มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ให้บ่อยๆ รวยบ่อยๆ


[ 2 ธ.ค. 2550 ] - [ 18281 ] LINE it!


 
มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
ให้บ่อยๆ รวยบ่อยๆ 
 
        กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์บ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้วก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการน้ำนมย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ คนทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญา ถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก

        การจะทำภารกิจการงานในทางโลกก็ดี หรือการจะประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาก็ดี ต้องหมั่นทำบ่อยๆ หมั่นตรึกหมั่นนึกบ่อยๆ ทำเนืองๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยากเย็น  สิ่งใดที่เราหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ ย่อมจะเกิดความชำนาญ เหมือนทางไหนที่เดินบ่อยๆ ก็จะโล่งเตียน หนทางภายในก็เช่นเดียวกัน ถ้าดำเนินจิตเข้าไปบ่อยๆ หยุดนิ่งอยู่ตรงกลางอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน เราก็จะเข้าถึงจุดแห่งความละเอียดภายในได้ ใจจะถูกปรับให้บริสุทธิ์ขึ้น ละเอียดขึ้น เมื่อใจละเอียดสะอาดบริสุทธิ์ก็จะดึงดูดแต่สิ่งที่ดีๆ เข้ามาในชีวิตของเรา เมื่อกระแสบุญหลั่งไหลเข้ามาในใจ กระแสบาปก็จะถูกผลักออกไป คุณธรรมความดีก็จะเกิดขึ้นในจิตใจ ธุรกิจการงานก็จะเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นการทำภาวนากับการทำหน้าที่การงาน    จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน อุทัยสูตร ว่า
 
"ปุนปฺปุนํ เจว วปนฺติ พีช        ปุนปฺปุนํ วสฺสติ เทวราชา
ปุนปฺปุนํ เขตฺตํ กสนฺติ กสฺสกา        ปุนปฺปุนํ ธญฺญมุเปนฺติ รฏฺฐํ
ปุนปฺปุนํ ยาจกา ยาจยนฺต        ปุนปฺปุนํ ทานปตี ททนฺต
ปุนปฺปุนํ ทานปตี ททิตฺวา        ปุนปฺปุนํ สคฺคมุเปนฺติ ฐาน
ปุนปฺปุนํ ขีรณิกา ทุหนฺต        ปุนปฺปุนํ วจฺโฉ อุเปติ มาตร
ปุนปฺปุนํ กิลมติ ผนฺทติ จ        ปุนปฺปุนํ คพฺภมุเปติ มนฺโท
ปุนปฺปุนํ ชายติ มิยฺยติ จ        ปุนปฺปุนํ สีวถิกํ หรนฺต
มคฺคญฺจ ลทฺธา อปุนพฺภวาย        ปุนปฺปุนํ ชายติ ภูริปญฺโญ

        กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ  ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์บ่อยๆ  ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ  ทานบดีให้บ่อยๆ แล้วก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ  ผู้ต้องการน้ำนมย่อมรีดนมบ่อยๆ  ลูกโคย่อมเข้าหา  แม่โคบ่อยๆ  บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ  คนทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ  ส่วนผู้มีปัญญา ถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก"

        การก้าวไปข้างหน้าย่อมมีก้าวแรกเสมอ แต่การทำบ่อยๆ นั้นไม่ได้หมายความว่า เป็นการย่ำๆ อยู่กับที่แต่อย่างใด แต่เป็นการหมั่นย้ำหมั่นทำ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ความพร้อมของชีวิตที่สมบูรณ์บริบูรณ์ที่สุด การทำบ่อยๆ ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม จึงเป็นความปรารถนามาทุกยุคทุกสมัย

        แม้กสิกรหรือชาวนายังต้องไถนาบ่อยๆ เมื่อฝนตกก็ต้องทำการเพาะปลูกมากๆ บ้านเมืองจึงจะบริบูรณ์ด้วยข้าวน้ำพืชพันธุ์ธัญญาหาร ถ้าชาวนาเกียจคร้านไม่ขยันในการหว่านไถ ไม่ช่วยกันทำมาหากิน บ้านเมืองก็จะขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

        ยาจกยังต้องขอบ่อยๆ  ถ้าไม่ขอก็อด คำว่ายาจกคือคนขอทาน จะแตกต่างจากคำว่า สมณะ ซึ่งเป็นการขอแบบอริยะ ที่เป็นเนื้อนาบุญแก่ผู้ให้ทาน บุคคลสองประเภทนี้มีข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน คุณธรรมก็ต่างกันเหมือน ก้อนกรวดเทียบกับภูเขา พวกยาจกจะขอด้วยการแสดงอาการอัน น่าสงสาร

        ส่วนสมณะหรือพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ที่ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งตรงต่อหนทางแห่งพระนิพพาน ท่านจะโปรดสัตวโลกอย่างผู้สงบ ด้วยอาการอันน่าเลื่อมใส เมื่อให้แล้ว ใจของผู้ให้จะเบิกบาน เหมือนดอกบัวที่คลี่ขยายยามต้องแสงพระอาทิตย์ เราจะเห็นได้จากการที่ท่านเดินบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเราในยามเช้า ท่านจะเดินเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยอาการอันสงบสำรวม และหยุดยืนสงบนิ่งอยู่หน้าบ้านของเรา เมื่อได้บิณฑบาตแล้ว ท่านจะให้ศีลให้พร ถ้าไม่มีใครใส่บาตร ท่านก็จะเดินเลยไป จะไม่แสดงกิริยาอาการเรียกร้องใดๆ

       เมื่อเรามีไทยธรรมข้าวปลาอาหาร ควรหาโอกาสทำบุญกับท่านเหล่านั้น เพราะผู้ทรงศีลได้ชื่อว่าผู้มีกัลยาณธรรมอันงาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของโลก เราถวายปัจจัย ๔ อันควรแก่สมณบริโภคแด่ท่านเหล่านั้น ท่านจะได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าธรรมะและประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อขจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายแล้วจะได้มาแนะนำสั่งสอนเรา ให้พ้นจากความทุกข์พบความสุขที่แท้จริงตามท่านไปด้วย เราย่อมจะได้บุญใหญ่ไปสวรรค์และนิพพาน  ฉะนั้นตั้งแต่โบราณมา ชาวพุทธจึงนิยมถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาด้วยการตักบาตรทุกเช้าเป็นกิจวัตรที่ไม่เคยขาด

        ผู้ใดเป็นใหญ่ในทาน ให้ทานด้วยความเคารพ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นทานบดี ทานบดี คือผู้ที่มีใจปราศจากความตระหนี่ ชอบให้ทานด้วยมือของตนเอง เวลาทำทานก็ให้ของที่ประณีต ที่ดีเลิศกว่าที่ตนเองใช้ ให้ทานเป็นประจำสม่ำเสมอโดยไม่ขาด ดวงบุญที่เกิดจากการให้ทานก็จะติดเป็นผังสำเร็จติดตัวไปทุกภพทุกชาติ บุญนี้จะคอยดึงดูดให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ส่งผลให้สมบูรณ์ บริบูรณ์ทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ เหมือนพวกบัณฑิต    นักปราชญ์ไม่ว่ากี่ภพกี่ชาติท่านก็ให้ทานมาตลอด อานิสงส์นั้นทำให้เกิดอยู่ใน ๒ ภูมิ คือมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อสร้างบารมี และเสวยทิพยสมบัติในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น

        ส่วนคนพาล คือ คนที่ไม่เห็นคุณค่าของการทำความดี ยิ่งถ้าเป็นผู้มีความเห็นผิด เช่น เห็นว่าการทำทานไม่มีผล ผลของการทำดีและทำชั่วไม่มีจริง จึงเอาความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง ทำบาปอกุศลมากเข้าๆ เมื่อละโลกไปแล้ว ก็มีแต่ไปสู่อบายภูมิ เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสารอีกยาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า สังสารวัฏของ  คนพาลนั้นยาวนาน เพราะหาที่สิ้นสุดไม่พบ

        คำว่า ผู้มีปัญญา ในที่นี้มิได้หมายเพียงแค่ผู้ที่จบปริญญาเท่านั้น แต่ท่านหมายถึงผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกต้อง เห็นว่าการทำทานมีผลดีจริง ผลของการทำดีทำชั่วมีอยู่จริง พ่อแม่มีพระคุณจริง โลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง เทวดามีอยู่จริง สัตว์นรกมีอยู่จริง สมณพราหมณ์ผู้ตั้งใจฝึกตนให้หมดกิเลสมีอยู่จริง คนมีปัญญาต้องเป็นผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม และเป็นแบบอย่างของการสร้างบารมีได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อให้ได้มรรคผลคือ หนทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เป็นการเกิดเพื่อจะได้ไม่กลับมาเกิดอีก

        พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถานี้ เพราะทรงปรารภอุทัยพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ผู้ไม่รู้เรื่องบุญเรื่องกุศลอย่างลึกซึ้งมาก่อน แต่เมื่อรู้แล้วก็ทำได้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา

        *วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์ว่าจะได้บรรลุธรรม จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีเพียงลำพังพระองค์เดียว เสด็จถึงประตูเมือง นำบาตรออกแล้วเสด็จเข้าไปในเมือง ทรงดำเนินไปประทับยืนที่ซุ้มประตูบ้านของพราหมณ์ ด้วยพระอากัปกิริยาที่น่าเลื่อมใส 

        ขณะนั้นเอง อุทัยพราหมณ์กำลังจะออกไปข้างนอก เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนสงบนิ่งอยู่หน้าบ้าน แม้ไม่รู้ว่าเนื้อนาบุญที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกมาโปรดถึงบ้าน แต่ก็ได้ถวายโภชนะที่ภรรยาจัดแจงไว้สำหรับตัวเอง ถวายจนเต็มบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยไม่ได้พูดจา หรือสนทนาอะไรกับพระพุทธองค์
 
        ในวันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาบิณฑบาตที่บ้านของอุทัยพราหมณ์อีก พราหมณ์ก็ได้ถวายอาหารจนเต็มบาตรอีกเช่นกัน แม้ในวันที่ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จมาบิณฑบาตที่บ้านของพราหมณ์อีก พราหมณ์ก็ได้ใส่โภชนาหารถวายจนเต็มบาตรอีก แม้อุทัยพราหมณ์ถวายจนเต็มบาตรตลอด ๓ วัน แต่แท้จริงแล้วมิได้ถวายด้วยศรัทธา ที่ทำไปเพราะกลัวจะถูกชาวบ้านแถบนั้นนินทาว่า มีพระมาโปรดถึงประตูบ้านแล้วแม้อาหารมีอยู่ตรงหน้าก็ไม่ยอมถวายพระ แต่ในวันนี้ พราหมณ์ทนไม่ไหว  ทันทีที่ถวายอาหารแล้วจึงทูลถามว่า "พระสมณโคดม พระองค์ทรงติดใจในรสอาหารหรือ ถึงได้เสด็จมาบ่อยๆ"
 
        เมื่อทรงได้จังหวะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนอานิสงส์ของการให้ทานว่า หากจะทำบุญก็ต้องทำบุญบ่อยๆ จนกว่าจะเต็มเปี่ยม และทรงเทศนาให้ฟังตามลำดับ อุทัย-พราหมณ์พร้อมด้วยบุตรภรรยาต่างปล่อยใจไปตามกระแส  พระธรรมเทศนา ในที่สุดได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ท่านได้ถวายบังคมแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า และยอมตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต
 
        จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของพวกเรา ท่านทรงมีพระญาณที่บริสุทธิ์ลึกซึ้ง ล่วงวิสัยของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงทรงโปรดสัตวโลกนับไม่ถ้วน นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่ได้มาพบพระพุทธศาสนา มา    รู้แจ้งเห็นจริงในคำสั่งสอน เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อและได้ทำบุญในเนื้อนาบุญอันเลิศ คือพระสงฆ์สาวก การทำอย่างนี้ได้ชื่อว่า ทำถูกเนื้อนาบุญ ดังนั้นทุกท่านจะต้องหมั่นทำบุญบ่อยๆ ทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อฉันใด นักสร้างบารมีต้องไม่อิ่มด้วยการสร้างบารมีฉันนั้น เพราะเรายังต้องสั่งสมบุญอีกมากและสร้างบารมีกันไปอีกนาน จนกว่าจะเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต และอย่าลืมต้องหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมทุกๆ วัน อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว เราจะได้เข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยภายในที่เป็นที่พึ่งกันทุกคน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. อุทัยสูตร เล่ม ๒๕ หน้า ๒๖๕ 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ไม่ควรดูหมิ่นบุญมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ไม่ควรดูหมิ่นบุญ

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อสทิสทานมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อสทิสทาน

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตรหนี่ชีวีสดใสมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตรหนี่ชีวีสดใส



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน