ทำเลที่ตั้ง ของประเทศลาว


[ 22 พ.ค. 2557 ] - [ 18347 ] LINE it!

ทำเลที่ตั้ง  ของประเทศลาว

 

ทำเลที่ตั้ง  ของประเทศลาว


     สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านถึง  5  ประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากกว่า  ทำให้ในหลายๆ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์  ลาวต้องตกอยู่ในสถานะเป็น  รัฐกันชน

     รัฐกันชน  คือ  รัฐหรือประเทศเล็กๆ ที่เป็นเอกราช  มีฐานะสำคัญทางการเมืองที่ช่วยไม่ให้ประเทศมหาอำนาจเกิดบาดหมางทำสงครามกันได้ง่ายๆ

ที่ตั้ง

     สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตั้งอยู่ทางเหนือ  และละติจูดที่  14 – 23  องศาเหนือ  และลองจิจูดที่  100 – 108  องศาตะวันออก

ทิศเหนือ                         ติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทิศตะวันออก                   ติดกับประเทศเวียดนาม

ทิศตะวันตก                     ติดกับประเทศไทย

ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ      ติดกับประเทศเมียนมาร์

ทิศใต้                             ติดกับประเทศกัมพูชา

     ลาวตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน  หรือที่เรียกว่า  “ดินแดนสุวรรณภูมิ”  อุดมสมบูรณ์ด้วยภูเขาสลับซับซ้อน  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงที่ราบสูง  แม้จะไม่มีไม่มีทางออกสู่ทะเล  แต่ลาวก็มีแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตของชาวลาวไหลผ่าน

     เราอาจแบ่งภูมิประเทศของลาวได้เป็น  3  เขตด้วยกัน  คือ

ตัวอย่าง เขตภูเขาสูง ประเทศลาว

 

     1.  เขตภูเขาสูง   อยู่สูงกว่าระดับทะเลโดยเฉลี่ย 1,500  เมตรขึ้นไป  เป็นพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ  มีป่าไม้หนาแน่นที่สุด  เป็นที่อยู่ของลาวสูงหรือม้ง  ซึ่งมีอาชีพทำนาบนที่สูงและทำไร่

     2. เขตที่ราบสูง  เป็นพื้นที่ที่มีความสูงกว่าน้ำทะเล  1,000  เมตร  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  ประกอบด้วยที่ราบสูงขนาดใหญ่  3  แห่ง  คือ  ที่ราบสูง  เมืองพวน  (แขวงเชียงขวาง)  ที่ราบสูงนากาย  (แขนวงคำม่วน)  และที่ราบสูงภาคใต้  เป็นที่อยู่อาศัยของลาวเทิง  ซึ่งมักทำอาชีพเพาะปลูก  ทำนาขั้นบันได  ทำไร่เลื่อนลอย  เป็นต้น

     3.  เขตที่ราบลุ่ม  เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่โขงและแม่น้ำต่างๆ  นับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ  เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด  เป็นที่อยู่ของลาวลุ่ม  มีอาชีพหลักคือทำนาลุ่มและทำการเกษตร

ดินแดนสุวรรณภูมิ  คำว่า “สุวรรณภูมิ”  แปลตามรูปศัพท์แล้วหมายถึง  บริเวณผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อันได้แก่  ลาว  กัมพูชา  เวียดนาม  ไทย  เมียนมาร์  และมาเลเซีย

เมื่อนำเอาพื้นที่ของเขตภูเขาสูงและเขตที่ราบสูงมารวมกันจะมากถึง  3  ใน  4  ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด  โดยจุดสูงสุดของประเทศลาวอยู่ที่  ยอดเขาภูเบี้ยในแขวงเชียงขวาง  วัดความสูงได้ประมาณ  2,817  เมตร

ทอดสะพาน

     สาธารณรับประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นจุดเชื่อมต่อ  (Land  Link)  ด้านการคมนาคมขนส่งจากประเทศไทยไปยังประเทศที่สามในอนุภูมิภาค  (จีนและเวียดนาม)  ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว  ข้ามแม่น้ำโขงทั้งสามแห่งที่หนองคาย – เวียงจันทน์,  มุกดาหาร – สะหวันนะเขต  และนครพนม – คำม่วน

 

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว  แห่งที่ 1  (หนองคาย – เวียงจันทน์)

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว  แห่งที่ 1  (หนองคาย – เวียงจันทน์)

     เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรกซึ่งเชื่อมต่อเทศบาลเมืองหนองคาย  ประเทศไทย  เข้ากับบ้านท่านาแล้ง  นครหลวงเวียงจันทน์  ประเทศลาว  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำพิธีเปิดร่วมกับนายหนูฮัก  พูมสะหวัน  ประธานประเทศลาว  เมื่อวันที่  4  เมษายน  พ.ศ. 2537  สะพานนี้ยาว  1,170  เมตร  มีทางรถ  2  ช่องจราจร  ทางเดิน  2  ช่องทาง  และทางรถไฟ

 

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว  แห่งที่  2  (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต)

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว  แห่งที่  2  (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต)

     ตั้งอยู่ที่บ้านสงเปือย  ตำบลทรายใหญ่  อำเภอเมืองฯ  จังหวัดมุกดาหาร  โดยข้ามไปลงที่บ้านนาแก  เมืองคันทะบูลี  แขวงสะหวันนะเขต  รูปแบบเป็นสะพานคอนกรีต  2  ช่องจราจร  ยาว  1,600  เมตร  การเดินทางข้ามสะพานจะต้องใช้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศเท่านั้น  ค่าโดยสารคนละ  45  บาท

 

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว  แห่งที่  3  (นครพนม – คำม่วน)

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว  แห่งที่  3  (นครพนม – คำม่วน)

     เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย  (นครพนม)  กับประเทศลาว  (คำม่วน)  ที่บ้านห้อม  ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมืองฯ  จังหวัดนครพนม  และ  บ้านเวินใต้  เมืองท่าแขก  แขวงคำม่วน  เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้าและการท่องเที่ยว  เชื่อมโยงประเทศไทย  ประเทศลาว  ประเทศเวียดนามและภาคใต้ของประเทศจีน  มีความยาวรวม  780  เมตร  ประกอบด้วยช่องจราจร  2  ช่อง  และไม่มีทางรถไฟ

     ประเทศลาวตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น  อุณหภูมิเฉลี่ย  29 – 33  องศาเซลเซียส  มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน  ทางตอนเหนืออากาศหนาวเย็น  มีภูมิอากาศแบบป่าฝนเมืองร้อน  ฝนตกเกือบตลอดปี  ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในทะเลจีนใต้  จึงทำให้แบ่งสภาพภูมิอากาศได้เป็น  3  ฤดู  คือ

ฤดูร้อน        เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน

ฤดูฝน          เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม

ฤดูหนาว      เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคม


     ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ  ทำให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนดินและใต้น้ำ  มีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก  มีความหลากหลายทางชีวภาพ  มีพื้นที่การเกษตรที่ยังอุดมสมบูรณ์  เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว  ข้าวโพด  ยาสูบ  มันสำปะหลังใต้ดินมีแร่ธาตุประเภทดีบุก  ยิปซัม  ตะกั่ว  หินเกลือ  เหล็ก  ถ่านหิน  โปแตส  สังกะสี  ทองคำ  ทองคำ  ทองแดง  พลอย  อัญมณี  หินอ่อน  และน้ำมัน


แม่น้ำแม่โขงที่ไหลจากประเทศจีนผ่านประเทศลาว

 

     ลาวมีแม่น้ำสำคัญสายหลักประเทศคือ แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านประเทศรวมระยะทางประมาณ 1,850 กิโลกรัม เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชาวลาวให้สามารถยังชีพอยู่ได้  และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนลาว  ทั้งในด้านเกษตรกรรม  ประมง  การผลิตกระแสไฟฟ้า  เป็นพรมแดนธรรมชาติ  เป็นเส้นทางคมนาคมของคนในประเทศ  และเป็นเส้นทางการค้ากับต่างประเทศด้วย

     พื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ  47  ของลาวอุดมไปด้วยป่าไม้  เช่น  ไม่ประดู่  ไม้มะค่า  ไม้แคนหรือตะเคียน  ไม้สัก  ไม้จิก  ไม้รัง  ไม้ยาง  ไม้กระบาก  ไม้สน  ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเมืองซำเหนือ  แขวงหัวพัน  และภาคเหนือของประเทศลาว  นอกจากนี้ยังมี  ไม้โลงเลงที่มีลำต้นใหญ่  ทนแดด  ทนฝน  ทนปลวกได้นานกว่าร้อยปี  ชาวบ้านจึงนิยมนำไปมุงหลังคาบ้านและทำโลงศพ

     ไม้โลงเลง  หรือ  โหรงเหรง มีชื่อวิทยาศาสตร์  Fokienia   hodginsii   (Dunn)  A. Henry & H. Thomas   วงศ์  Cupressaceae  ซึ่งก็คือไม้วงศ์สนนั่นเอง  ชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นของสนชนิดนี้คือ  ฟุคเคนฮิบะ (Fukken Hiba)  หรือที่เรียกว่า  ฮิโนกิลาว (Laos Hinoki)  เป็นไม้สีอ่อนสวย  มีกลิ่นหอม แบบธรรมชาติจากน้ำมันในเนื้อไม้  ต้านฤทธิ์แบคทีเรียได้  พบมากทางตอนเหนือของลาว


     ไม้เศรษฐกิจของประเทศลาว  ไดแก่  ไม้สัก  ไม้แดง  และไม้เนื้อแข็งอื่นๆ  ลาวเป็นประเทศที่ส่งไม้เนื้อแข็งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของประเทศ  โดยส่วนใหญ่มักส่งออกในรูปแบบไม้แปรรูป  นอกจากไม้เนื้อแข็งแล้ว  ยังมีผลิตจากป่าอีกหลายร้อยชนิด  ที่สำคัญได้แก่  แก่นจันทน์  กำยาน  ชัน  ยางสน  กระวาน  หวาย  ครั่ง  ฯลฯ

 

ตำนานการเกิดแม่น้ำโขง

     มีตำนานพื้นบ้านลาวกล่าวถึงกำเนิดแม่น้ำโขงหลายตำนาน  หนึ่งในนั้นคือ  ตำนานคำชะโนด  เรื่องมีอยู่ว่า  สมัยนานมาแล้ว  ที่หนองแสมีนาคสองตัว  คือ  พญาศรีสุทโธและพญาสุวรรณ  อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก  โดยทั้งสองมีข้อตกลงที่ปฏิบัติกันมานานว่า  หากใครออกไปหาอาหาร  อีกฝ่ายจะไม่ไป  และเมื่อฝ่ายใดได้อาหารมา  ก็จะแบ่งกันกินคนละครึ่ง

     วันหนึ่งมีพญาช้างล้มตายที่ท้ายหนอง  พญาศรีสุทโธจึงแบ่งเนื้อช้างเป็นสองส่วนเท่าๆกัน ให้พญาสุวรรณกินด้วยตามสัญญา  ต่อมามีเม่นมาตายที่ท้ายหนอง  พญาสุวรรณแบ่งเนื้อเม่นเป็นสองส่วนแล้วส่งไปให้พญาศรีสุทโธตามปกติ  แต่พญาศรีโธกินเนื้อเม่นแล้วไม่อิ่ม  เหลือบไปเห็นขนเม่นยาวกว่าขนช้าง  จึงเข้าใจไปเองว่าตัวเม่นน่าจะใหญ่กว่าตัวช้าง  เหตุใดพญาสุวรรณจึงแบ่งให้ตนนิดเดียว  คิดได้ดังนั้นก็โกรธ  คิดว่าพญาสุวรรณไม่ซื่อสัตย์  จึงเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทนานถึง  7  ปี  สร้างความเดือดร้อนให้สัตว์ต่างๆที่อาศัยอยู่แถบนั้น  ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาตัดสินความ  โดยให้นาคทั้งสองสร้างแม่น้ำจากหนองแสขึ้นมาคนละสาย  ใครถึงทะเลก่อนจะได้ปลาบึกลงไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้น  โดยเอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้น  ใครรุกล้ำขอให้ไฟจะภูเขาพญาไฟเผาไหม้ตาย

 

พญานาค

     เมื่อรับโองการแล้ว  พญาศรีสุทโธซึ่งเป็นนาคใจร้อนก็สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางตะวันออก  เจอภูเขาขวางตรงไหนก็มีเขาขวางตรงไหนก็สร้างแม่น้ำคดโค้งไปตามนั้น  แม่น้ำสายนี้ก็คือ  แม่น้ำโขง  ซึ่งคำว่า  “โขง”  มาจากคำว่า  “โค้ง”  นั่นเอง

     ส่วนพญาสุวรรณซึ่งเป็นนาคใจเย็นก็สร้างแม่น้ำลงไปทางใต้  โดยพยายามสร้างแม่น้ำอย่างพิถีพิถันเป็นทางตรง  แม่น้ำนี้ชื่อเรียกว่า  แม่น้ำน่าน  เป็นแม่น้ำที่มีลักษณะตรงกว่าทุกสาย

     สุดท้ายพญาศรีสุทโธสร้างแม่น้ำโขงไปถึงทะเลก่อน  จึงได้ปลาบึกจากพระอินทร์ไป  ซึ่งตรงกับข้อมูลปัจจุบันที่กล่าว  ปลาบึกเป็นปลาที่พบได้เฉพาะลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น

     สัตว์ที่พบได้มากในป่าอันอุดมสมบูรณ์ของลาว  ได้แก่  ช้าง  กระทิง  ควายป่า  เสือดำ  เสือโคร่ง  กวาง  เก้ง  แต่นับวันก็ยิ่งลดจำนวนลงเพราะถูกชาวบ้านล่าไปขายให้กับนายทุน  นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าสายพันธุ์ใหม่หลายชนิด  ได้แก่  หนูหิน  กระต่ายลายทาง  นกกระจิกพันธุ์ภูเขาหินปูน

          

 หนูหิน  ขะหยุ  หรือข่าหนู  (Rock Rat  หรือ Rock Rodent)

 

     หนูหิน  ขะหยุ  หรือข่าหนู  (Rock Rat  หรือ Rock Rodent)  สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า  11  ล้านปี  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  มีความยาวตลอดทั้งตัวประมาณ  40  เซนติเมตร  หนวดยาว  หางยาว  ขาสั้น  หน้าตาคล้ายหนู  แต้หางเป็นพวงเหมือนกระรอก  เท้าเป็นพังผืดคล้ายอุ้งเท้าของเป็ด  เดินอุ้ยอ้ายเชื่องช้า  ป้องกันตัวเองไม้ได้  ออกหากินในเวลากลางคืน  ปัจจุบันพบในเขตภูเขาหินปูนแขวงคำม่วน  ประเทศลาว  เพียงแห่งเดียวเท่านั้น  เป็นสัตว์ที่ชาวพื้นเมืองรับประทานเป็นอาหาร

 

ชาวบ้านพากันร่อนหาแร่ทองคำในลุ่มน้ำโขง

     นอกจากนี้ลาวยังมีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  โดยเฉพาะป่าไม้  และแร่ธาตุ  เช่น  ทองคำ  ทองแดง  และบ็อกไซต์  ซึ่งเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอะลูมิเนียม  มีเขื่อนหลายแห่งที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำส่งไปขายประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทยด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้องกับทำเลที่ตั้ง  ของประเทศลาว

อาเซียน 10 ประเทศ

ลาวหนึ่งในประชาคมอาเซียน



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566

วิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านอย่างได้ผลวิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านอย่างได้ผล

ส้วมเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมส้วมเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว