ตักบาตรใส่บุญ(ตอนที่2)


[ 11 ก.พ. 2562 ] - [ 18286 ] LINE it!

ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่2)
ประเพณีการตักบาตรอยู่คู่กับคนไทยมานาน ทำอย่างไรไม่ให้สิ่งดีๆนี้หายไปตามกลกาลเวลา
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง GBN
 

 
 
ในการใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์ การใส่ปัจจัยลงในบาตรพระเป็นการสมควรหรือไม่?
          เรื่องปัจจัยถ้าจะให้ดีไปทำบุญถวายที่วัดเป็นกิจลักษณะ ท่านจะได้เป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดูแลรักษาศาสนสถาน บางคนเอาความสะดวกเพราะไม่มีเวลา เจตนาดี แต่มีการถกเถียงกันว่า แล้วพระจะรับปัจจัยได้หรือไม่ ผิดพระวินัยหรือไม่ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการบัญญัติพระวินัยเริ่มต้นพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา มีผู้มาบวชผ่านไป 12 ปี พระองค์ยังไม่บัญญัติพระวินัยแม้แต่ข้อเดียว เพราะพระสงฆ์แต่ละรูป รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และเป็นพระอรหันต์กันส่วนใหญ่ จนกระทั่งเริ่มมีพระไปทำผิดทำไม่เหมาะสม ชาวโลกติเตียนพระองค์จึงบัญญัติพระวินัยทีละข้อตามเหตุที่เกิดขึ้น พระวินัยจึงเป็นเครื่องร้อยรัดให้หมู่สงฆ์อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก มีแนวปฏิบัติตรงกัน แต่พอเวลาผ่านไปมีเหตุเกิดขึ้น มีคนมากราบทูลพระพุทธเจ้า ก็มีการแก้พระวินัยบางข้อ ยืดหยุ่นมีอนุบัญญัติเกิดขึ้น ปรับเป็นระยะตลอด 45 พรรษา ให้เหมาะกับสภาวแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้คือที่มาพระวินัย 
 

          ก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสบอกพระอานนท์ว่า สามารถแก้ไขสิกขาบทเล็กน้อยได้ ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนไป แล้วพระพุทธเจ้าก็อนุญาต ระบุไว้ในพระไตรปิฎกชัดเจน เพียงแต่เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 1 เมื่อพระอานนท์แจ้งตอบพระอรหันต์ 500 รูป พระอรหันต์มีความเห็นไม่ตรงกัน คือเห็นไม่ตรงกันว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไร กลุ่มแรกคิดว่ายกเว้นปาราชิก 4 ข้อแล้ว ที่เหลือเป็นสิกขาบทเล็กน้อยสามารถแก้ได้หมด พระอรหันต์กลุ่มที่ 2 ไม่เห็นด้วย คิดว่านอกจากปราชิกแล้วมีสังฆาทิเสสที่เป็นอาบัติหนักรองลงมา 2 หมวดนี้ที่ห้ามแก้ ที่เหลือเป็นข้อเล็กน้อยแก้ได้ กลุ่มที่ 3 ไม่เห็นด้วย เห็นว่าควรจะยกเว้น อนิยต 2 ข้อด้วย มีความเห็นแยกกันไปหลายกลุ่ม เพราะถ้าเป็นโลกุตรธรรมท่านจะเห็นตรงกันหมด แต่พอเป็นเรื่องของโลกียธรรมมันไม่ใช่โลกุตรสัตว์ เป็นโลกียยะสัตว์ อะไรเหมาะไม่เหมาะ ความเป็นพระอรหันต์ยังต่างกันได้เพราะคือโลกียยะสัตว์ไม่ใช่โลกุตรสัตว์ เป็นเพราะอย่างนี้ แต่ประเทศไทยเราเองไม่เคยมีใครวินิจฉัยตรงนี้ไว้อย่างชัดเจนอย่างนี้ ไม่ได้อยากแยกตรงนี้ให้กระจ่าง จึงเกิดความสับสน บางคนบอกว่ายังไงก็ต้องถือตามพระวินัย บางคนบอกตามไปแล้วพระหนุ่มเณรน้อยเรียนหนังสือจะขึ้นรถเมล์จะขึ้นแท็กซี่จะจ่ายค่าเทอมไม่มีตังค์ แล้วจะไปขอบิณฑบาตแล้วเขาจะให้เหรอ แล้วมันจะอยู่ได้ยังไงไปเมืองนอกขึ้นเครื่องบินบอกขอบิณฑบาตค่าเครื่องบินไม่จ่ายค่าเครื่องบินนะ เขาจะให้ขึ้นเครื่องบินหรือไม่ จะอยู่ได้อย่างไรตามสังคมสมัยใหม่ 

 
          ความจริงพระพุทธเจ้าพระองค์สอน และสั่งไว้หมดแล้ว พอพระอรหันต์เห็นไม่ตรงกัน พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นองค์ประธานให้รักษาให้หมด ในเมื่อไม่รู้ว่าข้อไหนเป็นข้อเล็กน้อยไม่เล็กน้อย จึงคงไว้อย่างเดิม ไม่บัญญัติข้อใหม่ไม่เลิกข้อเก่า คงไว้อย่างเก่า พระอรหันต์ทั้ง 500 รูปก็ตามนั้น จึงเป็นหลักปฏิบัติถือสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันว่า รักษาพระวินัยตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน 2,000 กว่าปี พระวินัยหลายๆ ข้อก็ไม่สอดคล้องยุคสมัยแล้วจะทำอย่างไร คณะสงฆ์ใช้วิธีการ คือตัวพระวินัยรักษาไว้อย่างเก่าไม่แก้ คงไว้อย่างเก่าคือเหมือนกันหมด พม่า ไทย ลังกา เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ในเชิงปฏิบัติก็เป็นลักษณะอลุ่มอล่วยรู้ว่าสังคมมันเปลี่ยนมันจำเป็น คือยืดหยุ่นในเชิงปฏิบัติ ส่วนในตัวหลักการพระวินัยคงไว้อย่างเก่า แต่พอมีใครบอกว่าต้องถือตามตัวหนังสือจึงเกิดเรื่องเพราะตามตัวหนังสือไม่สอดคล้องกับภาวะสังคมปัจจุบันแล้ว นี่คือปัญหา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจตรงนี้ พอเข้าใจ จะไม่ต้องมานั่งเถียงกัน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจสาระวัตถุประสงค์หลักของพระวินัย แล้วก็จับตรงแก่นให้ได้อย่าติดที่เปลือก ดูว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยเพื่ออะไร เมื่อเราถวายพระด้วยจิตที่เป็นกุศล แล้วหวังให้ท่านเอาไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ ต่อพระพุทธศาสนาต่อไปผู้ถวายได้บุญเต็มที่แล้ว แต่เป็นหน้าที่พระภิกษุสงฆ์ว่าเมื่อรับมาแล้วก็ขอให้ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ถ้าอย่างนี้ก็จากครบวงจรทั้งผู้ให้และผู้รับ
 
บางท่านทำกับข้าวเพื่อใส่บาตรพระในตอนเช้า มีการเผลอชิมไปเวลาปรุงรส หรือการทานอาหารอย่างอื่นรองท้องก่อนใส่บาตร ถือว่าบาปหรือไม่?
 

          ชิมไม่เป็นไร เพราะชิมเพื่อที่จะทำให้ดีที่สุด ส่วนถ้าเกิดทานก่อนแล้วที่เหลือไปใส่บาตรอย่างนี้ไม่ควร ถ้าตั้งใจจะใส่บาตรถึงเวลาต้องรีบไปรอพระท่าน แต่เราเองต้องรีบทานข้าวก่อนไปทำงานเป็นต้น ก็ต้องแยกส่วน ส่วนจะใส่บาตรก็แยกออกมา แล้วก็ทานส่วนที่เหลือแบบนี้ไม่มีปัญหาเพราะแยกส่วนแล้ว ไม่ใช่ว่าเอามาใส่อยู่ในถ้วยตักทานไปเรื่อยๆ แล้วที่เหลือเอาไปใส่บาตร อย่างนี้ก็เป็นของเหลือเดน ก็เป็นการไม่เคารพในทาน อยู่ที่วัตถุประสงค์และการปฏิบัติต่อด้วยใจที่เคารพในทาน เคารพในพระรัตนตรัย
 
ในช่วงที่ฝนตก จะทำอย่างไรหากไม่สามารถตักบาตรพระได้?
 

          มีหลายกรณีบางที่ฝนตก พระท่านยังออกมารับบาตรได้ บางแห่งขนาดน้ำท่วมถึงเอว ท่านยังลุยออกมารับบาตรก็มี เพราะหากไม่ออกมารับบาตรแล้วจะฉันอะไร ลูกศิษย์จะฉันอะไร เมื่อรู้ว่าญาติโยมเขาเตรียมภัตตาหารรออยู่ ท่านก็ออกมา ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆแล้วล่ะก็ ท่านก็มารับบาตรกัน หากมีเหตุมีงานที่วัด ท่านก็จะบอกให้โยมทราบล่วงหน้าก่อน เช่น บิณฑบาตวันนี้ก็บอกว่า พรุ่งนี้ไม่ได้มา มีงานที่วัดหากมีอะไรไปถวายภัตตาหารที่วัด ท่านจะบอกให้โยมทราบเป็นการรักษาศรัทธาญาติโยม แต่พวกเราเองบางทีเห็นว่า วันนี้ฝนฟ้าคะนองดูแล้วไม่สะดวกเลยท่านออกมาท่านเปียกโชกแน่ บางทีฟ้าแลบฟ้าผ่าดูแล้วน่ากลัวเราอาจจะตื่นให้เช้าเป็นพิเศษเตรียมภัตตาหารเสร็จแล้วไปรอถวายถึงวัดเลย อย่างนี้ท่านจะได้ไม่เป็นภาระไม่กังวล อยู่ที่ความพร้อมของแต่ละคน 
 
“ตักบาตรอย่าถามพระ” สำหรับสำนวนนี้หมายความว่าอย่างไร?
 

          พระพุทธเจ้าบอกว่า การฉันภัตตาหารของพระคือโยมถวายอะไรก็ฉันตามนั้น ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเนื้อมีคนถามว่า พระต้องฉันมังสวิรัติหรือไม่ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม ท่านอนุญาตด้วยบริสุทธิ์ 3 คือ ไม่ได้เห็นการฆ่า ไม่ได้ยิน แล้วไม่นึกรังเกียจว่าเขาฆ่ามาเฉพาะเรา นอกเหนือจากนี้ญาติโยมถวายอะไรมาก็ฉัน เพื่อให้เกิดเรี่ยวแรงในการทำความดี ไม่เลือกอาหาร เหล่านี้คือการทำตามพระวินัย  ด้วยเหตุข้อนี้ที่ไม่ได้นึกรังเกียจว่าเขาฆ่าเฉพาะเรา หากเกิดตักบาตรถามพระเช่น พรุ่งนี้โยมขอทำแกงไก่มาถวาย พรุ่งนี้เขาก็เชือดไก่ แล้วก็ทำกับข้าวมาถวาย พระภิกษุก็จะรังเกียจว่าแกงไก่อันนี้เขาฆ่ามาเพื่อเฉพาะเราหรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าห้ามรับ เพราะไม่รู้ไปซื้อที่ตลาดหรือไปฆ่าเอง แต่มันอาจจะนึกรังเกียจนึกสงสัยได้ เพราะฉะนั้นก็จะห้ามรับ เพราะฉะนั้นโบราณจึงบอกว่าตักบาตรอย่าถามพระ จะถวายอะไรก็ถวายเลยไม่ต้องไปถาม เพราะถ้าเกิดไปถามแล้ว พระท่านรับแล้วไปฉันจะอาบัติผิดพระวินัย เพราะสงสัยว่าโยมไปฆ่ามาเพื่อเฉพาะตนหรือเปล่า เพราะอาหารที่ถวายมักจะมีเนื้อมีอะไรผสมอยู่ด้วย 
 
การตักบาตรในตอนเช้า สามารถฝึกนิสัยของสาธุชนได้อย่างไร และการตักบาตรทุกวันมีอานิสงส์อย่างไร?
 

          ตักบาตรทุกเช้าอานิสงส์แรกคือเราจะตื่นเช้า พอตื่นเช้าเป็นประจำ กลางคืนจะไม่นอนดึก ฉะนั้นสุขภาพจะดี นอนหัวค่ำตื่นแต่เช้า เตรียมภัตตาหาร จะเป็นคนที่ทั้งวันมีแต่ความสบายใจ แล้วงานการจะราบรื่น มีคำกล่าวที่ว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เริ่มต้นดีคือตื่นแต่เช้า คนทั่วไปอย่าว่าแต่ใส่บาตรเลย แค่จะทานข้าวยังไม่ค่อยจะทาน เพราะเมื่อคืนเข้าโซเชียลดึก เช้าไม่อยากจะตื่น ตื่นมาทีตะลีตะลาน ขนมปังใส่ปากเคี้ยวๆ ใส่เสื้อผ้าสวมๆ บางทีน้ำยังไม่ได้อาบ ตะลีตะลานไปทำงาน บางทีนมแก้วนึงกาแฟแก้วนึงรีบไปแล้ว เริ่มต้นวันใหม่ด้วยความกระหืดกระหอบตะลีตะลาน อันนั้นก็ไม่ทันอันนี้ก็ไม่ทันรวนไปหมด แต่คนที่ใส่บาตรแสดงว่าไม่เฉพาะของตัวเอง ยังมีเวลามาเตรียมภัตตาหารอย่างดีอย่างปราณีต ถวายพระบุญหล่อเลี้ยงใจด้วยความแช่มชื่น ทั้งวันอะไรมันเหมือนกับทุกอย่างมันเป็นไปตามแผน ราบรื่นอย่างดี โบราณถึงขนาดผูกเป็นโคลงสอนใจว่า

คนตื่นคืนหนึ่งช้า จริงเจียว
มล้าวิถีโยชน์เดียว ดุจร้อย
สงสารหมู่พาลเทียว ทางเนิ่น นานนา
เพราะบ่เป็นธรรมน้อย หนึ่งให้เป็นคุณ
 
 
          คนตื่นคืนหนึ่งช้าจริงเจียว คือ ตื่นสาย มล้าวิถีโยชน์เดียวดุจร้อย มล้าคือช้า วิถี คือหนทาง ช้าก้าวเดียวเหมือนกับช้าร้อยก้าว สงสารหมู่พาลเทียวทางเนิ่นนานนา ผ่านในที่นี้คือคนโง่ไม่รู้ทาง เนิ่นนานนาคือไม่สำเร็จในชีวิต เพราะบ่เห็นธรรมน้อยหนึ่งให้เป็นคุณ เพราะไม่รู้ถึงหลักความจริงนี้ถ้าตื่นแต่เช้าแล้วทุกอย่างเตรียมการอย่างดี แล้วยิ่งมาทำบุญใส่บาตรบุญหล่อเลี้ยงใจ ดีตลอดแล้วคนที่ทำบุญตักบาตร เป็นประจำสม่ำเสมอผลดี คนบางคนประสบความสำเร็จแล้วจะเดี๋ยวรวยเดี๋ยวจน กระพร่องกระแพร่ง เพราะทำบุญไม่สม่ำเสมอ แต่คนใส่บาตรทุกวันบุญหล่อเลี้ยงใจอย่างสม่ำเสมอทำทานแบบเป็นนิตยทาน ผลคือผลบุญหล่อเลี้ยงสม่ำเสมอ ชีวิตมีแต่ดีกับดีกับดีมีแต่ขาขึ้นไม่มีขาลง
 

           จากการที่เราได้ถอดรองเท้าก็ดี หรือนั่งลงขณะตักบาตร หรือยืนเพื่อจะได้ตักบาตรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือใจต้องมีความเคารพในการให้ทานนั่นเอง ซึ่งอานิสงส์ผลบุญที่เกิดขึ้นจากการเคารพในทาน จะทำให้ลูกหลานบริวาร หรือแม้กระทั่งจะไปที่ใดก็ตามก็จะได้รับการเคารพยกย่อง เพราะเกิดจากอานิสงส์ที่เป็นผู้ที่มีใจนุ่มนวล แล้วก็มีความเคารพในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และยังได้เป็นการฝึกนิสัยให้เป็นคนที่ขยัน นอนหัวค่ำแล้วก็ตื่นเช้า สำหรับอานิสงส์จากการตักบาตรนั้นคือ ให้ทั้ง อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณนั่นเอง
 
 

รับชมคลิปวิดีโอตักบาตรใส่บุญ ตอนที่ 2 : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอตักบาตรใส่บุญ ตอนที่ 2 : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะตักบาตรใส่บุญ ตอนที่ 2 : ข้อคิดรอบตัว




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พลังหญิงพลังหญิง

บวชให้สุกบวชให้สุก

โซเดียม อันตรายใกล้ตัวโซเดียม อันตรายใกล้ตัว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว