พลิกวิกฤต..เพราะคิดบวช


[ 9 พ.ย. 2558 ] - [ 18274 ] LINE it!

พลิกวิกฤต..เพราะคิดบวช
 
โดยพระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร

 
 
 

    ในชีวิตของมนุษย์นั้น ช่วงเวลาที่กล่าวได้ว่า เป็นวิฤตที่สุดของชีวิต ก็คือ ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต นั่นคือ ช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญกับความตาย ซึ่งทุกท่าน ๆ ทราบดีอยู่แล้วว่า ทุกท่านนั้นต้องเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤตนี้อย่างแน่นอน และเมื่อช่วงเวลานั้นของแต่ละท่านมาถึง ซึ่งก็จะแตกต่างกันไป เช่น นอนป่วยอยู่บนเตียงผู้ป่วย หมดเรี่ยวหมดแรง, หรือเกิดอุบัติเหตุรถชนจนไม่มีเวลาตั้งตัว  เมื่อร่างกายของตนเองไม่อาจจะเป็นที่พึ่งได้ ที่พึ่งทางจิตใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในช่วงเวลาเพียงเสียววินาที สำหรับผู้ที่ไม่มีที่พึ่งทางจิตใจมักจะเกิดความกลัวต่อความตาย ทุกข์ร้อนใจ เพราะไม่มีความรู้ว่า ชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไร ตายแล้วจะไปไหน ก็ย่อมเกิดความกระสับกระส่ายไม่สงบใจ บางคนก็หาที่พึ่งที่ตนคิดว่าจะเป็นที่พึ่งได้


"มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว
ย่อมถึงภูเขาป่าไม้อารามและรุกขเจดีย์ว่า
เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม
เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"
(มก.ไทย 25/34)

    แต่การอาศัยที่พึ่งที่ขาดความรู้ที่ถูกต้องนั้นย่อมไม่อาจทำให้พ้นจากวิฤตเหล่านั้นไปได้เลย นอกจากจะไม่พ้นวิกฤต หากที่พึ่งนั้นก่อให้เกิดโทษ ย่อมทำให้ชีวิตพบกับวิกฤตมากขึ้นไปอีก  คือช่วงใกล้จะละโลกอาศัยบาปกรรมที่ตนสร้างไว้เป็นที่พึ่ง เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยได้ เช่น การนึกถึงความสนุกเพลิดเพลินในชีวิต  สังสรรค์ในวงเหล้า เป็นต้น หากอาศัยบาปกรรมเหล่านั้นเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั่นเองจะเป็นวิกฤตยิ่งกว่าเดิม เพราะบาปกรรมเหล่านั้นย่อมนำไปสู่การบังเกิดในนรก

       แต่การที่อาศัยที่พึ่งคือพระรัตนตรัย โดยการระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมทำให้จิตใจชุ่มเย็น เป็นบุญกุศล นึกถึงภาพแห่งกรรมดี ใจย่อมเป็นสุข แม้ในช่วงวิกฤตของชีวิตที่แม้ตัวเราเองไม่อาจจะควบคุมร่างกายของตนเองได้แล้ว แต่จิตใจนั้นมีที่พึ่ง จิตใจสงบเย็น เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตหลังความตายย่อมพลิกเป็นโอกาส และนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และสามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด
 


"ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ

ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อัน
ให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแล เป็นที่พึ่งอันเกษม
ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้" (มก.ไทย 25/34)

     เมื่อชีวิตของเรายังดำเนินไม่ถึงช่วงวิกฤตแห่งชีวิต เราก็ต้องรีบเตรียมพร้อมรับมือ กับวิกฤตที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยการหมั่นประกอบกรรมดี และหาที่พึ่งคือ พระรัตนตรัย ทั้งภายในตัวและภายนอกตัว
 

ออกบวช เพื่อพ้นวิกฤต

    ยังมีบุคคลผู้มีบารมีที่สั่งสมไว้ดีแล้ว เมื่อพบว่าแท้จริงแล้วชีวิตของเรานี้มีแต่วิกฤต ก็ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ในการออกแสวงหาทางหลุดพ้นจากวิกฤตอย่างถาวร นั่นคือ การออกบวช เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการออกบวชของพระสาวกพอเป็นตัวอย่างดังนี้
 

การออกบวชของพระยสะ

    ยสกุลบุตรซึ่งเป็นบุตรเศรษฐีมีความเพียบพร้อมเพลิดเพลินในทางโลกทุกด้าน คืนวันหนึ่งได้เห็นเหล่านางบริวารนอนเกลื่อนกลาดอยู่บนเรือนประกอบไปด้วยกิริยาอันไม่น่าดู บ้างนอนเปลือย ขาไปทาง หัวไปทาง น้ำลายยืดน่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้าทำให้ยสกุลบุตรเกิดความเบื่อหน่ายและสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เปล่งอุทานว่า"ที่นี่วุ่นวายหนอผู้เจริญทั้งหลายที่นี่ขัดข้องหนอ"  ด้วยบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาไว้ดีแล้ว ทำให้ยสกุลบุตรเดินเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ออกบวช

    พระยสะได้เห็นความไม่งามของชีวิต แม้ตนเองจะมีชีวิตที่สุขสบายมาโดยตลอด แต่เมื่อพบกับความไม่งามเช่นนี้ ก็พบว่าชีวิตเป็นทุกข์จริงหนอ ด้วยบุญเก่าที่ได้ส่ังสมมาไว้ดีแล้ว จึงทำให้พระยสะคิดออกบวช และเมื่อบวชแล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์สามารถพ้นวิฤตชีวิตได้อย่างถาวร

 

 ผู้มีบุญมาก เพียงเมื่อเห็นว่าชีวิตมีวิกฤต ด้วยบุญเก่าที่สั่งสมไว้ดีแล้ว
จึงทำให้ได้ออกบวชและพ้นวิกฤตชีวิตได้อย่างถาวร

การออกบวชของพระอนุรุทธะ

    พระอนุรุทธะเกิดในตระกูลของเข้าศากยะ มีพี่ชายชื่อ มหานามศากยะ ได้คุยกันกับอนุรุทธศากยะผู้เป็นน้อง ว่า บัดนี้ ศากยะกุมารอันมากได้ออกผนวชตามเสด็จ แต่ผู้ออกบวชจากตระกูลของเรายังไม่มี น้องจักบวช หรือว่า พี่จักบวช”

     อนุรุทธราชกุมารจึงทูลถามว่า “การบวชนี้เป็นอย่างไร ? ”

     เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “ผู้บวช ก็ต้องโกนผมและหนวด ต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ ต้องนอนบนเครื่องลาดด้วยไม้ หรือบนเตียงที่ถักด้วยหวาย เที่ยวบิณฑบาตอยู่ นี้ชื่อว่าการบวช”

     เจ้าอนุรุทธศากยะจึงทูลว่า “เจ้าพี่ หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติ หม่อมฉันจักไม่สามารถบวชได้”

     เจ้าอนุรุทธกุมารนั้น ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล มีโภคะสมบูรณ์ แม้คำว่า“ไม่มี ” ก็ไม่เคยได้ยิน  เพราะชีวิตมีความสุขมากมายเช่นนี้ ยังไม่ได้พบว่าชีวิตมีวิกฤต ชีวิตเป็นทุกข์ จึงไม่ยินดีในการบวช

     เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “อย่างนั้น ท่านจงเรียนรู้การงานสำหรับอยู่เป็นฆราวาสเถิด”เจ้ามหานามศากยะ จึงสอนเรื่องการครองเรือนแก่อนุรุทธกุมารผู้น้องว่า "ผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไขน้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอนหญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนก็ต้องทำอย่างนี้อีก เป็นอย่างนี้ทุกปี"

     อนุรุทธศากยะ ตรัสถามว่า "การงานเหล่านี้จะสิ้นสุดเมื่อไร"

     มหานามะฝ่ายพี่ชาย ตอบว่า "ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องทำเช่นนี้ทุกปี"

     ครั้นอนุรุทธกุมารได้ทรงฟังกิจการที่ฆราวาสจะพึงทำเป็นประจำทุกปีเช่นนั้น เพียงแค่ได้ฟังเท่านั้น ด้วยบุญบารมีที่สั่งสมไว้ดีแล้ว และด้วยปัญญา ทรงมองไม่เห็นว่า นี้คือวิกฤตของชีวิต การงานสำหรับเพศฆราวาสทั้งหลายจะมีที่สิ้นสุดเมื่อไรหนอ จึงทูลว่า "ถ้าเช่นนั้น ขอพี่จงอยู่ครองเรือน กระผมจักบวช"

     นี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของผู้เห็นวิกฤตในชีวิตว่า การครองเรือนนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ต้องประกอบกิจการงานตลอดชีวิต ไม่มีเวลาที่จะหันดูวิฤตในชีวิต ไม่อาจที่จะทำชีวิตให้พ้นวิกฤตได้เลย ควรที่เราจะออกบวชเพื่อการพ้นวิกฤตชีวิตอย่างถาวร และพระอนุรุทธะก็ออกบวชและได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
 

เห็นทุกข์จึงออกบวช

    จากเรื่องที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ จะเห็นว่า การจะออกบวชนั้นมีหลายสาเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทุกสาเหตุล้วนมีทุกข์เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตของชีวิต และมีความปรารถนาที่จะพ้นจากทุกข์นั้น กุลบุตรทั้งหลายจึงพากันสละเรือน ออกบวช ดั่งพุทธพจน์ในมหาสาโรปมสูตร ว่า


" ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ด้วยคิดว่าเราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงําแล้ว
ถูกความทุกข์ครอบงํา มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทําอย่างไร
การทําที่สุดแห่งกองทุกข์ท้ังสิ้นนี้จะพึงมีได้ "
 

ตั้งปณิธานในช่วงวิกฤต

     การสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เรา ครั้งแรกที่ตั้งความปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ก็อยู่ในภาวะวิกฤตของชีวิต แต่ด้วยอุปนิสัยและจิตใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว พระองค์ก็ไม่ได้เกรงกลัวต่อวิกฤตชีวิต แต่กลับใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ดั่งเรื่องราวของ มาตุธารก เรื่องก็มีอยู่ว่า

     กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าได้ถือกำเนิดเป็นบุรุษหนุ่มผู้เข็ญใจ ชื่อว่า มาตุธารก มีความยากจนอย่างมาก เมื่อเจริญวัยเป็นมานพหนุ่มด้วยความยากจนมานพหนุ่มจึงตั้งใจเลี้ยงดูบิดามารดาจนเมื่อบิดาเสียชีวิตไป นับแต่นั้นมาบุรุษหนุ่มก็คอยอุปัฏฐากบำรุงเลี้ยงมารดาเป็นอย่างดีตลอดมา

     ในวันหนึ่ง มานพหนุ่มได้เห็นเรือสำเภาที่ท่าน้ำ ก็นึกในใจว่า ตนเองยังหนุ่มแน่นมีกำลังแข็งแรง เราจะสมัครงานและเดินทางไปกับเรือสำเภาคงจะทำให้มีรายได้มาเลี้ยงดูมารดาได้ไม่ลำบากมก ครั้นคิดได้ดังนั้นแล้วก็ได้เข้าไปหานายเรือสำเภาใหญ่ แล้วกล่าวขึ้นว่า

     “นายท่าน ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความยากจนเข็ญใจจึงมาหาท่านด้วยหวังใจว่า ข้าพเจ้าก็จักขอทำงาน อยู่กับท่านด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อไป”

     นายสำเภาเรือครั้นได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสงสาร จึงรับมานพหนุ่มไว้ทำงานด้วยโดยไม่รังเกียจ มานพหนุ่มได้ฟังดังนั้นมีความยินดีดีใจเป็นอย่างมาก จึงรีบกลับไปบอกแก่มารดา แต่มารดากลับกล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ทุกวันนี้ชีวิตของแม่ขึ้นอยู่กับเจ้า เพราะฉะนั้นเจ้าจะไปไหนก็ตามใจเถิด แต่ขอให้แม่ได้ด้วยกับเจ้า ได้อยู่ใกล้ๆ กับเจ้าเสมอ”

     มานพหนุ่มได้ฟังคำมารดาดังนั้นก็ได้ไปอ้อนวอนต่อนายเรือสำเภาเมื่อนายสำเภาเรือเมื่อได้รู้ถึงปัญหาของมานพหนุ่ม เห็นว่ามานพหนุ่มนี้เป็นผู้มีความกตัญญู จึงอนุญาตให้นำมารดาติดตามไปด้วยได้

     เมื่อเรือสำเภาแล่นไปในมหาสมุทรทะเลใหญ่ได้ประมาณ ๗ วัน สำเภานั้นต้องลมพายุใหญ่เกินกำลัง และได้อับปางลง บรรดาลูกเรือและนายสำเภาเรือต่างก็สิ้นชีวิตลง ฝ่ายมานพหนุ่มมีสติมั่นอุ้มมารดาขึ้นบ่า ปีนขึ้นไปบนเสากระโดงเรือ และกระโดดลงจากเรือด้วยกำลังแห่งบุรุษ ไปไกลถึง ๒,๐๐๐ วา แล้วว่ายน้ำบ่าแบกมารดาตลอด ๗ วัน ๗ คืน  ด้วยคิดว่าจะนำมารดาไปให้รอดชีวิตให้ได้


     ฝ่ายท้าวสุทธาวาสมหาพรหมอนาคามี ซึ่งสถิตอยู่ ณ ชั้นอกนิษฐพรหมโลก ที่คอยเล็งแลดูหมู่มนุษย์ผู้มีใจองอาจเต็มไปด้วยอุตสาหะใหญ่สามารถที่จะบำเพ็ญ “พุทธการกธรรม”ได้ ท้าวมหาพรหมได้เห็นมานพหนุ่มผู้เข็ญใจ ผู้กำลังพยายามจะนำมารดาให้รอดชีวิตจากคลื่นลมแรง โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย  จึงบรรดาลให้มานพหนุ่มนึกปณิธานปรารถนาพุทธภูมิ

     ฝ่ายมานพหนุ่มผู้มีบ่าแบกมารดา ก็ฝ่าคลื่นลมจนเหน็ดเหนื่อยหมดแรง จนร่างกายจมลงกลางทะเลใหญ่แล้วก็พยายามโผล่ขึ้นมาอีก ใกล้นาทีสุดท้ายของชีวิต ด้วยอัธยาศัยที่มีความเพียรอุตสาหะและอานุภาพของพรหม ทำมานพหนุ่มเกิดความคิดขึ้นมาว่า

     “ถ้าตัวเราถึงแก่ชีวิตลงไปในท้องมหาสมุทรทะเลใหญ่พร้อมกับ มารดา ณ กาลบัดนี้ ขอกุศลที่เราแบกมารดาว่ายน้ำในมหาสมุทรมา ด้วยความเหน็ดเหนื่อยนักหนานี้ จงเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระโพธิญาณ ขอเราพึงอาจนำสรรพสัตว์ที่เวียนว่ายในวัฏสงสารให้ข้ามพ้นถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน”

     ครั้นตั้งจิตคิดเป็นมหากุศลดังนี้แล้ว มานพหนุ่มก็ตั้งปณิธานซ้ำลงไปอีกว่า...
 

     “เมื่อเราเปลื้องตนออกพ้นจากวัฏสงสารแล้ว เราจะนำสัตว์ทั้งหลาย ให้พ้นจากวัฏสงสารไปด้วย”เมื่อเกิดปณิธานดังนี้แล้ว ก็เกิดความอัศจรรย์ เรี่ยวแรงที่จวนจะหมด ก็พลันมีเรี่ยวแรงขึ้นมาอีก จนสามารถว่ายน้ำไปถึงฝั่ง และเลี้ยงดูมารดาจนหมดอายุขัย ละโลกไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ / (ขอบคุณเนื้อความจาก http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/ปฐมบทเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า/การสร้างพระบารมีเริ่มแรก)

     จะเห็นได้ว่า การตั้งปณิธานเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระบรมโพธิสัตว์นั้น ท่านก็ตั้งความปรารถนาในช่วงวิกฤตของชีวิต คือ เมื่อประสบภัยต่างๆ มรณภัย ด้วยอุปนิสัยที่อุตสาหะและความมุ่งมั่นพยายามของท่าน บวกกับอานุภาพของพรหม ทำให้พระโพธิสัตว์มีปณิธานที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง แม้จะเป็นวิกฤตชีวิต แต่ท่านไม่ได้หวั่นเกรงต่อวิกฤตนั้นเลย กลับใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส และสามารถทำปณิธานนั้นให้สำเร็จได้ในที่สุด
 
 

ผู้ตั้งจิตออกบวชในช่วงวิกฤต

     แล้วพระภิกษุรูปใดเล่า ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราแล้วคิดที่จะออกบวชเมื่อประสบภัยต่างๆ เหมือนพระบรมโพธิสัตว์ของเรา พระภิกษุรูปนั้นก็คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ

     ย้อนไป ๑๑๒ ปีมีเด็กหนุ่มวัย ๑๙ ปีซึ่งต่อมาคือพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญกำลังทำหน้าที่เป็นพ่อค้าข้าวแทนบิดาที่เสียไปตั้งแต่อายุ ๑๔ ปีและได้เป็นหัวแรงสำคัญของครอบครัว

     วันหนึ่งหลังจากค้าข้าวเสร็จเด็กหนุ่มคนนี้ (หลวงปู่) และลูกน้องนำเรือเปล่ากลับบ้านในคืนนั้นล่องเรือไปด้วยความยากลำบากเพราะน้ำในคลองไหลเชี่ยวแต่ก็พยายามถ่อเรือต่อไปจนมาถึงคลองเล็กชื่อว่า คลองบางอีแท่นคลองนี้เป็นคลองเปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม

     ในขณะนั้นมีเรือเพียงลำเดียวเท่านั้นที่แล่นเข้าไปในคลองเมื่อเรือแล่นเข้าไปได้เล็กน้อยท่านก็กลัวว่าจะโดนโจรปล้นและทำร้ายถ้าโจรปล้นจริงๆท่านจะโดนทำร้ายก่อนใครเพราะยืนอยู่ท้ายเรือจึงเกิดความคิดขึ้นว่า

     “อ้ายน้ำก็เชี่ยวอ้ายคลองก็เล็กอ้ายโจรก็ร้ายท้ายเรือเข้าก็ไล่เลี่ยกับฝั่งไม่ต่ำไม่สูงกว่ากันเท่าไรนักน่าหวาดเสียวอันตรายเมื่อโจรมาก็ต้องยิงหรือทำร้ายคนท้ายก่อนถ้าเขาทำเราเสียได้ก่อนก็ไม่มีทางที่จะสู้เขาถ้าเราเอาอาวุธปืน ๘ นัดไว้ทางหัวเรือแล้วเราก็ไปถือเรือทางลูกจ้างเสียเมื่อโจรมาทำร้ายเราก็จะมีทางสู้ได้บ้าง”

     เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงหยิบปืนยาวบรรจุกระสุน๘นัดไปอยู่หัวเรือบอกให้ลูกจ้างมาถือท้ายเรือแทน

     ขณะถ่อเรือแทนลูกจ้างอยู่นั้นพลันเกิดความคิดขึ้นมาว่า “คนพวกนี้เราจ้างเขาคนหนึ่งเพียง ๑๑ - ๑๒ บาทเท่านั้นส่วนตัวเราเป็นเจ้าของทั้งทรัพย์ทั้งเรือหากจะโยนความตายไปให้ลูกจ้างก่อนก็ดูจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์มากเกินไปทำอย่างนี้ไม่ถูกไม่สมควร”

     เมื่อเกิดจิตเมตตาและนึกตำหนิตัวเองเช่นนี้ท่านจึงตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า

     “ทรัพย์ก็ของเราเรือก็ของเราเราควรตายก่อนดีกว่าส่วนลูกจ้างนั้นเมื่อมีภัยมาถึงเขาควรจะได้หนีเอาตัวรอดไปทำมาหาเลี้ยงบุตรภรรยาของเขาได้อีก”

     เมื่อตกลงใจเช่นนั้นจึงเรียกลูกจ้างให้มาถ่อเรือแทนส่วนตัวเองถือปืนคู่มือกลับมานั่งถือท้ายเรือตามเดิม

     เรือยังคงแล่นต่อไปเรื่อยๆแต่ไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่คิดเมื่อเรือแล่นมาใกล้จะออกจากคลองจนเห็นปากทางออกก็รู้ได้ว่าปลอดภัยแล้วแต่ในใจของท่านยังคิดถึงความตายอยู่ตลอดเวลาและทันใดนั้นธรรมสังเวชก็เกิดขึ้นในใจของท่านว่า

     “การหาเงินหาทองนี้ลำบากจริงๆเจียวหนาบิดาของเราก็หามาดังนี้เราก็หาซ้ำรอยบิดาตามบิดาบ้างเงินแลทองที่หากันทั้งหมดด้วยกันนี้ต่างคนก็ต่างหาไม่มีเวลาหยุดด้วยกันทั้งนั้นถ้าใครไม่เร่งรีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนต่ำและเลวไม่มีใครนับถือแลคบหาเข้าหมู่เขาก็อายเขาเพราะเป็นคนจนกว่าเขาไม่เทียมหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่กับเขา"


     ปุรพชนต้นสกุลของเราก็ทำมาดังนี้เหมือนๆกันจนถึงบิดาของเราแลตัวของเราก็บัดนี้ปุรพชนแลบิดาของเราไปทางไหนหมดก็ปรากฏแก่ใจว่าตายหมดแล้วแล้วตัวของเราเล่าก็ต้องตายเหมือนกัน”

     เมื่อคิดถึงความตายขึ้นมาอย่างนี้ก็เริ่มกลัวและนึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเองต่อไปอีกว่า

     “เราต้องตายแน่ๆ บิดาเราก็มาล่องข้าวขึ้นจากเรือข้าวก็เจ็บมาจากตามทางแล้วขึ้นจากเรือข้าวไม่ได้กี่วันก็ถึงแก่กรรมเมื่อถึงแก่กรรมแล้วเราที่ช่วยพยาบาลอยู่ไม่ได้เห็นเลยที่จะเอาอะไรติดตัวไปผ้าที่นุ่งแลร่างกายของแกเราก็ดูแลอยู่ไม่เห็นมีอะไรหายไปทั้งตัวเราแลพี่น้องของเราที่เนื่องด้วยแกตลอดถึงมารดาของเราก็อยู่ไม่เห็นมีอะไรเลยที่ไปด้วยแกแกไปผู้เดียวแท้ๆก็ตัวเราเล่าต้องเป็นดังนี้เคลื่อนความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้แน่”

     เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้วท่านก็นอนแผ่ลงไปที่ท้ายเรือแกล้งทำเป็นตายลองดูว่าถ้าตายแล้วจะเป็นอย่างไรท่านก็นอนคิดว่าตัวเองตายอย่างนั้นจนเผลอสติไปสักครู่หนึ่งเมื่อได้สติรู้สึกตัวก็รีบลุกขึ้นจุดธูปอธิษฐานจิตว่า

“ขออย่าให้เราตายเสียก่อน
ขอให้ได้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกตลอดชีวิต”
(จากหนังสือ อัตตชีวประวัติ พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร)

     จากเหตุการณ์ในวันนั้นของหลวงปู่ ทำให้หลวงปู่ท่านคิดออกบวชตลอดชีวิตเพราะประสบต่อมรณภัย แม้คนจำนวนมากในโลกก็ต่างต้องประสบมรณภัยทั้งสิ้นทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่คิดออกบวช แล้วใครเล่าที่คิดออกบวชตลอดชีวิต อย่างครูบาอาจารย์ของเรา เป็นความคิดที่ยิ่งใหญ่ในช่วงวิฤตของชีวิตเหมือนพระบรมโพธิสัตว์ที่บ่าแบกมารดาว่ายน้ำอยู่กลางทะเล ก็คิดที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้ก้าวพ้นจากกองทุกข์ไป

     บางคนที่ประสบวิกฤตมรณภัยก็พยายามทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด บ้างก็พยามทำหน้าที่การงานของตัวเองให้ดีที่สุด บ้างก็คิดหาเงินทอง บ้างก็คิดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ ซึ่งแตกต่างกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ที่คิดหาต้นเหตุแห่งภัยนั้น อันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ด้วยการออกบวช และความคิดนี้ก็เกิดขึ้นเอง ด้วยบุญบารมีที่ท่านสั่งสมมาไว้ดีแล้ว และเมื่อหลวงปู่ออกบวชแล้ว ท่านก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมไม่เคยขาดแม้แต่เพียงวันเดียว เป็นพระภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม


     ในช่วงนี้เป็นโอกาสอันดีที่ศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่จะได้ร่วมกันนำทองคำมาหล่อองค์ทองของหลวงปู่ (ซึ่งการหล่อหลวงปู่ด้วยทองคำองค์นี้นับเป็นองค์ที่ ๘ แล้ว) เพื่อประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ตั้งจิตอธิษฐานออกบวชตลอดชีวิต เพื่อเป็นเครื่องระลึกนึกถึงคุณธรรมของหลวงปู่ ในวันแห่งวิกฤตของชีวิต แต่หลวงปู่กลับใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส และเพื่อเป็นการขยายวิชชาธรรมกาย ประกาศคุณของพระเดชพระคุณหลวงปู่ให้ชาวโลกได้รับรู้สืบไป
 
ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ประมวลภาพพิธีทอดกฐินสามัคคี วัดพระธรรมกายโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นประมวลภาพพิธีทอดกฐินสามัคคี วัดพระธรรมกายโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ประมวลภาพพิธีบวชพระพี่เลี้ยงโครงการบวชสามเณรแก้ว 330 รูปประมวลภาพพิธีบวชพระพี่เลี้ยงโครงการบวชสามเณรแก้ว 330 รูป

ประมวลภาพพิธีทอดกฐินสามัคคี วัดพระธรรมกายบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาประมวลภาพพิธีทอดกฐินสามัคคี วัดพระธรรมกายบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เรื่องเด่นทันเหตุการณ์