เป็น อยู่ คือ...วิถีชาวสิงคโปร์


[ 25 มิ.ย. 2557 ] - [ 18293 ] LINE it!

เป็น  อยู่  คือ...วิถีชาวสิงคโปร์


เป็น  อยู่  คือ...วิถีชาวสิงคโปร์

     สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ  ทั้งจีน  มาเลย์และอินเดีย  วัฒนธรรมของสิงคโปร์จึงมีความหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา  วิถีชีวิตความเป็นอยู่  ศาสนา  หรือประเพณี  แต่ทั้งหมดก็อยู่รวมกันภายใต้คำกัดความเดียวกันว่าเป็น “ชาวสิงคโปร์”

     เดินทีประชากรบนเกาะสิงคโปร์เป็นชาวมาเลย์ซึ่งอพยพมาจากคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะมลายู  แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรเชื้อสายจีนในสิงคโปร์เยอะกว่าชาวมาเลย์ถึงเกือบ  6  เท่า  เด็กๆ ลองค้นคว้าเพิ่มเติมดูว่า  จากอดีตถึงปัจจุบัน  ประเทศไทยของเรามีประชากรเชื้อสายใดอยู่บ้าง

 

ประชากรในประเทศสิงคโปร์

     ประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์เป็นชาวจีนร้อยละ  74.1  รองลงมาคือ  ชาวมาเลย์ร้อยละ  13.4  ชาวอินเดียร้อยละ  9.2  ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ  3.3 เป็นชาติอื่นๆ  เช่น  โปรตุเกส  อังกฤษ

 

ชาวจีน

ชาวจีน

     ชาวจีนถือเป็นกลุ่มใหญ่ในสิงคโปร์เลยก็ว่าได้  เพราะจำนวนประชากรอยู่ถึงร้อยละ  74.1  ในยุคแรกเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากมาเลเซีย  (ยะโฮร์และมะละกา)  แต่เมื่อถึง  พ.ศ. 2364  ชาวจีนจากมณฑลฝูเจี้ยน  (ชาวฮกเกี้ยน)  ประเทศจีน  ก็ล่องเรือสำเภาเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่สิงคโปร์เป็นกลุ่มแรก  จากนั้นก็มีชาวจีนอื่นๆอพยพตามมา  เช่น  จีนแต้จิ๋ว  จีนแคะ  จีนไหหลำ  ปัจจุบัน  2  ใน  5  ของชาวจีนในสิงคโปร์เป็นชาวฮกเกี้ยน  รองลงมาคือจีนแต้จิ๋ว  ชาวจีนเบนเกาะสิงคโปร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัท  นักธุรกิจ  และค้าขายทั่วไป

     ประเทศไทยมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก  เช่นกัน 

 

ชาวมาเลย์

ชาวมาเลย์

     ปัจจุบันมีชาวมาเลย์อาศัยอยู่ในสิงคโปร์จำนวนร้อยละ  13.4  ถือเป็นชนชาติพื้นเมืองกลุ่มแรกของประเทศนี้  มีทั้งที่อพยพมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย  โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแม่น้ำคาลลังและแม่น้ำสิงคโปร์

     ชาวมาเลย์พวกแรกในสิงคโปร์คือชาวโอรังลาอุต  (Orang Laut)  ต่อมา  ชาวมาเลย์จากรัฐยะโฮร์  จากเกาะชวาและสุมาตรา  ประเทศอินโดนีเซีย  ก็อพยพเข้ามาเพิ่มเติม  ชาวมาเลย์นำวัฒนธรรมหลายแขนงเข้ามาในสิงคโปร์  เช่น การแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์  อาหารการกิน  ฯลฯ

     ชาวมาเลย์ประกอบอาชีพหลากหลาย  ทั้งด้านเกษตรกรรม  เช่นชาวประมง  ชาวนา  รวมไปถึงการรับราชการและเป็นพนักงานบริษัท  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

 

ชาวอินเดีย

ชาวอินเดีย

     ประเทศสิงคโปร์มีชาวอินเดียอยู่ร้อยละ  9.2  โดยเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐาน  ตั้งแต่  พ.ศ. 2362  คนอินเดียกลุ่มแรกอพยพมาจากปีนังและมะละกา  ต่อมาเริ่มมีชาวอินเดียจากชายฝั่งโคโรแนมเดล  และมะละบาร์  (ตอนใต้ของอินเดีย)  อพยพมาบ้าง  ผู้อพยพมีทั้งทหาร  แรงงาน  และพ่อค้า

     ชาวอินเดียส่วนใหญ่ใช้ภาษาทมิฬ  นับถือศาสนาฮินดู  ประกอบอาชีพหลากหลาย  เช่น  แรงงาน  พ่อค้า  ทำงานด้านศิลปะ  เป็นต้น

แม้ชาวมาเลย์และอินเดียในสิงคโปร์จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจีน  แต่สิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับสองเชื้อชาตินี้  โดยสร้างชุมชนชาวอินเดียชื่อในชื่อลิตเติ้ลอินเดีย  และมีพิพิธภัณฑ์ชื่อมาเลย์วิลเลจ  จัดแสดงงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมาเลย์ในสิงคโปร์

 

ชาวเพรานากัน

ชาวเพรานากัน  (Peranakan)

     ชาวเพรานากัน  หรือบ้าบ๋า – ย่าหยาที่อาศัยในสิงคโปร์  คือลูกครึ่งเชื้อสายจีน – มลายู  ผู้ชายเรียกว่าบ้าบ๋า  ผู้หญิงเรียกว่าย่าหยา  ส่วนคำว่า  “เพรานากัน”  ในภาษามลายูแปลว่า  เกินที่นี่

     ชาวเพรานากันมีวัฒนธรรมเป็นของตน  ทั้งประเพณี  พิธีกรรมต่างๆ  การแต่งกาย  งานศิลปะ  และอาหารการกิน  ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับมลายู  เช่น  เสื้อผ้าผู้ชายคล้ายกับจีน  ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าบาติก  เสื้อปักหรือฉลุลายดอกไม้  นอกจากนี้ชาวเพรานากันยังมีงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์อีกด้วย  ทั้งศิลปะการร้อยลูกปัดและงานกระเบื้องเคลือบ

     เนื่องจากประชากรชาวสิงคโปร์มีหลายเชื้อชาติ  ความหลากหลายทางภาษาจึงมีมากตามไปด้วย  รัฐบาลกำหนดให้ภาษาราชการมี  4  ภาษา  คือ  ภาษาอังกฤษ  จีนกลาง  มลายู  และทมิฬ  โดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการติดต่อธุรกิจ  เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างคนต่างเชื้อชาติ  และเป็นภาษาหลักที่ใช้ในโรงเรียน  โดยเป็นภาษาแรกที่สอนในโรงเรียนสิงคโปร์ตั้งแต่  พ.ศ. 2530

     ประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์พูดได้  2  ภาษา  เพราะรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญภาษาอังกฤษ  ซึ่งเป็นภาษาสากล  และภาษาแม่ของประชากรแต่ละเชื้อชาติ  ดังนั้นคนสิงคโปร์เชื้อสายจีนจึงพูดได้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ  ชาวมาเลย์ก็เรียนรู้ภาษาคู่ไปกับภาษามลายู  เช่นเดียวกับชาวอินเดีย

     แม้จะมีภาษาราชการถึง  4  ภาษา  แต่ภาษาประจำชาติและเพลงชาติสิงคโปร์ก็ยังเป็นภาษามลายูอยู่  เพราะเดิมทีสิงคโปร์รวมอยู่ในสหพันธ์มาเลเซีย  เป็นชาติที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มายาวนาน

ตัวอย่างอักษรภาษาจีน  มลายู  และทมิฬ

ตัวอย่างอักษรภาษาจีน

ตัวอย่างอักษรภาษามลายู

ตัวอย่างอักษรภาษาทมิฬ


อังกฤษ

จีนกลาง

มลายู

ทมิฬ

สวัสดี

Hello   

หนีห่าว

ซาลามัต  ดาตัง

วานัคคัม

สบายดีไหม

How  are  you? 

หนีห่าวมา ?

อาปา  กาบาร์

เอปปาตี อีรุคคีนกา

สบายดี           

l’m  fine.         

หว่อเหินห่าว

กาบาร์  บาอิก

นัลลา อีรุคเคน

ขอบคุณ

Thank  you

เซี่ยเซี่ย

เตอริมา  กาสีห์

นานดรี

ลาก่อน

Goodbye

ไจ้เจี้ยน

ซาลามัต  ติงกาล 

ปอยต์ตุ วาเรน

ภาษาซิงลิช   (Singlish)  คืออะไร

     นอกจากภาษาราชการ  4  ภาษาแล้ว  สิงคโปร์ยังมีภาแบบไม่เป็นทางการอีกหนึ่งภาษาด้วย  เรียกว่า  “ซิงลิช”  มาจากคำว่า Singapore + English หมายถึงภาษาอังกฤษในแบบฉบับของคนสิงคโปร์

     ซิงลิชไม่ได้เป็นเพียงภาษาอังกฤษสำเนียงสิงคโปร์เท่านั้น  แต่มีการบัญญัติคำศัพท์และไวยากรณ์ไว้ด้วย  เอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างก็คือ  การนำคำจากภาษาจีน  (ฮกเกี้ยน)  มลายูและอังกฤษมาผสมกันในประโยค  รวมทั้งการเติมเสียงท้ายประโยค  เช่น  เสียง  Ah, Eh, Lah  เป็นต้น

 

 

ศาสนา

 

     ประเทศสิงคโปร์ไม่มีศาสนาประจำชาติ  เพราะเสรีภาพประชาขนเลือกนับถือศาสนาได้เอง  ปัจจุบันชาวสิงคโปร์ร้อยละ  33.3  นับถือศาสนาพุทธ  ร้อยละ  14.7  นับถือศาสนาอิสลาม  ร้อยละ  11.3  นับถือศาสนาคริสต์

     ประเทศสิงคโปร์ขึ้นชื่อด้านการศึกษาว่ามีคุณภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก  เพราะความเชื่อที่ว่าประชากรของตนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในประเทศ  การศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์กำหนดให้นักเรียนเรียนรู้  2  ภาษาควบคู่กันไปตั้งแต่ชั้นอนุบาล  คือภาษาอังกฤษ  (ภาษาหลัก)  และเลือกเรียนภาษาแม่อีกหนึ่งภาษา  ได้แก่  จีน  (จีนกลาง)  มลายู  หรือทมิฬ

ระบบการศึกษาของสิงคโปร์แบ่งเป็น  5  ระดับ  คือ

     ระดับก่อนวัยเรียน  (Pre-School Education)  หรือระดับอนุบาล  หลักสูตร  3  ปี  รับเด็กอายุ  3-6  ปี

     ระดับประถมศึกษา  (Primary School)  แบ่งเป็นประถมศึกษาตอนต้น  4  ปี  และประถมตอนปลาย  2  ปี 

     ระดับมัธยมศึกษา  (Secondary  School)  มีทั้งหลักสูตรพิเศษ  4  ปี  และหลักสูตรปกติ  5  นักเรียนทั้ง  2  หลักสูตรจะต้องผ่านการสอบ  O  Level  (หลักสูตรพิเศษ)  และ  N Level  (หลักสูตรปกติ)  เพื่อสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับต่อไป

     ระดับเตรียมอุดมศึกษา  (Junior College)  หลักสูตรเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย  มีทั้งหลักสูตร  2  ปี  และ  3  ปี

     ระดับอุดมศึกษา  (University)  มีหลักสูตรให้เลือกมากมายทั้งสายวิชาชีพและวิชาการ ระยะเวลาการศึกษาขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เลือกเรียน

ทางเลือกในการศึกษา

     สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสถาบันการศึกษาเฉพาะทางมากมาย  เพื่อสนับสนุนความสามารถของนักเรียน  นักศึกษาอย่างเต็มที่  เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสายอาชีพที่สนใจเตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่วัยทำงาน

    โพลีเทคนิค  (Polytechnics)  เป็นสถาบันที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรและอนุปริญญา มุ่งเน้นให้ศึกษานำทักษะที่เรียนไปใช้ทำงานได้จริงในอนาคตมีหลายหลักสูตร เช่น  วิศวกรรมทางทะเล  การทำภาพยนตร์  เป็นต้น

     สถาบันเทคนิคศึกษา  (lnstitute  of  Technical  Education)  คือสถาบันที่เปิดสอนด้านเทคโนโลยีและงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ

     สถาบันศิลปะ  (Academy  of  Arts)  ปัจจุบันมีสถาบันศิลปะของสิงคโปร์อยู่  2  แห่ง  เปิดสอนด้านดนตรี  การวาดภาพ  แฟชั่น  การเต้น  เป็นต้น

     จากการเก็บสถิติจำนวนประชากรสิงคโปร์พบว่า  คนที่มีอายุ  15  ปีขึ้นไปจำนวนร้อยละ  96.1  เป็นผู้อ่านออกเขียนได้  ซึ่งเป็นไปตามประสิทธิภาพของระบบการศึกษาที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

มหาวิทยาลัยของสิงคโปร์

     สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยของตัวเอง  4  แห่งที่มีความโดดเด่นในสาขาวิชาที่ต่างกันไป  คือ

มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งสิงคโปร์  (National University of Singapore)

     เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมายาวนาน  และได้รับการยอมรับในระดับโลก  ก่อตั้งเมื่อ  พ.ศ. 2448  เปิดสอนครอบคลุมเกือบทุกสาขาวิชา  เช่น  แพทยศาสตร์  เภสัชศาสตร์  กฎหมาย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยาง  (Nanyang Technological University)

     แต่เดิมเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  ต่อมาได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติ  (วิทยาลัยครู)  เปิดสาขาวิชาเพิ่ม  เช่น  ธุรกิจและการบัญชี

มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์  (Singapore Management University)

     ก่อตั้งเมื่อปี  พ.ศ. 2543  เปิดสอนด้านธุรกิจและการบริหารจัดการโดยเฉพาะ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์  (Singapore University of  Technology and Design.)

     มหาวิทยาลัยน้องใหม่ของสิงคโปร์  เปิดสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์แขนงต่างๆ  สถาปัตยกรรม  และการออกแบบ  เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้องกับเป็น  อยู่  คือ...วิถีชาวสิงคโปร์

อาเซียน 10 ประเทศ
สิงคโปร์หนึ่งในประชาคมอาเซียน
ทำเลที่ตั้ง  ประเทศสิงคโปร์
ปกบ้านครองเมือง และ ทำมาค้าขาย ประเทศสิงคโปร์
เป็น  อยู่  คือ...วิถีชาวสิงคโปร์  ตอนที่  2



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566

วิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านอย่างได้ผลวิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านอย่างได้ผล

ส้วมเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมส้วมเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว