ข่าวจากโพสต์ทูเดย์ วัดพระธรรมกาย ช่วยพระพุทธศาสนาให้หยั่งรากลึกในยุโรป


[ 25 ก.ค. 2554 ] - [ 18271 ] LINE it!

ข่าวพระพุทธศาสนาจากโพสต์ทูเดย์
วัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี
 
วัดพระธรรมกาย ช่วยพระพุทธศาสนาให้หยั่งรากลึกในยุโรป
 
คนไทยในประเทศยุโรปมีที่พึ่งทางใจ มีที่ปฏิบัติภาวนา สร้างสรรค์เส้นทางบุญกันได้มากขึ้น
 
โดย...สมาน สุดโต
 
วัดพระธรรมกาย บาวาเรีย เยอรมนี
 
     คนไทยในประเทศยุโรปมีที่พึ่งทางใจ มีที่ปฏิบัติภาวนา สร้างสรรค์เส้นทางบุญกันได้มากขึ้น เมื่อวัดพระธรรมกายตั้งสาขาวัดในยุโรป 10 ประเทศ รวมถึง 21 วัด ยังมีแผนขยายให้มากขึ้นอีก ที่มีผลงานขนาดนี้นอกจากวิสัยทัศน์ยาวไกลของพระเถระจากวัดพระธรรมกายในเมืองไทยแล้ว ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายก็มีความเข้มแข็ง และอดทนมิใช่น้อย แม้บางท่านที่เป็นผู้นำภาษาต่างประเทศไม่แข็งแรง แต่หาได้เป็นอุปสรรคไม่ สร้างวัดขยายวัดเป็นไปตามเป้าหมายของสำนักใหญ่ได้อย่างน่าพอใจ
 
เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย
 
 พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ. (Phrawairot Treenet)
เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี (ในภาพด้านซ้าย)
 
     พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ. (Phrawairot Treenet) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ประธานศูนย์วัดพระธรรมกายในยุโรป เป็นพระรุ่นบุกเบิกในการสร้างศูนย์วัดพระธรรมกายในต่างแดน เริ่มตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และปัจจุบันที่ประเทศเยอรมนี ในทวีปยุโรป ซึ่งแต่ละแห่งท่านเป็นเจ้าอาวาส ก่อสร้าง วางกรอบ กฎระเบียบต่างๆ แล้วก็เดินทางไปอีกประเทศหนึ่งเพื่อขยายงานอย่างต่อเนื่อง
 
     แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ท่านพูดภาษาต่างประเทศไม่คล่องแม้แต่ภาษาเดียว หากแต่ช่วยขยายศูนย์วัดพระธรรมกายในต่างประเทศได้มาก เฉพาะในทวีปยุโรปมีถึง 21 วัด ในจำนวนนั้นเป็นวัดในประเทศเยอรมนี 7 วัด และกำลังมีแผนสร้างเพิ่มเติมอีก เพื่อสนองความต้องการของประชาชน
 
พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ.
 
 พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ.  ชื่อเดิมไวโรจน์ นามสกุลตรีเนตร ฉายาวิโรจโ(ในภาพด้านขวา)
 
     พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ. ปัจจุบันอายุ 55 ปี ชื่อเดิมไวโรจน์ นามสกุลตรีเนตร ฉายาวิโรจโน ลูกชายเจ้าของโรงไม้ เกิดที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้รับการอบรมและปฏิบัติที่วัดพระธรรมกายตลอดมาแล้วจึงถูกส่งไปบุกเบิกงานในต่างประเทศ เพราะความที่เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง คล่องงาน เป็นที่ไว้วางใจจากหลวงพ่อ
 
     ในด้านสมณศักดิ์ พ.ศ. 2549 เป็นพระครูสักฆรักษ์ และ พ.ศ. 2553 เป็นพระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ.ท่านสร้างผลงานมาก แต่โดยนิสัยส่วนตัวท่านไม่ชอบเป็นข่าว จึงไม่ต้องการให้สัมภาษณ์ ยินดีพูดคุยกันเล่นๆ มากกว่า เรื่องที่ผมนำมาถ่ายทอดวันนี้ คือบทสนทนาที่ประตูทางเข้าอาคารที่ทำการวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ในช่วงบ่าย วันที่ 23 มิ.ย. 2554 ที่ท่านเมตตาคุยให้ฟังเล่นๆ โดยผมเปิดประเด็นว่ามีวิธีการขยายศูนย์ วัดพระธรรมกายในต่างแดนอย่างไร ?
 
มีวิสัยทัศน์
 
      ท่านบอกว่าวัดพระธรรมกายขยายศูนย์ในต่างแดนได้มากก็เพราะมากันเป็นกลุ่ม มาจากที่เดียวกัน มาจากวัดพระธรรมกายด้วยกัน ส่วนการทำงานก็ไม่ยุ่งยาก และง่ายๆ หลวงพ่อที่วัดใหญ่เมืองไทยท่านว่าอย่างไงก็ปฏิบัติตามนั้น ท่านให้ทำอะไรเราก็ทำ ไม่ให้ทำอะไร เราก็ไม่ทำ พวกเราทำเป็นระเบียบและรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือกัน ใครลำบากเราช่วย ใครยังไม่แข็งแรงเราก็ช่วย เพราะเราทำงานร่วมกัน ต่างจากวัดอื่นๆ ที่มาโดดๆ เพียงวัดเดียว ดังนั้นในช่วงที่ลำบาก หรือสบายก็ได้รับไปเพียงวัดเดียว
 
วัดพระธรรมกายบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี
 
วัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ประเทศเยอรมน๊
 
     วัดพระธรรมกายมีศูนย์กลางการบริหาร ที่ยุโรปเรียกว่าคณะกรรมการบริหารภาคพื้นยุโรป เจ้าอาวาสทุกศูนย์เป็นกรรมการ ส่วนตัวท่านพระครูทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ จะทำงานอะไรต้องประชุมปรึกษากันก่อน ซึ่งจะมีการประชุมสม่ำเสมอทุกวันศุกร์ผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์
 
     กรณีที่ท่านไม่มีความรู้ภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าภาษาอังกฤษ หรือเยอรมันนั้น ท่านจัดการอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคในการบริหารมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ท่านบอกตรงๆ ว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคมาก แต่ถ้าจะรอว่าเราพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่างแล้วค่อยเริ่มงาน มันก็จะไม่ได้งาน ตอนนี้เรามีความสามารถแค่นี้ เราก็ทำไปแค่นี้ก่อนแล้วก็มาหาคนท้องถิ่น และคนในพื้นที่ที่มีศรัทธาให้มาช่วยงานวัด ถ้าได้ลูกครึ่งมีความสามารถ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น แบบนี้ก็เร็วขึ้น อย่างเช่นได้หลวงพี่ตู่ หรือพระสมเกียรติ กิตติคุโณ ภุมรินทร์ มาอย่างนี้ สามารถช่วยงานทุกอย่างได้ราบรื่น
 
     ท่านสมเกียรตินี้โตที่เยอรมนี พูดภาษาเยอรมันได้ พอท่านมาบวชก็มีกลุ่มสมาชิกที่เป็นคนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพราะสื่อสารกันได้ แท้จริงแล้วคนท้องถิ่นต้องการมาหาเรา แต่พวกเรานั้นสอนเขาไม่ได้ เมื่อมีคนช่วยที่มีความสามารถด้านภาษาจึงสนองความต้องการพวกเขาได้
 
วัดคือศูนย์ของไทย
 
     แน่นอนว่าวัดไทยในต่างประเทศเกิดขึ้นเพราะชุมชนคนไทยที่อยู่ตามเมืองนั้นๆ เช่นเดียวกันกับวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ก็เป็นศูนย์กลางชุมชนคนไทยใน บาวาเรีย และเมืองใกล้เคียง ซึ่งคนไทยที่อยู่ต่างเมืองมีปัญหาก็มี มีความสุขก็มาก ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร ทุกคนย่อมนึกถึงวัดเสมอ
 
วัดพระธรรมกายบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี
 
วัดพระธรรมกาย บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี
 
     ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหานั้น ไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะคนไทยในต่างประเทศมีทางออกเยอะ ท่านเล่าว่าญาติโยมที่มาอยู่ประเทศเยอรมนี หรือประเทศอื่นๆ เมื่อมาถึงใหม่ๆ ลำบากใจว่าไม่รู้จักใคร บางคนโชคร้าย มีเพื่อนบ้านเป็นคนไทยด้วยกัน แต่ไปเจอสิงสาราสัตว์หลอกลวงต่างๆ ก็มีปัญหาตามมา แต่ถ้าได้มาวัดก็จะพบกับกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่สามารถให้คำปรึกษาหาทางออกของปัญหาให้ได้ เพราะคนที่มาวัดส่วนมากอยู่ต่างประเทศนาน มีประสบการณ์ มาจากหลากหลายอาชีพ ย่อมช่วยกันคิดและหาทางออกให้
 
     ในส่วนสามีชาวฝรั่งที่เป็นคนท้องถิ่น เมื่อติดตามภรรยามาวัด ก็จะได้รับการแนะนำให้นั่งสมาธิ ปฏิบัติภาวนา โดยไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น เพราะสมาธิ ภาวนา เป็นของกลาง นับถือศาสนาไหนก็ปฏิบัติได้ ฝรั่งที่ตามภรรยามาวัด บางคนไม่ชอบภาวนา จึงเสนอตัวอาสาทำงาน ให้วัดก็มี ขึ้นอยู่กับความถนัดและสามารถ เช่น ช่วยด้านแรงงาน ตัดต้นไม้ ตัดหญ้า ซ่อมแซม แม้กระทั่งดูแลปรับปรุงห้องน้ำ เมื่อเขาอาสาทำให้ ทางวัดก็ดูแลเขาอย่างดี
 
วิธีหาที่ตั้งวัด
 
     เนื่องจากวัดพระธรรมกายที่ผมไปเห็นหลายวัดในยุโรป ล้วนแต่กว้างใหญ่ ทำเลที่ตั้งเป็นปฏิรูปเทศเกือบทั้งสิ้น จึงถามว่ามีวิธีการหาที่ตั้งวัดแบบไหน ท่านพระครูในวัย 50 เศษ เสียงดัง สำรวม จริงใจ และเป็นกันเองพูดให้ฟังด้วยใบหน้าฉาบด้วยเมตตาว่าแหล่งข้อมูลมีมาก เช่น อินเทอร์เน็ต หรือนายหน้าขายบ้าน หรือญาติโยมของวัดเดินทางพบว่ามีการประกาศขายบ้าน สำนักงาน หรือวัดในศาสนาคริสต์ที่ตั้งอยู่ในที่เหมาะสม น่าสนใจก็มาบอกให้ไปดู
 
     หลักการเลือกที่ตั้งวัดคือเป็นปฏิรูปเทศ สงบ ไม่พลุกพล่าน มีสถานที่รองรับกิจกรรมของวัด ที่เน้นการปฏิบัติธรรมและนั่งสมาธิ ไม่สนใจที่ใกล้ ไกล แต่ถ้าการคมนาคมสะดวกยิ่งดี เมื่อทางกรรรมการเห็นว่าเหมาะสมก็ตัดสินใจซื้อและผ่อนส่ง ระยะเวลา 10-20 ปีก็ไม่เป็นไร เพราะเราคิดว่าเรามาสร้างวัดมิได้มาทำธุรกิจ ยิ่งนานวัน 20-50 ปี ก็ยังเป็นวัด เราทำให้ตอนนี้มีคนมารับช่วงต่อโอกาสหน้า ก็ทำกันต่อไป
 
     สำหรับที่ตั้งวัดพระธรรมกายบาวาเรียนั้น ที่ดูกว้างใหญ่ มีอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม เพราะที่แห่งนี้เคยเป็นเทนนิส คอร์ตมาก่อน เป็นการให้บริการชุมชน เมื่อทางวัดเข้ามาซื้อ การดำเนินกิจกรรมทางศาสนาก็ไม่มีปัญหา เพราะอยู่ในข่ายบริการชุมชนเหมือนกัน
 
     ในการปรับปรุงดัดแปลงอาคารให้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม และที่พักของพระสงฆ์ ตลอดถึงการดัดแปลงเป็นอุโบสถ เพื่อรับรองพุทธศาสนิกชนนับร้อยคนนั้น ทางวัดได้เชิญเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาดู และฟังคำแนะนำก่อนที่จะดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง ทุกอย่างจึงดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
 
ประวัติวัดพระธรรมกายบาวาเรีย
 
     เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2554 วัดพระธรรมกายบาวาเรีย เป็นศูนย์กลางการสอบธรรมศึกษา มีผู้เข้าสอบประมาณ 80 ท่าน ในการนี้สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระเถระผู้นำข้อสอบไปเปิดสอบ ถัดจากนั้น 4 วัน พระพรหมเมธี (จำนงค์) กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นวีไอพีของวัด เหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์ควรจารึกของวัดจึงลงทุนสร้างห้องรับรองสมเด็จพระธีรญาณมุนี และพระพรหมเมธีขึ้นใหม่ ด้วยงบประมาณ 3 ล้านบาท
 
     พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ. ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ภาคพื้นยุโรป และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย เล่าถึงความเป็นมาของวัดพระธรรมกายบาวาเรียว่า วัดแรกในประเทศเยอรมนี แต่เดิมทีเดียวตั้งอยู่ที่เอาส์บวร์ก (Augsburg)
 
ข่าวประชาสัมพันธ์จากวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย
 
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานบวชของวัดพระธรรมกายบาวาเรีย
 
     ตามหนังสือแนะนำวัดเล่าว่า วัดนี้เป็น 1 ใน 50 กว่าศูนย์สาขาทั่วโลกของวัดพระธรรมกาย มีจุดเริ่มต้นในปี 2545 ที่สาธุชนคนไทยในเมืองเอาส์บวร์ก มีความสนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนาและมีใจใฝ่ในการทำบุญ ได้นิมนต์พระสงฆ์วัดพระธรรมกายที่มาปฏิบัติธรรมในเมืองไฟร์บวร์ก ให้มาแนะนำในการปฏิบัติธรรม ต่อมารวมกลุ่มกันเหนียวแน่นมีความพร้อมในการปักหลักพระพุทธศาสนา จึงจดทะเบียนเป็นสมาคมในปลายปีนั้นชื่อว่าสมาคมพุทธไทยเยอรมัน แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเช่าสถานที่สมมติเป็นเขตวัด โดยพระนที นันทภัทโท อยู่ประจำและดำเนินการในนามวัดพุทธเอาส์บวร์ก
 
     ต่อมามีพระสงฆ์มาอยู่เพิ่มขึ้นอีก 2 รูป จำนวนชาวพุทธเพิ่มขึ้น วัดสาขาของวัดพระธรรมกายในยุโรปเพิ่มขึ้นเป็น 15 วัดสาขา ใน ปี 2550 (พ.ศ. 2554 เพิ่มเป็น 21 วัดสาขา) โดยมีวัดพุทธเอาส์บวร์ก เป็นฝ่ายประสานงานกลาง
 
     ในปี 2550 ได้จัดซื้อที่ดินพร้อมอาคารถาวรบนพื้นที่ 11 ไร่เศษ ในเมืองเคอนิคส์บรุนส์ (Koenigsbrunn) เข้าอยู่ในเดือน ต.ค. พร้อมทั้งดำเนินการเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพระธรรมกาย บาวาเรีย (Wat Phra Dhammakaya Bavaria) โดยมีภารกิจในการประสานงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วภาคพื้นยุโรป เป็นศูนย์กลางกับพุทธศาสนิกต่างๆ ในยุโรป
 
     พระครูสังฆรักษ์ไวโรจน์ (คือ พระครูวิเทศธรรมภาวนา วิ. ในปัจจุบัน) ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสใน พ.ศ. 2551 แทนพระครูสังฆรักษ์เผด็จ จิรกุโล ได้ดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารสถานที่เพื่อให้เป็นที่เหมาะสมสำหรับการสร้างบารมีและอบรมคุณธรรมทั้งชาวไทยและชาว ท้องถิ่น เมื่อทำการต่างๆ เรียบร้อย คณะกรรมการบริหารมีมติให้เปิดวัดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธุดงค์ธรรมชัย 6 จังหวัด 365 กม. รับปี 2555ธุดงค์ธรรมชัย 6 จังหวัด 365 กม. รับปี 2555

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ มหาสังฆทานวันสมาธิโลก วัดพระธรรมกายข่าวจากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ มหาสังฆทานวันสมาธิโลก วัดพระธรรมกาย

ข่าวพระพุทธศาสนา จากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ประจำเดือน สิงหาคมข่าวพระพุทธศาสนา จากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ประจำเดือน สิงหาคม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข่าวพระพุทธศาสนา