มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ทำอย่างไรได้อย่างนั้น


[ 22 ม.ค. 2551 ] - [ 18271 ] LINE it!


 
มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
ทำอย่างไรได้อย่างนั้น

ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย ศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ

        การไปสู่อายตนนิพพานเปรียบเสมือนการเดินทางไกล จำเป็นจะต้องมีเสบียงคือบุญ เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้สร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย พระโพธิสัตว์เจ้าทุกๆ พระองค์ได้สร้างบารมี ๓๐ ทัศจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอาศัยบุญอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นบุญจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต เป็นสิ่งที่เราควรจะสั่งสมกันทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สุมนสูตร ว่า

        "ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย ศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ในปรโลก"

        มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีเชื้อชาติ ศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ล้วนปรารถนาความสุข เกลียดชังความทุกข์ ความสุขที่แต่ละคนได้รับในปัจจุบันก็ไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาในตระกูลสูง มีฐานะทางครอบครัวดี มีชีวิตเจริญรุ่งเรืองก็มีความสุขมาก แต่บางคนเกิดมาในตระกูลต่ำมีฐานะไม่มั่นคง ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ก็มีความทุกข์มาก

        ทั้งนี้เป็นเพราะการประกอบเหตุในอดีต ถ้าใครสั่งสมบุญไว้มาก จะได้รับความสุขมาก ใครสั่งสมบุญมาน้อย ก็ได้รับความสุขน้อย บุญเป็นชื่อของความสุข ในพระพุทธศาสนา มีบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง โดยย่อเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ การทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา
 
        การที่บุคคลถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติ เพราะเขาสั่งสมการให้ทานมามาก การถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ เพราะได้รักษาศีลมาอย่างดี การเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะได้เจริญสมาธิภาวนามามาก

        เราจะสังเกตว่าบรรพบุรุษของเราทุกยุคทุกสมัย ได้ดำเนินชีวิตตามหลักของทาน ศีลและภาวนากันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยมีแต่ความสงบสุข ความอุดมสมบูรณ์ตลอดมา แต่ในปัจจุบันเราให้ความสนใจทางด้านวัตถุมากกว่า จนลืมพัฒนาจิตใจของตน ทำให้ประมาทในการสั่งสมบุญ

        บางคนมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง คิดว่าบุญบาปไม่มี เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงไม่เชื่อเรื่องบุญกุศล แต่ผู้รู้ทั้งหลาย ได้พิสูจน์แล้วว่า บุญบาปมีจริง เป็นของละเอียดที่รู้เห็นได้ด้วยธรรมกายเท่านั้น สิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะคิดเองได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เป็นอจินไตย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ ไม่ควรคิด ผู้ใดคิด ผู้นั้นพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า"

        ในอจินติตสูตรกล่าวถึงอจินไตย ๔ อย่าง ได้แก่
 
        พุทธวิสัย คือเป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เช่น การแสดงปาฏิหาริย์ของพระองค์ เป็นต้น
 
        อย่างที่ ๒ คือ ฌานวิสัย เป็นวิสัยของผู้มีฌาน เช่น การเหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น
 
        อย่างที่ ๓ คือ วิบากแห่งกรรม เป็นผลของการกระทำ ถ้าทำบุญย่อมได้รับผลของบุญ ถ้าทำบาปย่อมได้รับผลของบาป
 
        ประการสุดท้าย คือ โลกจินดา คือความคิดในเรื่องของโลก เช่นใครเป็นผู้สร้างโลก ใครเป็นผู้สร้างดวงอาทิตย์ เป็นต้น

        เรื่องอจินไตยไม่สามารถรู้ได้ด้วยการคิด แต่รู้ได้ด้วยญาณทัสสนะและเห็นได้ด้วยธรรมจักษุของธรรมกาย คล้ายกับการรักษาโรคในสมัยก่อน ซึ่งแต่เดิมไม่รู้ว่าโรคต่างๆ เกิดมาจากสาเหตุอะไร เพราะเราไม่เห็นเชื้อโรคด้วยตาเปล่า ต่อมาเมื่อมีกล้องจุลทรรศน์ เราจึงมองเห็นตัวของเชื้อโรคได้ บุญและบาปก็เช่นเดียวกัน เป็นของละเอียด เรามองไม่เห็นด้วยตามนุษย์ แต่เห็นได้ด้วยตาของธรรมกาย

        ผู้ที่เข้าถึงธรรมกาย จึงจะซาบซึ้งเรื่องของบุญและบาป จะเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องของกฎแห่งกรรม เพราะพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของเหตุและผล บุคคลประกอบเหตุอย่างไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เหมือนปลูกถั่วย่อมได้ถั่ว ปลูกงาย่อมได้งา พระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องผลของบุญไว้ในสุมนสูตรว่า

        *ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภิกษุ ๒ รูป เป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองมีศีลที่บริสุทธิ์และมีปัญญาที่อบรมมาดีแล้วเสมอกัน รูปหนึ่งมีนิสัยชอบให้ทานเสมอ เมื่อท่านได้รับไทยธรรมจากญาติโยม มักจะแบ่งปันให้ภิกษุรูปอื่นๆ และชอบชักชวนเพื่อนภิกษุด้วยกันให้ทำทาน แต่เพื่อนอีกรูปหนึ่งไม่เห็นด้วย จึงไม่ชอบให้ทาน เพราะคิดว่า การที่เอาไทยธรรมของญาติโยมไปให้ผู้อื่นเป็นการทำลายศรัทธาของโยม และเป็นพระไม่จำเป็นต้องให้ทานเหมือนญาติโยมก็ได้ เพราะพระภิกษุดำรงอยู่ในสถานะของผู้รับ 

        ต่อมา เมื่อภิกษุทั้งสองรูปมรณภาพแล้ว ได้ไปบังเกิดในเทวโลก พระภิกษุที่ให้ทานเป็นประจำมีวิมานใหญ่โต มีรัศมีกายสว่างไสวมาก มีอายุ วรรณะ สุขะ ยศและอธิปไตย คือ ความเป็นใหญ่ที่เป็นทิพย์เหนือกว่าพระภิกษุที่ไม่ได้ให้ทาน ทั้งสองเวียนว่ายตายเกิดในโลกมนุษย์และเทวโลกอยู่หนึ่งพุทธันดร

        เมื่อมาถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านทั้งสอง ลงมาเกิดพร้อมกัน ภิกษุรูปที่ชอบให้ทานเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อประสูติได้บรรทมอยู่ในพระอู่ทองภายใต้เศวตฉัตร ส่วนอีกรูปหนึ่งเกิดเป็นลูกของนางสนม นอนอยู่ในเปลธรรมดาข้างๆ พระโอรสนั้น ด้วยเหตุที่เด็กทั้งสองเป็นผู้มีบุญมาเกิด จึงสามารถระลึกชาติได้ รู้ถึงเหตุในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันชาตินี้

        พระกุมารจึงกล่าวว่า "เพราะท่านไม่เชื่อคำชักชวนของเรา ว่าให้หมั่นบำเพ็ญทาน ท่านจึงไม่ได้สมบัติที่ประณีตเช่นเรา" 
 
        ส่วนลูกของนางสนมตอบว่า "ท่านรู้อยู่แล้วมิใช่หรือ ว่าสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงเป็นเพียงแค่ปฐวีธาตุ จะมัวไปยึดมั่นถือมั่นกันทำไม"

        บังเอิญพระนางสุมนาซึ่งเป็นพี่สาวของพระกุมารน้อย ได้ยินคำสนทนาของทารกทั้งสอง ด้วยความแปลกใจและคิดว่าน้องชายคงเป็นผู้มีบุญมาก จึงสามารถพูดได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก และสงสัยในคำสนทนานั้นมาก จึงรีบไปทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
 
        "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าสาวกของพระองค์ ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่ากัน คนหนึ่งทำทานกุศล แต่อีกคนหนึ่งไม่ได้ทำ คนทั้งสองนั้นเมื่อตายไปแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์ เป็นเทวดาเหมือนกัน จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่" 
 
        พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "สุมนา คนทั้งสองจะมีความพิเศษแตกต่างกัน คือผู้ที่ให้ทาน ย่อมได้รับสมบัติอันเป็นทิพย์เลิศกว่าผู้ไม่ทำทาน ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ ยศและอธิปไตย คือความเป็นใหญ่"

        พระนางสุมนาได้ทูลถามต่อว่า "ถ้าเทวดาทั้งสองจุติจากเทวโลกมาสู่ความเป็นมนุษย์ คนทั้งสองจะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่" 
 
        พระองค์ทรงตอบว่า "สุมนา คนทั้งสองนั้น ย่อมมีความพิเศษแตกต่างกัน คือผู้ทำทานกุศล หากเป็นมนุษย์จะได้รับสิ่งที่เลิศกว่าผู้ไม่ทำทานกุศล ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ ยศและอธิปไตยที่เป็นมนุษย์ "

        พระนางสุมนาทูลถามต่อว่า "ถ้าคนทั้งสองออกบวชเป็นบรรพชิตเหมือนกัน จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่" 
 
        ทรงตอบว่า "คนทั้งสองนั้นย่อมมีความพิเศษแตกต่างกัน คือคนที่ทำทานกุศล เมื่อเป็นบรรพชิต จะสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัย ๔ ที่เลิศกว่าคนที่ไม่ทำทานกุศล และเพื่อนสหธรรมิกก็จะนำแต่ความสุขมาให้"

        พระนางสุมนาทูลถามต่อไปอีกว่า "ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตผลเหมือนกัน จะมีความพิเศษแตกต่างกันหรือไม่" 
 
        พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "เราไม่กล่าวว่ามีความแตกต่างกัน เพราะทั้งสองเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว"

        พระนางสุมนาฟังแล้วเกิดความปีติท่วมท้น ได้อุทานว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ สมควรแล้วที่ทุกคนควรจะให้ทาน ควรจะทำบุญ เพราะบุญมีอุปการะแก่มนุษย์ แก่เทวดาและบรรพชิต" 
 
        พระพุทธองค์ตรัสรับว่า "อย่างนั้น แหละสุมนา สมควรแท้ที่คนทั้งหลายจะให้ทานและทำบุญ เพราะบุญมีอุปการะมาก"

        ฉะนั้น บุญเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จึงไม่ควรที่จะประมาทในการดำเนินชีวิต ควรหมั่นสั่งสมบุญ ด้วยการให้ทานอย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลให้บริสุทธิ์และหมั่นเจริญภาวนา ทำใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  เมื่อใจของเราหยุดนิ่งถูกส่วน กระแสบุญก็เกิดขึ้นในกลางกาย จะบันดาลให้เราสำเร็จสมปรารถนาทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรม 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. สุมนสูตร เล่ม ๓๖ หน้า ๖๐ 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ให้ทานอย่างสัตบุรุษมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ให้ทานอย่างสัตบุรุษ

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - เวลาอันทรงคุณค่ายิ่งมงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - เวลาอันทรงคุณค่ายิ่ง

มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - ตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อพิชิตพระนิพพานมงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - ตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อพิชิตพระนิพพาน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน