มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อสทิสทาน


[ 4 ธ.ค. 2550 ] - [ 18291 ] LINE it!


 
มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
 อสทิสทาน
 
        บุคคลผู้ตระหนี่ กลัวความยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆแก่ผู้ใด ความกลัวจนนั่นแหละ จะเป็นภัยแก่บุคคลผู้ไม่ให้ และจะกลับมาถูกต้องคนพาล ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่เสีย แล้วพึงให้ทานเถิด เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลก

        เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ก็เพื่อแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง แสวงหาสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตนเองและเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่เราต้องการนี้ รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด ธรรมกาย คือ แก่นของชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึกที่อยู่ภายในตัวของเราที่ทุกคนมีสิทธิ์จะเข้าถึงได้หากฝึกใจให้หยุดนิ่ง ถ้าหยุดได้เมื่อใด ก็เข้าถึงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ถ้าเราเข้าถึงธรรมกาย ชีวิตเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเที่ยงแท้ถาวร มีความมั่งคงของชีวิต และมีความสุขที่แท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พิลารโกสิยชาดก ว่า

        "บุคคลผู้ตระหนี่ กลัวความยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆแก่ผู้ใด ความกลัวจนนั่นแหละ จะเป็นภัยแก่บุคคลผู้ไม่ให้ และจะกลับมาถูกต้องคนพาล ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่แล้วพึงให้ทานเถิด เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลก"

        " การให้ " เป็นการสร้างความดีที่ง่ายที่สุด แต่ส่งผลดีต่อชีวิตของเราอย่างมาก "การให้" ได้หล่อเลี้ยงสถาบันครอบครัว สังคม ประเทศชาติ จนถึงระดับโลก ให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข เมื่อเราฝึกใจให้คุ้นกับการให้อยู่เสมอ จิตใจของเราจะนุ่มนวลอ่อนโยน เราจะได้รับความสุขทุกครั้งที่ให้ทาน ความตระหนี่ในใจจะหมดไป เมื่อเราตามระลึกถึงผลบุญนั้นบ่อยๆ จิตใจจะผ่องใส บุญจะทับทวี ชีวิตของเราจะพลแต่ความสุขความเจริญ สามารถพัฒนาชีวิตและจิตใจ ให้ก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

กว่าพระบรมโพธิสัตว์จะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านต้องสร้างบารมีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยทานบารมีเป็นบารมีสำคัญอันดับแรกที่ท่านต้องสร้าง ตั้งแต่บริจาคทรัพย์สมบัติ สละเลือดเนื้อ แม้กระทั่งชีวิต เมื่อเห็นว่า"การให้" เป็นพลวปัจจัยในการตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ ท่านก็สามารถสละได้ทุกสิ่ง

        *ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญเรื่องการให้ทาน มหาชนต่างขวนขวายในการให้ทานกันมาก ถึงกับมีการแข่งกันทำบุญ แม้พระราชาก็ทรงปราถนาจะได้บุญใหญ่ ทรงจัดแจงมหาทานเพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข ในครั้งนั้น พระราชาทรงตระเตรียมมหาทานอย่างประณีต และตรัสเรียกให้ประชาชนมาชมมหาทานของพระองค์

        เมื่อชาวเมืองเห็นมหาทานของพระราชา ต่างเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างทานบารมี จึงพร้อมใจกันสร้างมหาทานครั้งยิ่งใหญ่ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก โดยช่วยกันตระเตรียมอาหารและไทยธรรมอย่างประณีต และส่งข่าวไปกราบทูลพระราชาเพื่อให้พระองค์เสด็จทอดพระเนตร เมื่อพระราชาเสด็จทอดพระเนตรเห็นมหาทานของมหาชน ก็ดำริว่า ประชาชนพากันทำทานยิ่งกว่าเราทำเสียอีก เราจะต้องทำทานให้ยิ่งกว่านี้
ทั้งพระราชาและประชาชนต่างทุ่มเทแข่งขันกันสร้างมหาทานบารมีอย่างสุดกำลังความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถจะเอาชนะกันได้ จนกระทั่งถึงครั้งที่ ๖ ชาวเมืองได้สละสิ่งของอย่างละร้อยเท่าพันเท่า ตกแต่งมหาทานไว้อย่างที่ใครๆ ในโลกไม่อาจจะติเตียนได้ พระราชาทอดพระเนตรเห็นมหาทานเหล่านั้นทรงปรารถนาจะทำทานให้เหนือกว่า แต่ก็ยังหาวิธีการที่ดีกว่าไม่ได้จึงทรงกลุ้มพระทัยยิ่งนัก

        พระนางมัลลิกาเทวีอัครมเหสีทูลอาสาว่า "ขอพระองค์อย่าทรงกังวลพระทัยไปเลย ขึ้นชื่อว่าจอมราชันผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จะพ่ายแพ้ต่อพสกนิกรได้อย่างไร" พระนางทรงจัดแจงมหาทานแทนพระราชา โดยรับสั่งให้สร้างมณฑปสำหรับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้ทำเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน และหาช้าง ๕๐๐ เชือก กั้นเศวตฉัตรให้พระภิกษุ ๕๐๐ รูป และรับสั้งให้ทำเรือทองคำไว้สัก ๘ ลำ หรือ ๑๐ ลำ จอดไว้ในระหว่างกลางมณฑป

        พระนางสั่งให้เจ้าหญิงองค์หนึ่ง นั่งบดของหอมในระหว่างภิกษุ ๒ รูป เจ้าหญิงที่เหลือช่วยกันบดของหอมบนเรือทองคำ ให้พระภิกษุได้รับกลิ่นหอมตลอดการถวายทาน เพราะประชาชนไม่มีเจ้าหญิง ไม่มีเศวตฉัตร ไม่มีช้าง จึงพ่ายแพ้ในมหาทานครั้งนี้

        พระราชาทรงดีพระทัย ได้บริจาคทรัพย์ภายในวันเดียวรวมทั้งสิ้น ๑๔ โกฏิ ในการถวายทานครั้งนั้น มีมหาอำมาตย์ ๒ คน คือ "กาฬอำมาตย์" กับ "ชุณหอำมาตย์"
 
        กาฬอำมาตย์เกิดความคิดขึ้นว่า ความเสื่อมใหญ่หลวงได้มีแก่ราชสำนักแล้ว ทรัพย์ในท้องพระคลัง ๑๔ โกฏิ หมดไปในพริบตาเดียว พระภิกษุเหล่านี้ฉันภัตตาหารแล้ว เมื่อกลับไปวัดก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมือง

        ส่วนชุณหอำมาตย์เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสในมหาทานครั้งนี้จึงนึกอนุโมทนาว่า "มหาทานของพระราชาช่างยิ่งใหญ่นัก คนที่ไม่เป็นพระราชาไม่อาจทำทานได้ขนาดนี้ ขอให้เรามีส่วนแห่งบุญในมหาทานครั้งนี้ด้วยเถิด"
 
        หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว ดำริว่า "พระราชาได้ถวายอสทิสทานครั้งยิ่งใหญ่ คือ การให้ทานที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ซึ่งมีเพียงาครั้งเดียวเท่านั้นในโลก" ทรงตรวจตราดูว่ามหาชนจะพากันทำจิตให้เลื่อมใสในอสทิสทานบ้างหรือไม่ พระองค์ทรงรู้วาระจิตของอำมาตย์ทั้งสอง ทรงรู้ว่า ถ้าตรัสอนุโมทนาสมควรแก่ทานของพระราชา ศีรษะของกาฬอำมาตย์จะแตกเป็น ๗ เสี่ยง ทันที ด้วยทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในอำมาตย์ จึงตรัสพระคาถาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วเสด็จกลับไปยังพระวิหาร

        ฝ่ายพระราชาทรงเกิดความสงสัยว่า เราคงจะถวายทานไม่สมควรแด่พระบรมศาสดา จึงทูลถามสาเหตุที่พระองค์มิได้ทรงสรรเสริญมหาทานในครั้งนี้ พระบรมศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร พระองค์ได้ถวายทานสมควรแล้ว มหาทานครั้งนี้ เรียกว่า อสทิสทาน ซึ่งจะถวายแด่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเนื่องจากพุทธบริษัทไม่บริสุทธิ์ ตถาคตจึงไม่อาจทำอนุโมทนาให้ยิ่งไปกว่านั้นได้"

        ต่อมา พระราชาทรงสืบทราบว่า กาฬอำมาตย์ติเตียนทานจึงทรงเนรเทศออกไปจากแว่นแคว้น ส่วนชุณหอำมาตย์มีจิตอนุโมทนา จึงทรงมอบพระราชสมบัติให้ครอบครอง ๗ วัน ท่านมหาอำมาตย์ได้ถวายทานตลอด ๗ วัน พระราชาทรงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระบรมศาสดา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"พวกคนตระหนี่ จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย พวกคนพาลย่อมไม่สรรเสริญการให้ทาน ส่วนนักปราชญ์ตั้งจิตอนุโมทนาในทาน ด้วยเหตุนั้น นักปราชญ์จึงเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า"

        เพราะฉนั้น เราทุกคนเป็นนักปราชญ์บัณฑิต เป็นยอดนักสร้างบารมี อย่าได้ตระหนี่กัน ตั้งใจทำบุญสร้างมหาทานบารมีและชักชวนผู้อื่นให้มาทำด้วย จะได้เป็นบุญติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ทานที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว จะเป็นบุญกุศลที่ติดตามเราไปได้ทุกหนทุกแห่งเหมือนเงาตามตัว ทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่อนผู้ที่ตระหนี่ไม่อาจจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้ จึงต้องเป็นผู้เศร้าโศกสิ้นกาลนาน

        ดังนั้น การให้ทานจะนำเราไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ เป็นบันไดไปสู่สวรรค์นิพพาน การทำบุญด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังบุญบารมีเป็นที่ตั้งนั้น จะได้รับอานิสงส์อย่างที่เราคาดไม่ถึง ยิ่งทำถูกเนื้อนาบุญ ผลบุญนั้นก็จะเป็น มหัคคตกุศล ไม่อาจที่จะนับคำนวนบุญที่เกิดขึ้นได้ ว่ามีประมาณเท่าใด

        การที่เรามีโอกาสทำบุญกับพระภิกษุสามเณร ๑๐๐,๐๐๐ รูป ในเวลาเดียวกันนี้ เป็นความอัศจรรย์ของโลก เพราะโอกาสที่จะได้เห็นท่านพร้อมๆ กันเป็นเรือนแสน เป็นสิ่งที่หาได้โดยยากถือว่าเป็นทัสสนานุตตริยะ เป็นการเห็นอันประเสริฐ ภาพนี้จะปรากฏให้เห็นชัดเจนแจ่มใสอยู่ในใจทุกครั้งที่เราระลึกถึง แม้กระทั่งบั่นปลายของชีวิตก่อนที่จะหลับตาลาโลก ซึ่งเรามีเวลาเพียงน้อยนิดในการระลึกนึกถึงบุญ ถ้าหากเรามัวไปนึกว่า เราเคยใส่บาตรที่ไหนมาบ้าง ใส่ไปกี่รูปแล้ว เวลาแค่นาทีเดียวนึกยังไม่ทันถึง ๒๐ รูป ก็หมดลมแล้ว แต่ถ้าทำบุญทีเดียวแสนรูปแค่หนึ่งวินาทีนึกพรึบเดียวแสนรูป เราจะเกิดมหาปีติ ภาพแห่งการทำความดีนั้นจะปรากฏชัดขึ้นมาในใจ จะเป็นเครื่องปลื้มใจให้เราได้บุญใหญ่ ใจจะผ่องใสมีสุคติภูมิเป็นที่ไป เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นใหม่ในทิพยวิมานที่สว่างไสวจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ ยศ และอธิปไตย คือ ความเป็นใหญ่ที่เป็นทิพย์ตลอดกาลนาน
 

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตรหนี่ชีวีสดใสมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตรหนี่ชีวีสดใส

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เนื้อนาบุญอันเลิศมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เนื้อนาบุญอันเลิศ

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เศรษฐีผู้มีใจตระหนี่มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เศรษฐีผู้มีใจตระหนี่



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน