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566

รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว