ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร (๑)


[ 15 ส.ค. 2557 ] - [ 18270 ] LINE it!

ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร (๑)

     ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่ยังมีกิเลสอาสวะ ดวงจิตถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา บดบังดวงปัญญาไม่ให้รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต เรื่องราวในสังสารวัฏจึงเป็นความลี้ลับที่มืดมน ไม่มีใครรู้เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย คนเราทุกคนที่เกิดมาแล้วต่างก็มีหน้าที่ คือ ต้องแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น มุ่งตรงไปสู่อายตนนิพพาน  

     ดังนั้น การกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจึงเป็นวัตถุประสงค์ของชีวิต จะกำจัดกิเลสอาสวะได้ ต้องเข้าถึงธรรมกาย แล้วใช้กายธรรมที่ละเอียดที่สุดบริสุทธิ์ที่สุด จึงจะไปกำจัดต้นเหตุของกิเลสอาสวะได้ แต่กว่าจะเข้าไปถึงจุดนั้น เราจะต้องทำใจของเราให้หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์ หยุดในหยุดกันตลอดไปบนเส้นทางแห่งอริยมรรค เส้นทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย

ครั้งหนึ่งท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ว่า

     “ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระจักษุโดยรอบ ปราศจากความโศกแล้ว จงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วยธรรม จงพิจารณาชุมชนผู้จมอยู่ในความโศก ถูกชาติและชราครอบงำแล้ว อุปมาเหมือนบุคคลผู้อยู่บนยอดเขา อันล้วนด้วยศิลา จะพึงเห็นชุมชนโดยรอบ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ผู้ทรงชนะสงครามแล้ว ขอพระองค์จงแสดงธรรมเพื่อเกื้อกูลแก่หมู่สัตว์ด้วยเถิด”

     เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงบรรลุกันแล้ว ก็ทรงเข้านิโรธสมาบัติมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตลอดระยะเวลา ๗ วันที่โพธิมณฑล ทรงให้เวลาล่วงไปกับการเข้านิโรธสมาบัติอีกหลายสัปดาห์ พร้อมกับพิจารณาธรรม ที่เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งสุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก ยากที่สรรพสัตว์จะตรองตามได้ 

 

     * แต่เมื่อพระองค์ได้รับการอาราธนาจากสหัมบดีพรหมแล้ว ก็ตรวจตราดูโลกธาตุด้วยธรรมจักขุ ทรงเห็นเหล่าเวไนยสัตว์ชนิดที่มีอินทรีย์แก่กล้า เคยสั่งสมบุญบารมีร่วมกับพระองค์มาก่อน พร้อมที่จะตรัสรู้ธรรมตามก็มี ส่วนที่ยังมีอินทรีย์อ่อนอยู่ ได้ฟังพระสัทธรรมมาน้อย รอพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปมาโปรดก็มี  

     ทรงพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ว่า ที่เป็นประเภทอุคฆติตัญญู คือเพียงฟังธรรมครั้งเดียว ก็สามารถตรัสรู้ธรรมตามได้ทันทีก็มีมากมาย เปรียบเสมือนบัวที่โผล่พ้นน้ำ พอได้รับแสงอรุโณทัยก็สามารถเบ่งบานได้ทันที  

     ทรงพิจารณาเห็นต่อไปว่า หมู่สัตว์ที่เป็นประเภทวิปจิตัญญู คือฟังธรรมที่มีการขยายความเพียงไม่กี่ครั้ง ก็สามารถไตร่ตรองตามธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แล้วสามารถทำใจให้หยุดนิ่ง เข้าถึงธรรมตามพระองค์ได้ เหมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำ พร้อมที่จะโผล่ขึ้นเบ่งบานในวันรุ่งขึ้น และยังมีหมู่สัตว์อีกมากมายผู้มีบุญวาสนามาก่อน ที่รอคอยฟังพระสัทธรรมจากพระองค์ เป็นประเภทเนยยะ คือผู้ที่พระองค์พอจะแนะนำได้ ต้องฟังธรรมซํ้าแล้วซํ้าอีก หากเข้าใกล้กัลยาณมิตร ต้องใช้เวลาสักหน่อยจึงจะสามารถตรัสรู้ธรรมตามได้ เหมือนดอกบัวที่อยู่ในน้ำ ต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงตะวัน

     ส่วนประเภทสุดท้าย คือ ปทปรมะ หมู่สัตว์ผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ได้ยินได้ฟังธรรมมาน้อย ไม่ได้สั่งสมบุญบารมีเอาไว้ แม้จะได้พบพระอริยเจ้า ได้ฟังพระสัทธรรม แต่ก็ไม่มีปัญญาพอที่จะไตร่ตรองตามธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งได้ อย่างมากก็เป็นเพียงอุปนิสัยปัจจัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติเท่านั้น เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ อยู่ในเปือกตม ไม่มีโอกาสเบ่งบานรับแสงอรุณ ต้องกลายเป็นอาหารของปลาและเต่าไป

      เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็ตรวจดูต่อไปว่า ควรจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ทรงตรวจดูไปตลอดหมื่นโลกธาตุ ก็ทรงค้นพบว่า อาฬารดาบสกับอุทกดาบส ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาก่อน เป็นผู้มีพระคุณต่อพระองค์ อีกทั้งเป็นผู้มีบุญบารมีที่เป็นอุคฆฏิตัญญู พร้อมที่จะสามารถรองรับธรรมอันสุขุมลุ่มลึก ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยความยากลำบากนี้ เมื่อตรวจดูอีกทีก็ทรงพบว่า ท่านอาจารย์ทั้งสองได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว อาฬารดาบสได้สมาบัติ ๗ ไปเป็นอรูปพรหมในอากิญจัญญายตนะเมื่อ ๗ วันที่ผ่านมานี่เอง ส่วนอุทกดาบสได้สมาบัติ ๘ พึ่งจะละโลกไป แล้วไปบังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะเมื่อวานนี้

     ท่านอาจารย์ทั้งสองได้ไปสู่ภพภูมิที่มีอายุยืนยาว หมดโอกาสที่จะได้รับรสพระธรรม เพราะถ้าหากพระองค์ทรงเทศน์ให้ฟังว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่ควรยึดมั่นถือมั่น ควรปล่อยวางในสังขารเหล่านั้นเสีย อาจารย์ทั้งสองจะไม่เชื่อ เพราะหลงเข้าใจผิดคิดว่า อรูปภพนี้เป็นสุขที่สุดแล้ว เที่ยงแท้ที่สุด ควรยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ เมื่อไม่เชื่อก็ไม่ตรองตาม จึงเป็นผู้พลาดจากมรรคผลอย่างน่าเสียดาย เพราะถ้าหากยังไม่ทำกาลกิริยาเสียก่อน ท่านอาจารย์ทั้งสองจะได้ฟังธรรมและพร้อมที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ทันที

     พระพุทธองค์ทรงรำลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เคยมีอุปการคุณต่อพระพุทธองค์ และเห็นว่ามีอุปนิสัยแห่งการตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ ทรงเห็นว่าขณะนี้ทั้ง ๕ ท่าน พักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี จึงเสด็จพุทธดำเนินจากต้นมหาโพธิ์ มุ่งสู่กรุงพาราณสี สิ้นระยะทาง ๑๘ โยชน์  

     ในระหว่างทาง อุปกาชีวก ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าระหว่างแม่น้ำคยา และต้นโพธิพฤกษ์ ได้เห็นพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าเปล่งปลั่งผ่องใส เห็นพระรัศมีที่แผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระพุทธองค์ ซึ่งไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อน ท่านได้ทูลถามว่า "ดูก่อนอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ต่อไปในอนาคต อาชีวกนี้จะได้บรรลุธรรมตามพระองค์ จึงได้แสดงวาทะว่า

     "เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้แจ้งธรรมทั้งปวง เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทา ละธรรมเป็นไปในภพสามได้หมด เราเป็นผู้พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองโดยชอบ แล้วจะพึงอ้างใครเล่าเป็นอาจารย์ อาจารย์ของเราไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ทั้งในโลกและเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดาที่หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป จะยํ่าธรรมเภรีตีกลองอมตธรรมในโลกอันมืดมน เพื่อให้สรรพสัตว์ได้ดวงตาเห็นธรรม ดูก่อนอุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงชื่อว่า อนันตชิน เป็นผู้ชนะอันหาที่สุดมิได้"

     เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกก็ทูลว่า “ขอให้ท่านพึงเป็นผู้มีชัยชนะตลอดกาลเถิด” จึงแสดงอาการสั่นศีรษะคล้ายกับยังคลางแคลงสงสัยอยู่ สั่นศีรษะและก็แลบลิ้นด้วย แล้วก็เดินจากไป

     ส่วนพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะซึ่งเป็นที่อาศัยของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก่อนหน้านั้นปัญจวัคคีย์ได้ทำการตกลงกันว่า หากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาก็จะไม่ยอมลุกขึ้นต้อนรับ เพราะเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงคลายความเพียร ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึง ทุกๆ ท่านต่างก็ลืมสัญญาที่เคยทำกันไว้ แล้วรีบลุกขึ้นต้อนรับ รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งปูลาดอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท อีกรูปหนึ่งนำผ้าเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย

     พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ ที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามพระปัญจวัคคีย์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคต โดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า อาวุโส เพราะเราตถาคตได้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรมแก่พวกเธอ พวกเธอจงปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน แล้วไม่ช้าจะทำให้แจ้งคุณอันยอดเยี่ยมได้”

     เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านถึงสองครั้งว่า "อาวุโสโคดม ก็บัดนี้ พระองค์คลายความเพียรเสียแล้ว ไฉนจักบรรลุอมฤตธรรมได้เล่า" พอครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังทรงยืนยันเหมือนเดิม แล้วตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อนแต่กาลนี้" พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า "คำนี้ไม่เคยฟังเลยพระพุทธเจ้าข้า" พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้มีวาจาเป็นหนึ่ง เราเป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับเถิด เราจะสั่งสอนจักแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนแล้ว จะได้บรรลุธรรมอันยอดเยี่ยมตามเรา" 

     เมื่อปัญจวัคคีย์ยินยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เงี่ยโสต ตั้งจิตเพื่อฟังพระสัทธรรมที่พระพุทธองค์นำมาแสดง ส่วนพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอะไรนั้น ครั้งต่อไปจะนำธรรมะที่พระพุทธองค์ได้แสดงให้พระปัญจวัคคีย์ มาเล่าให้ได้รับฟังกัน เพราะฉะนั้น ให้เตรียมกาย วาจา ใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้ใจผ่องใส พยายามประคับประคองรักษาใจให้หยุดนิ่งเอาไว้ ใจของเราจะได้เหมาะสม ที่จะเป็นภาชนะรองรับธรรมะ รองรับบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการฟังธรรม เราจะได้ฟังปฐมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเอาไว้ เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี มาเล่าให้ฟังพร้อมๆ กัน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๑๘ หน้า ๔๒๑

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)

อนัตตลักขณสูตรอนัตตลักขณสูตร

อาทิตตปริยายสูตรอาทิตตปริยายสูตร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน