ชัยชนะครั้งที่ 6 (ตอนที่ 3 ชนะสัจจกนิครนถ์)


[ 1 มิ.ย. 2553 ] - [ 18266 ] LINE it!

ชั ย ช น ะ ค รั้ ง ที่  ๖
( ต อ น ที่ ๓ ช น ะ สั จ จ ก นิ ค ร น ถ์ )



 
     พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา ผู้ส่องแสงสว่างไสว ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เพียงใด ชนทั้งหลายก็พากันบูชาสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอยู่เป็นอันมาก เพียงนั้น แต่เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ ได้ทรงแสดงธรรมแล้ว เมื่อนั้น ลาภและสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป

      พื้นฐานชีวิตของมนุษย์ทุกคน ล้วนมีความทุกข์กันทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงบัดนี้ เราต้องพบกับความทุกข์ และส่วนใหญ่ยังไม่เคยพบความสุขที่แท้จริง เจอแต่สภาพที่ความทุกข์ลดลงไปบ้างเป็นครั้งคราว คือ อยู่ในสภาพที่พอทนได้ แต่เราก็หลงเข้าใจว่านั่นคือความสุข แต่แท้ที่จริง เป็นแค่ความทุกข์ที่ลดลงเท่านั้น แล้วก็มัวหลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร เพื่อให้ลืมความทุกข์กันไปชั่วขณะเท่านั้น ความสุขที่แท้จริงนั้นมีอยู่ และอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม คืออยู่ภายในตัวของเราทุกๆ คน อยู่ที่ใจของเรานี่เอง ถ้าอยากพบกับความสุขต้องหยุดใจของเราให้ดี
 
     มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน พาเวรุชาดก ว่า

     " ยาว นุปฺปชฺชตี พุทฺโธ     ธมฺมราชา ปภงฺกโร
       ตาว อญฺเญ อปูเชสุ    ปุถู สมณพฺราหฺมเณ
       ยทา จ สรสมฺปนฺโน    พุทฺโธ ธมฺมํ อเทสยิ
       อถ ลาโภ จ สกฺกาโร    ติตฺถิยานํ อหายถ

    พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา ผู้ส่องแสงสว่างไสว ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เพียงใด ชนทั้งหลายก็พากันบูชาสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอยู่เป็นอันมาก เพียงนั้น แต่เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ ได้ทรงแสดงธรรม แล้ว เมื่อนั้น ลาภและสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป "

    * ครั้งที่แล้ว หลวงพ่อได้เล่าถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อสัจจกนิครนถ์ ซึ่งปรากฏในจูฬสัจจกสูตร ส่วนในมหาสัจจกสูตร เป็นเรื่องการโต้ตอบปัญหากันระหว่างพระผู้มีพระภาคเจ้ากับสัจจกนิครนถ์ เป็นการชนะด้วยพระปัญญาบริสุทธิ์ ซึ่งได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก มีเนื้อหาสาระการโต้วาทะอีกมุมมองหนึ่ง  และมีนัยที่สุขุมลุ่มลึกมาก บ่งบอกถึงพระปัญญาอันกว้างไกลที่พระพุทธองค์ทรงสามารถหักล้างวาทะของสัจจกนิครนถ์ได้อย่างง่ายดาย 

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลี สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นเจ้าวาทะ เป็นนักโต้วาทีที่ไม่เคยพ่ายแพ้ใคร คิดอยากจะหาคนที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะมาโต้วาทะกับตน เมื่อได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นยอดของบุคคลผู้แถลงคารม ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน จึงพาลูกศิษย์ของตนไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระอานนท์รู้ว่า สัจจกนิครนถ์ผู้มีปกติติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์  จะเข้ามาภายในบริเวณที่พระพุทธองค์ประทับ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ปูไว้

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า สัจจกนิครนถ์เป็นผู้มีบุญวาสนาที่เคยสั่งสมไว้ข้ามชาติ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระองค์ในครั้งนี้ หากเกิดใหม่อีกเพียงชาติเดียว จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย เมื่อสัจจกนิครนถ์เข้าเฝ้าพลางปราศรัยกับพระพุทธองค์แล้ว ก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งกราบทูลว่า "พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบกายภาวนา แต่ไม่ได้ประกอบจิตตภาวนา จึงประสบทุกขเวทนาอันเกิดในสรีระ พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลถูกทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกายกระทบแล้ว หทัยจึงแตกบ้าง เลือดอันร้อนพุ่งออกจากปากบ้าง ผู้บำเพ็ญกายภาวนา จึงถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน จิตที่เป็นไปตามกายของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย นั่นเป็นเพราะไม่ได้อบรมจิต
 
    เมื่อบุคคลถูกทุกขเวทนาอันเกิดในจิตกระทบแล้ว ความกระวนกระวายจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอันร้อนจักพุ่งออกจากปากบ้าง พวกบำเพ็ญจิตตภาวนานั้นจักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน กายที่เป็นไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต นั่นเป็นเพราะไม่อบรมกาย พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความดำริว่า หมู่สาวกของพระโคดมย่อมหมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่โดยแท้ แต่ไม่ได้หมั่นประกอบกายภาวนา เพราะฉะนั้นสาวกของพระองค์จะต้องได้รับความลำบากยิ่งนัก"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ กายภาวนา ท่านฟังมาแล้วเป็นอย่างไร" สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า "ท่านนันทะผู้วัจฉโคตร ท่านกิสะผู้สังกิจจโคตร ท่านมักขลิโคสาล ท่านเหล่านั้นเป็นผู้เปลือยกาย เป็นผู้ไม่มีมารยาทของผู้ดี ไม่ไปรับภิกษาตามที่เขาเชิญให้รับ ไม่หยุดตามที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาเจาะจงให้ ไม่ยินดีการนิมนต์ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากหม้อ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากกระเช้า ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังกินอยู่

    เจ้าลัทธิบางพวก ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ หรือของหญิงที่กำลังให้ลูกดื่มนม ไม่รับภิกษาของหญิงที่มีสามีหลายคน ไม่รับภิกษาที่เขานัดกันทำในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัขไว้ และในที่หมู่แมลงวันตอม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มน้ำที่เขาแช่ไว้ด้วย รับภิกษาที่บ้านหลังเดียวบ้าง รับเฉพาะภิกษาทัพพีเดียวบ้าง รับอาหารเฉพาะบ้านสองหลังบ้าง คือถ้าหากมีผู้ใส่อาหารครบสองหลังแล้ว จะไม่ออกเดินทางไปแสวงหาอาหารข้างหน้าอีก"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัตอย่างเดียวเพียงเท่านั้นหรือ หรือมีการทำบริกรรมอย่างอื่นเพื่อบำรุงร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงด้วย" นิครนถ์ทูลว่า "ไม่เป็นดังนั้นพระโคดม บางทีท่านเหล่านั้น เคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดีๆ กินโภชนะอย่างดีๆ ลิ้มของอย่างดีๆ ดื่มนํ้าอย่างดีๆ ให้ร่างกายนั้นมีกำลังเจริญอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้น"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พวกเหล่านั้นละทุกกรกิจอย่างก่อน แล้วบำรุงกายนี้ภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป ดูก่อนอัคคิเวสสนะ จิตตภาวนาท่านได้ฟังมาแล้วอย่างไรบ้าง ท่านรู้เห็นอย่างไร จงบอกมาตามที่ท่านเข้าใจเถิด" สัจจกนิครนถ์ไม่อาจทูลตอบได้ในเรื่องของจิตตภาวนา จึงนั่งนิ่ง

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ กายภาวนาก่อนนั้น ท่านเจริญแล้ว แม้กายภาวนานั้นไม่ประกอบด้วยธรรมในวินัยของพระอริยะ แต่ท่านยังไม่รู้จักแม้กายภาวนา จักรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายมิได้อบรมแล้ว มีจิตมิได้อบรมแล้วและที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเป็นได้ด้วยเหตุอย่างไร ท่านจงฟังเหตุนั้นเถิด จงทำไว้ในใจให้ดี"
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้แจ่มแจ้งว่า "บุคคลที่มีกายมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรมเป็นอย่างไร ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ปุถุชนในโลกนี้ เป็นผู้มิได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกสุขเวทนากระทบเข้าแล้ว มีความยินดีในสุขเวทนาด้วย ถึงความเป็นผู้ยินดีในสุขเวทนาด้วย สุขเวทนาของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับและมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบแล้ว เศร้าโศกลำบากใจ ครํ่าครวญถึงความหลงใหล แม้สุขเวทนานั้นเกิดขึ้น ก็ครอบงำจิตเขา เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิตนั่นเอง

    ดูก่อนอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่งก็ครอบงำจิต เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้วก็ครอบงำจิต เพราะเหตุที่มิได้อบรมทั้งสองอย่าง  ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุคคลที่ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมจิต ย่อมต้องได้รับทุกข์เช่นนี้"

    สำหรับบุคคลที่อบรมกายมาดีแล้ว และอบรมจิตไว้อย่างดีแล้วนั้นเป็นอย่างไร จะได้รับอานิสงส์อย่างไรบ้าง พระพุทธเจ้าของเราจะสั่งสอนสัจจกนิครนถ์ด้วยวิธีการอย่างไร และให้กลับใจหันมานับถือพระรัตนตรัย ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ด้วยพุทธวิธีอย่างไรบ้าง จะได้ติดตามในตอนต่อไป 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. มหาสัจจกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๑๐๘
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ชัยชนะครั้งที่ 6 (ตอนที่ 5 ชนะสัจจกนิครนถ์)ชัยชนะครั้งที่ 6 (ตอนที่ 5 ชนะสัจจกนิครนถ์)

ชัยชนะครั้งที่ 6 (ตอนที่ 4 ชนะสัจจกนิครนถ์)ชัยชนะครั้งที่ 6 (ตอนที่ 4 ชนะสัจจกนิครนถ์)

ชัยชนะครั้งที่ 7 (ตอนที่ 1 ชนะนันโทปนันทนาคราช)ชัยชนะครั้งที่ 7 (ตอนที่ 1 ชนะนันโทปนันทนาคราช)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน