นักแก้ปัญหา


[ 3 ส.ค. 2562 ] - [ 18276 ] LINE it!

นักแก้ปัญหา
ชีวิตคนเราไม่ได้ราบเรียบเสมอไป มักจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN
 


 
วิธีการที่จะพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาให้เป็นสุดยอดนักแก้ปัญหา 
 
          ก่อนจะแก้ปัญหาให้เลิกเดาก่อน เนื่องจากปัญหาที่ง่ายมักมีทางเลือก 2-3 ทางเลือก หากทางเลือกน้อยจะเดาถูก แต่ถ้าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นมีทางเลือกเป็น 10 ทาง หากใช้วิธีเดาโอกาสผิดจะมากขึ้น พอเลิกเดาแล้วเข้ามาสู่การแก้ไขปัญหา คือ 
 
          1.ต้องยอมรับว่าเรายังไม่รู้ คือต้องยอมรับก่อนว่าปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมาไม่ใช่ว่าจะรู้ไปหมดทุกเรื่อง
  
 
          2.ต้องหาสาเหตุปัญหาคืออะไรเกิดจากอะไร เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล นำปัญหามาพิจารณา แล้วเขียนออกมาทำทางเลือก ทำความเชื่อมโยง หากได้ข้อมูลมาไม่ครบ เนื่องจากไม่ได้รู้ทั้งหมด ก็ต้องคุยกับผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่าให้ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคนตัดสินใจแก้ปัญหา
 
          3.ต้องประเมินทางเลือก วิธีหนึ่งที่จะทำให้เลือกไม่ผิด คือการลองหาว่า อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าปัญหานั้นได้รับการแก้ไขแล้ว เช่น มีปัญหาเรื่องขาดบุคลากร หากไม่มีตัวชี้วัดอาจจะหาคนใหม่ แต่ความจริงแล้ว เมื่อไปวิเคราะห์ปัญหาแล้วกำหนดตัวชี้วัดว่า ทำอย่างไรจะลดเทิร์นโอเวอร์ ของแผนกไอที เนื่องจากแผนกไอทีเดี๋ยวก็ออกเดี๋ยวก็เข้า อ่านแล้วจะได้เจาะลึกว่า ปัญหาขาดบุคลากร เกิดจากการเทิร์นโอเวอร์ หรือว่าพนักงานมาอยู่ได้แป๊บเดียวแล้วก็ออกเกิดจากอะไร 
 
          การแก้ปัญหาจะต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คือต้องมีข้อมูลต้องศึกษาเจาะลึก ถ้าข้อมูลไม่พอ ก็ต้องหาความรู้เพิ่มหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่าเดาหรือใช้ความรู้สึกตัดสิน

 
          4.เมื่อได้แนวทางแล้ว ก็ทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งแผนนี้อาจจะมี 2 อย่าง คือแผนที่เป็นเวลา เป็นช่วงเวลา หมายถึงแต่ละเดือนจะทำอะไร หรือเป็นแผนระยะยาว ขึ้นอยู่กับลักษณะและการวิเคราะห์นั้นเอง

          5.ต้องมีการตรวจและประเมินผลลัพธ์ เมื่อทำอะไรแล้วมาตรวจดู หากไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่วางไว้ ให้หาวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อจำเป็น คือถ้าจำเป็นต้องแก้ต้องปรับก็ปรับไปตามนั้น จากนั้นก็ฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา
 
          เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะเลิกเดา แล้วทำตามตั้งแต่ข้อต้นมาจนถึงข้อนี้ ไม่ว่าปัญหาเล็กปัญหาน้อย ใช้วิธีเอาข้อมูลมาตัดสินใจ แล้ววิเคราะห์ว่าวิธีนั้นจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบไหน คือการฝึกให้เชี่ยวชาญ ต่อก็ไม่ต้องมานั่งไล่ทีละขั้นตอนเพราะทุกอย่างอยู่ในสมอง


นอกจากจะต้องฝึกทักษะแล้ว มีเรื่องอะไรที่ต้องฝึกอีกบ้างในการแก้ปัญหา?
 
          1.ต้องทำงานเป็นทีม เพราะปัญหาบางเรื่องแก้คนเดียวไม่ได้ เมื่อทำงานเป็นทีมแล้ว ความสำเร็จลุล่วงเป็นความสำเร็จของทีม เกิดความร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจกัน เกิดความรู้สึกผูกพันกับความเป็นเจ้าของ จะทำให้ทีมงานโต แต่ถ้าแก้ปัญหาเป็นอยู่คนเดียวทีมงานก็จะไม่โต
 
          2.การมีคอนเนคชั่น เนื่องจากคอนเนคชั่นก่อให้เกิดการช่วยเหลือกัน ให้มองว่าไม่ใช่คู่แข่งขัน มองว่าเป็นพันธมิตร บางครั้งคู่แข่งทางธุรกิจยังมาตั้งองค์กร เพื่อร่วมกันช่วยกันแก้ไขปัญหาหรือช่วยกันปรับให้อยู่ร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นการมีคอนเนคชั่นสำคัญมาก แล้วก็เปลี่ยนคู่แข่งขันให้กลายเป็นพันธมิตรได้
 
ทันธรรม...โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ 
 

          คนที่เป็นนักแก้ปัญหาที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็สามารถแก้ปัญหาได้หมด คนอย่างนี้หน่วยงานไหนก็ต้องการ เป็นคนที่มีคุณค่าในตัวเอง จะเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กลัวปัญหาเพราะมันใจว่าจะมีปัญหาอะไรจะแก้ได้ แล้วคนที่อยู่ใกล้ก็เกิดความมั่นใจตามไปด้วยความมั่นใจเป็นโรคระบาดได้ ซึ่งวิธีการเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีมีดังนี้ 
 
          1.เอาหลักการแก้ปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปใช้ ได้แก่ อริยสัจ 4 พระองค์แก้ด้วยหลัก 4 ข้อ คือ 

 
             1.1 ทุกข์ คือตัวปัญหานั่นเอง ปัญหาคืออะไรคือทุกข์ 
 
             1.2 สมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ ต้องวินิจฉัยปัญหาให้ชัดก่อน เมื่อเจอปัญหาหาให้ชัดว่าคือเรื่องอะไร จับประเด็นปัญหา แล้วบอกด้วยว่าสาเหตุคืออะไร ถ้าบอกสาเหตุชัดจะได้แก้ถูกจุด การมองปัญหาไม่ง่ายในชีวิตจริง เพราะจะถูกประเด็นเล็กๆบางอย่างเบี่ยงเบนไป หากอารมณ์ไม่นิ่งบางทีหงุดหงิดคนนั้นก็เลยบอกคนนั้นเป็นปัญหาจึงไม่เห็นตัวปัญหาจริงๆซึ่งบางทีอาจจะเป็นที่ตัวเราก็ได้
 
             1.3 นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาวะที่ปัญหาหมดไปแล้ว เป็นภาพแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหา ต้องมองให้ชัดว่าสิ่งที่ต้องการแก้ปัญหาให้เป็นอย่างที่ควรเป็นคืออะไร ตอบตัวเองให้ชัด 
 
             1.4 มรรค คือหนทางปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์ เมื่อเห็นตัวปัญหาชัด เห็นเหตุแห่งปัญหาชัดภาพความสำเร็จที่ต้องการชัด ก็มาดูว่าขั้นตอนที่จะทำเป็นสเต็ปไปสู่ความสำเร็จนั้นคืออะไร ต้องทำอย่างไร เหล่านี้คือหลักการเรื่องอริยสัจ 4  ในพระพุทธศาสนา สามารถมาวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

 
          2.คิดอะไรไม่ออก ให้ออกจากความคิด ทำจิตให้สงบ แล้วจะพบทางออก เมื่อคิดอะไรไม่ออก กำลังสับสนวุ่นวาย คิดอะไรไม่ออก ให้ออกจากความคิด คือเลิกคิด หยุดคิดชั่วคราว ทำสมาธิ ท่องสัมมาอะระหัง ทำใจนิ่งๆ ที่กลางท้องที่ศูนย์กลางกาย จะพบว่าได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ ในบางภาวะอารมณ์จะให้ใช้หลักอริยสัจ 4 อาจคิดอะไรไม่ออก เพราะใจสับสน ก็ต้องเอาหลักข้อที่ 2 มาใช้ก่อน คือให้ออกจากความคิด นั่งสมาธิสวดมนต์ หรืออิติปิโส ก็ได้ อะระหังสัมมา ก็ได้หรือธรรมจักรก็ได้ พอใจสบายก็นั่งสมาธิ พอใจสงบค่อยมาวิเคราะห์ด้วยหลักอริยสัจ 4 แล้วจะเริ่มมองเห็นอะไรชัดขึ้น 

 
          3.ให้เคลียร์อารมณ์ให้ดี อารมณ์มีส่วนต่อความรู้สึกนึกคิดกำลังใจ บุคลิก สุขภาพ หากอารมณ์กำลังแย่ ความคิดดีๆไม่เกิด แต่หากมีอารมณ์สบาย อารมณ์นิ่งๆความคิดดีๆจะเกิด กำลังใจจะมา แล้วก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นการบริหารจัดการอารมณ์สำคัญมาก อารมณ์ขึ้นกับตัวเรา 
 
          บางทีก็หงุดหงิดคนอื่นที่ไม่ทำอย่างใจเราคิด การแก้ไม่ใช่ไปแก้คนอื่น ให้แก้ที่ใจเรา แล้วความรู้สึกอารมณ์จะเปลี่ยนไป เพราะยากที่จะไปบังคับคนทั้งโลกให้ได้อย่างใจ แม้เจอสิ่งกระทบแบบเดียวกัน แต่เมื่ออารมณ์ความคิดเปลี่ยน ความรู้สึกเราจะเปลี่ยนไป เราสามารถปรับอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ด้วยการปรับความคิดของเราไม่ต้องไปคิดแก้คนอื่นทั้งโลก แล้วสุดท้ายอารมณ์จะดี
 
          เมื่อมี 3 ข้ออารมณ์ดีเบิกบานไม่หงุดหงิด ใจนิ่งเป็นสมาธิเบิกบานแจ่มใส วิเคราะห์ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 ได้อย่างแจ่มชัด มีพลังใจในการขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้น สุดท้ายจะสามารถแก้ปัญหาน้อยใหญ่ที่มาถึงได้สำเร็จอย่างแน่นอน
 

รับชมคลิปวิดีโอนักแก้ปัญหา : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอนักแก้ปัญหา : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะนักแก้ปัญหา : ทันโลกทันธรรม




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เงาสะท้อนตัวตนเงาสะท้อนตัวตน

ความสัมพันธ์ลับแลความสัมพันธ์ลับแล

ประโยชน์จากน้ำตาประโยชน์จากน้ำตา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม