มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน - หนทางสู่ความรุ่งโรจน์


[ 4 มิ.ย. 2551 ] - [ 18299 ] LINE it!


 

มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน
หนทางสู่ความรุ่งโรจน์

    บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด และมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อไม่กระด้าง ผู้เป็นเช่นนั้นย่อมได้ยศ คนหมั่น ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติดีต่อเนื่อง มีปัญญา ย่อมได้ยศ

    ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ เป็นชีวิตที่เสี่ยงต่อภัยรอบด้าน ผู้ใดรู้จักใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญบารมีก็จะมีอานิสงส์ผลบุญเป็นกำไรชีวิต เพราะบุญเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าสมบัติหรืออัญมณีใดๆ ในโลก ที่จะติดตามตัวเราไปได้ทุกหนทุกแห่ง และทุกภพทุกชาติ ดวงบุญที่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะคอยส่งผลอันดีงาม นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองให้กับชีวิตของเรา และขจัดดวงบาปหรือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ให้มลายหายสูญไป ยิ่งเรามีความบริสุทธิ์มาก บุญก็ยิ่งมาก และจะส่งผลดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรค  ดังนั้น วันเวลาที่ผ่านไป จึงควรหมั่นทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ บุญจะได้ตามหล่อเลี้ยงให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน

    มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่า

ปณฺฑิโต สีลสมฺปนฺโน      สณฺโห จ ปฏิภาณวา
นิวาตวุตฺติ อตฺถทฺโธ         ตาทิโส ลภเต ยส
อุฏฺŸานโก อนลโส            อาปทาสุ น เวธติ
อจฺฉิทฺทวุตฺติ เมธาวี         ตาทิโส ลภเต ยสํ
 
    บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด และมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อไม่กระด้าง ผู้เป็นเช่นนั้นย่อมได้ยศ คนหมั่น ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติดีต่อเนื่อง มีปัญญา ย่อมได้ยศŽ

    มหาสมุทรเป็นที่ไหลมารวมกันของน้ำจากทั่วทุกสารทิศ เพราะมีระดับที่ต่ำกว่า ฉันใด ผู้ที่ต้องการจะรับการถ่ายทอดคุณธรรมความดี จากผู้รู้ทั้งหลาย ก็จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ฉันนั้น ความอ่อนน้อมถ่อมตนมาจากภาษาบาลีว่า นิวาโต หมายความว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือ เอามานะทิฏฐิออกจากใจ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร มีแต่ยกย่องคนทำความดี และคอยให้กำลังใจผู้ที่เคยพลั้งพลาด

    ความเคารพกับความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความแตกต่างกัน ความเคารพเป็นการปรารภผู้อื่น ตระหนักในคุณงามความดีของผู้อื่น พบใครก็คอยมองหาข้อดีของเขา ไม่ไปจับผิด สามารถ ประเมินคุณค่าของผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง และแสดงอาการเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ส่วนความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือหมั่นพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง ลดทิฏฐิมานะ ไม่อวดดื้อถือดี สามารถน้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้ามาสู่ตนได้

    สิ่งที่คนทั่วไปมักหลงตนเอง คือ ถือชาติตระกูล ว่าตนเองมีชาติตระกูลสูงหรือเป็นตระกูลเก่าแก่มีชื่อเสียง บ้างก็ถือตัวเพราะคิดว่าตัวมีทรัพย์สมบัติมากกว่าคนอื่น จึงมักเอาแต่ใจตนเอง บางคนหลงตนเองเพราะรูปร่างหน้าตาดี หลงในความรู้ความสามารถ ยศ ตำแหน่งหรือบริวาร  เมื่อหลงยึดสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อที่จะถือดี  การทะเลาะวิวาทหรือการไม่ประนีประนอมกันก็จะเกิดขึ้น มีผลทำให้เกิดการแตกแยกในภายหลัง ทั้งๆ ที่สิ่งต่างๆ ที่เข้าไปยึดถือนั้น หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ไม่สามารถคงอยู่กับเราได้ตลอดไป ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงเครื่องอาศัยหรือสิ่งสมมุติกันขึ้นมาทั้งนั้น สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราจริงๆ ก็มีเพียงแต่คุณงามความดีที่เราได้ทำไว้เท่านั้น

    ฉะนั้น ผู้ที่จะได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกาย วาจา ใจ จะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริง ไม่เอาชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ รูปร่างหน้าตา ยศ ตำแหน่ง หรือบริวารมาเป็นเหตุให้เกิดมานะถือตัว และทำลายชื่อเสียงของตนเองโดยไม่รู้ตัว

    มีเรื่องเล่าว่า  ในสมัยพุทธกาล ฉันนะมหาอำมาตย์ผู้เป็นคนพาเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ออกบวชตาม แต่เนื่องจากมัวกระหยิ่มในใจว่า เป็นผู้ที่พาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบวช จึงเกิดมานะไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนที่มากไปด้วยทิฏฐิมานะ เมื่อเห็นพระอัครสาวกทั้งสองได้รับการยกย่องในท่ามกลางหมู่ภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชน ก็เกิดทิฏฐิมานะว่า ตนเองซึ่งเป็นผู้ช่วยให้พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบวชแท้ๆ กลับไม่ได้รับการยกย่องหรือเหลียวแล แทนที่จะเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งใจศึกษาธรรมะ ให้มีคุณธรรมภายใน กลับว่าร้าย และกล่าวจ้วงจาบพระเถระทั้งสองอยู่เป็นประจำ

    พระบรมศาสดาสดับข่าวนั้น จากสำนักของพระภิกษุ จึงรับสั่งให้ไปตามพระฉันนะมาเข้าเฝ้า ได้ตรัสสอนให้พระฉันนะเป็นผู้ว่าง่าย ให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าไปว่าร้ายพระอรหันต์ พระฉันนะก็ได้แต่ฟังนิ่งๆ แต่ก็ยังเที่ยวกล่าวตู่พระเถระทั้งสองอยู่เหมือนเดิม และยังกล่าวข่มขู่ภิกษุรูปอื่นอีกด้วย ทำให้ไม่มีใครกล้าว่ากล่าวตักเตือน เพราะถือว่า ท่านเป็นคนเคยใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก่อน

    พระบรมศาสดารับสั่งให้พระฉันนะมาเข้าเฝ้าอีก ทรง ตักเตือนว่า ฉันนะ อัครสาวกทั้งสอง เป็นยอดกัลยาณมิตรของเธอ อีกทั้งเป็นอริยบุคคล เธอจงคบหาเป็นกัลยาณมิตรเถิดอย่าได้ถือเอาทิฏฐิอันลามกเลยŽ ทรงตักเตือนถึง ๓ ครั้ง แต่พระฉันนะก็ยังอวดดื้อถือดีเหมือนเดิม ไม่ยอมเชื่อฟังแม้กระทั่งพระบรมศาสดา กลับเกิดความน้อยอกน้อยใจ

    พระฉันนะยังข่มขู่พระภิกษุอยู่เหมือนเดิม พระบรมศาสดา จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ พวกเธอจักไม่อาจทำให้ฉันนะสำนึกผิดได้ แต่เมื่อเราปรินิพพานแล้ว ฉันนะจักสำนึกได้Ž เมื่อพระอานนท์ทูลถามพระพุทธองค์ขณะกำลังจะเสด็จปรินิพพานว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติต่อพระฉันนะอย่างไรดี จึงจะเหมาะสมต่อพฤติกรรม ของท่านŽ ทรงรับสั่งว่า พวกเธอทั้งหลายพึงลงพรหมทัณฑ์      ไม่ปฏิบัติกิจใดๆ กับพระฉันนะŽ 

    เพราะฉะนั้น  *เมื่อพระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ได้เข้าไปวัดโฆสิตาราม และประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านฉันนะ สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้วŽ พระฉันนะ ไม่รู้ว่า ลงพรหมทัณฑ์คืออะไร ตอนแรกท่านก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่เมื่อพอพระเถระอธิบายว่า พรหมทัณฑ์คือ ไม่ให้ภิกษุสงฆ์พูดจากับพระฉันนะ ไม่พึงว่ากล่าว ไม่ตักเตือน และไม่ให้สอนธรรมแก่พระฉันนะ  เมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็รู้ว่าตนเองเป็นผู้ที่ใครๆ ไม่ต้องการแล้ว ท่านถึงกับเป็นลมสลบไปทันที  แต่เมื่อเป็นสังฆามติ และเป็นพุทธประสงค์แล้ว ก็ไม่มีภิกษุรูปใดฝ่าฝืน
 
    ตั้งแต่นั้นมา พระฉันนะก็ได้คิดและกลับตัวกลับใจใหม่ เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระเถระ และภิกษุผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรมสูงกว่าตน แทนที่จะมัวเที่ยวไปเกะกะระรานคนอื่น ก็หันกลับมาพิจารณาตนเอง ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นปรารภความเพียร ในที่สุดท่านสามารถทำใจให้หยุดนิ่งจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ครั้นหมดกิเลสแล้ว ท่านเข้าไปหาสงฆ์ และขอให้สงฆ์งดการลงพรหมทัณฑ์ต่อท่านด้วย พระอานนท์ได้กล่าวต่อที่ประชุมสงฆ์ว่า  เมื่อพระฉันนะทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผลแล้ว  เมื่อนั้น พรหมทัณฑ์ก็เป็นอันต้องยุติลง

    จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า คนที่ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใครๆ ก็ไม่อยากแนะนำตักเตือน แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนก็จะเป็นที่รัก ใครๆ ก็เมตตาแนะนำสั่งสอน จะได้แต่สิ่งที่ดีๆ มีอานิสงส์ติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ นับถือคนที่ควรนับถือ  เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เกิดในตระกูลสูง
Ž 
    เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ขอให้ทุกคนหมั่นฝึกฝนอบรมตนให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งกิริยาอ่อนน้อม มีวาจาอ่อนหวาน และมีใจที่อ่อนโยน ให้สมกับที่เป็นนักสร้างบารมี ผู้มุ่งจะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. ลงพรหมทัณฑ์ เล่ˆม ๙ หน‰้า ๕๒๔


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑ ( ปฐมเหตุ )เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑ ( ปฐมเหตุ )

เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๒ ( พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการ )เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๒ ( พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการ )

เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๓ ( กำเนิดพระเวสสันดร )เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๓ ( กำเนิดพระเวสสันดร )



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน