ประวัติศาสตร์ย้อนคิด


[ 3 พ.ย. 2561 ] - [ 18282 ] LINE it!

ประวัติศาสตร์ย้อนคิด
ประวัติศาสตร์คืออดีตของพวกเรา การศึกษาอดีต ส่งผลอะไรในปัจจุบันและอนาคต

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
 


คำจำกัดความความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์คืออะไร?
          ประวัติศาสตร์ มาจากคำว่า ศาสตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องราวในอดีต โดยทั่วไปถือกันว่าหากเป็นเรื่องเก่าเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป เริ่มเข้าสู่ประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเรียนเก่าแค่ไหน อาจจะเก่าเป็น 10,000 ปีตั้งแต่มนุษย์ยุคหิน หรือ 5,000 ปี 3,000 ปี หรือยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก จนกระทั่งใกล้เข้ามา 500 ปี, 400 ปี, 300 ปี ในแง่ของประวัติศาสตร์ชาติไทยมักเริ่มที่สมัยกรุงสุโขทัย เพราะมีเอกสาร มีสิ่งปลูกสร้างมีตัวเมืองให้เห็น แต่พอยุคก่อนสุโขทัย ค่อนข้างคลุมเครือไม่ค่อยชัด จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเถียงกันว่าคนไทยมาจากไหน สมัยเมื่อ 40-50 ปีก่อนบอกว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตล์  ฝรั่งบอกอย่างนั้นก็เชื่อตามฝรั่ง แต่ปัจจุบันทฤษฎีนี้คนไม่เชื่อกันแล้ว บอกว่าคนไทยน่าจะอยู่ที่นี่ ไม่ใช่มาจากเทือกเขาอัลไตน์ เพราะมีวัฒนธรรมบ้านเชียงอายุหลายพันปีเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกทีเดียว เหล่านี้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ในการศึกษา
 
จากคำกล่าวที่ว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เหตุใดจึงไม่เลือกเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย?



          ต้องเข้าใจว่า คนประกอบด้วยกิเลส 3 ตัว คือ โลภ โกรธ หลง เหมือนกัน ต่างกันที่ดีกรีแก่อ่อน เพราะฉะนั้นเมื่ออยู่ในอำนาจ มีขุนนางมาคอยรองรับสนองงาน ซึ่งกษัตริย์จะเรียกว่า เป็นกษัตริย์ เป็นฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิ แล้วแต่จะเรียกชื่อ แต่มีความหมายว่าผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดในตัวเอง กับขุนนางที่รองรับไปทำงาน เพราะคนเดียวไม่สามารถบริหารประเทศได้ทั้งหมด ตัวของฮ่องแต่ก็ระแวงว่าขุนนางจะกบฏหรือไม่ ขุนนางก็ระวังว่าหากผิดใจขึ้นมาฮ่องเต้จะสั่งฆ่าได้ง่ายๆ ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้ฆ่าคนเดียวแบบปัจจุบัน ฆ่าทีสามชั่วโคตร เจ็ดชั่วโคตร หากใครพลาดท่าเสียทีเจอข้อหากบฏ ถูกสั่งฆ่าทั้งตระกูล ดังนั้นต่างฝ่ายต่างต้องระวังซึ่งกันมาก มีความเครียดแฝงอยู่ แล้วระหว่างเมืองการชิงเล่ห์ชิงเหลี่ยม ฮ่องเต้ของแคว้นที่เข้มแข็ง พยายามจะขยายอำนาจฝ่ายที่อ่อนแอกว่า ก็ต้องพยายามหาพวก จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีของแต่ละยุคมีการเปลี่ยนแปลง แต่กิเลสมนุษย์นั้นไม่ได้เปลี่ยน เพราะฉะนั้นมักจะมีเรื่องราวเกิดมาคล้ายๆเดิม ซ้ำๆเดิม เนื้อหาบางอย่างอาจจะต่างกันบ้าง แต่ว่าแพตเทิร์นคล้ายๆกัน เพราะกิเลสมนุษย์คล้ายๆกัน พอประวัติศาสตร์นานเข้าจึงกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไม่เคยใหม่ เพราะเช่นนี้จึงไม่ได้แตกต่างจากเดิม
 
ในบางประเทศหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังไม่ค่อยชัดเจน เช่นกรณีบางประเทศที่เขียนประวัติศาสตร์คนละแบบกัน แล้วใครจริงใครเท็จ?



          เป็นธรรมชาติมนุษย์ เนื่องจากประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมาจากคนที่บันทึกไว้ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็มาจากขุนนางอารักษ์ในแผ่นดินไทยสมัยนั้นๆเขียน โดยจะเขียนอะไรก็ต้องเอาใจผู้มีอำนาจ กลายเป็นประวัติศาสตร์ เขียนโดยผู้ชนะคือใครที่มีอำนาจตอนนั้น แต่ประเทศจีนมีจุดเด่นคือฮ่องเต้ในอดีตองค์ที่มีภูมิปัญญาสูง เห็นแก่ประเทศชาติในอนาคต ไม่ได้คิดแต่ประโยชน์ วางเป็นธรรมเนียมที่ฮ่องเต้องค์ต่อๆมาไม่กล้าแก้ คือมีตำแหน่งขุนนางบันทึกประวัติศาสตร์ที่เขียนเสร็จแล้วไม่เปิดเผย ฮ่องเต้ก็ห้ามดู จึงกล้าเขียนความจริงเพราะเขียนแล้วไม่ต้องเปิดเผย เขาก็จะบันทึกตามความเป็นจริง ถือเป็นจรรยาบรรณของนักเขียนประวัติศาสตร์จีน หลังจากฮ่องเต้ตายไปแล้ว คนเขียนตายไปแล้ว จึงค่อยมาเปิดเผยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ทำให้เป็นประโยชน์ต่อราชวงศ์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ 



          การศึกษาประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับว่า เราจะศึกษาประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม เช่นประวัติศาสตร์ไทย ก็ศึกษาจากมุมของไทยอย่างเดียว หรือจะศึกษาเพื่อหาความจริง หากเป็นนักวิชาการที่ดี จะศึกษาเพื่อหาความจริง การจะหาความจริงได้ก็ต้องไปหาบันทึกของประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันด้วย เช่นจะศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงที่ไทยรบกับพม่า มีเหตุขัดแย้งอะไรอย่างไร ไม่ใช่ศึกษาจากพงศาวดารไทยอย่างเดียว ต้องไปว่าพม่าเขียนว่าอย่างไร ส่วนไหนตรงกันทั้งสองประเทศ ต้องมาพิจารณาว่าส่วนไหนจริง ถูกหรือผิดทั้งคู่ ถูกคนละส่วนจึงต้องไปดูประเทศอื่นๆเช่นของล้านนามีเขียนไว้หรือไม่ หรือของฝรั่งที่เข้ามามีการบันทึกเสียงไว้หรือไม่ ต้องไปดูจดหมายเหตุของประเทศต่างๆของชาติต่างๆที่มีการบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ เอาไว้รวมหลักฐานทั้งหมดมาศึกษาเพื่อจะแสวงหาว่าอะไรคือความจริง

นับจากนี้ไม่ว่าจะเป็นอีก 100 ปี 1000 ปีข้างหน้า เราทุกคนก็จะกลายเป็นคนในประวัติศาสตร์ แล้วควรทำอย่างไรเพื่อให้โลกจารึกแต่สิ่งที่ดีๆ?



          เราจะใช้ประโยชน์จากการศึกษาประวัติศาสตร์ได้อย่างไร เรามักจะถูกสอนให้ท่องจำว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่นเมื่อพ.ศ. 1826 เป็นมรดกของชาติไทยเพราะพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ไทยเสียกรุงให้พม่าครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2112 และอีก 15 ปีต่อมาพระนเรศวรมหาราชจึงกอบกู้เอกราชได้ เป้นต้น เป็นการท่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก  แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่ข้อคิดมุมมองภูมิปัญญาจากการศึกษาประวัติศาสตร์ ยังไม่เกิด การจะได้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนจึงต้องศึกษาว่า ทำไมถึงเกิดเรื่องราวอย่างนั้น การตัดสินใจของผู้นำประเทศของบุคคลที่แวดล้อมตอนนั้นถูกหรือผิด ส่งผลดีหรือเสียอย่างไร มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายหนึ่งแพ้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไรขึ้นมา จะได้เอาบทเรียนที่ถอดออกมาแล้วมาใช้กับเรื่องราวในยุคปัจจุบัน 



          เวลาศึกษาอยากดูอะไรผิวๆ ให้ดูเชิงลึกด้วย แล้วจะศึกษาประวัติศาสตร์อย่างสนุก ไปเที่ยวชมนิทรรศการที่ไหนไปชมเสร็จแล้วจะได้มีความรู้ ไปดูพิพิธภัณฑ์ดูแล้วเราจะมีความรู้เพิ่มขึ้นเป็นองค์ความรู้ในตัวเรา ไปถึงที่ไหนอุตส่าห์เดินทางไปแล้ว เข้าไปถึงให้ถึงแก่น ไปเอาความรู้ติดตัวไว้ จะได้คุ้มเหนื่อยคุ้มกับเวลาที่เสียไป



          ประวัติศาสตร์ทั้งหลายนั้นซ้ำรอย ก็เป็นเพราะกิเลสของมนุษย์ที่มีความรัก ความโลภ ความโกรธและความหลงนั่นเอง การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาเรื่องราวโดยผิวเผินเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกทั้ง 360 องศาว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในช่วงนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร การตั้งคำถามว่าทำไมจึงมีส่วนสำคัญในการศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย
 


รับชมคลิปวิดีโอประวัติศาสตร์ย้อนคิด : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอประวัติศาสตร์ย้อนคิด : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะประวัติศาสตร์ย้อนคิด : ข้อคิดรอบตัว




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อาชีพหลักทางเลือกอาชีพหลักทางเลือก

หักหลังเขาแทงหลังเราหักหลังเขาแทงหลังเรา

พลังแรงเชียร์พลังแรงเชียร์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว