ต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอนที่ ๓ บ่อเกิดของมารยาทไทย หมวดที่ ๑ สารูป


[ 11 พ.ย. 2558 ] - [ 18289 ] LINE it!

ต้นบัญญัติมารยาทไทย
ตอนที่ ๓ บ่อเกิดของมารยาทไทย
หมวดที่ ๑ สารูป (ข้อ ๓-๘)

เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘
 

ข้อ ๓-๔ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่าเราจักปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้านนั่งในละแวกบ้าน”

     ตามธรรมดาพระอยู่ในวัด แต่บางครั้งมีกิจนิมนต์ต้องเข้าไปในบ้านญาติโยม เข้าไปในหมู่บ้าน ถึงเวลานั้นต้องระมัดระวังสำรวมกิริยามารยาท ตลอดจนการนุ่งห่มให้เรียบร้อยเป็นพิเศษ จะถือความคุ้นเคยปล่อยตัวตามสบายไม่ได้

     เมื่อออกจากวัดต้องห่มคลุมให้เรียบร้อยอากาศจะร้อนจะหนาวอย่างไรก็ต้องอดทน เพื่อยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นทุกขณะ แม้เข้าไปนั่งในบ้านแล้วก็ปล่อยตัวตามสบายไม่ได้จึงกลายเป็นธรรมเนียมฆราวาสว่า ควรแต่งกายให้เรียบร้อยเข้าไปในบ้านผู้อื่น ถือเป็นมารยาทอันดีงาม เพราะเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของบ้าน

     สำหรับพระภิกษุนั้น เครื่องนุ่งห่มแต่ละชิ้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้มีรูปแบบที่เป็นบทฝึกสติทั้งนั้น อังสะของพระภิกษุแม้จะคล้าย ๆ เสื้อชั้นใน แต่เป็นเสื้อชั้นในแบบของพระ ไม่ใช่เสื้อกล้ามมีคนถามหลวงพ่อว่า“หลวงพ่อครับ ผมเอาเสื้อกล้ามมาถวายได้ไหม เพราะแบบก็ดูคล้าย ๆ กัน” ก็ตอบเขาไปว่า “ไม่ได้” ของพระมีแบบเฉพาะมีนักศึกษาบางคนถามหลวงพ่อว่า “ทำไมพระภิกษุไทยไม่เปลี่ยนจากสบงเป็นกางเกงอย่างพระเสี้ยวลิ้ม จีวรก็เหมือนกัน น่าจะทำเป็นเสื้อคลุมเหมือนอย่างพระจีน จะได้ดูทะมัดทะแมงขึ้น…”

     ดูเผิน ๆ ก็ว่าดี เพราะใส่อย่างนั้นทำอะไรรู้สึกคล่องตัวกว่า แต่ไม่ควร เพราะทะมัดทะแมงเกินไป อาจทำให้เผลอสติได้ง่าย และบ้านเราก็ไม่ได้หนาวนักหนา ขืนเปลี่ยนสบงเป็นกางเกงเปลี่ยนจีวรเป็นเสื้อคลุม เดี๋ยวก็รำมวยจีนไปเลยเมื่อรำมวยได้ เรื่องไม่สำรวมอื่น ๆ ก็ตามมาเป็นแถว ดีไม่ดีไม่ชอบใจศีลข้อไหนก็จะหาเหตุละเสียง่าย ๆ

      เพราะฉะนั้น แม้เครื่องนุ่งห่ม พระพุทธองค์ก็ทรงกำหนดให้ใช้ผ้าเป็นผืน ๆ ค่อย ๆ คลี่ออกมาแล้วก็ห่ม เพื่อฝึกสติ ถ้าเผลอสติก็ห่มได้ไม่ดี

     ถ้าสติดีแล้ว สมาธิก็พลอยดีไปด้วย เพราะว่าสติกับสมาธิเป็นเสมือนพี่น้องฝาแฝดกัน เป็นเงาตามตัว พรากจากกันไม่ได้ ที่ไหนมีสติ ที่นั่นจะมีสมาธิ ที่ไหนมีสมาธิ ที่นั่นจะมีสติ

     เหมือนอย่างเวลาเราจุดไฟหรือจุดเทียนพอจุดปั๊บความสว่างก็เกิดขึ้น ในความสว่างมีอะไรควบคู่อยู่ด้วย มีความร้อน ถามว่า ความสว่างกับความร้อนเป็นอย่างเดียวกันไหม คนละอย่างกัน สว่างก็คือสว่าง ร้อนก็คือร้อน คนละอย่างกัน แต่แยกจากกันไม่ได้ กอดคอไปด้วยกันตลอด

      จะบอกว่า ฉันจุดเทียนจะเอาแต่แสงสว่างไม่ต้องการความร้อนก็ไม่ได้ มันจะต้องร้อนของมัน เวลาเราก่อไฟหุงข้าวก็เช่นกัน พอไฟติดแดงโร่ก็ร้อนจัด เดี๋ยวข้าวก็เดือดขึ้นมา เราจะบอกว่า…เจ้าความสว่าง ข้าไม่ต้องการเจ้านะขณะนี้กลางวันแล้ว ข้าต้องการแต่ความร้อนความสว่างออกไปเถิด มันก็ไม่ไป จะอยู่ด้วยกัน

     สติกับสมาธิก็เช่นกัน เป็นพี่น้องฝาแฝดติดกันแบบฝาแฝดอิน-จันนั่นแหละ ผ่าตัดไม่ออก จะเห็นว่า แม้การนุ่งสบง จีวร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงให้นำมาเป็นบทฝึกสติซึ่งเท่ากับกำลังฝึกสมาธิไปด้วยในตัว ฉะนั้นรูปแบบของสบงจีวรที่ทรงกำหนดไว้ จึงไม่ควรไปเปลี่ยนแปลงเสีย สำหรับจีวร ผู้ที่ออกแบบคือ พระอานนท์ พุทธอนุชา จัดว่าเป็นดีไซน์ที่ยืนนานมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว เป็นดีไซน์ที่อายุยืนที่สุดในโลก น่าภูมิใจจริง ๆ
 


ข้อ ๕-๖ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักระวังมือระวังเท้าด้วยดีไปในบ้าน - นั่งในบ้าน”

     ข้อนี้หมายถึง การสำรวมกิริยามารยาทให้สงบ ไม่คะนองมือคะนองเท้า ไม่ไหวมือไหวเท้าเล่น เช่น กระดิกมือแกว่งเท้าอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

     เรื่องนี้พระภิกษุไม่ค่อยเป็นกัน เพราะเครื่องแต่งกายบังคับ ดนตรีสีเป่าอะไรก็ไม่ได้ฟังอยู่แล้ว จึงไม่รู้จะเคาะเป็นจังหวะอะไร แต่พวกฆราวาสหนุ่มสาวสมัยนี้เป็นกันมาก

     บางคนอาจคิดเข้าข้างตัวเองว่า เอ๊ะ…เราก็เป็นคนดี ไม่เห็นมีอะไรบกพร่องทำให้ใครเดือดร้อน แต่ทำไมพอไปบ้านเพื่อน กระดิกเท้าเล่นหน่อยเดียว คุณแม่เพื่อนมองค้อนเอาเสียหลายตลบ

     บางคนนั่งขย่มเท้า กระดิกเท้ากระดิกมือตามจังหวะเพลง บางคนถูกใจมากก็ดีดนิ้วเปาะเหมือนนักเลงตีไก่ อาการเหล่านี้ส่อความไม่สำรวม ขาดสติ ถ้าอยู่ต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ ท่านอาจดุว่าตักเตือนให้ แต่ถ้าเป็นคนที่จะต้องมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกันในภายหน้า เขาอาจบอกศาลาเลิกคบไปเลย

     เพราะคนขาดสติอย่างนี้มันฟ้องว่า ต้องเป็นคนเจ้าอารมณ์ ถ้ามีใครขัดใจเข้าหน่อยเป็นได้เรื่อง พอโดนกระทบเข้าบ้าง อารมณ์จะพลุ่งพล่านขึ้นมาทันที ระงับไม่อยู่ อย่างนี้ใครจะอยากคบด้วย


ข้อ ๗-๘ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจะมีตามองทอดลงไปในบ้าน-นั่งในบ้าน”

     ลักษณะของพระภิกษุต้องสำรวมแม้สายตา ไม่ใช่เดินไปตามถนน สายตาก็ส่ายสอดไปสองข้างทาง ชมนกชมไม้เรื่อยไป เห็นอะไรเขียว ๆ แดง ๆ เหลือง ๆ ชอบใจก็มองจนเหลียวหลัง

     แม้ที่สุดเมื่อเข้าไปในบ้านใคร ก็ไม่บังควรเดินเรื่อยไป ดูนั่นดูนี่ของเขา นั่งอยู่ก็ต้องไม่เหลียวลอกแลก สำรวจตรวจตราเหมือนขโมยมองหาทางหนีทีไล่

     พวกเราฆราวาสก็เช่นกัน ทั้งหญิงทั้งชายถ้ามีความจำเป็นว่าจะหาซื้อของก็ส่ายตาดูได้แต่อย่าให้ถึงกับหลุกหลิกขุดค้นจนเกินเหตุเจ้าของร้านจะเข้าใจผิดเกิดเรื่องเกิดราวกันเปล่า ๆ

     เวลาเข้าไปในบ้านใคร ขอฝากไว้ด้วยหลาย ๆ คนพอเข้าไปในบ้านใครก็ถือวิสาสะเดินดูบ้านเขาทั่วไปหมดเลย หม้อข้าวหม้อแกงเปิดดูหมด ของบางอย่างเจ้าของบ้านไม่อยากให้ดู ก็เหมือนเรานั่นแหละ บางทีเพื่อน ๆ เข้ามาในห้องเรา เราก็ไม่นึกอะไร แต่พอพี่ ป้า น้าอา เข้ามาในห้องเราบ้าง เรากลับไม่สบายใจทันที เพราะมีของหลาย ๆ อย่างที่เราไม่อยากให้ท่านเห็น

     บางทีเจ้าของบ้านอาจทำอะไรทิ้งค้างไว้ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ฉะนั้นการเข้าไปดูโน่นดูนี่เรื่อยเปื่อยไป ระวังแม่ของเพื่อนคนนั้นจะสั่งลูกสาวว่า “นี่…อย่าพายายคนนั้นมาอีกนะท่าทางหลุกหลิกอย่างกะขโมย” เสียหายหมดยกเว้นของที่เจ้าของบ้านเจตนาตั้งโชว์ไว้ให้ดูอย่างนี้ต้องช่วยดูหน่อย เช่น เขาเป็นนักกอล์ฟฝีมือเยี่ยม ได้ถ้วยชนะเลิศเอามาตั้งโชว์ไว้กลางบ้าน หรือเขาไปเรียนจบดอกเตอร์มาจากต่างประเทศ ติดรูปถ่ายไว้เต็มฝาห้องรับแขกอย่างนี้ต้องรีบเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ถามไถ่เขาเสียหน่อยพอให้ชื่นใจ ขืนไม่ดูเขาจะนึกตำหนิว่า แหม…ไม่มีมารยาท

     เขาอยากให้เราชม ช่วยชมเขาหน่อยเถิดแล้วจะได้เพื่อนรักอีกหลาย ๆ คน เพราะว่าคนในโลกนี้ล้วนชอบคำชมทั้งนั้น

     ในชีวิตประจำวัน เราจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำสิ่งใด เอาแต่เพียงว่าผิดกับถูกเท่านั้นยังไม่ได้ ยังต้องมีคำว่า “ควรหรือไม่ควร” ด้วยการกระทำบางอย่างมันผิด แต่ยังไม่ควรจะไปตำหนิ ยังไม่ควรที่จะไปคุ้ยเขี่ยขึ้นมาตอนนี้เพราะอารมณ์เขายังรับไม่ได้ ควรชมอะไรต่ออะไรให้เขาชื่นใจเสียก่อน แล้วค่อยไปติกันทีหลังจึงจะพอไหว ไม่ใช่พอเจอหน้า เขายังไม่ทันตั้งตัว ด้วยความหวังดีก็ปรี่เข้าไปเตือนเลย

     “คุณนี่แต่งตัวไม่ค่อยเรียบร้อย กินข้าวก็ไม่มีมารยาทเลย จะเดินเหินก็ตุ้บ ๆ ตั้บ ๆ…”เพื่อนฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไร ดีที่สุดก็แค่รำพึงว่า “ในตัวเรานี่หาดีไม่ได้เลยเชียวหรือ”แต่ถ้าเขากำลังอารมณ์เสียมา มีหวังเพื่อนรักเท่ารักจะตักษัย…

     ถามว่าที่เตือนไปถูกไหม? ถูก…ไม่ผิดเลยแต่ว่ายังไม่ควร ใครอยากจะเตือนใครในเรื่องเหล่านี้ ก่อนอื่นให้หาเรื่องชมมาสัก ๔-๕ เรื่องก่อน เป็นต้นว่า “แหม…จัดบ้านได้สวย โอ้โฮ...

     เล่นกีฬาก็เก่ง มิหนำซ้ำร้องเพลงก็เพราะด้วยได้ถ้วยนักร้องมาด้วย คุณนี่มีดีตั้งเยอะแยะ แต่ว่าถ้าเดินให้เบาๆ กว่านี้จะน่ารัก จะมีเครดิตอีกเยอะแยะเลย…”

     อย่างนี้พอฟังได้ ไม่ใช่ว่าพอมาถึงก็ติ ๆที่ดีไม่ชมเลย เอ๊ะ…เราก็พูดเรื่องจริงทั้งนั้นทำไมเขาหน้างอ คุยกันได้ไม่กี่คำ บางทีทั้ง ๆ ที่เขาชวนเรามากินข้าวที่บ้าน เขาอาจถามเราดื้อ ๆ ว่า “นี่เธอยังไม่กลับอีกหรือ” ไล่เรากลับเสียแล้ว

     หากเขามีที่จะให้ชม รีบชมเสียก่อน แล้วจะติอะไรทีหลังค่อยว่ากัน อย่างนี้ค่อยคบกันได้สิ่งละอันพันละน้อยนี้แหละที่เป็นเครื่องฝึกให้ตัวเรามีความน่ารักขึ้นมา แล้วก็รู้จักว่าอะไรควรอะไรไม่ควรขึ้นอีก

     ในสิ่งเล็ก ๆ น้อยๆ เหล่านี้ เมื่อเราแยกออกว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อีกหน่อยของใหญ่ ๆ หรือของที่ละเอียด เราก็จะแยกได้โดยอัตโนมัติเพราะเกิดความชำนาญขึ้นมาแล้ว

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
น้ำมหาประลัยน้ำมหาประลัย

อานิสงส์สร้างที่ปฏิบัติธรรมอานิสงส์สร้างที่ปฏิบัติธรรม

อานิสงส์การบูชาด้วยดอกบัวอานิสงส์การบูชาด้วยดอกบัว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ