อนาถบิณฑิกเศรษฐี (มหาเศรษฐีเทพบุตร)


[ 18 มี.ค. 2557 ] - [ 18315 ] LINE it!

อนาถบิณฑิกเศรษฐี (มหาเศรษฐีเทพบุตร)

     วันเวลาแห่งการสร้างบารมีที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราได้ทำความดีกันอย่างสมํ่าเสมอ เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ทุกๆ ท่านก็ไม่ได้หวั่นไหวแม้จะต้องสวนกระแส สร้างบารมีกันโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยยาก ต่างก็ทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมีกันเป็นทีมเรื่อยมาเลย นับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในยุคนี้ น่าอนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง ความดีที่เราได้ทำไปนี้ นึกถึงทีไรจะเกิดความปลื้มปีติและภาคภูมิใจทุกครั้ง แต่เราก็ไม่ควรประมาทในชีวิต เราจะต้องสร้างให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางคือ ที่สุดแห่งธรรมกันให้ได้

มีวาระพระบาลีที่ท่านอนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กล่าวไว้ว่า

     “มหาวิหารเชตวันนี้มีประโยชน์ มีหมู่สงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว มีพระพุทธองค์ผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่ เป็นสถานที่นำมาซึ่งความปีติแก่ข้าพระองค์  สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม  วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอุดม ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้น  บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย  จะบริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการอย่างนี้”

     นี่คือคำสุภาษิตที่อนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กล่าวไว้เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดาในวัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งในสมัยที่เป็นมนุษย์ท่านได้เป็นผู้บุกเบิกก่อสร้างขึ้นมา ด้วยพลังศรัทธาที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อละสังขารจากโลกนี้แล้ว ก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต มีวิมานที่สว่างไสวมากเป็นพิเศษ รัศมีกายของท่าน สว่างโชติช่วงเหมือนกองทองที่สุกปลั่ง มีทิพยอุทยาน บริวาร และวิมานที่กว้างใหญ่ไพศาล บังเกิดขึ้นรอคอยท่านมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ

     ท่านได้สำรวจดูว่า ทิพยสมบัติที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินนี้ เกิดขึ้นเพราะได้กระทำกุศลกรรมอะไรไว้ในโลกมนุษย์ เมื่อได้เห็นภาพของการประกอบกองการกุศลแล้ว จึงคิดว่า เราบังเกิดเป็นเทพบุตรนี้มีโอกาสที่จะประมาทเลินเล่อได้ เพราะถ้าหากมัวเมาชื่นชมกับทิพยสมบัติเหล่านี้ ก็จะต้องหลงลืมสติทำให้พลาดโอกาสที่จะได้นมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลอันเลิศ อย่ากระนั้นเลย เราควรไปกล่าวชมเชตวันมหาวิหารที่ได้สร้างขึ้นมาด้วยสมบัติของเรา และกล่าวนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงจะค่อยมาเสวยทิพยสมบัติในภายหลัง  

     เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ท่านจึงลงมาจากดุสิตสวรรค์พร้อมด้วยวิมานที่สว่างไสว มาปรากฏกายเฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา พร้อมกับเปล่งอุทานดังถ้อยคำที่หลวงพ่อได้กล่าวไว้แล้ว   เมื่อได้นมัสการนอบน้อมด้วยความสำนึกในมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ และหมู่สงฆ์ ที่เป็นต้นบุญให้ท่านได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วจึงอันตรธานหายไป

     ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดีเยี่ยม ซึ่งนอกจากท่านจะมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยจนได้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ยังเป็นต้นบุญต้นแบบในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนไปสู่ดวงใจของชาวโลกอีกด้วย เมื่อได้มาพบพระบรมศาสดา ก็ได้อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับงานพระศาสนา สนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ ด้วยการตัดสินใจสร้างเชตวันมหาวิหารถวายแด่ภิกษุสงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ประพฤติปฏิบัติธรรมและเผยแผ่ธรรมะ โดยไม่รู้สึกหวงแหนหรือเสียดายทรัพย์สมบัติที่มีอยู่เลย

     * เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อท่านได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาจนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็กลับไปที่พระนครสาวัตถี ไปชักชวนหมู่ญาติและผู้มีบุญให้มาเอาบุญใหญ่กัน ท่านได้ป่าวประกาศให้มิตรสหายได้ทราบว่า ขณะนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว เพื่อนบ้านได้ยินข่าวอันเป็นสิริมงคล ต่างก็พากันมาเพื่อสร้างอาราม สร้างมหาวิหาร

     ส่วนตัวของท่านเศรษฐี เที่ยวตรวจดูในกรุงสาวัตถีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะประทับอยู่ที่ไหนดี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่ไกลและไม่ใกล้จากหมู่บ้านเกินไปนัก มีการคมนาคมสะดวกสบาย ผู้คนที่มีความประสงค์จะไปกราบนมัสการ ก็ไปมาได้โดยสะดวก อีกทั้งเวลากลางวันไม่จอแจพลุกพล่าน ในยามกลางคืนก็เงียบสงัด ปราศจากกลิ่นไอที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นสถานที่ที่ควรแก่การประกอบความเพียร เมื่อตรวจดูแล้ว ก็เห็นว่าพระอุทยานของเจ้าเชตราชกุมารเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นวัด

     ท่านเศรษฐีจึงได้เข้าเฝ้าเจ้าเชต และกราบทูลว่า “ขอให้พระองค์ทรงประทานพระราชอุทยานแก่เกล้ากระหม่อม เพื่อจัดสร้างพระอารามด้วยเถิด” เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า “ท่านคหบดี หากท่านต้องการ จงเอาเงินมาปูลาดจนเต็มพื้นที่เถิด” เมื่อได้ฟังอย่างนั้นแล้วเศรษฐีไม่ได้หวั่นไหวหรือท้อใจที่จะซื้อที่ดินผืนนั้นเลย ท่านได้สั่งให้คนเอาเกวียนบรรทุกเงินออกมาเรียงกันให้เต็มพื้นที่ ในขณะที่เศรษฐีให้ปูจนใกล้จะเต็มพื้นที่นั่นเอง เจ้าเชตราชกุมาร เห็นความตั้งใจมั่นเช่นนั้น ก็บังเกิดความเลื่อมใสมาก ไม่นึกว่าผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยวอย่างนี้จะมีในโลก จึงบอกว่า “พอแล้วท่านคหบดี ท่านอย่าได้ปูลาดตรงนี้เลย ท่านจงให้โอกาสแก่เราบ้างเถอะ เราขอร่วมบุญตรงซุ้มประตู”       

     อนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นว่า เจ้าเชตเป็นผู้เรืองพระนาม มีคนรู้จักมาก จึงตอบตกลง เมื่อสร้างวัดสำเร็จลุล่วง จึงให้สร้างซุ้มประตูหน้าวัด โดยตั้งชื่อว่า วัดพระเชตวัน แล้วสร้างวิหารหลายหลังไว้ในวัด อีกทั้งก่อสร้างกำแพง ซุ้มประตู ศาลาหอฉัน โรงไฟ วัจกุฎี ที่จงกรม บ่อน้ำ สระโบกขรณี มณฑป และสถานที่ต่างๆ จนเป็นที่พอใจ

     เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จมาเป็นองค์ประธานในการรับถวายวัดพระเชตวัน ทรงกระทำอนุโมทนากับท่านมหาเศรษฐีว่า “วิหารย่อมป้องกันหนาวร้อน และสัตว์ร้าย ป้องกันงู และยุง กันลมกันฝน นอกจากนั้น วิหารยังป้องกันแสงแดดอันแรงกล้าที่เกิดขึ้นได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณา และเพื่อให้เห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้นแล คนผู้ฉลาด เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายเถิด”

     ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการทำบุญถวายมหาวิหารนั้น ถือว่าเป็นบุญใหญ่ เป็นการขยายงานของพระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป ให้เป็นที่พึ่งต่อชาวโลก อีกทั้งเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่คู่โลกตลอดไป เราทั้งหลายควรยึดเอาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นแบบอย่าง

     ดังนั้น ทรัพย์ของเราที่มีอยู่ ถ้าจะให้เป็นประโยชน์ก็ควรนำออกด้วยการให้ทาน มาช่วยกันสร้างโบสถ์ วิหาร ถวายแด่วัดต่างๆกันเถิด ชาวโลกส่วนใหญ่มีความตระหนี่ในทรัพย์สมบัติ มีแล้วก็หวงแหน หรือมีแล้วใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ใช้ทรัพย์ไม่เป็น และใช้ชีวิตให้หมดไปวันๆ เท่านั้น อย่างนี้เป็นทรัพย์ทุพพลภาพ มีอยู่ก็เหมือนกับไม่มี เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์อันใดเลย

     แต่สำหรับการสร้างวิหารแด่สงฆ์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโลกและจักรวาล มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ เป็นทั้งต้นบุญต้นแบบให้กับนักสร้างบารมีรุ่นหลังได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม นอกจากจะได้ผลบุญในปัจจุบันนี้แล้ว ภพชาติต่อไปในเบื้องหน้า เราจะได้ทิพยสมบัติอันโอฬารเหมือนกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เราจะสมบูรณ์ไปด้วยที่สุดของรูปสมบัติ ที่สุดของทรัพย์สมบัติ ที่สุดของคุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน สมบูรณ์หมด หลวงพ่อมีความปรารถนาให้ทุกๆ คนได้เข้าถึงฐานะต่างๆ ดังกล่าวนี้ด้วยกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๙ หน้า ๑๒๙
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๑)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๑)

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๒)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๒)

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๓)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๓)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน