แข่งบุญแข่งบารมี


[ 30 พ.ค. 2554 ] - [ 18265 ] LINE it!

 
 
แข่งบุญแข่งบารมี
 
 
แข่งเรือแข่งพาย  พอแข่งได้  แต่แข่งบุญแข่งบารมี แข่งกันไม่ได้
  
 
          มีภาษิตกล่าวว่า “แข่งเรือแข่งพาย  พอแข่งได้  แต่แข่งบุญแข่งบารมี แข่งกันไม่ได้”  เป็นความหมาย  ให้อ่อนน้อมถ่อมตน  มิให้ตีตนเสมอผู้หลักผู้ใหญ่  แต่เป็นเหตุให้หลายคนเข้าใจผิดว่า  ไม่ควรแข่งสร้างบุญสร้างบารมีกับใครๆ  ซึ่งอันที่จริง  การแข่งกันสร้างความดี  หรือแข่งการสร้างบุญ  ให้เป็นบุญบันเทิง  เป็นประเพณีชาวพุทธมาแต่โบราณ  ดังเหตุการณ์การบังเกิดขึ้นของ “อสทิสทาน”  ในครั้งพุทธกาล
 
          ครั้งหนึ่ง  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐  เป็นบริวาร  เสด็จกลับจากจาริกมาสู่วัดพระเชตวันพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปวิหาร  ทูลนิมนต์พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น  ทรงตระเตรียมอาคันตุกทานแล้ว  ได้ตรัสเรียกชาวพระนครว่า “จงดูทานของเรา”
 
          ชาวพระนครมาเห็นทานของพระราชาแล้ว  ก็คิดจะสร้างบุญบ้าง  ในวันรุ่งขึ้น  ทูลนิมนต์พระศาสดา  ตระเตรียมทานแล้ว  ส่งข่าวไปกราบทูลแด่พระราชาว่า  “ขอพระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ  จงทอดพระเนตรทานของพวกข้าพระองค์”
 
          พระราชาเสด็จไป  ทอดพระเนตรเห็นทานนั้นแล้ว  ในวันรุ่งขึ้น  ก็ตระเตรียมถวายทานอันยิ่งกว่าของพระราชา  ด้วยการแข่งกันสร้างบุญบารมีเช่นนี้  พระราชาและชาวพระนคร  ไม่อาจเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้
 
 
 
ชาวพระนครตระเตรียมทานเพิ่มขึ้นร้อยเท่าพันเท่า 
 
 
        ต่อมาในวาระที่ ๖  ชาวพระนครตระเตรียมทานเพิ่มขึ้นร้อยเท่าพันเท่า  โดยที่ใครๆ  ไม่อาจจะพูดได้ว่า “วัตถุทานชื่อนี้ไม่มีในทานของชาวพระนครเหล่านี้”  พระราชาทอดพระเนตรทานนั้นแล้ว  ทรงดำริว่า  “ถ้าเราไม่สามารถทำทานให้ยิ่งกว่าทานของชาวพระนครเหล่านั้น  มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป”  ดังนี้แล้ว  ได้บรรทมดำริถึงอุบายอยู่
 
          เมื่อพระนางมัลลิกาเทวี  ผู้เป็นพระมเหสีทราบเหตุได้กราบทูลว่า  “ข้าแต่สมมติเทพ  พระองค์อย่าทรงปริวิตกไปเลยพระองค์เคยทอดพระเนตร  หรือเคยสดับแล้วที่ไหน?  ว่ามีพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินพ่ายแพ้แก่ชาวพระนคร  หม่อมฉันจะจัดแจงแทนพระองค์”
 
           แล้วกราบทูลว่า  “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า  ขอพระองค์จงรับสั่งให้เขาทำมณฑปสำหรับนั่งภายในเป็นวงเวียน  เพื่อภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ด้วยไม้เรียบที่ทำด้วยไม้สาละและไม้ขานางพวกภิกษุที่เหลือจักนั่งภายนอกวงเวียน
 
          ขอจงรับสั่งให้ทำเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน  ให้ช้างประมาณ ๕๐๐ เชือกผูกเศวตฉัตรเหล่านั้น  ยืนกั้นอยู่เบื้องบนแห่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
 
          ขอจงรับสั่งให้ทำเรือด้วยทองคำอันมีสีสุก สัก ๘ ลำ หรือ ๑๐ ลำ  เรือเหล่านั้นตั้งอยู่ท่ามกลางมณฑป  เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ ให้นั่งบดของหอม  อยู่ในระหว่างภิกษุ ๒ รูปใดๆ เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ  ให้ถือพัดยืนพัดภิกษุ ๒ รูปๆ  เจ้าหญิงที่เหลือในนำของหอมที่บดแล้ว  มาใส่ในเรือทองคำทั้งหมด  บรรดาเจ้าหญิงเหล่านั้น  เจ้าหญิงบางพวกให้ถือกำดอกอุบลเขียว  เคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้ว  ให้ภิกษุได้รับกลิ่นไอของหอม
 
          ชาวพระนครจักพ่ายแพ้ด้วยเหตุเหล่านี้  เพราะชาวพระนครไม่มีเจ้าหญิง  เศวตฉัตรก็ไม่มี  ช้างก็ไม่มี  ข้าแต่มหาราช  ขอพระองค์จงรับสั่งให้ทำอย่างนี้เถิด
 
          พระราชาทรงชมเชยพระนางมัลลิกา  แล้วจึงรับสั่งให้ทำตามที่พระนางกราบทูล  แต่เมื่อคัดช้างแล้วได้ ๔๙๙ เชือก ขาดไป ๑ เชือก  นอกนั้นเป็นช้างดุร้าย  พระนางมัลลิกา  จึงแนะนำให้นำลูกช้างดุร้ายเชือกหนึ่ง  ไปประจำตำแหน่งของพระองคุลีมาล  เมื่อพระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำตามนั้น  ลูกช้างดุร้ายนั้นสอดหางเข้าในระหว่างขา  หรุบหูทั้งสอง  หลับตายืนนิ่งอยู่  มหาชนแลดูด้วยความอัศจรรย์ในอานุภาพของพระเถระ
 
 
 
กัปปิยภัณฑ์(ของที่ควรแก่สมณะ) 
 
 
          พระราชาทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยอาหารอันประณีต  แล้วถวายบังคมพระศาสดา  กราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  สิ่งใดเป็นกัปปิยภัณฑ์(ของที่ควรแก่สมณะ)  หรือเป็นอกัปปิยภัณฑ์(ของที่ไม่ควรให้แก่สมณะ)  ในโรงทานนี้  หม่อมฉันจักถวายสิ่งนั้นทั้งหมดแด่พระองค์
 
          ในทานนั้นสิ้นทรัพย์๑๔ โกฏิ ซึ่งพระราชาทรงบริจาคในวันเดียวเท่านั้น  วัตถุทานนั้นมีของหาค่ามิได้ ๔ อย่าง คือเศวตฉัตร ๑, บัลลังก์ สำหรับนั่ง ๑, เชิงบาตร ๑, ตั่งสำหรับเช็ดเท้า ๑,
 
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  “ทานนี้ ชื่อว่า อสทิสทาน(ทานอันหาที่เปรียบไม่ได้)  ใครๆก็สามารถถวายแด่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง  ได้ครั้งเดียวเท่านั้น  ธรรมดาทานเห็นปานนี้  เป็นของยากที่บุคคลจะถวายอีก”
  
        การแข่งกันสร้างความดีของพระราชา  และชาวพระนครนี้  แม้จะเจือด้วยความ “แข่งดี”  กันอยู่บ้าง  แต่ก็เป็นการแข่งขันกันสร้างความดี  ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  เข้าหลักวิชาว่า “เอาตัณหาละตัณหา”  ซึ่งที่สุดทุกคนก็ Win-Win  ต่างได้บุญบารมีกันไปเต็มที่ทุกคน  ฉะนั้นเมื่อใครทำคุณงามความดี  ก็ให้เกิดเป็นกำลังใจที่จะทำให้ได้บ้าง  หรือทำให้ยิ่งกว่านั้น  ก็จะเป็นการส่งเสริมผู้มาในภายหลัง  ให้เกิดเป็นกำลังใจในการสร้างความดี  ดังเช่นที่เราได้จากการศึกษาเรื่อง  อสทิสทาน  ในสมัยพุทธกาล
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  41 - 45
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วิธีชนะคนพาลวิธีชนะคนพาล

ผู้ชี้ชะตาโลกผู้ชี้ชะตาโลก

ผู้อยู่ใกล้ตถาคตผู้อยู่ใกล้ตถาคต



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก