มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - คุณค่าแห่งศิลปะ


[ 10 ก.ย. 2550 ] - [ 18281 ] LINE it!

 
มงคลที่ ๘

มีศิลปะ - คุณค่าแห่งศิลปะ
 

ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้เช่นใดเช่นหนึ่ง
ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จได้


        ทุกชีวิตเกิดมาต่างแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทำให้ชีวิตของเราพบกับหนทางอันประเสริฐ ลำพังการศึกษาหาความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เรา ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องมีความสามารถในทางปฏิบัติ ที่เรียกว่า มีศิลปะ วิธีที่จะฝึกตนให้มีศิลปะ ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ใจสงบ ผ่องใส บริสุทธิ์ เป็นการปรับปรุงแหล่งที่มาของความคิด ทำให้เกิดปัญญาที่จะปรับปรุงตนเอง ให้เป็นผู้มีศิลปะได้อย่างแท้จริง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดก  เอกนิบาต ว่า

"สาธุ โข สิปฺปกํ นาม    อปิ ยาทิสกีทิสํ
ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้เช่นใดเช่นหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จได้"

        นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญพหูสูตว่า เป็นผู้ฉลาดรู้ เป็นผู้ฟังมาก เรียนมาก แต่ผู้ที่มีความรู้ ใช่ว่าจะสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เสมอไป เช่น คนที่รู้วิธีหุงข้าว ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะหุงข้าวเป็น หรือคนที่รู้วิธีทำอาหาร ก็ไม่แน่นักว่าคนนั้นจะทำอาหารได้อร่อย อย่างนี้เรียกว่าฉลาดรู้ แต่อาจยังไม่ฉลาดทำ ต้องฉลาดทำด้วย งานถึงจะสำเร็จ ความฉลาดทำนี้เองเรียกว่า มีศิลปะ

       ผู้มีศิลปะ ถึงแม้ร่างกายไม่สมประกอบ หากสามารถนำศิลปะนั้นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมสร้างฐานะให้กับตนเองได้

        ดังเช่นในอดีต เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพาราณสี พระราชามีปุโรหิตอยู่คนหนึ่ง เป็นคนปากกล้า ชอบพูดมาก เมื่อเขาตั้งต้นพูด คนอื่นๆ จะไม่มีโอกาสได้พูด ด้วยความรำคาญหู พระราชาจึงทรงเสาะแสวงหาบุคคล ที่จะปราบปุโรหิตนี้ ไม่ให้พูดมากได้  

        *ในเมืองพาราณสีนั้น มีชายง่อยคนหนึ่ง เป็นผู้มีศิลปะในการดีดก้อนกรวด วันหนึ่งพวกเด็กชาวบ้านยกเขาขึ้นรถ ช่วยกันลากมาไว้ที่ใต้ต้นไทรใหญ่ใกล้ประตูเมือง และจ้างให้เขาดีดก้อนกรวด แต่งใบไทรให้เป็นรูปช้างบ้าง รูปม้าบ้าง ทำให้ใบไทรเกือบทั้งต้นเป็นช่องเล็ก ช่องใหญ่เต็มไปหมด ขณะเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าพาราณสีเสด็จพระราชดำเนินไปที่พระราชอุทยาน  เมื่อเสด็จถึงต้นไทรต้นนั้น พวกเด็กพากันหนีไปหมด เพราะกลัวจะถูกขับไล่ ทิ้งชายง่อยให้นอนอยู่ตรงนั้นเพียงลำพัง

     พระราชาประทับนั่งในราชรถ ทอดพระเนตรเห็นเงาใบไม้ ที่ขาดทะลุเป็นรูปร่างต่างๆ เช่นนั้น ทรงจ้องดูด้วยความสนพระทัย พลางตรัสถามมหาดเล็กว่า "ใครทำให้ใบไม้ขาดทะลุเป็นช่องอย่างนี้" 
 
        เมื่อพระองค์รู้ว่าชายง่อยเป็นคนทำ ทรงดำริว่า "คนผู้นี้แหละ สามารถปราบนิสัยพูดมากของปุโรหิตได้" ทรงรับสั่งให้พวกมหาดเล็กนำตัวชายง่อยมาเข้าเฝ้าทันที

      เมื่อชายง่อยได้เข้าเฝ้าพระราชาเพียงลําพัง พระองค์ตรัสถามชายง่อยว่า "ในราชสำนักของเรา มีปุโรหิตปากกล้าคนหนึ่ง เจ้าสามารถทำให้เขาหยุดพูดได้ไหม" 
 
        ชายง่อยกราบทูลว่า "ถ้าได้มูลแพะประมาณทะนานหนึ่ง ข้าพระองค์ก็สามารถทำได้พระเจ้าข้า"

        พระราชารับสั่งให้มหาดเล็กพาชายง่อยเข้าสู่พระราชวังทันที และจัดสถานที่ให้เขานั่งอยู่ภายในม่าน เจาะม่านเป็นช่องเล็กๆ แล้วสั่งให้จัดที่นั่งของปุโรหิต หันหน้าตรงไปทางช่อง   ผ้าม่านนั้น โดยวางมูลแพะแห้งประมาณ ๑ ทะนาน ไว้ใกล้ๆ ชายง่อย

        เมื่อถึงเวลาที่ปุโรหิตมาเข้าเฝ้า ทันทีที่พระราชาเริ่มสนทนา ปุโรหิตก็ไม่ยอมให้โอกาสคนอื่นๆ ได้พูด เริ่มกราบทูลพระราชาตามนิสัยพูดมากของตน ชายง่อยใช้ศิลปะของตน ดีดมูลแพะไปทีละก้อนทางช่องม่าน ให้พุ่งเข้าปากของปุโรหิต  ทุกครั้งที่อ้าปากพูด โดยที่ปุโรหิตไม่ทันรู้สึกตัวว่า กลืนกินมูลแพะเข้าไป จนกระทั่งมูลแพะทั้งทะนาน เข้าไปอยู่ในท้องของปุโรหิตถึงครึ่งท้อง

        เมื่อพระราชารู้ว่ามูลแพะหมดแล้ว จึงตรัสว่า "ท่านปุโรหิต ท่านกลืนมูลแพะเข้าไปตั้งทะนาน เพราะความเป็นคนช่างพูด ท่านยังไม่รู้ตัวเลยหรือ เราเกรงว่าท่านจะไม่สามารถย่อยมูลแพะนั้นได้ จงกลับไปดื่มยาถ่ายมูลแพะทิ้งเถอะ"  ทันทีที่ปุโรหิตรู้ตัวว่าตนเองกลืนมูลแพะเข้าไปทั้งทะนาน เพราะนิสัยช่างพูด ก็รู้สึกอับอายเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่นั้นมา เขากลายเป็นคนปิดปากสนิท แม้ใครจะชวนคุยก็ไม่ค่อยยอมพูดด้วย

        พระราชาทรงสบายหูจึงพระราชทานบ้านส่วย ๔ หลัง ในทิศทั้ง ๔ อีกทั้งบุรุษง่อยนั้นจะได้รับส่วยประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ เป็นประจำ ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้เข้าเฝ้าพระราชาปรารภเรื่องชายง่อย พลางกราบทูลว่า "ข้าแต่พระราชา ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ชายง่อยได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศ ก็ด้วยการดีดมูลแพะเท่านั้น"
 
        จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า เพียงแค่มีศิลปะในการดีด  ก้อนกรวดเท่านั้น ยังช่วยให้ชายง่อยได้ทรัพย์สมบัติมากมายถึงเพียงนี้ แล้วศิลปะอื่นๆ ที่ยิ่งกว่านี้ เช่นศิลปะที่ใช้ในการประกอบอาชีพ จะมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงใด

        อย่างไรก็ตาม ศิลปะที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงศิลปะทางกายเท่านั้น ยังมีศิลปะทางวาจา และศิลปะทางใจอีก ศิลปะทางวาจา คือ ความฉลาดในการพูด รู้จักเลือกพูดแต่สิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ สามารถยกใจของผู้ฟังให้สูงขึ้น ส่วนศิลปะทางใจ คือความฉลาดในการคิด สามารถควบคุมความคิด ให้เป็นไปในทางที่ดี ในทางที่สร้างสรรค์ คิดในทางที่ยกระดับใจให้สูงขึ้น

        ความมีศิลปะต่างๆ ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจนั้น เกิดขึ้นจากแหล่งที่มาของความคิดอัันบริสุทธิ์ หากแหล่งที่มาไม่บริสุทธิ์ ความคิดก็พลอยไม่บริสุทธิ์ไปด้วย เช่น คิดเบียดเบียนคนอื่น เห็นคนอื่นมีความดีก็ไม่ยอมรับ ไม่สบายใจ เกิดความอิจฉาริษยาขึ้นมา โดยไม่มีเหตุผล

        เมื่อความคิดไม่บริสุทธิ์ คำพูดก็ไม่บริสุทธิ์ จะพูดจาปราศรัยกับใคร ก็ทำให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งผู้พูดและผู้ฟัง การพูดจาให้คนอื่นเสียกำลังใจ นั่นแสดงว่าแหล่งที่มาของความคิดไม่บริสุทธิ์ ทำให้การกระทำก็ไม่บริสุทธิ์ตามไปด้วย เป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่น ผลของการกระทำก็เร่าร้อน มีทุกข์ ได้รับคำติเตียน ความสุขความสำเร็จจึงไม่เกิดขึ้น ศิลปะที่มาจากแหล่งความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่ควร ไม่เป็นมงคลสำหรับชีวิต

        ถ้าเรามีศีล มีธรรมประจำใจดี หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม แหล่งที่มาของความคิดก็จะบริสุทธิ์ มีแต่ความคิดในทางสร้างสรรค์ คิดอยากที่จะให้ทุกๆ คนมีความสุข ไม่คิดเบียดเบียน คำพูดที่พูดออกมาก็ส่งเสริมกำลังใจ ให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้สร้างความดี เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน การกระทำก็บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนผู้ใด เว้นจากอกุศลกรรม ผลออกมาคือความสุข ความสำเร็จ ศิลปะที่มาจากแหล่งที่มาของความคิดอันบริสุทธิ์นี้ เป็นมงคลอย่างยิ่ง

        โดยเฉพาะศิลปะแห่งการทำใจให้หยุดนิ่งนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราต้องรู้จักตะล่อมใจให้นุ่มนวล ละมุนละไม หยุดใจนิ่งๆ ไว้ตรงกลางกายอย่างเบาๆ สบายๆ เพราะ "ใจหยุด คือ สุดยอดของศิลปะ"  เป็นศิลปะแห่งการฝึกฝน พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น รู้จักควบคุมจิตใจ ให้ดำเนินไปบนหนทางสู่พระนิพพาน

        เพราะฉะนั้น การที่เราปฏิบัติธรรม คือ การปรับปรุงแหล่งที่มาของความคิดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ส่งผลให้ความมีศิลปะเกิดขึ้นในตัวของเรา เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนากันทุกๆ วัน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. สัฏฐิกูฏเปรต เล่ม ๔๑ หน้า ๒๔๐ 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - ศิลปะำในการดำรงชีวิตมงคลที่ ๘ มีศิลปะ - ศิลปะำในการดำรงชีวิต

มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๑)มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๑)

มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๒)มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๒)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน