อภิชาตบุตรของพ่อแม่


[ 30 พ.ค. 2558 ] - [ 18513 ] LINE it!

อภิชาตบุตรของพ่อแม่

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘
 

      เป็นธรรมดาของชายหนุ่มหญิงสาวเมื่อได้ครองรักปักฐานกลายเป็นสามีภรรยากันแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะมีบุตรน้อยไว้เป็นสมาชิกของครอบครัว ท่านกล่าวไว้ว่าความปรารถนาของพ่อแม่ที่อยากได้บุตร เพราะมีความหวัง ๕ ประการ ดังนี้ คือ

     ๑. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบแทน
     ๒. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักทำกิจแทนเรา
     ๓. วงศ์สกุลของเราจักดำรงอยู่ได้นาน
     ๔. บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา
     ๕. เมื่อเราละโลกไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้

บุตร มาจากคำว่า ปุตฺต แปลว่า ลูก มีความหมาย ๒ ประการ คือ

     ๑. ผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์
     ๒. ผู้ยังหทัยของพ่อแม่ให้เต็มอิ่ม

     เพราะพ่อแม่รู้ดีว่า วันหนึ่งตนเองต้องแก่และตาย สิ่งที่อยากได้ก็คือ ความปีติความปลื้มใจไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็นผลแห่งความดี หรือผลงานดี ๆ ที่เราทำไว้ ยิ่งผลงานดีมากเท่าไร ยิ่งชื่นใจมากเท่านั้นแล้วอายุจะยืนยาว สุขภาพจะแข็งแรง เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่จึงเลี้ยงดูบุตรให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหวังจะได้เห็นวงศ์ตระกูลที่สืบต่อไป ทั้งยังเป็นความปลื้มปีติใจยามได้เห็นลูกทำสิ่งดี ๆ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งประเภทของบุตรไว้ในปุตตสูตรว่ามีอยู่ ๓ ประเภท คือ อติชาตบุตร อนุชาตบุตร และอวชาตบุตร ดังนี้

     ๑. อติชาตบุตร หรือ อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดาเป็นบุตรชั้นสูง สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล
     ๒. อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามารดา เป็นบุตรชั้นกลางพอรักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้
     ๓. อวชาตบุตร คือ บุตรที่เลว มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำ นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล

     พ่อแม่ทุกคนเมื่อเลี้ยงดูบุตร ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อภิชาตบุตรนี้ ท่านอธิบายลักษณะไว้ให้เห็นชัดเจนว่า โดยตรงได้แก่ บุตรธิดาผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมงดเว้นจากบาปทุจริต นับถือพระรัตนตรัย และหมั่นบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรมเสียสละ มีปัญญา เป็นสัมมาทิฐิ หรือได้บรรลุคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา โดยอ้อม ได้แก่ บุตรธิดาที่มีความรู้ ฐานะ อาชีพ และกิริยามารยาทต่าง ๆ ตลอดถึงจิตใจเหนือกว่าบิดามารดา เหมือนกับคำไทยที่ว่า “ลูกเทวดามาอาศัยท้องเกิด” ซึ่งมาตรวัดความเป็นอภิชาตบุตร ก็คือ “ศีล” นั่นเอง

     การที่ลูกจะเป็นอภิชาตบุตรได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดนั้น สำหรับในพระพุทธศาสนา ไม่มีสิ่งใดจะประเสริฐสูงสุดไปกว่าการบวช เพราะการบวชนั้นเป็นการยกฐานะของผู้บวชให้สูงขึ้นทั้งโดยศีลและโดยคุณธรรมทุกประการ ในมิลินทปัญหาท่านกล่าวว่าแม้คฤหัสถ์จะได้บรรลุคุณวิเศษเป็นพระโสดาบัน ก็ควรที่จะกราบไหว้บูชาพระภิกษุสามเณรผู้แม้ยังมีกิเลสอยู่ ด้วยเหตุที่ว่าภิกษุสามเณรเป็นผู้มีสมณกรณียธรรม คือ ธรรมสำหรับสมณะประพฤติ ๒๐ ประการ คือ

     ๑. เสฏฐะภูมิสะโย มีภูมิอันประเสริฐ
     ๒. อัคโคนิยะโม มีความนิยมในกิจอันเลิศ
     ๓. จาโร มีความประพฤติอันดีงาม
     ๔. วิหาโร มีวิหารธรรมและอิริยาบถอันสมควร
     ๕. สัญญะโม สำรวมอินทรีย์
     ๖. สังวะโร สำรวมในปาฏิโมกข์
     ๗. ขันติ มีความอดทน
     ๘. โสรัจจัง มีความสงบเสงี่ยม
     ๙. เอกันตาภิระติ มีความยินดีในธรรมอันแท้
     ๑๐. เอกันตะจะริยา มีความประพฤติในธรรมเที่ยงแท้
     ๑๑. ปะฏิสัลลินี มีความอยู่ในที่สงัด
     ๑๒. หิริ มีความละอายแก่บาป
     ๑๓. โอตตัปปะ มีความสะดุ้งกลัวบาป
     ๑๔. วิริยัง มีความเพียร
     ๑๕. อัปปะมาโทมีความไม่ประมาท
     ๑๖. อุทเทโส บอกกล่าวเล่าเรียนบาลี
     ๑๗. ปะริปุจฉา เล่าเรียนบอกกล่าวอรรถกถา
     ๑๘. สีลาภิรติ มีความยินดีในคุณธรรม มีศีล เ ป็นต้น
     ๑๙. นิราละยะตา ไม่มีความอาลัย
     ๒๐. สิกขาปะทะปาริปูรี ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาบท

     และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเพศอันอุดม ๒ ประการ คือ ทรงผ้ากาสาวพัสตร์และมีศีรษะโล้นซึ่งธรรมทั้ง ๒๒ ประการนี้ หากภิกษุสามเณรสมาทานประพฤติให้บริบูรณ์ ย่อมสามารถก้าวเข้าสู่ภูมิของพระอรหันต์ได้เมื่อภิกษุสามเณรนั้นเป็นผู้ถึงระหว่างแห่งตำแหน่งอันประเสริฐเช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์แม้ผู้ได้บรรลุคุณวิเศษจะต้องกราบไหว้บูชาและลุกรับพระภิกษุสามเณรที่เป็นปุถุชน ดังนั้นทันทีที่ลูกชายได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์แม้เพียงในวันนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่บิดามารดาพึงกราบไหว้ เพราะท่านตั้งอยู่ในเพศภาวะและฐานะที่สูงกว่าด้วยศีลและคุณธรรมทั้งปวง


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อานิสงส์บูชาการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอานิสงส์บูชาการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บวชเถิดชายไทยอย่ามัวหลับใหลลุ่มหลงบวชเถิดชายไทยอย่ามัวหลับใหลลุ่มหลง

กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโทกิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ