ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์


[ 23 มิ.ย. 2554 ] - [ 18259 ] LINE it!

 
 
ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์
 
 
  
  คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง
 
 
  คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง
 
 
        คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์  ขนนกยูง  ท่านสอนว่า
 
          “มีน้ำต้องใช้น้ำให้เป็น  ใช้ไม่เป็นก็เป็นขี้ข้าน้ำ  มีไฟต้องใช้ไฟให้เป็น ใช้ไม่เป็นก็เป็นขี้ข้าไฟ  มีเงินก็ต้องใช้เงินให้เป็น  ใช้ไม่เป็นก็เป็นขี้ข้าของเงิน  เมื่อหามาได้  ต้องรู้จักใช้ของให้เป็นใช้ไม่เป็น  ก็เป็นขี้ข้าของเหล่านั้นทั้งชาติ
 
          เพียงการหาทรัพย์  และการดูแลรักษา  ก็นำความลำบากมาให้ไม่น้อยแล้ว  หากจะต้องทุกข์เพราะการใช้  ก็คงต้องเป็นขี้ข้าทรัพย์ทั้งชาติอย่างหนีไม่พ้น  ทำอย่างไรเล่า  เราจึงจะ “เป็นใหญ่ในทรัพย์”  นั้น  คือได้ประโยชน์สุขจากทรัพย์นั้นอย่างเต็มที่
 
         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้สอยทรัพย์  แต่ไม่ติดในทรัพย์  เหมือนบัวที่อาศัยเกิดในน้ำ  แต่ไม่ติดในน้ำ  ดังใน  อุทายีเถรคาถา  ว่า
 
          “พระพุทธเจ้านั้น  บริโภคของอันหาโทษมิได้  ไม่บริโภคของที่มีโทษ  ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้ว  ก็ไม่สั่งสมไว้  ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวผูกพันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น  ไม่มีความห่วงใยเลย  เที่ยวไปในทุกที่ทุกแห่ง  เปรียบเสมือนดอกบัวขาบ  มีกลิ่นหอมหวาน  ชวนให้รื่นรมย์  เกิดในน้ำ  เจริญในน้ำ  ย่อมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉันใด
 
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
 
          พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก  อยู่ในโลก  ไม่ติดอยู่ด้วยโลก  เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉันนั้น
 
         นอกจากนั้นทรงสอนให้เปลี่ยนโภคทรัพย์ที่มี  ให้เป็นทรัพย์ที่แท้จริง  ที่สามารถติดตามไปอำนวยประโยชน์สุขแก่เราผู้เป็นเจ้าของได้แม้ข้ามชาติ  โดยการฝังทรัพย์นั้นไว้ด้วยการสร้างบุญ  ดังนี้
         
 พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสอนคฤหบดีอุบาสก  ในเมืองสาวัตถีว่า
 
          “บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึก  ด้วยคิดว่า  เมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น  ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา  เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง  เพื่อช่วยตนให้พ้นจากโจรภัยบ้าง  เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง  ในคราวทุพภิกขภัยบ้าง  ในคราวคับขันบ้าง  ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลก  ก็เพื่อประโยชน์นี้แล
 
          ขุมทรัพย์นั้น  ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมดในกาลทุกเมื่อทีเดียวไม่  เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่ไปเสียบ้างความจำของเขาคลาดเคลื่อนเสียบ้าง  นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง  ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง  ผู้รับมรดกที่ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง  ในเวลาที่เขาสิ้นบุญ  ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นย่อมสูญไป
 
 
ทานบารมีความดีที่เราสามารถทำได้
 
ทานบารมีความดีที่เราสามารถทำได้ 
 
 
          ขุมทรัพย์คือบุญของผู้ใด  เป็นสตรีก็ตาม  เป็นบุรุษก็ตามฝังไว้ดีแล้วด้วยการให้ทาน  รักษาศีล  สัญญมะ (ความสำรวมใจ)  ทมะ(ความฝึกตน)  ในเจดีย์ก็ดี  ในสงฆ์ก็ดี  ในบุคคลก็ดี  ในแขกก็ดี  ในมารดาก็ดี  ในบิดาก็ดี  ในพี่ชายก็ดี
 
          ขุมทรัพย์นั้น  ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว  ใครๆ ไม่อาจผจญได้เป็นของติดตามตนไปได้  บรรดาโภคะทั้งหลายที่เขาจำต้องละไป (เมื่อเสียชีวิต)  เขาก็พาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป
 
          ขุมทรัพย์คือบุญ  ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น  โจรก็ลักไปไม่ได้  ขุมทรัพย์คือบุญ  อันใดติดตามตนไปได้  ผู้มีปัญญาพึงทำ  ขุมทรัพย์คือบุญ  อันนั้น
 
          ขุมทรัพย์คือบุญนั้น  อำนวยผลที่น่าปรารถนาทุกอย่างแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลที่น่าชอบใจใดๆ  ผลที่น่าชอบใจทั้งหมดนั้นๆ  อันย่อมเกิดได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้
 

 ความมีรูปสวย  ความเป็นใหญ่

 ความมีรูปสวย  ความเป็นใหญ่ 
 
 
          ความมีวรรณงาม  ความมีเสียงไพเราะ  ความมีทรวดทรงดี  ความมีรูปสวย  ความเป็นใหญ่  ความมีบริวารมาก  ผลที่น่าชอบใจทั้งหมดนั้น  ย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้
 
           ความเป็นพระราชาในประเทศ  ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  สุขของพระเจ้าจักรพรรดิที่น่าพอใจ  ความเป็นเทวราชของหมู่เทวดาทั้งหลาย  ผลที่น่าชอบใจทั้งหมดนั้นย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้
 
          ความที่บุคคลอาศัย  ความถึงพร้อมด้วยมิตรแล้ว  ถ้าประกอบโดยแยบคาย  เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ  ผลที่น่าชอบใจทั้งหมดนั้น  อันบุคคลย่อมได้ด้วย  ขุมทรัพย์คือบุญนี้
 
          ปฎิสัมภิทา  วิโมกข์  สาวกบารมี  ปัจเจกโพธิและพุทธภูมิอันใด  ผลที่น่าชอบใจทั้งหมดนั้น  อันบุคคลย่อมได้ด้วย  ขุมทรัพย์คือบุญนี้
 
          บุญสัมปทา  ความถึงพร้อมด้วยบุญนั้น  เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่อย่างนี้  เพราะฉะนั้น  บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความเป็นผู้ทำบุญไว้แล”
 
 
อริยทรัพย์ภายในที่แท้จริง
 
อริยทรัพย์ภายในที่แท้จริง
 
 
          ทรัพย์นั้น  เกิดด้วยอำนาจแห่งบุญที่เราสั่งสมไว้ในอดีต  การทำมาหากินเป็นเพียงช่องทางให้ทรัพย์เกิดขึ้นเท่านั้น  เมื่อจะได้ทรัพย์ก็ต้องใช้บุญ  เมื่อใช้ทุกวันก็ย่อมหมดสิ้นไปสิ้นไปเป็นธรรมดา  หากหมดบุญก็หมดทรัพย์  แต่ผู้ฉลาดย่อม  “ใช้บุญต่อบุญ”  คือ  ใช้ทรัพย์ที่เกิดจากบุญ  นำไปสร้างบุญต่ออีกด้วยการให้ทาน  บุญก็จะเกิดทับทวี  นำประโยชน์สุขมาให้อย่างไม่มีสิ้นสุด  การใช้สอยทรัพย์เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า  “ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์”  อย่างแท้จริง
 
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  149 - 153


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
การได้ฟังธรรมเป็นลาภอันประเสริฐการได้ฟังธรรมเป็นลาภอันประเสริฐ

พันธนาการแห่งชีวิตพันธนาการแห่งชีวิต

ยิ่งสูงส่งยิ่งอ่อนน้อมยิ่งสูงส่งยิ่งอ่อนน้อม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก