ธุดงค์ธรรมชัย กระหึ่มทัพธรรม


[ 1 มี.ค. 2553 ] - [ 18267 ] LINE it!

ทบทวนฝันในฝัน วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2553 ช่วงที่ 4.1
 
 
 
ธุดงค์ธรรมชัย กระหึ่มทัพธรรม
 
จังหวัดสุพรรณบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม
 
        บรรยากาศการเดินธุดงค์ของพระธรรมทายาท วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มออกเดินธุดงค์ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ไปยังวัดทุ่งกระเจ็ด รวมระยะทาง 20กิโลเมตร หลวงลุงชาญ ธรรมทายาท สูงวัยที่สุด อายุ 63ปี แม้ทุกคนจะคอยเป็นห่วง เห็นหลวงลุงสุขภาพไม่ดี ให้นั่งรถไปก็ได้ แต่ท่านก็ยืนยันว่า “เกิดเป็นผู้ชายทั้งที ขอทำอะไรที่เป็นความประทับใจไปตลอดชีวิตสักครั้ง” และท่านก็ชิตังเมจริงๆ เดินธุดงค์ถึงเส้นชัยด้วยเบิกบานในบุญ
 
 
ชาวไร่ชาวสวนสุดปลื้ม ได้ถวายน้ำปานะ
พร้อมรับพรจากคณะพระธุดงค์
 
        เมื่อมาถึงวัดทุ่งกระเจ็ด ซึ่งมีหลวงตาอยู่สามรูป อายุรวมกันก็ราว 200ปี ท่านปลื้มปีติใจมากที่มีคณะพระธุดงค์ไปที่วัด เพราะนานแล้วที่ญาติโยมที่อยู่นอกรัศมี 1-2กิโลเมตรจากวัด ไม่มีโอกาสได้ตักบาตร เพราะท่านก็อายุมากแล้ว เดินไปบิณฑบาตที่ไกลๆไม่ค่อยไหว การมาของพระธุดงค์ครั้งนี้ จึงเท่ากับมาโปรดญาติโยมโดยแท้
 
 
ชาวบ้านชาวตลาดออกมาใส่บาตรกันอย่างมากมาย
ด้วยความปลื้มปีติใจ
 
        พอถึงรุ่งเช้า พระธุดงค์ได้แบ่งสายเดินบิณฑบาตเป็นห้าสาย ญาติโยมพร้อมใจเตรียมอาหารตักบาตรยิ่งกว่างานตักบาตรเทโวอีก บางคนบอกว่า ไม่ได้ตักบาตรมาสามปีแล้ว วันนี้ขอตักบาตรให้หนำใจเลย บางจุดชาวบ้าน 3-4บ้าน ก็มารวมใส่บาตรด้วยกัน เกิดเป็นบรรยากาศตักบาตรสามัคคี พอพระบิณฑบาตหมดแถว อาหารที่เตรียมมาก็ยังไม่หมด พอหันไปเห็นพระธุดงค์อีกสาย กำลังเดินมา ชาวบ้านถึงกับเฮกันลั่นว่า “พระมาแล้ว” กลายเป็นบรรยากาศบุญบันเทิงเหมือนมีเทศกาลบุญประจำหมู่บ้าน พอตักบาตรเสร็จก็ต้องขนอาหารกลับวัดกันวันละเจ็ดคันรถปิคอัพ จึงได้นำไปทำบุญต่อกับวัดอื่นๆ และแจกจ่ายให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน
 
 
พระธุดงค์ช่วยกันทำความสะอาดและทาสีโบสถ์
 
        ช่วงบ่าย พระธุดงค์พร้อมใจกันพัฒนาวัด ล้างโบสถ์ ทาสีโบสถ์ใหม่ ล้างเมรุ ล้างศาลา ล้างหอระฆัง ขัดองค์พระประธาน หลวงตาเจ้าอาวาส...ท่านแวะมาดูแล้วกล่าวชื่นชมไม่ขาดปาก บอกว่า “บวชเสร็จแล้วใครอยู่ต่อ มาอยู่วัดหลวงตาได้นะ พระขยันๆแบบนี้ อยากได้มานานแล้ว” และในวันสุดท้ายที่หมู่คณะของเราต้องจาริกต่อ ท่านก็ได้มอบพระของขวัญให้คณะพระธุดงค์ทุกรูป ในขณะเดียวกันคณะพระธุดงค์ก็ถวายข่าวอันเป็นมงคลแก่ท่านว่า มีพระหกรูป ตั้งใจบวชต่อและจะมาช่วยหลวงตาอยู่ที่วัดทุ่งกระเจ็ด ท่านถึงกับยิ้มปลื้มใจ พูดแต่คำว่า “ดีแท้ๆ” ไม่ขาดปาก
 
 
พระธรรมทายาทเดินธุดงค์ออกจากวัดสามชุก
 
        ส่วนที่วัดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พระธรรมทายาทเดินธุดงค์เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 35กิโลเมตร ระหว่างเส้นทางเดินธุดงค์จากวัดสามัคคีธรรมกลับมาที่วัดสามชุก ได้เดินธุดงค์ผ่านตลาดสามชุก ตลาดร้อยปีที่มีชื่อเสียงระดับโลก ชาวบ้านก็แตกตื่นราวกับกับไม่เคยเห็นพระธุดงค์มาเป็นร้อยปี รีบวิ่งเข้าไปในตลาด แล้วออกมาพร้อมด้วยสารพัดข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อมาใส่บาตรกับพระธุดงค์
 
 
ภัตตาหารล้นเหลือจากพลังศรัทธาของญาติโยม
 
        พระเทียนชัย จิรญฺชโย (ชมเชย) อายุ 56ปี ท่านเป็นอดีตสถาปนิกที่ปิดกิจการมาบวช ระหว่างเดินธุดงค์ ท่านจะรู้สึกเจ็บแปลบๆตอนที่เท้าสัมผัสกรวดตลอดเวลา แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจ ทำใจนิ่งๆ เจ็บแปลบก็นึกดวง...เจ็บแปลบก็นึกดวง จู่ๆก็รู้สึกใจนิ่งมีความสุข มีแสงสว่างแป๊บๆ วุบวับขึ้นมา ท่านจึงเดินธุดงค์ด้วยความเบิกบานภายใน จากเจ็บแปลบๆ กลายเป็นสว่างแป๊บๆ...วุบๆวับๆ มีความสุขตลอดเวลา
 
 
พระธุดงค์จาริกไปอารามใด ที่นั่นสว่างสดใส
 
        ประสบการณ์จากการเดินธุดงค์ครั้งนี้ ทำให้พระธรรมทายาทมีความปีติใจมาก จากเดิมที่ตั้งใจจะบวชอยู่ต่อเพียงห้ารูป ก็เพิ่มขึ้นเป็น 20รูปเลย
 
        ที่จังหวัดสมุทรปราการ ธรรมทายาทที่วัดใหญ่ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ได้ออกเดินธุดงค์เป็นระยะทางประมาณสิบกิโลเมตร ไปยังวัดภาวนาราม ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2518 เจ้าของที่ดินมีความตั้งใจถวายที่ดินผืนนี้ไว้สำหรับสร้างวัด ให้เป็นวัดสาขาของวัดปากน้ำ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จึงได้ให้พระจากวัดปากน้ำภาษีเจริญมาบุกเบิกและอยู่ประจำที่วัดจำนวนห้ารูป เมื่อกาลเวลาผ่านไป 35ปี เหลือพระภิกษุรุ่นบุกเบิกอยู่เพียงรูปเดียว คือ พระครูสมุห์สมศักดิ์ ชวโน อายุ 64ปี พรรษา40 เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
 
        พระครูสมุห์สมศักดิ์ ชวโน ท่านเป็นลูกศิษย์วัดปากน้ำภาษีเจริญตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เคยมาฝึกสมาธิที่บ้านธรรมประสิทธิ์กับคุณยายอาจารย์ ได้พบหลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อทัตตชีโว และหมู่คณะในยุคแรกด้วย ต่อมาอุปสมบทที่วัดปากน้ำและได้รับมอบหมายพร้อมพระอีกสี่รูป ให้มาดูแลวัดภาวนารามแห่งนี้ มาถึงก็ดำเนินการสร้างวัดแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เริ่มก่อสร้างศาสนสถานต่างๆภายในวัดรวมถึงพระอุโบสถขึ้นในปี พ.ศ.2520 แต่งบประมาณไม่เพียงพอ พระอุโบสถหลังนี้จึงยังไม่ได้รับการทาสีจนถึงปัจจุบัน
 
 
พระธุดงค์ทุ่มเททาสีพระอุโบสถวัดภาวนาราม ที่สร้างมาแล้ว 33 ปี
ได้รับการทาสีเป็นครั้งแรก
 
        พระครูสมุห์สมศักดิ์เล่าว่า ท่านเคยให้ช่างมาตีราคาค่าทาสีโบสถ์ ช่างคิดราคากันเองหนึ่งแสนบาท ทางวัดไม่มีปัจจัยเพียงพอ จึงยังไม่ได้ว่าจ้าง ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานให้พบเจอผู้มีบุญ มาช่วยทาสีพระอุโบสถหลังนี้ให้สำเร็จ จนกระทั่งมีพระธรรมทายาทรุ่นแสนรูปเป็นผู้ยังความสำเร็จให้บังเกิดขึ้น
 
 
พระธุดงค์ทุ่มเทเนรมิตพระอุโบสถใหม่ให้วัดภาวนาราม
 
        พระธุดงค์จากวัดใหญ่นี้ หลายรูปเป็นอดีตช่างฝีมือเยี่ยม ทั้งช่างปะ ช่างปูน ช่างโป๊ว ช่างทาสี ได้เต็มใจอุทิศตนสนับสนุนงานบำรุงศาสนสถานครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง นอกจากพัฒนาวัดให้สะอาด ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังต่างๆของวัดให้เรียบร้อยสวยงาม ก็ได้ร่วมใจทาสีโบสถ์จนเสร็จด้วย
 
 
วัดสว่างไสวทั้งภายในและภายนอก
 
        ชาวบ้านที่ผ่านไปมาได้เห็นพระธุดงค์กำลังพัฒนาวัด ปีนขึ้นไปบนหลังคาเพื่อทาสีโบสถ์ บ้างก็อยู่บนนั่งร้านทาสีผนัง ก็เกิดศรัทธาอยากเข้าวัดทำบุญกันอย่างกะทันหัน ขับรถเลยไปก็เลี้ยวกลับมาทันที แวะมาถามว่า พระขึ้นไปทำอะไรกัน พอทราบแล้วก็อยากได้บุญด้วย จึงพากันนำภัตตาหาร นำปัจจัย มาถวายกันยกใหญ่ วัดเลยคึกคักเข้ามาทันที ญาติโยมพากันมาถวายภัตตาหารมากมายจนต้องแจกจ่ายไปยังโรงเรียนข้างวัดด้วย
 
        หลวงพ่อเจ้าอาวาส...ท่านเห็นปรากฏการณ์ใหม่ สาธุชนมากมาย โบสถ์สว่างสดใส ท่านก็เกิดกำลังใจ อยากจัดปฏิบัติธรรมขึ้นที่วัดของท่านทันที จึงเลือกเอาวันวิสาขบูชา ประเดิมจัดปฏิบัติธรรมคอร์สแรกที่วัดภาวนาราม และท่านยังได้ฝากความระลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยด้วยว่า คิดถึงจังเลย คิดถึงวันเก่าๆ ไม่ได้เจอกันมาหลายปีแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยสบายดีไหม รู้สึกคิดถึงจริงๆ
 
        ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ศูนย์อบรมวัดเทพประสิทธิ์คณาวาส พระธรรมทายาทได้เดินธุดงค์ไปวัดแรก คือ วัดมณีสรรค์ อำเภออัมพวา สภาพทั่วไปของอำเภออัมพวา เป็นบรรยากาศของร่องสวนและป่าชายเลน บ้านแต่ละหลังจะอยู่ห่างๆกัน มองดูเหมือนไม่มีผู้คนเลย แต่เมื่อพระธุดงค์ออกเดินรับบิณฑบาตในช่วงเช้า ทุกคนต่างพร้อมใจกันปรากฏตัวออกมาใส่บาตรกันเป็นจำนวนมาก โดยมีท่านเจ้าอาวาสได้เมตตานำออกเดินรับบิณฑบาตด้วยตัวเอง ท่านได้กระซิบบอกว่า บางบ้านไม่เคยเห็นออกมาใส่บาตรเลย ก็ออกมาใส่ในคราวนี้
 
 
พระธุดงค์ร่วมใจพัฒนาทำความสะอาดพระอุโบสถ
 
        เมื่อคณะพระธุดงค์ได้มาปักกลดอยู่ที่วัดบุญนาคประชาสรรค์ วัดนี้อยู่ห่างจากถนนใหญ่เข้าไปในถนนเล็กๆประมาณ 15กิโลเมตร มองไปตามสองข้างทางแทบจะมองไม่เห็นบ้านคนเลย แต่เมื่อพระธุดงค์ได้เดินเข้าไปบิณฑบาต สิ่งที่เกินควรเกินคาดก็ได้เกิดขึ้น เมื่อชาวบ้านใช้วิธีการต่างๆในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินมา ขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือพายเรือข้ามมาอีกฟากหนึ่ง เพื่อมาใส่บาตรกับพระธุดงค์ อาหารที่ทุกคนนำมาก็เป็นของที่ประณีต บ่งบอกถึงความศรัทธาที่ญาติโยมมีต่อพระธุดงค์
 
 
 
ศรัทธาญาติโยมเป็นแถวยาวตั้งหน้าตั้งตารอใส่บาตรพระ
 
        จากที่พระธุดงค์คิดว่า จะมีคนมาตักบาตรไหมหนอ กลายเป็นมีผู้คนมาตักบาตรกันล้นหลาม ได้อาหารบิณฑบาตจำนวนมาก จนต้องใช้รถขนกลับไปที่วัด พระธุดงค์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลื้มสุดๆในศรัทธาของชาวบ้าน และชาวบ้านก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลื้มและอิ่มบุญมากที่ได้มาใส่บาตรกับพระธุดงค์ เพราะไม่เคยเห็นพระธุดงค์จำนวนมากที่ดูสงบสำรวม มาเดินรับบิณฑบาตในบ้านสวนเช่นนี้มาก่อนเลย
 
 
พระธุดงค์เดินขึ้นเขามาที่วัดเขายี่สาร
 
        และอีกวัดหนึ่งที่คณะพระธุดงค์ได้ไปปักกลด คือ วัดเขายี่สาร เป็นวัดเก่าแก่ที่กรมศิลปากรได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถาน วัดนี้ตั้งอยู่บนเขา ปกติจะมีหมู่ฝูงลิงลงมาซุกซนหาอาหารกินตลอดเวลา แต่ในช่วงที่พระไปปักกลดอยู่ธุดงค์ หมู่ฝูงลิงกลับหยุดการซุกซน อยู่ในภาวะสงบนิ่ง ไม่ลงมาก่อกวนรื้อค้นอะไรในเขตที่พระอยู่ธุดงค์เลย ท่ามกลางความโล่งใจและประหลาดใจแก่พระธุดงค์ว่า แม้หมู่ฝูงลิงก็ยังรู้ภาษาและอยากได้บุญกับพระธุดงค์ด้วย
 
 
ชม Video Scoop ธุดงค์ธรรมชัย รุ่นแสนรูป
 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
คณะอาคันตุกะผู้มีเกียรติจากประเทศภูฏาน เยือนวัดพระธรรมกายคณะอาคันตุกะผู้มีเกียรติจากประเทศภูฏาน เยือนวัดพระธรรมกาย

วันมาฆบูชา ณ วัดพระธรรมกายวันมาฆบูชา ณ วัดพระธรรมกาย

scoop อย่างแรง อุบาสิกาแก้วscoop อย่างแรง อุบาสิกาแก้ว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน