มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - มหาพรหมผู้เห็นผิด


[ 6 ก.ค. 2550 ] - [ 18265 ] LINE it!

 
มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - มหาพรหมผู้เห็นผิด
 
        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า เราตถาคตเป็นผู้มีความเห็นไม่สิ้นสุด ก้าวล่วงชาติ ชราและความโศกแล้ว     ขอพระองค์จงตรัสบอกการสมาทานพรต ศีลและวัตร จรณะของข้าพระองค์แต่ก่อนว่าเป็นอย่างไรซึ่งข้าพระองค์ควรจะทราบ

        จุดหมายปลายทางของชีวิต  คือ  การทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป กลั่นใจจนกระทั่งบริสุทธิ์จากมลทินทั้งปวง เข้าสู่อายตนนิพพาน อันเป็นสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบรมสุข เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีความทุกข์เจือปน บุคคลใดได้เข้าถึงนิพพานแล้ว ได้ชื่อว่า เข้าถึงแหล่งแห่งอมตสุข การทำพระนิพพานให้แจ้ง จึงเป็นจุดหมายของชีวิตที่แท้จริง ภพภูมิอื่นไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ทั้งหกชั้น รูปพรหมและอรูปพรหม ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ดังนั้นเราต้องตระหนักในการทำพระนิพพานให้แจ้ง อันเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเกิดมาในแต่ละภพชาติ

มีธรรมภาษิตใน พกพรหมชาดก ความว่า

        "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า เราตถาคตเป็นผู้มีความเห็นไม่สิ้นสุด ก้าวล่วงชาติ ชราและความโศกแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกการสมาทานพรต ศีลและวัตร จรณะของข้าพระองค์แต่ก่อนว่าเป็นอย่างไรซึ่งข้าพระองค์ควรจะทราบ"

        นี้เป็นการกล่าวของมหาพรหมองค์หนึ่ง เพื่อเป็นการทดสอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นพระสัพพัญญูจริงหรือไม่ เพราะพกพรหมท่านนี้มีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก จนมีความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อไม่มีผู้ใดแก้ไขปัญหาที่ติดค้างในใจมายาวนานได้ ท่านจึงมีความเห็นว่า การเกิดเป็นมหาพรหมนี้ เป็นสิ่งที่เที่ยงยั่งยืนแล้ว ไม่มีการจุติไปไหน    อายตนนิพพานอันเป็นที่ออกไปของสัตวโลกไม่มี

        *เรื่องราวชีวิตของพกพรหมนี้ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านบำเพ็ญฌาน ได้เข้าถึงฌานสมาบัติ ทำให้ได้บังเกิดเป็นมหาพรหมในชั้นเวหัปผลาพรหม มีอายุยืนถึง ๕๐๐ กัป จนหมดอายุขัย แต่เพราะยังไม่หมดบุญ จึงไปเกิดในชั้นสุภกิณหาอีกถึง ๖๔ กัป แล้วถอยลงมาเกิดในชั้นอาภัสสราอีก ๘ กัป ในชั้นอาภัสสรานี้ พกพรหมไม่สามารถระลึกถึงอดีต ที่เคยเกิดในชั้นเวหัปผลาและสุภกิณหา หรือแม้แต่ที่ชั้นอาภัสสรานี้ ก็ไม่อาจระลึกได้ว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุอะไร เมื่อระลึกถึงอดีตไม่ได้ จึงเกิดความเห็นผิดคิดว่า ตนเป็นอมตะ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงรู้ความปริวิตกแห่งใจของท้าวมหาพรหม ด้วยเจโตปริยญาณที่บริสุทธิ์ จึงอันตรธานจากพระเชตวันไปปรากฏที่พรหมโลก

        เมื่อพกพรหมเห็นพระพุทธองค์ ได้กล่าวว่า "มาเถิดท่านสหาย นับว่าท่านนี้มาในสถานที่ที่ดีที่สุดแล้ว ที่นี้ไม่มีการเกิด แก่ ตาย เป็นสถานที่ที่ยั่งยืนเที่ยงแท้ ไม่มีการเคลื่อน สถานที่อื่นที่ชื่อว่าออกไปจากทุกข์ยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว"

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้ว่า มหาพรหมกำลังหลงผิด คิดว่าความเห็นของตนถูกต้อง ทรงมีพระหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ปรารถนาที่จะโปรดมหาพรหมให้ดำรงอยู่ในความเห็นถูก จึงตรัสเตือนตรงๆ ว่า "พกพรหมผู้เจริญ ตัวท่านกำลังตกอยู่ในอำนาจของอวิชชา เพราะได้พูดสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง กล่าวถึงธรรมที่ไม่อาจนำออกจากทุกข์ว่า เป็นธรรมที่นำออกจากทุกข์ได้ ท่านกล่าวเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรแก่ท่านเลย"    
 
        ทันใดนั้น มารรีบเข้าสิงร่างของพรหมปาริสัชชะพูด เพื่อให้พรหมทั้งหลายเชื่อ ด้วยอำนาจแห่งความเชื่อของตน ไม่ใส่ใจในถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารถนาจะทำให้พระพุทธองค์คล้อยตามความคิดของตน จึงพูดขึ้นอีกว่า "ข้าแต่ พระโคดม พวกข้าพระองค์นั้นมีอยู่มากมาย ที่มีอานุภาพยิ่งใหญ่ ไพศาล มีอำนาจที่แผ่ล่วงความเกิด ความแก่ การเกิดเป็นพรหมนี้ เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ขอท่านอย่าเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปเลย มหาชนเป็นจำนวนมาก ต่างพากันกล่าวสรรเสริญพวกข้าพเจ้า"

        พระบรมศาสดาสดับถ้อยคำของพวกพรหม จึงตรัสว่า    "ดูก่อนพรหม อันที่จริง อายุของท่านนี้ยังน้อยนัก ไม่มากอะไรเลย แต่ท่านเข้าใจว่าอายุของท่านมาก อายุของท่านเพิ่งจะแสนนิรัพพุทะเท่านั้น"

        เมื่อเล่าถึงตรงนี้  ทุกท่านอาจไม่เข้าใจว่า อะไรคือนิรัพพุทะ นิรัพพุทะเป็นอัตราการนับคำนวณในสมัยนั้น เขาจะนับกันครั้งละสิบไล่กันไปตามลำดับๆ เช่น สิบสิบครั้งเท่ากับร้อย สิบร้อยครั้งเท่ากับพัน ร้อยพันครั้งเป็นแสน ร้อยแสนเป็นจำนวนโกฏิ ร้อยแสนโกฏิชื่อว่า ปโกฏิ ร้อยแสนปโกฏิ ชื่อว่า โกฏิปโกฏิ ร้อยแสนโกฏิปโกฏิ ชื่อว่า ๑ นหุต ร้อยแสนนหุต ชื่อว่า นินนหุต เรียงกันไปเช่นนี้ นักคำนวณที่ว่าเก่งๆ นั้น อย่างมากคำนวณได้เท่านี้ แต่การคำนวณที่สูงกว่านี้ยังมีอีก การนับเกินนี้ไปจะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ร้อยแสนนินนหุต เป็นหนึ่งอัพพุทะ และ ๒๐ อัพพุทะ เป็นหนึ่งนิรัพพุทะ  ร้อยแสนนิรัพพุทะ ชื่อว่า ๑ อหหะ จำนวนนี้เป็นอายุที่เหลือของพกพรหมในชั้น  อาภัสสรา

        เมื่อพวกพรหมได้ฟังดังนั้น เริ่มสูญเสียความมั่นใจ แต่ยังไม่ยอมจำนน ปรารถนาที่จะทดสอบพระบรมศาสดาอีก จึงกล่าวขึ้นว่า "เมื่อท่านว่าเช่นนี้ เท่ากับบอกว่าตัวท่านเองเป็นสัพพัญญู ถ้าเช่นนั้น ขอให้เล่าเรื่องราวในอดีตของเราให้ฟังหน่อยเถิดว่า เรานั้นมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไร"
 
        พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า "ตัวท่านได้ช่วยมนุษย์จำนวนมาก ที่เดือดร้อนกระหายน้ำให้ได้ดื่มน้ำ เราตถาคตระลึกได้ถึงพรต ศีลและจรณะของท่าน เหมือนนอนหลับฝันไป ตื่นขึ้นยังระลึกได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ทีเดียว"
 
        ชาติหนึ่งท่านเกิดเป็นดาบส อาศัยอยู่ในริมฝั่งแม่น้ำคงคา วันหนึ่ง มีพ่อค้าพร้อมกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางผ่านทะเลทราย คนเหล่านั้นไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ พากันเดินหลงทาง หมดทั้งเสบียงและน้ำดื่ม ต้องเผชิญกับความอดอยาก ต่างหมดอาลัยตายอยากในชีวิต พักเกวียนแล้วนอนทอดถอนใจอยู่ ในเช้าวันนั้น ดาบสผู้ได้ฌานนั่งมองดูแม่น้ำคงคา เพ่งพิจารณาอยู่ก็เห็นพวกพ่อค้านั้นในทะเลทราย เกิดเมตตาจิตว่า  เมื่อเราเห็นอยู่อย่างนี้ ขอสัตว์เหล่านี้ จงอย่าฉิบหาย จึงอธิษฐานด้วยอภิญญาจิตให้น้ำไหลไปที่ทะเลทรายนั้น ทำให้พวกพ่อค้าต่างรอดตายมาได้ นี่เป็นเรื่องราวประการแรกของท่าน

        ในกาลต่อมา  ดาบสได้มาอาศัยที่หมู่บ้านชาวป่า ขณะนั้น พวกโจรได้มาปล้นที่หมู่บ้าน แล้วจับชาวบ้านไปเป็นเชลย ดาบสได้ยินเสียงร้อง จึงคิดว่า เมื่อเราเห็นเหตุการณ์อยู่อย่างนี้ ขอหมู่ชนอย่าฉิบหายเลย จึงเนรมิตกองทัพสี่เหล่าที่เตรียมพร้อม ตีกลองศึก พากันเดินมุ่งหน้าสวนทางมากับพวกโจรนั้น พวกโจร เห็นก็พากันเข้าใจว่าพระราชา ต่างตกใจรีบหนีไป มหาชนก็ถึงความปลอดภัย

         ในกาลต่อมา ดาบสย้ายไปอยู่ที่แม่น้ำคงคา ครั้งนั้นผู้คนทั้งหลายได้ผูกเรือขนาน ๒ - ๓ ลำติดกัน และสร้างมณฑปไว้ที่ยอดเรือ พวกเขาต่างนั่งดื่มกินอยู่บนเรือ และทิ้งเศษอาหารที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นสุรา เศษเนื้อ ข้าว หมากพลูลงแม่น้ำ พญานาคที่อาศัยอยู่ใต้แม่น้ำรู้สึกโกรธมาก จึงเนรมิตกายขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง แหวกน้ำขึ้นมาหมายจะทำร้ายผู้คนเหล่านั้น ซึ่งต่างส่งเสียงร้องด้วยความหวาดกลัว ดาบสได้ยินเสียงร้องนั้น ก็ใคร่ครวญจึงรู้ว่าพญานาคโกรธ แต่เพราะไม่อยากให้พญานาคทำร้ายผู้คน ได้เนรมิตกายเป็นพญาครุฑบินไปขับไล่ให้พญานาคนั้นหนีไป จึงช่วยคนเหล่านั้นไว้ได้

        เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตของพรหมแล้ว ทำให้พวกพรหมที่มีความเห็นผิด รู้ถึงพุทธานุภาพ จึงตั้งใจฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในที่สุดธรรมาภิสมัยก็ได้บังเกิดขึ้นแก่พรหมทั้งหลายนับประมาณมิได้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำให้มหาพรหมผู้หลงผิด ตั้งมั่นในพระรัตนตรัยด้วยพุทธานุภาพที่แท้จริง ความสว่างไสวจึงบังเกิดขึ้นในดวงใจที่เคย มืดมนมายาวนาน หากไม่ได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท้าวมหาพรหม

        เห็นไหมว่าความหลงผิดนี้ เป็นอันตรายต่อการสร้างบารมีอย่างมาก ทำให้เราสูญเสียโอกาสที่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนก่อกำเนิดขึ้นจากใจ หากเข้าใจผิดแล้ว จะทำให้ชีวิตผิดพลาดยากที่จะเยียวยาได้ การหมั่นตามรักษาจิตนี้ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก ทำให้เราไม่ผิดพลาดไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมีโทษมากมายมหาศาล การที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เราต้องหมั่นปฏิบัติธรรมอย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว หากทำได้เช่นนี้ ชีวิตของเราจะไม่มีทางหลงผิดเป็นอันขาด
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. พรหมนิมันตนิกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๔๔๑


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สั่งสมบุญเพื่อตนเองมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สั่งสมบุญเพื่อตนเอง

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สร้างผังรวยข้ามชาติมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - สร้างผังรวยข้ามชาติ

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - บุญยังความปรารถนาให้สําเร็จมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - บุญยังความปรารถนาให้สําเร็จ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน