คำชี้แจงกรณีแนวชะลอน้ำบริเวณถนนพหลโยธิน


[ 27 ต.ค. 2554 ] - [ 18262 ] LINE it!
View this page in: English

 
คำชี้แจงกรณีแนวชะลอน้ำบริเวณถนนพหลโยธิน


 
แนวคิดการป้องกันน้ำท่วมกทม.ชั้นใน
 
        มวลน้ำขนาดใหญ่ที่ทะลักผ่านแนวคลองระพีพัฒน์ลงมาคลองรังสิตและเอ่อท่วมคูคต สายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน มุ่งเข้าศูนย์กลางกทม.อยู่ในขณะนี้ ต้นทางมาจากน้ำจากอยุธยาที่บ่าข้ามถนนพหลโยธิน จากด้านทิศเหนือมาฝั่งทิศใต้ ช่วงกม.ที่ 55-79 ประมาณวันละ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงอ่าวไทย หากสามารถกันน้ำไม่ให้บ่าข้าม ถ.พหลโยธินได้ แรงกดดันที่มีต่อกทม.จะลดลงอย่างมาก และน้ำก้อนนี้ก็จะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่อ่าวไทยต่อไป
 
น้ำที่บ่าข้าม ถ.พหลโยธินมีเป็นระยะๆ ช่วงที่สำคัญมี 3 แห่งคือ
 
1. ช่วงกม.ที่ 55-57 น้ำบ่าข้ามยาว 1,500 เมตร ช่วงน้ำลึกสุด ~80 เซนติเมตร ยาว 600 เมตร
 
2. ช่วงกม.ที่ 59-62 น้ำบ่าข้ามยาว 350 เมตร ช่วงน้ำลึกสุด ~50 เซนติเมตร ยาว 150 เมตร
 
3. ช่วงกม.ที่ 65-66 น้ำบ่าข้ามยาว 800 เมตร ช่วงน้ำลึกสุด ~60 เซนติเมตร ยาว 400 เมตร
 
        ปริมาณน้ำที่บ่าข้ามจากช่วงที่ 1 คิดเป็นเกือบ 70% ของปริมาณน้ำที่บ่าข้ามถ.พหลโยธินทั้งหมด หากควบคุมน้ำช่วงนี้ไม่ให้บ่าข้ามได้ ปัญหาก็จะคลี่คลายไปมาก และถ้าควบคุมน้ำช่วงที่ 2,3 ไม่ให้บ่าข้ามได้ด้วย ก็ถือว่าสกัดน้ำได้ถึง 90% เมื่อสกัดต้นน้ำตรงนี้ได้ มวลน้ำที่ลงไปยังคลองระพีพัฒน์จะลดลง สามารถปิดประตูน้ำพระอินทร์และประตูน้ำคลอง 1-6 ได้ น้ำที่ลงไปรังสิตและมุ่งสู่กทม.จะลดลง และสามารถเปิดใช้ ถ.พหลโยธินได้อีกครั้ง หากยังปล่อยให้ น้ำบ่าข้าม ถ.พหลโยธิน ช่วงนี้ต่อไป กว่าน้ำจากทางเหนือจะลดลง คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หมายถึง กทม.จะจมน้ำร่วมเดือน จึงจะระบายน้ำจากจุดนี้หมด
 
วิธีป้องกันน้ำบ่าข้ามถนน
 
1. ช่วงน้ำลึก 80 เซนติเมตร ขึ้นไป ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ยาว 12 เมตร วางขวางทางน้ำ
 
2. ช่วงน้ำลึกปานกลาง 40-70 cm. ใช้ถุงทรายยักษ์ขนาด 1 ตัน วางเรียงกันขวางทางน้ำ แล้วใช้ถุงทรายขนาดเล็กอุดตรงช่องรอยต่อ
 
3. ช่วงน้ำตื้น 10-40 เซนติเมตร ใช้แท่งปูนยาว ~4 เมตร ของกรมทางหลวง วางเรียงต่อกันไป และใช้กระสอบทรายขนาดเล็กอุดช่องระหว่างรอยต่อ หรือใช้บ่อวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร วางลงในน้ำแล้วเอากระสอบทรายขนาดเล็กอัดใส่ตรงกลางเพื่อให้มีน้ำหนักสู้แรงดันของน้ำได้ แล้วเอากระสอบทรายเล็กอุดตรงช่องรอยต่อ และวางทับด้านบน ป้องกันน้ำเอ่อล้นข้าม
 
ตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการแนวชะลอน้ำถนนพหลโยธิน
 
1. โครงการแนวชะลอน้ำ เป็นแผนงานของทางราชการ โดยมีหน่วยงานหลัก คือ กระทรวงกลาโหมและกระทรวงคมนาคม โดยสั่งการผ่านทางกรมทางหลวง และขอความร่วมมือมายังวัดพระธรรมกาย เพราะมีเครื่องมือและกำลังคน และประสบความสำเร็จในการป้องกันแนวคันกั้นน้ำบริเวณคลองระพีพัฒน์ ระหว่างคลอง 1-3 ไว้ได้ ทางวัดจึงส่งกำลังพระภิกษุ สาธุชน และชาวบ้านให้มาช่วยลำเลียงกระสอบทราย
 
2. โครงการแนวชะลอน้ำของราชการ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ
 
        2.1. เพิ่มผิวการจราจรบริเวณถนนพหลโยธิน ให้สามารถเปิดใช้เส้นทางการเดินรถไปสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
 
        2.2. เพื่อให้มีเส้นทางเดินรถของทางราชการนำถุงยังชีพไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ปทุมธานีและอยุธยาได้รวดเร็ว
 
        2.3. เพื่อชะลอมวลน้ำที่เข้าพื้นที่เขตคลองหลวง รังสิต ดอนเมือง สายไหม และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะชะลอน้ำได้ประมาณ 30-50% โดยมวลน้ำก็จะไหลไปตามคูคลองที่มีอยู่ตามปกติ ผนวกกับทางกรุงเทพมหานคร ก็มีการระดมสูบน้ำจากพื้นที่เขตชั้นใน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในกรุงเทพมหานครชั้นในลดลงได้อย่างรวดเร็ว
 
3. หากมีการสร้างแนวชะลอน้ำในพื้นที่ถนนพหลโยธินได้สำเร็จ คาดว่าระดับน้ำในบริเวณใกล้เคียง แนวชะลอน้ำจะสูงขึ้นไม่เกิน 10 เซนติเมตร
 
4. ข้อมูลของวัดพระธรรมกาย
 
        4.1. วัดพระธรรมกายได้ร่วมกับชาวบ้าน อำเภอคลองหลวง ตำบลคลอง 1-2-3 ช่วยกันสร้างแนวคันกั้นน้ำบริเวณคลองระพีพัฒน์ ความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร โดยมีการระวังตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือนร้อนจากน้ำท่วมของชาวบ้านกว่า 150,000 คน
 
        4.2. ปัจจุบันวัดพระธรรมกาย แพ็คถุงยังชีพบรรจุอาหารกระป๋องพร้อมรับประทานและน้ำดื่ม เพื่อแจกจ่ายในอำเภอคลองหลวงและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 3,000 ชุดต่อวัน และผลิตอาหารสดพร้อมรับประทาน เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยในจังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 20,000 ชุดต่อวัน
 
        4.3. เฉพาะในพื้นที่ชุมชนรอบวัดพระธรรมกาย ทางวัดได้นำถุงยังชีพและอาหารพร้อมรับประทานและออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางเรือทุกวัน เพื่อช่วยผู้ประสบภัยในเขตพื้นที่ อำเภอคลองหลวง ระหว่างคลอง 1-5, พื้นที่อำเภอวังน้อย ระหว่างคลอง 1-4 และเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดยเฉลี่ย 3,000-5,000 ชุดต่อวัน
 
        4.4. ขณะนี้วัดพระธรรมกาย ให้บริการรถบัสรับ-ส่งฟรี ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. ทุกวัน ระหว่างเส้นทางมอเตอร์เวย์ (วงแหวนตะวันออก-ทล.9) -วัดพระธรรมกาย-บางขันธ์-หน้าตลาดไท เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางต่อรถไปที่สถานีขนส่งหมอชิตเพื่อกลับต่างจังหวัด โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา
 
        4.5. ปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีผู้คนที่อยู่ในวัดเกือบ 10,000 ชีวิต ประกอบด้วย พระภิกษุสามเณรทั้งประจำและวัดสาขากว่า 2,000 รูป อุบาสกอุบาสิกาและอาสาสมัครกว่า 1,000 คน สาธุชนที่มาช่วยแพ็คถุงยังชีพ, ผลิตอาหารแจกประชาชน, และแพ็คถุงทรายกว่า 4,000 คน ผู้อพยพมาพักค้างที่วัดโดยผ่านทางอบต.ประมาณ 1,400 คน และพนักงานของวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมเข้ามาพักค้างพร้อมครอบครัวอีกกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตาม อำเภอคลองหลวงยังอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม จึงเตรียมย้ายผู้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในศูนย์อบรมเยาวชนจังหวัดลพบุรีต่อไป
 
5. ขอชี้แจงว่า การสร้างคันกั้นน้ำแนวคลองระพีพัฒน์ ระหว่าง คลอง 1-3 ความยาวประมาณ 8 กิโลมตร และการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการแนวชะลอน้ำถนนพหลโยธินนั้น ทางวัดเป็นเพียงผู้ให้ความรวมมือ โดยประโยชน์ได้กับคนส่วนรวมและป้องกันกรุงเทพไม่ให้น้ำท่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ได้เป็นไปเพื่อวัดพระธรรมกายเท่านั้น แต่เป็นผลดีกับประชาชนและผู้ประสบภัยในเขตอำเภอคลองหลวง รังสิต ปทุมธานี สายไหม ดอนเมือง และเขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร (ดังรูป) อย่างไรก็ตาม วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2554 นี้ ทางวัดได้หยุดการดำเนินการในพื้นที่ถนนพหลโยธินแล้ว เพื่อรอความชัดเจนในการดำเนินการจากทางราชการต่อไป
 
พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวังโส
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัดพระธรรมกาย
27 ตุลาคม พ.ศ.2554
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
DMC ที่โซโลมอนDMC ที่โซโลมอน

Solomon Islands หมู่เกาะมนุษย์กินคนSolomon Islands หมู่เกาะมนุษย์กินคน

เกาะที่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุด ที่มนุษย์อยู่ได้เกาะที่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุด ที่มนุษย์อยู่ได้



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน