มงคลที่ 38 - จิตเกษม - สำคัญที่ดวงจิต


[ 19 ม.ค. 2553 ] - [ 18280 ] LINE it!

มงคลที่ 38 จิตเกษม

สำคัญที่ดวงจิต
 

    ชนผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรง ดุจช่างศรดัดลูกศรให้ตรง จิตที่พระโยคาวจรยกขึ้น จากอาลัย คือ กามคุณห้า แล้วซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันนายพรานเบ็ด ยกขึ้นจากน้ำแล้วโยนไปบนบกดิ้นรนอยู่ 

    มนุษย์เรามีองค์ประกอบด้วยกันสองส่วน คือ กายและใจ สองส่วนนี้มีทั้งความเหมือนและความต่าง กายนั้นเป็นรูปธรรม มีสภาพไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ ส่วนใจเป็นนามธรรม มีสภาพซัดส่าย ไม่หยุดนิ่ง โดยสภาพที่แท้จริงแล้ว แม้ว่ากายจะดับแต่ใจดวงนี้ไม่เคยดับสูญ กลับเคลื่อนย้ายจากกายเดิมไปสู่สภาวะใหม่ คือ สภาพที่เรียกกันว่า "วิญญาณ"
 
    ความต่างที่น่าพิศวงอีกประการหนึ่งของกายและใจ คือ กายนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเกิดไปสู่ความดับและเป็นรูปธรรม ที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา หรือโน้มน้าวให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้ ผิดกับใจที่เป็นนามธรรม แม้มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่พร้อมที่จะยอมรับการฝึกฝน หากคนผู้นั้นพร้อมที่จะฝึกฝนอบรมใจ และเมื่อฝึกฝนจนกระทั่งละเอียดอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงาน ก็สามารถที่จะโน้มน้าวไปที่ไหนก็ได้ตามต้องการ

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระเมฆิยเถระ ซึ่งปรากฏใน เมฆิยสูตร ว่า

    "ชนผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรง ดุจช่างศรดัดลูกศรให้ตรง จิตที่พระโยคาวจรยกขึ้น จากอาลัย คือ กามคุณห้า แล้วซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันนายพรานเบ็ด ยกขึ้นจากน้ำแล้วโยนไปบนบกดิ้นรนอยู่"
 
    ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้ เพราะปรารภถึงพระเมฆิยเถระ ผู้ทอดทิ้งพระพุทธองค์ไปประกอบความเพียรที่สวนมะม่วง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะท่านถูกวิตกสามอย่างครอบงำ วิตกสามอย่างนั้น คือ กามวิตก ความตรึกในทางกามอย่างหนึ่ง พยาบาทวิตก ความตรึกในทางพยาบาทอย่างหนึ่ง และวิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน เมื่อพระพุทธองค์ทรงเรียกพระเมฆิยเถระมาแล้วตรัสว่า
 
    "เมฆิยะ เราอ้อนวอนเธออยู่ว่า เราอยู่แต่เพียงผู้เดียว เธอจงรอคอยจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมาแทนเถิด แต่เธอกลับทิ้งเราไป ให้เราอยู่แต่เพียงผู้เดียว เธอได้ทำกรรมอันหนักยิ่ง ขึ้นชื่อว่าเป็นภิกษุ ไม่ควรเป็นไปในอำนาจแห่งจิต การยังจิตนั้นให้เป็นไปในอำนาจของตน จึงจะสมควร"

    การดิ้นรนของใจและวิธีการฝึกใจให้อยู่ในบังคับบัญชานั้น เป็นเหมือนกับการทำงานของช่างศรที่นำไม้มาจากป่าแล้วปอกเปลือกออก ทาด้วยน้ำข้าวและน้ำมัน ลนที่กระเบื้องถ่านเพลิง ดัดที่ง่ามไม้ ทำให้ตรง ไม่คด เหมาะแก่การยิง เมื่อช่างศรทำได้เช่นนั้นแล้ว เมื่อแสดงศิลปะการใช้ลูกศรแด่พระราชาและมหาอำมาตย์ ย่อมได้สักการะ

    บุรุษผู้มีปัญญาก็เช่นเดียวกัน หากฝึกใจที่มีสภาพดิ้นรนให้หมดพยศ คือ ให้ปราศจากกิเลส ด้วยอำนาจแห่งธุดงค์และการอยู่ป่า ชโลมด้วยยาง คือ ศรัทธา ลนด้วยความเพียรทั้งทางกายและทางใจ ดัดที่ง่าม คือ สมถะและวิปัสสนา ทำให้ตรงไม่คด แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ทำลายกองอวิชชาน้อยใหญ่ ทำคุณวิเศษ คือ วิชชาสาม วิชชาแปด อภิญญาหก โลกุตรธรรมเก้า ให้อยู่ในเงื้อมมือ ย่อมได้เข้าถึงความเป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ

    ดังนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงหมั่นฝึกฝนอบรมตนให้ดียิ่งๆขึ้นไป ซึ่งการอบรมตน จะให้ดีนั้นต้องเริ่มต้นที่ใจเสียก่อน เพราะใจดวงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงยืนยันตรัสย้ำกับภิกษุรูปหนึ่งว่า การฝึกใจเท่านั้นที่จะเป็นเหตุนำสุขมาให้ เรื่องมีอยู่ว่า
 
   *ภิกษุหกสิบรูป เป็นผู้ไม่ประมาท ได้ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในสถานที่อันสงัด จนได้บรรลุคุณวิเศษกันทั่วหน้าในที่แห่งหนึ่ง แล้วภิกษุเหล่านั้นได้กลับมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กราบทูลถึงความเป็นอยู่ว่า มิได้ลำบากอะไรเลย เพราะอาศัยอุบาสิกาชื่อ มาติกมาตา ที่ทราบวาระจิตของพวกตน แล้วได้จัดเตรียมจัดหาให้ทุกอย่างตามความปรารถนา 

    ในขณะนั้น มีภิกษุอยู่รูปหนึ่งได้ฟังคำสรรเสริญนั้น เมื่อได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาแล้ว ได้ทูลลาไปยังสถานที่นั้น เมื่อไปถึงวิหารคิดว่า เขาลือกันว่าอุบาสิกานี้ ย่อมรู้ถึงเหตุที่บุคคลอื่นคิดแล้ว เราเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ไม่สามารถปัดกวาดวิหารได้ ทำอย่างไรดีหนอ อุบาสิกาท่านนี้จึงจะส่งคนมาทำความสะอาดวิหารให้แก่เรา

    แม้อุบาสิกานั้นนั่งอยู่ที่บ้าน ก็ยังทราบถึงความปรารถนาของท่าน จึงส่งคนไปทำความสะอาดวิหาร เมื่อภิกษุนั้นปรารถนาอะไรๆ เป็นต้นว่า ขออุบาสิกาจงส่งน้ำดื่มที่ละลายด้วยน้ำตาลกรวดให้แก่เรา ขออุบาสิกาจงส่งข้าวยาคูที่มีรสเลิศและแกงอ่อมมาในวันพรุ่งนี้เถิด อุบาสิกาก็ได้ส่งไปให้ตามที่ท่านปรารถนาทุกๆอย่าง จนกระทั่งท่านปรารถนาจะพบอุบาสิกา เมื่ออุบาสิกาทราบวาระจิตของท่านแล้ว จึงให้คนถือโภชนะไปสู่วิหาร ได้ถวายแก่ภิกษุนั้น
 
เมื่อท่านทำภัตกิจเสร็จแล้วก็ถามว่า "มหาอุบาสิกา ท่านหรือชื่อว่า มาติกมาตา"
เมื่ออุบาสิการับคำแล้ว ท่านถามต่อไปอีกว่า "อุบาสิกา ท่านทราบความคิดของคนอื่นหรือ"
คราวนี้อุบาสิกาไม่ตอบ กลับย้อนถามว่า "พระคุณเจ้าถามทำไม"
ภิกษุนั้นได้บอกตามความคิดของตนว่า "ท่านได้ส่งของทุกๆอย่างมาให้ตามที่อาตมาปรารถนา เพราะฉะนั้น อาตมาจึงถามท่าน"
 
    เมื่อถูกถามตรงๆเช่นนั้น โดยวิสัยของบัณฑิต จะไม่เป็นคนที่โอ้อวด อุบาสิกาจึงตอบเลี่ยงไปว่า "ท่านผู้เจริญ ภิกษุที่รู้วาระจิตของคนอื่นมีมากมาย"
 
    เมื่อได้ฟังคำตอบดังนั้น ท่านยังซักถามเพื่อให้ได้รับคำตอบอีกว่า "อาตมาไม่ได้ถามถึงคนอื่น ถามเฉพาะตัวท่าน"
 
    ถึงกระนั้นก็ตาม อุบาสิกาก็ยังไม่ตอบตรงๆ แต่กลับบอกว่า "ธรรมดาคนทั้งหลายที่รู้วาระจิตของคนอื่น ย่อมทำอย่างนั้นๆได้"

    เมื่อแน่ใจแล้วว่าอุบาสิกานี้รู้วาระจิตของตนจริงๆ ท่านจึงกลับมาคิดใคร่ครวญว่า "กรรมนี้หนักหนอ ธรรมดาปุถุชน ย่อมคิดถึงอารมณ์อันงามบ้างไม่งามบ้าง ถ้าเราจักคิดสิ่งอันไม่สมควรแล้ว อุบาสิกานี้จะรู้ทันเราเหมือนจับโจรได้พร้อมด้วยของกลาง อย่ากระนั้นเลย เราควรหนีไปเสียจากที่นี้จะดีกว่า"
 
    แล้วจึงลาอุบาสิกาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงแม้ว่าอุบาสิกาจะทัดทานให้อยู่ต่อก็ตาม เมื่อไปถึงพระพุทธองค์ได้ตรัสถามเธอว่า "ภิกษุ เธออยู่ในที่นั้นไม่ได้หรือ"
 
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้" แล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ
พระบรมศาสดาตรัสว่า "ภิกษุ เธอควรอยู่ในที่นั้นแหละ" ท่านปฏิเสธว่าไม่สามารถอยู่ได้
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า "เธอสามารถรักษาสิ่งหนึ่งได้ไหม"
 
    แล้วตรัสต่อไปอีกว่า "เธอจงรักษาใจของเธอนั่นแหละ ธรรมดาใจดวงนี้บุคคลรักษาได้ยาก เธอจงข่มใจของเธอไว้ให้ได้ อย่าคิดถึงอารมณ์อะไรๆอย่างอื่น ธรรมดาใจเป็นสิ่งที่บุคคลข่มได้ยาก เพราะว่าใจที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้"
 
    ในกาลจบพระธรรมเทศนา บริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมากได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น จากนั้นได้ตรัสกับท่านอีกว่า "ไปเถิดภิกษุ เธอจงไปอยู่ในที่นั้นแหละ"
 
    ภิกษุนั้นรับโอวาทจากพระบรมศาสดาแล้ว ได้กลับไปสู่ที่นั้น ไม่ได้คิดอะไรๆอันเป็นเหตุให้คิดถึงสิ่งภายนอกเลย ฝ่ายอุบาสิกาเมื่อตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นพระเถระนั้นกลับมา จึงจัดแจงอาหารอันเป็นที่สบายถวายอีก พระเถระนั้นได้โภชนะเป็นที่สบายเพียงสองสามวันเท่านั้น ก็สามารถกำจัดกิเลสอาสวะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้เสวยสุขอันเกิดแต่มรรคและผลนั้น จึงนึกขอบใจมหาอุบาสิกาผู้เป็นที่พึ่ง ได้ใคร่ครวญถึงอดีตชาติที่ผ่านมาว่า มหาอุบาสิกาท่านนี้เคยเป็นที่พึ่งให้แก่เราในชาติปางก่อนหรือไม่หนอ
 
    เมื่อทำใจหยุดนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ พร้อมกับระลึกชาติย้อนหลังไปดูก็พบว่า นางเคยเป็นภริยาของท่านถึงเก้าสิบเก้าชาติ และเมื่อนางมีจิตปฏิพัทธ์ในชายอื่น ได้ปลงชีวิตท่านทั้งเก้าสิบเก้าชาติ พระเถระเห็นโทษของนางเช่นนี้ เลยคิดว่า น่าสังเวชมหาอุบาสิกาที่ได้ทำกรรมหนักเช่นนี้ ฝ่ายมหาอุบาสิกานั่งอยู่ในเรือน ได้ใคร่ครวญถึงกิจแห่งบรรพชิตของพระเถระว่า ถึงที่สุดหรือยัง ครั้นทราบว่าพระเถระได้บรรลุพระอรหัตแล้ว และยังทราบอีกว่า พระเถระได้ระลึกชาติไปเก้าสิบเก้าชาติ ขณะนี้กำลังสังเวชในกรรมหนักที่นางทำไว้ในครั้งนั้น

    เมื่ออุบาสิกาเห็นดังนั้น จึงระลึกชาติต่อไปในชาติที่ครบหนึ่งร้อย พบว่า ในชาตินั้นตนได้เป็นภริยาของพระเถระเช่นกัน แล้วยังได้ช่วยชีวิตท่านในสถานที่แห่งหนึ่ง จึงเกิดปีติใจคิดว่า "น่าดีใจหนอ เราได้กระทำอุปการะแก่ภิกษุผู้บุตรของเรา"
 
    อุบาสิกานั่งอยู่ในเรือนนั่นแหละ ได้กล่าวว่า "ขอท่านจงใคร่ครวญ ให้วิเศษยิ่งขึ้นไปเถิด"
 
    เมื่อพระเถระนั้นได้สดับเสียงของอุบาสิกา ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์แล้ว จึงระลึกถึงชาติที่ครบหนึ่งร้อย ได้พบว่าอุบาสิกานี้ได้ช่วยตนให้รอดพ้นจากความตายในชาติที่หนึ่งร้อยนี้ จึงเกิดปีติใจคิดว่า น่าชื่นใจที่อุบาสิกานี้เคยทำอุปการะแก่เรา ดังนี้แล้วมีใจเบิกบาน ได้กล่าวปัญหาในมรรคสี่ ผลสี่ แก่อุบาสิกาในที่นั้นนั่นเอง โดยสื่อกันด้วยจิต

    จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า แม้ใจของคนเราจะมีปกติซัดส่าย ไม่หยุดนิ่ง แต่หากผู้ใดมีความตั้งใจที่จะฝึกฝนแล้ว จะสามารถใช้งานได้ดังใจปรารถนา ความสุขทั้งมวลในโลกนี้ จะเป็นของผู้นั้น เพราะความสุขภายในเกิดจากการที่ใจได้รับการฝึกฝนอบรมมาอย่างดีแล้ว มรรคผลนิพพานอยู่ในวิสัยของใจที่ฝึกดีแล้ว
 
    เมื่อเราทราบดังนี้ อย่าปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้น้อมนำใจดวงนี้มาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความสำเร็จ เป็นที่ตั้งแห่งความสุขที่มวลมนุษยชาติปรารถนา และสามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นชีวิตนี้ สำคัญที่ใจดวงนี้ดวงเดียวเท่านั้น ดังนั้นให้พวกเราหมั่นรักษาใจให้หยุดนิ่ง กันทุกๆคน 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

*มก. ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เล่ม 40 หน้า 394


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ผู้มีจิดเกษมมงคลที่ 38 - จิตเกษม - ผู้มีจิดเกษม

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ฉลาดคิด จิตจึงหลุดพ้นมงคลที่ 38 - จิตเกษม - ฉลาดคิด จิตจึงหลุดพ้น

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ความสุขในพระรัตนตรัยมงคลที่ 38 - จิตเกษม - ความสุขในพระรัตนตรัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน