ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 1


[ 21 ก.ย. 2549 ] - [ 18272 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 1
 

    เราได้ติดตามศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งพระองค์ ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้สร้างบารมีมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งในพระชาติที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องของพระเตมีย์ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ซึ่งพระองค์ทรงเกรงกลัวภัยในมหานรกยิ่งกว่ากลัวความตายเสียอีก
 
    แม้จะถูกทดลองด้วยวิธีการต่างๆ อย่างหนักหนาสาหัสเพียงไร แต่พระองค์ก็ไม่ทรงละทิ้งมโนปณิธาน ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำความปรารถนาของพระองค์ให้สำเร็จให้จงได้พระองค์มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะออกผนวชตั้งแต่เยาว์วัย จนในที่สุด ผลแห่งตั้งใจที่พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรมาอย่างต่อเนื่อง ก็มาถึงพร้อมเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 ชันษา จึงได้เสด็จออกผนวชเป็นผลสำเร็จ และยังมีหมู่พระประยูรญาติพร้อมข้าราชบริพาร อีกทั้งกษัตริย์ต่างเมืองออกบวชตามอีกเป็นจำนวนมาก
 
    นับเป็นพระชาติหนึ่ง ที่พระอรรถกถาจารย์ผู้เป็นบัณฑิตในกาลก่อน ได้นำมาจัดเข้าเป็นหนึ่งในสิบชาติที่สำคัญ เพื่อให้เป็นแบบอย่างในประพฤติปฏิบัติของเหล่าชนทั้งหลายด้านเนกขัมมบารมี คือ อุปนิสัยอันเต็มเปี่ยมในการปลีกตนให้พ้นจากกามคุณทั้ง 5 โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

     วันนี้ เราจะได้มาศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ในอีกพระชาติหนึ่ง  คือ พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี คือ อุปนิสัยอันเต็มเปี่ยมด้วยความเพียร อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน หากจะถามว่า ทำไมจึงต้องทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์เช่นนั้น อย่างเช่น ในเรื่องพระเตมีย์ที่ผ่านมา แม้จะถูกทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ปล่อยงูพิษให้เข้ามากัด ปล่อยช้างให้เข้ามาทำร้าย เป็นต้น ทำอย่างไรพระองค์ก็ยังทรงนิ่งเฉย พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเพียรอย่างนี้ เพียรไปก็ตายเปล่า แล้วจะเพียรไปทำไม
 
    ตอบได้ว่า ความเพียรเป็นอุปนิสัยที่ฝั่งแน่นอยู่ในจิตใจของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย เพราะความเพียรเท่านั้น ที่จะสามารถเอาชนะความเกียจคร้าน อันเป็นกิเลสที่ฝังลึกอยู่ในใจของมนุษย์ทั้งหลายมาเนิ่นนาน ให้มลายหายสูญ และเดินหน้าต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น หากชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องเพียรกันต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ
   
 โดยปกติแล้ว ใจของมนุษย์นั้นจะคุ้นกับกิเลสเหมือนกับปลาคุ้นน้ำ เมื่อจะต้องหักดิบจากนิสัยที่ไม่ดี จะต้องอาศัยกล้าหาญอย่างแรงกล้า เพราะใจจะดิ้นรนย้อนกลับไปทำในสิ่งที่คุ้นเคยนั้น อีกทั้งยังต่อต้านกับความดีที่กำลังจะทำให้เกิดขึ้นในใจอีกด้วย

    ดังนั้น ผู้ที่มีความเพียร จึงต้องมีความกล้าอยู่ในตัว เพราะคำว่า วิริยะ นั้นต้นศัพท์เดิมมาจาก คำว่า วีระ แปลว่า กล้า คือ กล้าที่จะตัดใจเลิกในสิ่งที่ไม่ดี และกล้าที่จะแข็งใจทำแต่สิ่งที่ดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นิสัยอะไรที่ไม่ดี แม้เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยคิด ไม่เคยพูด ไม่เคยทำ ก็สงวนตนเอาไว้ ไม่คิด ไม่พูด และไม่ทำ ส่วนสิ่งใดที่ทำอยู่ หากรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขืนทำต่อไป ก็มีแต่จะก่อให้เกิดทุกข์โทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ก็ต้องเพียรเลิกให้ได้
           
    ตรงกันข้าม นิสัยอะไรที่ดีๆ ที่เรายังไม่เคยคิด ไม่เคยพูด ไม่เคยทำ ต้องเริ่มต้นทำ ที่ทำดีอยู่แล้วก็ทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าทำได้อย่างนี้ บารมีจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการกระทำนั้น แล้วความนิ่งของใจก็จะเพิ่มขึ้น อย่างนี้เรียกว่า วิริยบารมีเริ่มเกิดขึ้นแล้ว 
 
     การเพิ่มพูนความเพียร แบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันนี้  มีอุปมาดั่งพญาราชสีห์ผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถทั้งปวง ฉันใด  พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ย่อหย่อนในการทำความดีทั้งปวง เป็นผู้เพิ่มพูนความเพียรอย่างยิ่งยวด มีความกล้าหาญที่จะประกอบกุศลกรรม ทำความดีทุกชนิดอย่างไม่ลดละ ฉันนั้น
 
   ดังนั้น นักสร้างบารมีก็ต้องเพิ่มพูนความเพียรของตน อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันไปจนกว่าจะสมปรารถนา  เรียกว่า ไม่สำเร็จ เป็นไม่เลิก

    มีธรรมภาษิตในมหาชนกชาดกบทหนึ่ง มีความว่า “บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติ ไม่เป็นหนี้ต่อเทวดาและบิดามารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง”

    นี้เป็นคาถาที่พระมหาชนกได้ตรัสไว้ ในเรื่องราวตอนหนึ่ง ที่พระองค์ทรงลอยคออยู่ในมหาสมุทรซึ่งมองไม่เห็นฝั่ง เป็นคำที่คนผู้หวังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ควรตระหนักไว้ในใจ เพื่อจะได้ไม่ท้อถอยเสียกลางคันก่อนที่ความสำเร็จนั้นจะมาถึง

    เมื่อเห็นแบบอย่างที่ดีงามดังนี้ ผู้เป็นบัณฑิต จึงควรพยายามเรื่อยไป ไม่พึงเบื่อหน่าย  เพราะบุคคลผู้ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อทำความดีสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น  สิ่งนั้นจะเป็นภาพประวัติชีวิตอันงดงาม  เมื่อนึกย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นคราใด ก็จะเกิดความปลื้มใจ และมีกำลังใจเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น
 
    นอกจากนี้ ผลแห่งวีรกรรมอันยิ่งใหญ่นั้น ยังก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดเป็นแบบอย่างอีกด้วย เพราะในการทำความดีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คนทั่วไปย่อมต้องการต้นแบบดีๆ  เพื่อเขาจะได้ศึกษาดูว่า  มีใครเคยทำมาก่อนแล้วบ้าง  และเมื่อทำสำเร็จแล้ว เกิดผลดีอย่างไร เมื่อค้นพบผู้เป็นวีรบุรุษต้นแบบแล้ว ก็จะเกิดกำลังใจในการทำความดีตามมาด้วย 
           
    ดังนั้น ต้นแบบของชีวิตที่ดีงาม ไม่มีใครเกินพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงควรศึกษาอดีตชาติของพระองค์ว่า พระชาติที่ผ่านมา พระองค์ทรงสร้างบารมี และมีหลักการดำเนินชีวิตอย่างไร จึงได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นบรมครูของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย
           
     ต่อไปนี้  จะได้นำเสนอเรื่องพระมหาชนก ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระชาติหนึ่งในทศชาติชาดก  ในพระชาตินี้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีอย่างยิ่งยวดจนปรากฏเด่นชัด  

    วิริยบารมีของท่านนั้น จะเป็นที่น่ายกย่องเพียงไร ขอท่านผู้มีบุญทั้งหลายจงตั้งใจติดตามโดยเคารพ  เพื่อความรู้และความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ฉลาดในการดำเนินชีวิต  และเพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างวิริยบารมี ให้ได้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป  ขอเชิญทุกท่านได้ติดตามเรื่องราวของพระมหาชนกผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ดังต่อไปนี้ 
 
    ณ  ธรรมสภาอันเป็นสถานที่ประชุมกันเพื่อฟังธรรม  และสนทนาธรรมของพุทธบริษัททั้งหลาย  ภายในพระเชตวันมหาวิหาร  พุทธสถานอันงดงามสง่า  มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ทำให้เกิดความร่มรื่น วันหนึ่ง  ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้สนทนากันในโรงธรรมสภา  เกี่ยวกับการเสด็จออกบำเพ็ญเนกขัมบารมีของพระพุทธองค์ว่า  ทรงมีพระปัญญาอันลึกซึ้งจึงสามารถตักเตือนตนเองได้  และทรงละทิ้งเบญจกามคุณอันเลิศกว่ามนุษย์ทั้งหลายในโลก 

     เสด็จออกบำเพ็ญเพียร เพื่อขจัดกิเลสอาสวะ  ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  จนสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง  ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ  พระองค์ทรงเป็นเอกบุรุษที่ไม่มีใครเสมอเหมือน  พระบรมศาสดาทรงสดับคำสนทนาของเหล่าภิกษุ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตธาตุของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย จึงเสด็จมายังโรงธรรมสภา  ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ภิกษุจัดถวายแล้ว  ได้ตรัสถามว่า  “ภิกษุทั้งหลาย เธอกำลังประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร” 

     เมื่อตัวแทนของพระภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว  จึงตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตออกบวชด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่ แม้ในกาลก่อนที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  ตถาคตได้ออกบวชด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่เช่นกัน”  แล้วก็ประทับนิ่งอยู่
   
ภิกษุจึงกราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวในอดีตว่า  “ในกาลก่อนที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นั้น  ได้ทรงสละราชสมบัติเสด็จออกผนวช  มีเรื่องราวเป็นอย่างไร  ขอพระองค์โปรดทรงแสดงให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด  พระเจ้าข้า”  ส่วนเรื่องราวที่พระพุทธองค์ทรงนำมาตรัสเล่าให้ฟังนั้น จะน่าศรัทธาเลื่อมใส และมีคติธรรมนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 1ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 1

ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 2ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 2

ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 3ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 3



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก