ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 15


[ 20 พ.ย. 2549 ] - [ 18273 ] LINE it!

  
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 15
 
  
    จากตอนที่แล้ว พระมหาชนกราชได้ครองราชย์ด้วยความสงบร่มเย็นเรื่อยมา กระทั่งพระนางสีวลีเทวีประสูติพระโอรสทรงพระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร กระทั่งกาลต่อมา เมื่อพระองค์เจริญวัยขึ้นก็ได้รับพระราชทานให้ดำรงตำแหน่งอุปราช

    คราวหนึ่งพระมหาชกราชได้ประพาสพระราชอุทยาน ทรงเก็บมะม่วงผลหนึ่งซึ่งมีรสโอชาที่หน้าอุทยานเสวย และก็ทรงคิดว่าขากลับออกมาจะเก็บเสวยอีก

    ฝ่ายข้าราชบริพารที่ตามมาภายหลัง เริ่มตั้งแต่อุปราชลงมา เมื่อรู้ว่าพระราชาเสวยผลที่มีรสเลิศแล้ว ก็พากันสอยมะม่วงนั้นตามความพอใจ กระทั่งได้ปีนขึ้นไปบนต้นหักรานกิ่งเพื่อเก็บเอาผลมะม่วง ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จกลับออกมาก็ปรากฏว่า มะม่วงต้นนั้นถูกหักกิ่งรานใบจนย่อยยับ ไม่เหลือผลให้ทรงเก็บอีกแล้ว
 
    ก็ทรงพิจารณาเห็นสัจธรรมว่า “มะม่วงต้นที่ไม่มีผลยังสดเขียวเหมือนเดิม แต่ต้นนี้ถูกหักกิ่งรานใบ เพราะอาศัยผลเป็นเหตุ แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล  ส่วนบรรพชาเป็นเช่นกับต้นไม้ที่ไร้ผล เราจะเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้ผล เราจักสละราชสมบัติออกบวช”

    เมื่อเสด็จกลับถึงพระราชนิเวศน์แล้ว ก็ทรงมอบราชกิจให้แก่มหาอำมาตย์ว่าราชการแทน ส่วนพระองค์เองนั้นเสด็จขึ้นพระตำหนักชั้นบน ทรงบำเพ็ญสมณธรรมเพียงลำพังพระองค์เดียว

    ทรงเปิดสีหบัญชรประทับยืนนมัสการไปทางทิศที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเคยเหาะมา แล้วเปล่งอุทานว่า  “นักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้ใคร่ความสุข มีปกติหลีกเร้น ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส ทั้งหนุ่มทั้งแก่   ก้าวล่วงตัณหาเสียได้ อยู่ที่ไหนหนอ...
 
    วันนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
 
    ท่านผู้มีปัญญาเหล่าใด เป็นผู้ไม่ขวนขวายในโลกที่มีแต่ความขวนขวาย  ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น ตัดเสียซึ่งข่ายแห่งมัจจุราชที่ขึงไว้มั่น สามารถใช้ปัญญาญาณทำลายมายาที่ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในโลกเสียได้  ใครหนอจะสามารถนำเราไปสู่สถานที่อยู่ของนักปราชญ์เหล่านั้น” 
 

    พระมหาชนกทรงเจริญธรรมอยู่บนปราสาท จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไป ๔ เดือน พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง เพราะรู้ว่าการบวช คือ หนทางที่จะทำให้ใจปลอดโปร่ง 

    พระราชนิเวศน์ที่งดงามดุจดาวดึงส์พิภพกลับปรากฏดุจโลกันตนรก ภพทั้งสามปรากฏแก่พระองค์เหมือนกองเพลิงใหญ่ที่กำลังลุกไหม้ ทำให้พระองค์มีพระหฤทัยเบื่อหน่าย มุ่งตรงต่อการบรรพชาอย่างแน่วแน่

ได้ทรงจินตนาการว่า  “เมื่อไรหนอ  เราจะได้ไปจากกรุงมิถิลา ซึ่งประดับตบแต่งดุจดังพิภพของท้าวสักกเทวราชนี้ แล้วจะได้เข้าป่าหิมพานต์ ทรงเพศบรรพชิต” 
 

    ครั้นทรงดำริฉะนี้แล้ว ก็เริ่มพรรณนาถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองของกรุงมิถิลาว่า “เมื่อไรหนอ  เราจึงจะได้สละกรุงมิถิลาราชธานีแห่งนี้ ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดได้จัดสร้างสถานที่ต่างๆ  แบ่งเขตออกเป็นประตูและถนน มีความเจริญมั่งคั่ง มีกำแพงและหอคอยเป็นจำนวนมาก มีป้อม และซุ้มประตูมั่นคง  มีทางหลวงตัดไว้เรียบร้อย มีร้านค้าในระหว่างถนนจัดไว้อย่างดี
 
 
    เมื่อไหร่หนอเราจึงจะได้ละกรุงมิถิลา ซึ่งเบียดเสียดไปด้วยรถเทียมโคและรถม้า มีอุทยาน พุ่มไม้  และปราสาทที่จัดไว้เป็นระเบียบสวยงาม มีปราการ ๔ ชั้น พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งพระเจ้าวิเทหรัฐผู้ทรงยศใหญ่ พระนามว่าโสมนัสทรงสร้างไว้  เราอยากออกบรรพชาเป็นอนาคาริกมุนี

เมื่อไรหนอ เราจะได้สละกรุงมิถิลาราชธานี ที่หมู่ปัจจามิตรผจญไม่ได้  มีพระราชมณเฑียรสถานอันน่ารื่นรมย์ ฉาบทาด้วยปูนขาว  มีกลิ่นหอมฟุ้ง  มีพระตำหนักยอดที่เรียงรายสวยงาม ทาสีสวยสด ลาดรดประพรมด้วยแก่นจันทน์

    เราปรารถนาที่จะสละบัลลังก์ทอง ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโค เราปรารถนาจะสละบัลลังก์แก้วมณี ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังสัตว์  จะละผ้าฝ้ายผ้าไหม ละสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งหมู่สกุณาร่ำร้องขับขาน ดารดาษไปด้วยพรรณไม้น้ำ ทั้งปทุมและอุบล แล้วออกบวช เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เมื่อไรหนอ ความปรารถนาของเราจะสำเร็จ”

    แต่เนื่องจากการที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีปจะเสด็จออกผนวช  ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ต้องคำนึงถึงผู้ที่จะมาสืบทอดราชบัลลังก์ คำนึงถึงเหล่าพสกนิกรอีกมากมาย   มีภาษิตที่บัณฑิตทั้งกลายกล่าวไว้ว่า “ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต  มีใจยินดีแล้วในการอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน  ชนเหล่านั้น  ย่อมได้ในสิ่งที่คนทั้งหลายได้โดยยาก”

    สิ่งที่ได้โดยยากที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่มีเพียงลาภ ยศ สรรเสริญสุขเท่านั้น  เพราะผู้รู้ทั้งหลายต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสุขที่อิงวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นของชั่วคราว ได้มาแล้วก็อยู่กับเราไม่นาน ในไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากไป

    แม้สิ่งอันเป็นที่รักนั้นไม่จากเราไปก่อน แต่ตัวเรานั่นแหละจะต้องจากสิ่งนั้นไป จะหาความสุขที่เที่ยงแท้จากวัตถุสิ่งของ ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้เลย 

    สิ่งที่ได้ยากที่สุดกลับเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สัมผัสได้ด้วยใจ นั่นก็คือความสุขที่แท้จริงที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง  เป็นสิ่งที่ชาวโลกมักมองข้ามกัน เพราะมัวเอาใจไปติดอยู่กับสิ่งของนอกตัวซึ่งเป็นเครื่องล่อให้ติดอยู่ในภพทั้งสาม

    ชาวโลกจึงพบความสุขที่แท้จริงกันได้ยาก  แต่ไม่ว่าจะยากเพียงใด ขอให้ดูอย่างพระโพธิสัตว์ผู้ทรงบำเพ็ญตนเป็นต้นบุญและต้นแบบให้กับพวกเราทั้งหลาย สมควรที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติตาม ดังเรื่องการเสด็จออกผนวช เพื่อออกจากเบญจกามคุณของพระมหาชนกบรมโพธิสัตว์
 
    พระมหาชนกราช หลังจากที่ทรงเจริญสมณธรรมอยู่บนปราสาทแล้ว พระราชหฤทัยไม่ทรงยินดีในเบญจกามคุณอีกเลย ทรงคิดหาทางที่จะออกผนวชตลอดเวลา  แต่เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชา การที่จะเสด็จออกผนวช  ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ  พระองค์จะต้องถูกคัดค้านจากพระอัครมเหสี จากเสนาบดีและเหล่าอำมาตย์ จากพสกนิกรและหมู่อาณาประชาราษฎร์อีกมากมาย  ดังนั้น พระองค์จึงทรงไตร่ตรองอยู่นานจนวันคืนล่วงไป
 
    แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน พระมหาชนกราชก็ยังหาทางหลุดพ้นจากภาระอันยิ่งใหญ่คือความเป็นพระราชาไม่ได้ เพราะพระประยูรญาติกับทั้งเหล่าบริวารทั้งหลาย ก็ล้วนยินดีในกามคุณทั้งสิ้น การพูดเรื่องออกบวชกับผู้ที่ยินดีในกามคุณเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เมื่อไร้ที่ปรึกษา  จึงได้แต่ทรงรำพึงอยู่เพียงพระองค์เดียว ส่วนว่าพระองค์จะทรงพบทางออกได้อย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 16ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 16

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 17ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 17

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 18ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 18



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก