ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 62


[ 28 มี.ค. 2551 ] - [ 18259 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 62


        จากตอนที่แล้ว  อาจารย์เสนกะถูกมโหสถโต้กลับด้วยข้ออุปมาที่เหนือชั้น จึงตั้งประเด็นขึ้นใหม่ว่า “คนที่มีทรัพย์สมบูรณ์ด้วยยศ ย่อมมีคำพูดน่าเชื่อถือ จูงใจผู้คนได้ง่าย เพราะใครๆก็นิยมคนมีทรัพย์ คนมีปัญญา หากไม่มีทรัพย์เป็นแรงหนุนแล้ว ย่อมไม่มีใครมานิยมชมชอบ”
 
        มโหสถก็โต้กลับทันที แกมเหน็บแนมลึกๆว่า “คนพาลผู้โง่เขลามองเห็นแต่สุขจอมปลอมในโลกนี้ โดยไม่คำนึงถึงโลกหน้า พูดเอาแต่ได้ มุ่งเพียงประโยชน์ส่วนตัวแต่ให้ร้ายผู้อื่น ต่อให้เขามีทรัพย์สักเท่าใด ก็ย่อมถูกตำหนิในที่ประชุมชน เมื่อเขาตายแล้วยังจะต้องไปสู่ทุคติอีก”

        ท่านเสนกะถูกเหน็บเต็มๆ ก็เจ็บลึกเข้าไปในใจ รีบโต้กลับว่า  “บุคคลผู้มีปัญญา แต่ไร้ทรัพย์ไร้ที่พักพิง ก็หมดสง่าราศี ถึงจะพูดดีมีประโยชน์ แต่ถ้อยคำของเขาย่อมไม่น่าเชื่อถือ เขาปรากฏในที่ประชุมชนเหมือนหิ่งห้อยในเวลาดวงอาทิตย์อุทัย อย่างนี้แล้วเขาจะประเสริฐอย่างไร”

        มโหสถค้านในทันทีว่า “บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ย่อมไม่กล่าวคำเหลาะแหละ เขาย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญในที่ประชุมชน ทั้งภายหลัง ย่อมได้ไปสู่สุคติอย่างแน่นอน ส่วนคนพาลที่พูดเอาแต่ได้ เขาย่อมถูกตำหนิติฉิน และภายหลังย่อมไปสู่ทุคติโดยมิต้องสงสัย”

        อาจารย์เสนกะรีบโต้กลับด้วยวาทะว่า 
คนมีปัญญาแต่ไร้ทรัพย์ ก็สิ้นวาสนา ต้องเป็นขี้ข้าของคนมีทรัพย์” 
 
        มโหสถบัณฑิตก็แย้งกลับว่า “คนพาลแม้มีทรัพย์ แต่เขาไม่รู้จักจัดแจงการงาน ไม่ช้าทรัพย์นั้นก็จะต้องสูญสิ้นไป แล้วคนโง่จะเหลือสิ่งใดให้ภาคภูมิใจอีกเล่า”

        เหตุผลของมโหสถเมื่อสักครู่ ทำเอาอาจารย์เสนกะเริ่มตื้อตัน ถึงกับต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อครุ่นคิดหาเหตุผลมาแย้งมโหสถให้จงได้ ในที่สุดอาจารย์เสนกะจึงตัดสินใจงัดไม้เด็ด ซึ่งเป็นวาทะไม้ตายที่คิดว่าไม่มีใครจะเอาชนะได้อีกแล้ว โดยมุ่งหวังจะเล่นงานมโหสถบัณฑิตให้ยอมจำนนให้จงได้ “ขอเดชะ มโหสถยังเป็นเด็กทารก เธอจะรู้ประสีประสาอะไร”

        ท่านเสนกะเป็นฝ่ายเหน็บบ้าง จากนั้นจึงกล่าวต่อไป ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นอย่างผู้กุมชัยชนะว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายต่างก็เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญารอบรู้ด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วก็ยังพากันน้อมกายถวายชีวิตเป็นข้าเฝ้าของพระองค์ผู้ทรงอิสริยยศ ดูอย่างท้าวสัก
กเทวราชทรงครองความเป็นใหญ่ในหมู่ทวยเทพ ฉันใด พระองค์ก็ทรงเป็นใหญ่เหนือข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉันนั้น ข้าพระพุทธเจ้าตระหนักถึงความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ดังนี้ จึงขอกราบทูลยืนยันว่า คนมีปัญญาเป็นคนทราม คนมีทรัพย์เท่านั้นประเสริฐ พระพุทธเจ้าข้า”
 
        สิ้นเสียงกราบทูลของท่านเสนกะ อาจารย์ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะต่างยิ้มกริ่ม เพราะเริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะชนะมโหสถได้เด็ดขาด ในขณะที่เหล่าข้าราชบริพารที่คอยฟังอยู่ด้วยใจจอจ่อ ต่างพากันส่งเสียงอึงคะนึง หลายคนพลอยหนักใจแทนมโหสถ เพราะข้อโต้แย้งที่อาจารย์ยกมาอ้างนั้น เป็นหลักยันที่ยากจะลบล้างได้

        ส่วนมโหสถหาได้หวั่นวิตกในข้อโต้แย้งของอาจารย์เสนกะไม่ กลับกราบทูลพระราชาอย่างองอาจว่า “ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า อาจารย์เสนกะจะรู้อะไร พระพุทธเจ้าข้า เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสดับคำของข้าพระองค์ก่อนเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

        ครั้นแล้วมโหสถจึงพลิกไม้ตายของท่านเสนกะกลับไปอีกด้านหนึ่ง แล้วตีกลับคืนไปว่า “เมื่อผู้มีปัญญามุ่งหวังจะกระทำกิจใด ก็เพียงจัดแจงแบ่งงานนั้นไปอย่างละเอียดลออ เพื่อให้บรรลุผลตามที่ตนต้องการ แต่คนโง่ ครั้นได้รับมอบหมายให้ทำกิจนั้นๆแล้ว ก็ลุ่มหลงมัวเมาในยศตำแหน่ง ตกเป็นทาสของผู้มีปัญญา จึงคิดเลยเถิดไปว่า ตนคงมีความสำคัญนักหนา หาได้สำนึกบ้างว่า ตนกำลังเป็นเหมือนปลาที่กำลังฮุบเหยื่อที่พรานเบ็ดล่อ
ไว้ ในที่สุดเหยื่อที่กลืนกินนั่นแหละจะกลับมาทำร้ายตนเอง ให้ได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัสทีเดียว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าดังนี้ จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นประเสริฐ คนโง่มีทรัพย์ไม่ประเสริฐเลยพระพุทธเจ้าข้า”

        วาทะของมโหสถในครั้งนี้ เป็นดุจไม้หน้าสามที่ตีแสกลงกลางกระหม่อมของอาจารย์เสนกะเสียจนหน้าคว่ำไม่เป็นท่า เพราะไม่ว่าใครหากได้ตรองตามสักหน่อย ก็ย่อมจะเห็นชัดว่า คำพูดของอาจารย์เสนกะผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง  เพราะในขณะที่กำลังยกตนว่าเป็นบัณฑิตผู้มีปัญญาที่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อผู้มีทรัพย์อยู่ดี นั่นก็เท่ากับแฝงนัยยะว่า พระราชาเป็นเพียงผู้มีทรัพย์แต่พระองค์หามีปัญญาไม่

        ใครๆ ถึงมุ่งแต่จะได้ทรัพย์จากพระองค์ การกล่าวเช่นนี้เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไม่น่าให้อภัย ผิดวิสัยที่ราชบัณฑิตทั้งหลายพึงกระทำกัน  แต่ครั้นมโหสถกล่าวแก้ว่า อันที่จริงการใช้พระราชทรัพย์ของ
พระองค์ เป็นวิสัยของบัณฑิตผู้มีปัญญาที่รู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพย์ เพื่อจัดแจงกิจการงานให้สำเร็จลุล่วงตามที่ตนปรารถนา ซึ่งต่างจากคนโง่ ที่พอมีทรัพย์เข้าบ้าง ก็หลงมัวเมาติดข้องอยู่ในทรัพย์นั้นเหมือนปลาที่กลืนเหยื่อ 

        คำโต้แย้งของมโหสถ จึงเป็นการยกพระองค์ให้อยู่เหนือคำลบหลู่ดูหมิ่นเหล่านั้น และทำความกระจ่างชัดให้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางที่ประชุม เหมือนบันดาลดวงจันทร์เพ็ญให้มาปรากฏในคืนเดือนมืดฉะนั้น

        ท่านเสนกะก็เป็นคนมีแววอยู่ไม่น้อย ครั้นได้ฟังวาทะของมโหสถแล้ว ก็เห็นชัดในความโง่ของตน ต่อให้ท่านเสนกะมีปฏิภาณว่องไวเพียงใดก็ตาม แต่พอถูกโต้กลับเช่นนี้ ก็คงต้องยอมจำนน  เพราะอับจนปัญญาจนไม่รู้จะเอาอะไรมาสาธยายอีก เหมือนข้าวที่หมดไปจากยุ้งฉาง จึงได้แต่นั่งคอตกด้วยความอัปยศอดสูจนยากจะอธิบาย

        มโหสถบัณฑิตเห็นอาจารย์เสนกะนิ่งจำนนไปแล้ว จึงต้องการจะพรรณนาอานุภาพแห่งปัญญาให้ยอดยิ่งขึ้นไปอีก จึงกราบทูลต่อไปว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สัตบุรุษทั้งหลายล้วนสรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐสูงสุด ไม่ว่ากาลไหนๆ คนมีทรัพย์จะก้ำเกินผู้มีปัญญาไปไม่ได้เลย”

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำพยากรณ์ปัญหาของมโหสถแล้ว ท้าวเธอทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงมีพระประสงค์จะพระราชทานรางวัลแก่มโหสถให้เต็มที่ตามที่ได้ตั้งพระทัยไว้แต่ต้น ดังนั้นจึงได้พระราชทานโคพันตัว พร้อมด้วยโคอุสุภราชอันเป็นจ่าฝูง อีกทั้งรถเทียมม้าอาชาไนยสิบคันและบ้านส่วยอีกสิบตำบลเพื่อเป็นการบูชาปัญญานุภาพของมโหสถบัณฑิต 

        การโต้วาทะในครั้งนี้ จึงเป็นอันตัดสินชี้ขาดระหว่างราชบัณฑิตทั้ง ๔ และมโหสถบัณฑิตว่าใครเป็นผู้มีปัญญายอดเยี่ยมกว่ากัน แล้วบัดนี้ กองเพลิงใหญ่ ๔ กองก็ถึงกาลต้องอับแสงลง ในขณะที่เพลิงกองน้อยกลับยิ่งสว่างโพลง กระทั่งข่มแสงของกองเพลิงใหญ่ทั้งหมด และในที่สุดบัณฑิตน้อยผู้มีนามว่ามโหสถบัณฑิต ก็ปรากฏชื่อเสียงกระเดื่องเลื่องลือไปทั่วพระนครนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่วนในตอนหน้า เป็นตอนมโหสถเริ่มเติบโตเป็นหนุ่ม ถึงคราวที่จะต้องเลือกคู่ครอง เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไป 

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 63ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 63

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 64ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 64

ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 65ทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 65



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก