มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๑ )


[ 18 ก.ค. 2550 ] - [ 18284 ] LINE it!

 
มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๑ )
 
อาตมภาพได้เห็นต้นมะม่วงที่งอกงาม
ออกผลเขียวไปทั้งต้น ในระหว่างป่ามะม่วง 
เมื่อกลับออกมา ได้เห็นมะม่วงต้นนั้น หักย่อยยับ
เพราะผลของมันเป็นเหตุ อาตมาอาศัยเหตุนั้น
จึงได้ประพฤติธรรม


        ทุกครั้งที่เรานั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา นำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ในตัวของเรา จะถูกกลั่นให้สะอาดบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นี้เป็นทางมาแห่งความสุข  ความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติ ต่างแสวงหา เพราะเป็นความสุขที่เสรี กว้างขวางไร้ขอบเขต ไม่มีใครมาพรากความสุขนี้จากเราไปได้ และยังเป็นเหตุให้ขจัดกิเลสอาสวะ ชำระมลทินของใจให้หมดสิ้นไป ทำให้เราได้เข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทุกๆ คน

มีธรรมภาษิตใน กุมภการชาดก ว่า

"อมฺพาหมทฺทํ  วนมนฺตรสฺม        นีโลภาสํ  ผลิตํ  สํวิรูฬฺหํ
     ตมทฺทสํ ผลเหตุ  วิภคฺค            ตํ  ทิสฺวา  ภิกฺขาจริยํ  จรามิ

        อาตมภาพได้เห็นต้นมะม่วงที่งอกงาม ออกผลเขียวไปทั้งต้น ในระหว่างป่ามะม่วง เมื่อกลับออกมา ได้เห็นมะม่วงต้นนั้น หักย่อยยับ เพราะผลของมันเป็นเหตุ อาตมาอาศัยเหตุนั้น จึงได้ประพฤติธรรม"

         ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เพียงแค่ดูก็เป็นครูได้ เนื่องจากการ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางการศึกษาในสถาบันต่างๆ ไม่ต้องให้ใครมาคอยพร่ำสอน เพราะมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณค่ายิ่งกว่ามหาวิทยาลัยทางโลก และมีประโยชน์สาระแก่นสารที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้ง และความสุขอันเป็นอมตะ

         การศึกษาในมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นการศึกษาเรื่องของโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริงด้วยปัญญาบริสุทธิ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในสังสารวัฏ เราต้องเป็นคนใฝ่รู้ รู้จักสอบถามท่านผู้รู้ และศึกษาปฏิบัติในหนทางที่ถูกต้องดีงาม ตามแบบอย่างของบัณฑิตนักปราชญ์ ผู้แสวงหาความรู้จากตำรับตำรา ครูบาอาจารย์ และการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องสมบูรณ์ การรู้ไม่จริงนั้นอาจทำให้ชีวิตผิดพลาดได้ ความผิดพลาดหรือความถูกต้องของชีวิต มีผลต่อภพภูมิในปรโลกที่จะไปซึ่งมีทั้งสุคติและทุคติ ดังนั้นต้องศึกษาให้ดีด้วยความระมัดระวัง

        วันนี้ ได้นำชาดกเกี่ยวกับบัณฑิตผู้ช่างสังเกต รู้จักนำเหตุการณ์รอบตัวมาเป็นบทเรียนสอนตัวเอง ท่านสามารถสอบผ่านมหาวิทยาลัยชีวิต คือ ได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ไม่ต้องประสบปัญหาใดๆ ในชีวิตอีกต่อไป หมายถึง เข้าถึงความสุขนิจนิรันดร์นั่นเอง

        *สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการกำเริบขึ้นของกิเลสกามที่มีอยู่ในใจของภิกษุผู้บวชใหม่ ๕๐๐ รูป ซึ่งเมื่อบวชแล้ว ไม่ได้ทำความเพียรอย่างเต็มที่ ครั้นในเวลาเที่ยงคืน ต่างก็เกิดกามวิตก  พระบรมศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของสาวกแต่ละรูปว่า ฝักใฝ่ในการบำเพ็ญสมณธรรมหรือไม่ อันเป็นพุทธกิจ พระองค์ได้ตรวจดูวาระจิตของพระสาวก ๖ ครั้งด้วยกัน คือ กลางคืน ๓ ครั้ง กลางวัน ๓ ครั้ง ทรงพิทักษ์รักษาเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาไข่ ทรงเป็นห่วงสาวกของพระองค์ ภิกษุสงฆ์จึงอยู่ในญาณทัสสนะของพระองค์ตลอดเวลา หากภิกษุรูปใดมีกามวิตกเกิดขึ้น พระองค์ จะช่วยกลั่นแก้ธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของภิกษุรูปนั้นให้สะอาดบริสุทธิ์ และสั่งสอนให้แก้ไขตนเอง

        เที่ยงคืนวันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์ตรวจดูวาระจิตของภิกษุสงฆ์ ในวัดพระเชตวันมหาวิหาร ทรงรู้ว่ากามวิตกของภิกษุบวชใหม่กำเริบขึ้น ทรงดำริว่า กิเลสนี้เมื่อฟุ้งขึ้นภายในใจของภิกษุเหล่านี้ จักขัดขวางไม่ให้ได้บรรลุอรหัตตผล พระองค์จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี รับสั่งให้พระอานนทเถระ ไปเคาะระฆังในยามดึกเพื่อประชุมสงฆ์ทั้งหมด พระอานนท์ได้เคาะระฆังตามพุทธบัญชา เมื่อภิกษุสงฆ์มาประชุมกันในโรงธรรมสภาแล้ว พระพุทธองค์เสด็จประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายด้วยจิตเมตตาว่า

        "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรเป็นไปในอำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นภายในใจ เพราะเมื่อกิเลสเจริญขึ้น ย่อมให้ถึงความพินาศมากเหมือนปัจจามิตร ธรรมดาเมื่อกิเลสแม้มีประมาณน้อยเกิดขึ้นภายในใจ ภิกษุควรขจัดออกไปให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เพราะกิเลสกามแม้เล็กน้อยแต่ร้อนแรงกว่ากองไฟ บัณฑิตในกาลก่อนทำปัจเจกโพธิญาณให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยการข่มกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย และอาศัยความเป็นคนช่างสังเกตจากเหตุการณ์รอบตัว" จากนั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า

        ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลช่างหม้อ ณ หมู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี ครั้นเจริญวัย ได้ครอบครองสมบัติ มีบุตรชาย ๑ คน และหญิง ๑ คน ได้เลี้ยงดูบุตรภรรยาโดยอาศัยการปั้นหม้อเลี้ยงชีพ ในกาลนั้นพระราชาทรงพระนามว่า กรกัณฑะ ในทันตปุรนคร แคว้นกาลิงคะ มีข้าราชบริพารมาก  เมื่อเสด็จไปพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง  ซึ่งมีผลดกน่าเสวยใกล้ประตูพระราชอุทยาน ทรงเก็บผลมะม่วงมาพวงหนึ่ง

         ฝ่ายข้าราชบริพาร ตั้งแต่เหล่าอำมาตย์ พราหมณ์และคฤหบดี รวมไปถึงเหล่าราชบุรุษนางสนมกำนัล เห็นพระราชาเก็บผลมะม่วง เพื่อนำไปเสวยในพระราชอุทยาน ต่างพากันสอยผลมะม่วงนำไปรับประทานบ้าง เนื่องจากมะม่วงต้นนี้มีรสอร่อยมาก ทำให้ผู้ที่มาถึงภายหลังนั้น ต้องปีนขึ้นไปเก็บผลมะม่วง บ้างก็ใช้ท่อนไม้ฟาดทำให้กิ่งหัก หมดความเป็นต้นมะม่วงที่เคยอุดมสมบูรณ์น่าทัศนา ด้วยเหตุนี้ผลมะม่วงจึงหมดสิ้น แม้แต่ ผลอ่อนเพียงผลเดียวก็ไม่มีเหลือ

         เมื่อพระราชาทรงพระสำราญในพระราชอุทยานจนถึงช่วงเย็นแล้ว ได้เสด็จกลับเส้นทางเดิม ทรงทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงนั้นทรุดโทรม หมดสง่าราศีของความเป็นต้นมะม่วงเช่นนั้น จึงเสด็จลงจากคอช้างประทับยืนอยู่ที่โคนต้น ทรงมองดูลำต้น พลางดำริว่า ต้นมะม่วงต้นนี้ เมื่อเช้านี้เอง ยังเต็มไปด้วยผล เป็นพวงสวยงาม ทำความอิ่มตาเบิกบานใจให้แก่ผู้พบ เห็นที่ผ่านมาผ่านไป มาบัดนี้ ถูกเก็บผลหมดแล้ว มีกิ่งหักห้อยรุ่งริ่งดูไม่งาม เมื่อทรงมองดูต้นอื่น เห็นต้นมะม่วงที่ไม่มีผลกลับยืนต้นสง่างาม พระองค์ทรงทำต้นมะม่วงที่มีผลให้เป็นอารมณ์ว่า ต้นไม้ต้นนั้นยืนต้นสง่างามเหมือนภูเขาแก้วมณีโล้น เพราะไม่มีผล ส่วนมะม่วงต้นที่มีผลถึงความย่อยยับ เพราะออกผล แม้ราชสมบัติที่เรากำลังปกครองอยู่ก็เช่นเดียวกับต้นมะม่วงที่มีผล ส่วนการบรรพชาเป็นเช่นเดียวกับต้นไม้ที่ไม่มีผล ผู้มีทรัพย์นั่นแหละมีภัย ส่วนผู้ไม่มีทรัพย์ปราศจากภัย แม้เราก็ควรเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีผล

        พระองค์ทรงกำหนดไตรลักษณ์เช่นนี้  ทรงเจริญวิปัสสนา จนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ และรำลึกอยู่ว่า "บัดนี้เราทำลายกระท่อม คือ ท้องของมารดาแล้ว การปฏิสนธิในภพทั้งสาม เราตัดขาดแล้ว ส้วมแหล่งอุจจาระคือสงสาร เราล้างสะอาดแล้ว ทะเลน้ำตา เราวิดแห้งแล้ว กำแพงกระดูกเราพังแล้ว เราจะไม่มีการปฏิสนธิอีกต่อไป"

        ขณะพระองค์กำลังประทับยืนพิจารณาสภาวธรรมอยู่นั้น พวกอำมาตย์ ได้เข้าไปกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จประทับยืนนานเกินไปแล้ว เชิญเสด็จเถิด"
 
        พระราชาตรัสว่า "เราไม่ใช่พระราชา แต่เราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า" พลางยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเกศา ทันใดนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ได้อันตรธานไป เพศสมณะได้ปรากฏขึ้น  มีสมณบริขารครบทุกอย่าง พระองค์ ประทับยืนอยู่บนอากาศ ประทานโอวาทแก่มหาชนไม่ให้ประมาท แล้วเสด็จไปสู่เงื้อมเขานันทมูลกะ

        เราจะเห็นว่า เหตุการณ์ต่างๆ รอบข้างที่บังเกิดขึ้น สามารถเป็นครูที่ดีที่ไม่ควรมองข้าม บางสิ่งบางอย่างดูเหมือนว่าได้ประสบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หากเพิ่มความสำคัญ และรู้จักนำมาพิจารณาไตร่ตรองให้มากขึ้น เราจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่ซ่อนเร้นเป็นสารธรรมอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เพราะธรรมะสามารถตรึกตรองและเข้าถึงได้ในทุกหนทุกแห่ง ผู้ฉลาดในการจับแง่คิด สามารถนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จสมปรารถนา ส่วนแรงบันดาลใจในการทำความดีที่พระบรมศาสดาทรงนำมาแสดงแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป เพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำความเพียร มีมากมาย หลายเรื่อง ส่วนเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไรติดตามศึกษาในตอนต่อไป สำหรับวันนี้ ขอให้ทุกท่านหมั่นฝึกฝนตนเองเรื่อยไป โดยเฉพาะการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกๆ คน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. กุมภการชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๓๔๖


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๒ )มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๒ )

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๑ )มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๑ )

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๒ )มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๒ )



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน