ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)


[ 18 ส.ค. 2557 ] - [ 18285 ] LINE it!

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)

     การเกิดมาในสังสารวัฏของมนุษย์ทุกๆ คน เปรียบเสมือนการเดินทางไกลที่ทุรกันดาร และเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม คือ กิเลสราคะ โทสะ โมหะ ทำให้เราไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น การดำรงอยู่เช่นนั้น ก็เป็นการยากที่จะทำให้เราอยู่อย่างเป็นสุข และปลอดภัยจากภัยทุกชนิดในวัฏสงสาร ความไม่ประมาทเป็นเหมือนเกราะแก้วคุ้มครองเรา ให้ดำเนินอยู่บนหนทางแห่งความถูกต้องดีงาม การฝึกฝนอบรมจนกระทั่งใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ จะทำให้ชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า

“เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา โย จายํ อตฺตกิลถานุโยโค กามสุขลฺลิกานุโยโค

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสุดโต่งสองอย่างบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การทรมานตัวเองให้ลำบากและการประกอบพัวพันในกาม”

     ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระธรรมเทศนาเรื่องแรก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้แสดงให้กับพระปัญจวัคคีย์ พร้อมกับพรหมอีก ๑๘ โกฏิ ให้ได้รับอมฤตธรรมตามพระองค์ไปด้วย และเป็นสักขีพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จึงเป็นพระสูตรที่สำคัญ ที่พวกเราควรศึกษาเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้ว จะได้นำไปปฏิบัติให้ได้บรรลุธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเอาไว้

     * เนื้อหาสาระในพระสูตรนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดทั้ง ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามคุณทั้งหลาย ซึ่งเป็นของต่ำทราม คมฺโม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน โปถุชฺชนิโก เป็นของคนมีกิเลสหนา อนริโย ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า อนตฺถสญฺหิโต ไม่เป็นประโยชน์ นี่คือประการที่หนึ่ง

     โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค การประกอบความลำบากให้แก่ตน ทุกฺโข กลับเป็นทุกข์แก่ผู้ประกอบด้วย อนริโย ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า อนตฺถสญฺหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มีโทษอย่างเดียว  

     มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา พระตถาคตทรงตรัสรู้ยิ่งทางสายกลางได้แล้ว จึงไม่แวะเข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เมื่อเข้าถึงทางสายกลาง คือ ดำเนินจิตเข้าสู่กลางของกลางเรื่อยไป จกฺขุกรณี การเห็นเป็นปกติ ญาณกรณี การรู้เป็นปกติ ก็บังเกิดขึ้น จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา อาโลโก คือ แสงสว่างที่ไม่มีประมาณก็บังเกิดขึ้นมาตามลำดับ อุปสมาย เป็นไปพร้อมเพื่อความเข้าไปสงบระงับ อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง สมฺโพธาย เพื่อความรู้พร้อม นิพฺพานาย เพื่อความดับสนิท เป็นไปเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว

     ข้อปฏิบัติเป็นกลางที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง นั่นก็คือ อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค หนทางที่ประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ เรียงตั้งแต่ สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นชอบ สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบ สมฺมาวาจา กล่าววาจาชอบ สมฺมากมฺมนฺโต ทำการงานชอบ สมฺมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ สมฺมาวายาโม ทำความเพียรชอบ สมฺมาสติ ระลึกชอบ สมฺมาสมาธิ ตั้งใจชอบ นี่คือหลักที่ให้เราดำเนินไป เพราะในบรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางที่ประเสริฐที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่ออยากเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ ก็ต้องดำเนินตามปฏิปทานี้

     อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นหลักเป็นประธานของปฐมเทศนาที่พระองค์ได้ตรัสเอาไว้ แต่ว่าผู้ฟังเป็นประเภทขิปปาภิญญา ตรัสรู้ได้เร็ว ทรงอธิบายเท่านี้ก็เข้าใจแล้ว ส่วนนอกจากนั้น ก็ต้องอธิบายกันยาวหน่อย จึงจะเข้าใจได้ถ่องแท้ พระองค์ทรงรับสั่งกับพระปัญจวัคคีย์ว่า ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ อย่าเอาใจไปจรดไว้ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ชอบใจ เพราะกามคุณทั้ง ๕ นี้ เป็นตัวกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าว่าเอาใจไปจรดกับรูปสวยๆ เสียงเพราะๆ หรือกลิ่นหอมๆ นั้นเข้า ใจก็ยึดติด ยินดี ทำให้เพลิดเพลินหลงใหล ใจก็ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านจึงได้ยืนยันว่า หีโน เป็นของต่ำทราม ไม่ไปในทางของนักปราชญ์ คมฺโม เป็นของชาวบ้าน ถ้าไปสนใจมากเข้า ก็ทำให้คิดแต่เรื่องสร้างบ้านสร้างเรือน ออกจากกิเลสได้ยาก ถ้าเข้าไปติดแล้วก็ออกไม่ได้

     ส่วนการประกอบตนเองให้ลำบาก ก็เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เป็นทุกข์เปล่าๆ จะบำเพ็ญเพียรเป็นร้อยเป็นพันปีก็ไม่มีประโยชน์อะไร สมัยก่อนโน้น มีนักบวชหลายประเภท ที่อุตส่าห์ออกแสวงหาทางให้ตัวเองหลุดพ้นจากความทุกข์ แต่สติปัญญายังไม่สมบูรณ์ จึงมีการทรมานด้วยการนอนบนหนามบ้าง นอนตากแดด ย่างไฟ เอาไม้เคาะหน้าแข้งบ้าง ที่ทำไปนั้น ก็เพราะเข้าใจว่าเป็นทางหมดกิเลส เมื่อนอนตากแดด แดดร้อนเข้าจึงไม่มีความกำหนัดยินดี เข้าใจว่ากิเลสดับแล้ว นั่นเป็นความเข้าใจของผู้ไม่รู้ ที่นอนบนหนามก็เพราะคิดว่า เมื่อร่างกายทรมานแล้ว จะได้ไม่คิดเรื่องกาม ซึ่งแท้จริงแล้ว ความกำหนัดยินดีหรือกิเลสต่างๆ ในขณะนั้นก็ดับไปชั่วคราว พอเลิกนอนบนหนาม กิเลสก็เข้ามาเหมือนเดิม อย่างนี้ท่านเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ทั้งนั้น

     ลักษณะของอัตตกิลมถานุโยคมีมากมาย ผิดทางมรรคผลนิพพาน ปฏิบัติไปก็เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ เมื่อทรมานตนมากเข้า ร่างกายก็ทรุดโทรม เป็นการทำลายตัวเอง เหมือนที่พระองค์เคยบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระองค์เองให้ลำบาก จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถึงกระนั้นก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษอะไร

     เมื่อพระองค์ทรงละทางสุดโต่งทั้งสองอย่างนั้นแล้ว ก็มุ่งดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระญาณอันยิ่ง ธรรมที่เรียกว่าข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้น ต้องเอาใจจรดเข้าไปในกลางกายของเรานี่แหละ ซึ่งมีทางเดียวเท่านั้น คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ เมื่อเราเอาใจหยุดนิ่งไปตรงนั้นได้ถูกส่วน มรรคมีองค์ ๘ ประชุมกันถูกส่วน เป็นมรรคสมังคี ก่อเกิดเป็นดวงปฐมมรรค ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ พอเอาใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงนั้น ได้ชื่อว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาอย่างแท้จริง  

     ทีนี้พอหยุดนิ่งเข้ากลางดวงปฐมมรรค จะไปพบดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงศีลนี้ก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ท่านเรียกว่าดวงศีล สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นดวงสมาธิ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นดวงปัญญา เมื่ออริยมรรคมีองค์ ๘ ครบบริบูรณ์ จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกาย ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ซึ่งเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา

     แก่นของศาสนานั้น อยู่ในตัวของเรา มีความละเอียดลุ่มลึกกันเข้าไปตามลำดับอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พอหยุดได้เป็นถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนาทีเดียว เมื่อเราเว้นเสียจากที่สุดทั้ง ๒ อย่าง ไม่เสพที่สุดทั้ง ๒ นั้น เดินตามมัชฌิมาปฏิปทา ไปทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ไปเป็นลำดับ จะเข้าถึงพระธรรมกายได้

     พระตถาคตเจ้าทรงรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งในธรรมนี้ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงอรหัตผล เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงเอาเรื่องนี้มาแสดงกับพระปัญจวัคคีย์ให้ได้รับฟัง พอหยุดนิ่งได้ถูกส่วน จักขุกรณี ทำให้เห็นเป็นปกติ เห็นไปตามความเป็นจริงทั้งหมด

     ญาณกรณี กระทำความรู้ให้เป็นปกติ ญาณของพระพุทธองค์ทรงเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ในมนุษยโลกนี้ ตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายมนุษย์ ของกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด เห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นด้วยตาธรรมกาย ตามนุษย์ไม่สามารถเห็น ไม่ว่าจะเป็นตาของกายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ก็เห็นไม่ได้ เพราะยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ ยังเป็นขั้นสมถะอยู่


     พอถึงกายพระธรรมกายจึงเป็นขั้นวิปัสสนา ท่านก็อาศัยธรรมจักษุ และญาณทัสสนะของธรรมกายดู เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นจริงๆ เห็นชัดเจนทีเดียว รู้ด้วยญาณของพระตถาคตเจ้า ธรรมกายนั่นแหละ เป็นตัวของพระตถาคตเจ้า เห็นความทุกข์ตั้งแต่กายมนุษย์ ที่เป็น ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ยังไรก็รู้หมด  

     สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์เรียกว่า สมุทัย มีอะไรบ้าง ตั้งแต่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ธรรมกายก็เห็นแจ้งหมด เมื่อเห็นจึงรู้ เมื่อรู้จึงหาทางที่จะสลัดให้หลุดจากตัณหาเหล่านั้น ด้วยการหยุดใจ เรียกว่า นิโรธ ดังนั้น หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ

     เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงอย่างนี้ พระอัญญาโกณฑัญญะท่านก็พิจารณาเห็นตามว่า “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงก็มีความดับไปเป็นธรรมดา” ท่านได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ทำให้พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุก็สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น อนุโมทนาสาธุการ ในการเข้าถึงธรรมกายของท่าน นับเป็นการบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาที่ครบสมบูรณ์ เพราะถึงพร้อมด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์สาวก

     เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ควรหมั่นพิจารณาธรรม แล้วนำไปปฏิบัติด้วยการหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ดำเนินจิตของเราในหนทางสายกลาง ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หมั่นทำทุกๆ วัน ทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ให้ได้บรรลุธรรมกายกันทุกคน

 

 

พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย
 
* มก. เล่ม ๖ หน้า ๔๔


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อนัตตลักขณสูตรอนัตตลักขณสูตร

อาทิตตปริยายสูตรอาทิตตปริยายสูตร

กุสโลบายในการเข้าถึงพระรัตนตรัยกุสโลบายในการเข้าถึงพระรัตนตรัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน